ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันแจกชาวนาไร่ละพัน-ประกันรายได้ต่อ ชง ครม. 15 พ.ย. นี้ – มติ ครม. ถอนร่าง กม. ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่

นายกฯ ยันแจกชาวนาไร่ละพัน-ประกันรายได้ต่อ ชง ครม. 15 พ.ย. นี้ – มติ ครม. ถอนร่าง กม. ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่

8 พฤศจิกายน 2022


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.Thaigov.go.th/

นายกฯยืนยันแจกชาวนาไร่ละพัน-ประกันรายได้ต่อ – “จุรินทร์” ชงประกันรายได้เข้า ครม. 15 พ.ย.นี้ – สั่งเพิ่มเงินเยียวยาเหยื่อโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู – จัดงบกลาง เพิ่มค่าอาหารกลางวัน “อนุบาล-ป.6” – มติ ครม.กลับลำ ถอนร่าง กม.ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่ – แก้ระเบียบ ขรก.-คนในครอบครัว รับของขวัญ ฝ่าฝืนผิดวินัย – ตั้ง “ธีรัชย์ อัตนวานิช” นั่งประธานบอร์ดออมสิน

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

เตือน ปชช.“ลอยกระทง” คืนนี้ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำให้หน่วยงานภาครัฐ และผู้จัดกิจกรรมลอยกระทงคืนวันนี้ (8 พฤศจิกายน 2565) เน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงาน และคำนึงถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และกำชับให้ประชาชนดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่แออัด หรือ เบียดเสียดกัน

นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 16.00 น. ของวันลอยกระทง นายกฯ ได้เชิญชวนคณะรัฐมนตรีร่วมงาน “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานประเพณีไทย สู่ความยั่งยืน” บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล

ปลื้ม ปชช.แห่ร่วมงาน “แก้หนี้” ย้ำไม่ต้องรอ-ติดต่อแบงก์ได้ทันที

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีพูดถึงการแก้ปัญหาหนี้สินใน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” ช่วงวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ว่าการจัดงานดังกล่าวประสบความสำเร็จ โดยมีประชาชนเข้าร่วมงานและสามารถแก้ไขหนี้สินได้จำนวนมาก

นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า งานนี้จะมีต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมกราคม 2566 และจะกระจายไปภูมิภาคต่างๆ โดยวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2565 จัดที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น, วันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 จัดที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 20 – 22 มกราคม 2566 จัดในจังหวัดชลบุรี, วันที่ 27 – 29 มกราคม 2566 จัดที่หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่า นอกเหนือจากระยะเวลาที่จัดตามภาคต่างๆ ประชาชนสามารถเดินเข้าไปคุยได้โดยตรงที่สถาบันการเงินที่ตัวเองเป็นหนี้ หรือ เป็นลูกหนี้ โดยไม่ต้องรอการจัดงานในแต่ละส่วน แม้กระทั่งในส่วนการจัดงานในกรุงเทพฯ และนนทบุรีที่เพิ่งจบงาน ก็ยังสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหานี้สินโดยเดินเข้าไปในสถาบันการเงินของรัฐ” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐที่ประชาชนสามารถเจรจาหนี้ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim bank) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือส่วนที่เกี่ยวข้องบริษัทบริหารสินทรัพย์

วอนทุกส่วนช่วยจัดงาน APEC 2022 ให้สำเร็จ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมมือกันจัดการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพช่วงระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ให้ประสบความสำเร็จ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยช่วงวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียนกับผู้นำหลายส่วน และกลับมาถึงประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2565 และเริ่มกิจกรรมการร่วมประชุมและเปิดนิทรรศการ APEC ต่อเนื่องถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565

เชิญชวนเอกชนตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด

นายอนุชา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดว่า นายกรัฐมนตรี มองว่า ปัญหาในปัจจุบันคือ การขาดแคลนสถานบำบัดเพื่อดูแลผู้ติดยาเสพติด ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายส่งเสริมสถานบำบัดฯ รวมกระทั่งเชิญชวนภาคเอกชนลงทุนจัดตั้งสถานบำบัดยาเสพติดที่มีคุณภาพ และให้เพียงพอ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด

กำชับ จนท.อำนวยความสะดวกผู้ที่เดินทางเข้า ปท.

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องการท่องเที่ยวว่า “ปัจจุบันประเทศเรา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น และได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนที่เข้ามาประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกที่สนามบิน เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยมีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูแลการอำนวยความสะดวกกับผู้เดินทางเข้ามาด้วย”

เพิ่มเงินเยียวยาเหยื่อโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู

นายอนุชา กล่าวถึงเหตุการณ์การสูญเสียที่จังหวัดหนองบัวลำภูว่า นายกรัฐมนตรีกำชับเพิ่มเติมเรื่องการเยียวยาเพิ่มเติมผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมอบหมายให้ปลัดสำนักนายกฯ ได้พิจารณามติที่จะช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม จากที่เคยเยียวยาไปแล้วช่วงเกิดเหตุการณ์

“ทั้งนี้ คิดว่ายังมีความจำเป็นเพิ่มเติมที่อยากจะดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งที่นายกฯ กำชับเพิ่มเติมให้เร่งดำเนินการ” นายอนุชา กล่าว

ฝากพรรคร่วมหาข้อสรุป กม.ตกค้างในสภาฯ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีขอให้พรรคร่วมรัฐบาล ช่วยกันดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร และหากมีข้อคิดเห็น หรือ แนวความคิดที่ยังไม่ตรงกัน ก็ฝากให้พรรคร่วมรัฐบาลแสวงหาทางออกข้อสรุปร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ยืนยันแจกไร่ละพัน-ประกันรายได้ชาวนาต่อ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้ นายกรัฐมนตรีเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาประชุมนอกรอบ โดยนายอนุชา ให้ข้อมูลว่า นายกฯ เรียกประชุม เพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างไรได้บ้าง ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้น 2 ข้อ คือ

    1) การสนับสนุนค่าบริหารจัดการการพัฒนาคุณภาพเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท จำนวนไม่เกิน 20 ไร่
    2) การประกันราคาข้าว โดยรัฐบาลยืนยันว่ามีงบประมาณเพื่อช่วยเหลือในส่วนนี้

“สองส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าสนับสนุน ค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพเกษตรกร กระทั่งการประกันราคาข้าว นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้จะดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องต่อไป นายอนุชา กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

กลับลำ ถอนร่าง กม.ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยถอนร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของ คนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าว ที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์อย่างรอบด้านของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง สู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่ 1) กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยและ 4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1 ไร่ ตาม ม.96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจ หรือ กิจการประเภทหนึ่งประเภทใดไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การได้มาซึ่งที่ดิน ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวโดยทั่วไป ยังคงเป็นไปตามกฎกระทรวง ฯ พ.ศ. 2545 ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้ขอถอนร่างกฎกระทรวง เพื่อนำไปรับฟังความคิด และวิเคราะห์ผลกระทบ เพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบถี่ถ้วน และครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป

จัดงบกลาง เพิ่มค่าอาหารกลางวัน “อนุบาล-ป.6”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้น ป.6 เป็น 4 ระดับ ดังนี้

  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1 – 40 คน ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน
  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41 – 100 คน ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน
  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101 – 120 คน ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน
  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 121 – คนขึ้นไป ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน

โดยคณะรัฐมนตรียังอนุมัติหลักการในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พร้อมทั้งอนุมัติหลักการในการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายการค่าใช้จ่ายค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นอัตราดังกล่าว ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไปด้วย

สำหรับอัตราค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน ครอบคลุมนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 – ป.6 ของ รร.ประถมศึกษา 5 สังกัด จำนวนนักเรียน 5,792,119 คน ได้แก่ (1) โรงเรียนสังกัด สพฐ. (2) โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (รวมทั้งที่จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน) (3) โรงเรียนสังกัดตำรวจตะเวนชายแดน(4) สถานศึกษาสังกัดการศึกษานอกระบบและ (5) สถานศึกษาสังกัด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียนว่า จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับขนาดของโรงเรียนและจำนวนนักเรียน ทำให้โครงการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“จุรินทร์” ชงประกันรายได้ชาวนา เข้า ครม. 15 พ.ย.นี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องการพิจารณาโครงการประกันรายได้รอบปี 2565/66 ซึ่งนายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ เกณฑ์การจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้จะเป็นเหมือนกับของปีก่อน ครอบคลุมเกษตรกร 4.6 ล้านครัวเรือน อีกทั้งจะได้มีการพิจารณาโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือนด้วย

นายจุรินทร์ กล่าวย้ำว่า กรอบวงเงินโครงการประกันรายได้ และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการข้าวฯ อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในส่วนของราคาข้าว ขณะนี้มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีการส่งออกข้าวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณเพื่อจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดน้อยลงกว่าปีก่อน

เห็นชอบ MOU อีคอมเมิร์ซ ดันเกษตรแปรรูป-ผลไม้ไทย เจาะตลาดจีน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะมีการลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และสินค้าไทย สามารถเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้ เช่น สินค้าเกษตรแปรรูปและผลไม้พรีเมียมของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน เป็นต้น ปัจจุบันจีนมีตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่มาก โดยปี 2564 มีมูลค่าการค้าสูงถึง 77.55 ล้านล้านบาท มียอดผู้ซื้อออนไลน์ประมาณ 842.1 ล้านคน

ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและกำหนดขอบเขตความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและจีน ภายใต้ระยะเวลา 3 ปี โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการ ดังนี้

    1. ส่งเสริมการค้าแบบทวิภาคีของสินค้าที่มีคุณภาพสูง อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป หรือ ผลไม้พรีเมียมของไทย เช่น ทุเรียน มังคุด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน บนช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขยายตลาดและเพิ่มฐานลูกค้า

    2. ร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านการขนส่ง การกระจายสินค้า เช่น การจัดตั้งจุดพักสินค้าของไทยในจีน และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การจัดทำระบบชำระเงินระหว่างไทยและจีนให้ใช้ร่วมกันได้

    3. ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา อาทิ การอบรมสัมมนา การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ หรือการอบรม เป็นต้น

    4. ร่วมกันร่างแผนปฏิบัติการประจำปีด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างไทยและจีนอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับจีนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้ อย่างไรก็ตาม จีนยังมีต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำกว่าไทย และผู้ประกอบการจีนมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าของไทย ที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการรองรับ เช่น เร่งถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย การพัฒนาคุณภาพสินค้าไทยเพื่อแข่งขันกับจีนในตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดมาตรการในการควบคุมตรวจสอบผู้ประกอบการ และสินค้าในตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และคุ้มครองผู้บริโภคของทั้ง 2 ประเทศ

เซ็น MOU ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “ไทย-ออสเตรเลีย”

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นตัวแทนลงนามร่างบันทึกความเข้าใจในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (SECA) นี้ จะช่วยสนับสนุนความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ความตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเชียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

ร่างบันทึกความเข้าใจมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เป็นภาคี รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในระบบเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในทุกมิติ โดยจะขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจอย่างน้อย 8 สาขาดังนี้

    1. สาขาเกษตร เทคโนโลยี และระบบอาหารที่ยั่งยืน พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ และอาหารแปรรูป รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กฎระเบียบการนำเข้า และความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตร

    2. สาขาการท่องเที่ยว และ

    3. สาขาบริการสุขภาพ พัฒนามาตรฐานและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

    4. สาขาการศึกษา พัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ทั้งการพัฒนาหลักสูตร การประกันคุณภาพ และการฝึกอบรมผู้สอน โดยเน้นสาขา เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ และเหมืองแร่

    5. สาขาการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความสำเร็จของโครงการต่างๆ ระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจ ในกลุ่มธุรกิจ Digital Start-Up

    6. สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพลง ทัศนศิลป์ (visual arts) ศิลปะการแสดง และวรรณกรรม

    7. การลงทุนระหว่างกัน โดยส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจ

    8. สาขาพลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยคาร์บอน พัฒนาด้านพลังงานทดแทน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาพลังงานทดแทน

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ นอกจากจะช่วยสนับสนุนการนำปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างไทยกับออสเตรเลียไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติกับแผนปฏิบัติการระหว่างไทยกับออสเตรเลียในด้านอื่นๆ ด้วย

ลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ เชื่อมสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

ดร.รัชดา กล่าวว่า ประชุม ครม.เห็นชอบร่างเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ประกอบด้วย 1. ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567) 2. ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย และ 3. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่างเอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ จะมีการลงนามระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และนายกรัฐมนตรีชาอุดีอาระเบีย ในการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยเอกสารแต่ละฉบับมีสาระสำคัญ ดังนี้

ฉบับแรก คือ ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย 1)ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางพิเศษ และหนังสือเดินทางราชการ และจัดหาที่ดินที่มีความเหมาะสมสำหรับสถานเอกอัครราชทูต และทำเนียบเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเทพฯ 2)ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ศึกษาประเด็นความร่วมมือในภาคพลังงาน เพิ่มการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการลงทุนหรือการเงิน และจัดทำความตกลง 2 ฉบับเกี่ยวกับการรับสมัครแรงงานไทย 3) ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในด้านศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และแสวงหาความร่วมมือด้านกีฬา อีสปอร์ต และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกันด้วย เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อน

ฉบับที่ 2 คือ ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมในการหารือและส่งเสริมความร่วมมือที่สนใจร่วมกันในทุกมิติ ซึ่งจะกำหนดให้มีจัดประชุมร่วมกันเป็นระยะและสลับกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อติดตามความคืบหน้าของข้อริเริ่มที่จะดำเนินการภายใต้แผนการขับเคลื่อน ส่วนกลไกลการทำงาน จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน โดยประธานสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย เป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน และมีอำนาจอนุมัติโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารองค์กร รวมถึงระเบียบปฏิบัติขององค์กร ทั้งนี้ การจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย และการมอบหมายภารกิจ จะต้องไม่ขัดกับสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่เดิมของทั้งสองประเทศ

ส่วนฉบับที่ 3 คือ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสองประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงและโอกาสทางธุรกิจ 2.การแลกเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนโดยตรง และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของทั้งสองประเทศ 3.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศ ส่วนการขับเคลื่อนความร่วมมือนั้น จะดำเนินการ ดังนี้ 1.ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดนิทรรศการ การทำงาน การประชุม และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุนโดยตรง 2.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือน ความเชี่ยวชาญ และอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคนิคของทั้งสองประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุนโดยตรงของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะใช้มาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองการลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งตามกลไกที่ตกลงกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ โดยแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นพันธมิตรในระดับภูมิภาคของกันและกัน

เห็นชอบร่างปฏิญญาความร่วมมือทางดิจิทัล 6 ด้าน

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางดิจิทัลเพื่อกำหนดอนาคตร่วมกัน (Ministerial Declaration on Digital Cooperation for Shaping Our Common Future) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ โดยจะมีการลงนามรับรองร่างปฏิญญาฯในการประชุม Asia – Pacific Digital Ministerial Conference 2022 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีที เกาหลีใต้ ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ UNESCAP เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซึ่งจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลเอเชีย – แปซิฟิกครั้งแรก

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของร่างปฏิญญาฯ จึงได้กำหนดข้อตกลงด้านการดำเนินงาน 6 ด้านหลัก ดังนี้

    1. ด้านโครงข่าย (Network) กำหนดขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) เพื่อสร้าง การเชื่อมโยงที่ทั่วถึง มั่นคง และปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก

    2. ด้านจริยธรรม (Ethics) กำหนดให้ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (emerging digital technologies) รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์

    3. ด้านการใช้ข้อมูล (Data use) กำหนดให้พัฒนาการเข้าถึงข้อมูลทางดิจิทัลที่เป็นธรรมและถูกกฎหมาย สนับสนุนการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณะและข้อมูลส่วนบุคลเพื่อกระตุ้นนวัตกรรมและสร้างระบบฐานข้อมูลสาหรับการตัดสินใจ

    4. ด้านกำลังคน (Workforce development) กำหนดให้บ่มเพาะให้เกิดกลุ่มกำลังคนที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลอย่างแท้จริง (Digital native generations) เสริมสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้กับคนในภูมิภาค และพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลในการทำงานของแรงงานเพื่อรักษาระดับความมั่นคงและยั่งยืนของการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดจากนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล

    5. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ จะมีการส่งเสริมการสร้างฉันทามติและการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ เช่น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ

    6. ด้านอื่นๆ คือ จะมีการนำเสนอปฏิญญาฯ ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) สมัยที่ 79 รวมทั้งจะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีดิจิทัลเป็นประจำ

“ร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกันในการตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อชีวิตประจำวัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และประเทศต่างๆ แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัลโดยการสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่มั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเปิดกว้างสำหรับทุกคนผ่านการดำเนินงานที่สำคัญตามที่ตกลงกัน” นางสาวทิพานัน กล่าว

จับมือออสเตรีย ยกระดับ “อาชีวะไทย” ป้อนอีอีซี

นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ และอนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาในการฝึกอบรม โดยใช้การทำงานเป็นฐานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทย กับกระทรวงแรงงานและเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย (บันทึกความเข้าใจฯ) เพื่อพัฒนากรอบความร่วมมือในการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษา

โดยจะส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงในโรงเรียน วิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษาและสถานประกอบการ ซึ่งเน้นการสนับสนุน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนในด้านแรงงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตามความสนใจของทั้งสองฝ่าย โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรียจะประกอบด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโรงเรียน วิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษาและนายจ้างที่เป็นบริษัทที่จัดฝึกอบรม สำหรับวิทยาลัยจะมีวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นสถาบันการศึกษานำร่อง เนื่องจากเดิมเป็นฐานในการฝึกอบรมของออสเตรียและจะมีการขยายไปสู่วิทยาลัยอื่นๆ ในภาคตะวันออก

โครงการนำร่องจะมุ่งเน้นการเพิ่มภาคปฏิบัติของการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาในบริษัทต่างๆ ของแต่ละประเทศ และจะมีการส่งเสริมให้นายจ้างที่เป็นบริษัทจัดอบรมเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในกระบวนการฝึกอบรมและการปรับเนื้อหาของหลักสูตรการฝึกอบรมที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนธุรกิจ และการจัดเตรียมโรงเรียนอาชีวศึกษาให้เป็นศูนย์ปฏิบัติ

“โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะมีการลงนามในวันที่ 14 พ.ย. 65 นี้ เพื่อความร่วมมือกันอันเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสำหรับรองรับอุตสาหกรรม และโครงการต่าง ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” นางสาวทิพานัน กล่าว

รับรองวัดคาทอลิกให้ได้สิทธิประโยชน์ตาม กม.เพิ่ม 34 แห่ง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ได้พิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ.2564 (ระเบียบฯ) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ รวมจำนวน 34 แห่ง ซึ่งเป็นการรับรองเพิ่มเติมจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 ที่รับรองไปแล้ว 9 แห่ง

ทั้งนี้ วัดคาทอลิกทั้งหมดที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก ก่อนเสนอให้ ครม. เห็นชอบครั้งนี้ เป็นวัดที่มีอยู่ก่อนระเบียบฯ จะประกาศบังคับใช้ และปัจจุบันมีวัดที่ยังไม่ได้รับรอง 345 แห่ง ที่ต้องรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังระเบียบนี้ใช้บังคับ(15 มิ.ย. 64)

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลที่คณะกรรมการฯ จะใช้ประกอบการพิจารณารับรองวัดคาทอลิกตามกฎหมายมีหลายประการด้วยกัน เช่น มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบศาสนาพิธีและการพำนัก มีสถานที่ สิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจและการพำนักครบถ้วน วัดมีคุณค่าและประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชนในด้านศาสนาและสังคม วัดได้รับการอุปถัมภ์และทำนุบำรุงวัดจากภาคประชาชน รัฐ และเอกชน รวมถึง ได้ดำเนินงานตามภารกิจของมิซซังในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ การรับรองวัดคาทอลิกจะเกิดประโยชน์ด้านต่างๆ อาทิ ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยสำหรับการสนับสนุนหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม เกิดความมั่นคงด้านศาสนจักร เนื่องจากวัดคาทอลิกเป็นองค์ประกอบหลักและเป็นศูนย์รวมการประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมของศาสนิกชนในวาระสำคัญต่างๆ ตามศาสนบัญญัติ ดังนั้น การรับรองวัดคาทอลิกจะทำให้วัดสามารถคงอยู่และสร้างความเชื่อมั่นแก่คริสต์ศาสนิกชนได้

วัดจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน เช่น โครงการเงินอุดหนุนกิจกรรมบูรณะศาสนสถาน รวมถึงสิทธิประโยชย์ทางภาษี หรือ การหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวข้องกำหนดไว้ในลักษณะเดียวกับศาสนาอื่น ซึ่งรวมถึงการได้รับยกเว้นภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างและประชาชนได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีจากเงินที่บริจาคให้แก่วัด

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วัดคาทอลิกทั้ง 34 แห่งที่ได้รับการรับรองครั้งนี้กระจายอยู่ใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย 1) กรุงเทพมหานคร 7 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญยอแซฟ(ตรอกจันทน์) วัดราชินีแห่งสันติสุข(สุขุมวิท 101) วัดเซนต์จอห์น วัดแม่พระฟาติมา(ดินแดง) วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร(บางเชือกหนัง) วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด(บางสะแก) และวัดนักบุญเทเรซา(หนองจอก)

2) จ.นนทบุรี 2 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่มหาการุณย์(เมืองนนท์) และวัดพระแม่สกลสงเคราะห์(บางบัวทอง) 3) จ.ปทุมธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระชนนีของพระเป็นเจ้า(รังสิต) 4) จ.สมุทรปราการ 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระกุมารเยซู(บางนา กม.8) 5)จ.นครปฐม 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระตรีเอกภาพ(หนองหิน) วัดพระคริสตกษัตริย์(นครปฐม) และวัดนักบุญอันเดร (บางภาษี) 6)จ.สมุทรสงคราม 2 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์(วัดใน) และวัดพระวิสุทธิวงศ์ (แพรกหนามแดง)

7)จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ได้แก่ วัดเซนต์ร็อค(ท่าไข่) 8)จ.พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญยวงบัปติสตา(เจ้าเจ็ด) 9)จ.สุพรรณบุรี 1 แห่ง ได้แก่วัดนักบุญลูกา (อู่ทอง) 10)จ.ราชบุรี 5 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญยอแซฟ(บ้านโป่ง) วัดนักบุญมาร์การิตา(บางตาล) วัดนักบุญเทเราซาแห่งพระกุมารเยซู(ห้วยกระบอก) และวัดนักบุญลูกา(หนองนางแพรว)

11)จ.กาญจนบุรี 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่ราชินีแห่งสากลโลก(กาญจนบุรี) วัดพระประจักษ์เมืองลูร์ด(ท่าเรือ) และวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์(พุถ่อง) 12)จ.สระบุรี 2 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่เมืองลูร์ด(สระบุรี) และวัดนักบุญยอแซฟกรรมกร(แก่งคอย) 13)จ.นครสวรรค์ 1 แห่ง ได้แก่ วัดอารามคาร์แมล(นครสวรรค์) 14)จ.เพชรบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเวนันซีโอ(เพชรบุรี) และ 15)จ.เชียงราย 3 แห่ง ได้แก่ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด เชียงราย วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์(พาน) และวัดนักบุญสเตเฟน(แม่จัน)

แก้ระเบียบ ขรก.-คนในครอบครัว รับของขวัญ ฝ่าฝืนผิดวินัย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ….ซึ่งเป็นร่างระเบียบฯฉบับใหม่ โดยให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2544 เพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมุ่งส่งเสริมกลไกการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและสภาพการณ์ปัจจุบัน

สำหรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ หรือ รับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐฉบับใหม่มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การปรับปรุงบทนิยามของ “ของขวัญ” ให้รวมถึงประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของ ป.ป.ช. และเพิ่มบทนิยามของคำว่าทรัพย์สินที่ให้เป็นของขวัญให้รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล

ปรับปรุงในเรื่องข้อห้ามในการปฏิบัติ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะให้ของขวัญแก่ผู้บังคับบัญชา หรือ บุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการให้ตามปกติประเพณีนิยม ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท จากผู้ให้แต่ละคนและแต่ละโอกาส ซึ่งได้เพิ่มเรื่องการกำหนดจำนวนเงิน เพื่อความชัดเจนเพื่อรู้ถึงมูลค่าของขวัญ จากระเบียบเดิมกำหนดไว้ว่าของขวัญที่ให้นั้นต้องมีราคา หรือ มูลค่าไม่เกินจำนวนที่ป.ป.ช.กำหนด และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเพื่อมอบให้หรือจัดหาของขวัญให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นการขยายความการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ครอบคลุมถึงทุกการกระทำ จากระเบียบเดิมกำหนดแต่เพียงว่าทำการเรี่ยไร่เงิน

ขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะยินยอม หรือ รู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ เว้นแต่เป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนนี้ได้เพิ่มตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชารับของขวัญแทน และเพิ่มข้อยกเว้นเรื่องการรับทรัพย์สินฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายของ ป.ป.ช. จากเดิมกำหนดไว้เพียงคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ส่วนวิธีปฏิบัติในการรับของขวัญ ได้แก่ ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบในภายหลังว่าเป็นการรับของขวัญ โดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานการรับของขวัญนั้นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบ เป็นการกำหนดวิธีการ และระยะเวลาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง จากเดิมระเบียบกำหนดไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ป.ป.ช.กำหนดไว้

ทั้งนี้ เมื่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้รับรายงานดังกล่าวแล้วและเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้มีคำสั่งคืนของขวัญนั้นแก่ผู้ให้โดยทันที และในกรณีที่ไม่สามารถคืนของขวัญได้ ให้ส่งของขวัญที่ได้รับให้เป็นสิทธิของหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และเก็บรักษาของขวัญนั้นไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานนั้นสั่งให้นำของขวัญออกขายและนำเงินที่ได้ส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นการเพิ่มบทบัญญัติวิธีปฏิบัติเมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับรายงาน และกำหนดวิธีปฏิบัติและการเก็บรักษาของขวัญให้มีความชัดเจน

ขณะที่บทลงโทษ ระบุว่า ผู้บังคับบัญชา หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญ โดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย หรือ ไม่ประพฤติตนให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ประมวลจริยธรรมฯ หรือมติครม.ที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้ระเบียบนี้มีหลายประเภท จึงได้กำหนดบทลงโทษให้เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนั้น ๆ สังกัดอยู่ จากเดิมระบุเพียงว่า ให้ถือว่ากระทำความผิดทางวินัย

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สอดส่อง ดูแลและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของตน เป็นการเพิ่มหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งในการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ จากเดิมระบุว่าให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)มีหน้าที่สอดส่อง และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่หน่วยงานของรัฐ

ขณะเดียวกันในร่างระเบียบฯยังกำหนดไว้ด้วยว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้วิธีการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือกรณีอื่นๆในโอกาสต่างๆตามปกติประเพณีนิยมด้วยวิธีการอย่างอื่นแทนการให้ของขวัญ เช่น การใช้บัตรอวยพร การลงนามในสมุดอวยพร การสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำกิจกรรมจิตอาสา และให้ผู้บังคับบัญชาส่งเสริมการสร้างค่านิยมการแสดงความยินดี ด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง แนะนำหรือกำหนดมาตรการจูงใจที่จะพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปในแนวทางประหยัด

เว้นภาษี – อำนวยความสะดวก จนท. JICA ทำงานในไทย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับการให้เอกสิทธิ์ การยกเว้น และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ที่ดำเนินโครงการภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐบาลญี่ปุ่น และให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฉบับดังกล่าว ร่วมกับผู้ได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายญี่ปุ่น

สำหรับสาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ประกอบด้วย ในกรณีที่ JICA ส่งทีมงานหรือผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นมาดำเนินโครงการภายใต้ความตกลงฯในไทย รัฐบาลไทยจะให้เอกสิทธิ์ และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เชี่ยวชาญและทีมงานพร้อมทั้งสมาชิกครอบครัวที่พำนักอยู่ในไทย เช่น การยกเว้นการเก็บภาษี หรือ ค่าธรรมเนียมจากเบี้ยเลี้ยง หรือ ค่าตอบแทนที่ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการความร่วมมือทางเทคนิค และการยกเว้นภาษีศุลกากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกันให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในการนำเข้าเครื่องใช้ส่วนตัว และเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการอำนวยความสะดวกทางด้านอุปกรณ์ เครื่องจักรกล และวัสดุที่ได้รับจัดสรรภายใต้ความตกลงฯ โดยหนังสือแลกเปลี่ยนจะมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ไทยลงนามหนังสือตอบและมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ความตกลงฯยังคงบังคับใช้

ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ประสานเป็นการภายในว่า JICA จะสนับสนุนการดำเนินโครงการในไทย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างปี 2566-2569 ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2561 เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และอีกโครงการคือ การดำเนินงานของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งไทยจะเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการและสำนักงานด้านการตอบสนอง โดยญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณ 49.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจัดตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคมายังศูนย์ฯด้วย โดยญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 และได้แสดงความประสงค์ให้มีการลงนามร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 25 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565

แจงความคืบหน้านิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ แก้นักโทษล้นคุก

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เชิญชวนให้เอกชนเสนอพื้นที่ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในรูปแบบร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ซึ่งมีภาคเอกชน 1 ราย เสนอโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร พื้นที่ประมาณ 4,131 ไร่ ในท้องที่ตำบลกาหลง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าพื้นที่ตั้งโครงการฯอยู่ในเขตผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถูกกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมหรือเขตสีเขียว และที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมหรือเขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว กนอ.จึงให้บริษัทเอกชนดำเนินการขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและประกอบอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการ และผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร พิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าหรือเขตสีม่วง เพื่อกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครได้แจ้งว่า ได้แจ้งให้เทศบาลนครสมุทรสาครดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการวาง และจัดทำผังเมืองรวมเมืองสมุทรสาคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครเร่งการพิจารณาการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวโดยด่วน เนื่องจากได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงการตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดส่งข้อมูล เพื่อประกอบการดำเนินการและจัดทำผังเมืองรวมให้เทศบาลนครสมุทรสาครแล้ว ประกอบด้วย ข้อมูลการศึกษารายละเอียดของโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ข้อมูลการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเบื้องต้น โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และข้อมูลการออกแบบผังแม่บทและระบบสาธารณูปโภค

แก้ กม.ขยายวาระนั่งบอร์ดอัยการ จาก 2 ปี เป็น 4 ปี

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของประธานคณะกรรมการอัยการ) ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของประธานคณะกรรมการอัยการและกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิให้ดำรงตำแหน่ง จากเดิมมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี เพียงวาระเดียว เป็นได้คราวละ 1 วาระ และอาจได้รับเลือกใหม่ได้อีกเพียง 1 วาระ

ทั้งนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ระบุว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ประธานคณะกรรมการอัยการ และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว มีระยะเวลาเพียง 2 ปี ทำให้การดำเนินการปฏิบัติตามนโยบายของประธานคณะกรรมการอัยการและกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิขาดความต่อเนื่อง ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป จึงเสนอให้ ดำรงตำแหน่งคราวละ 1 วาระและอาจได้รับเลือกใหม่อีก 1 วาระ ซึ่งจะมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระเท่านั้น

ตั้ง “ธีรัชย์ อัตนวานิช” นั่งประธานบอร์ดออมสิน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงหน่วยของรัฐ มีรายละเอียด ดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นางสาวอัญชลี ตันวานิช ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักพัฒนามาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง (นักผังเมืองทรงคุณวุฒิ) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางศิริมา ลีละวงศ์ ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการพยาบาล) ระดับสูง] กองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพทรงคุณวุฒิ (ด้านการพยาบาล) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายธีรัชย์ อัตนวานิช เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งตนแทน

4. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แทนตำแหน่งที่ว่าง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอแต่งตั้ง นายภูมิวิศาล เกษมศุข เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

    2. นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เพิ่มเติม