ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ปัจจัยเสี่ยงโลกจับตา ‘Market dysfunction’ พร้อมระเบิดที่ไหนก็ได้ แนะต้อง ‘Resiliency’

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ปัจจัยเสี่ยงโลกจับตา ‘Market dysfunction’ พร้อมระเบิดที่ไหนก็ได้ แนะต้อง ‘Resiliency’

20 พฤศจิกายน 2022


เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้พบปะกับบรรณาธิการข่าวอาวุโส เพื่อบอกเล่าถึงข้อสนทนาและมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ผู้นำระดับโลก จากเวทีการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่มีขึ้นเมื่อเร็วๆนี้

“วันนี้อยากจะเล่าให้ฟัง จากเหตุการณ์ต่างๆและหลังจากที่ได้ร่วมประชุมในเวทีต่างประเทศ คือ การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การประชุมธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง และก็ชัดเจนว่าในปีหน้าจะอาจจะมีปัญหามากกว่าเดิม” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ในปีที่แล้วถกกันเรื่องเงินเฟ้อว่าจะเป็นภาวะชั่วคราวหรือไม่ ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า อยู่ยาว แล้วปีที่แล้วคาดว่าโลกคงไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่ตอนนี้กลายเป็นเงินเฟ้อแรงกว่าที่คิด และเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คิด แล้วยังมีประเด็นที่เดิมคนไม่ค่อยพูดถึง แต่เริ่มเห็นสัญญาณแล้ว คือ เรื่อง market functioning คือ การที่ตลาดเริ่มไม่ทำงาน

Market dysfunction กับดักระเบิดในปีหน้า

ดร.เศรษฐพุฒิเล่าว่า ภาพแรกซึ่งที่ประชุม ยังคงกังวลคือ ปัญหาเงินเฟ้อ สหรัฐที่ไม่กังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ห่วงตลาดแรงงานที่ร้อนแรงมาก ความต้องการยังโตอยู่ กลายเป็นว่า สหรัฐขาดแรงงาน ผู้ว่าธนาคารกลางท่านหนึ่งบอกว่าเวลาคุยกับใครๆก็บอกว่า “we don’t need demand we need more worker” คือ เขาไม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วขาดแรงงาน ภาพเศรษฐกิจของประเทศหลัก ยกเว้นญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องดีมานด์ที่เติบโตเร็ว แรงงานขาดแคลน ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น เงินเฟ้อร้อนแรง ที่จะกังวลคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทุกประเทศจึงเน้นการเหยียบเบรก โดยใช้นโยบายการเงินที่ค่อนข้างแรงจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ

แต่ปัจจัยที่เดิมไม่ค่อยมีใครพูดถึง ซึ่งเริ่มเห็น คือ การที่ตลาดโลกมีสัญญาณที่ไม่ค่อยจะดีในหลายที่ คือ function ของตลาดไม่ค่อยปกติ market ไม่ค่อย function smoothly สาเหตุเข้ากับสำนวนไทยที่ว่า น้ำลดตอผุด น้ำที่ลดก็มาจากการที่คงดอกเบี้ยในอัตราต่ำเป็นเวลายาวนาน ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นปัญหา เพราะว่าสภาพคล่องสูงมาก ดอกเบี้ยต่ำ ทุกอย่างไปได้ดี แต่ตอนนี้น้ำลง แล้วลงเร็ว แต่เดิมดอกเบี้ยจะขึ้นครั้งละ 0.25% แต่ตอนนี้ปรับขึ้นถึงครั้งละ 0.75% ซึ่งเร็วและแรง และหนี้ในระบบโดยรวม leverage สูง balance sheet

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า “เดิมปกติเวลาเห็นความเสี่ยง ตอจะผุดตรงไหน เราจะคิดว่าปัญหาจะเกิดในจุดที่เสี่ยงและเปราะบาง ปัญหาคือ sector ไหน เช่น ธุรกิจขนาดเล็ก เอสเอ็มอี ถ้าเป็นประเทศก็เป็นกลุ่ม emerging markets แต่รอบนี้ปัญหาไม่ได้เกิดเฉพาะ big corp แต่เกิดในประเทศที่ safe ที่สุด ในตลาดที่ safe ที่สุด ในสินค้าที่ safe ที่สุด ตัวอย่างที่อังกฤษ advance economy ปัญหาเกิดในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ที่มีความผันผวนมหาศาล และความผันผวนนี้ไปเกิดระเบิดในตลาด pension fund ซึ่งในที่ประชุมก็พูดกันว่า “who would have thought?” ใครจะไปคิดว่าเกิดขึ้นกับตลาดกองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและสะท้อนว่า…

ระเบิดจะเกิดที่ไหนก็ได้ ทำให้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแรงกว่าปกติ

ถ้าของที่เราคิดว่าเสี่ยง เกิดระเบิดขึ้น คนจะรู้สึกว่า รู้อยู่แล้ว เหมือนกับตอนที่ทำ stress test ก็จะดูจุดที่เสี่ยง แต่ตอนนี้ปัญหาเกิดและแรงในจุดที่เดิมไม่เคยคิดว่าเสี่ยง…คือเป็นของที่เคยคิดว่าปลอดภัยมาโดยตลอด โดยนอกจากอังกฤษ ล่าสุด ในตลาดที่ safe ที่สุดในโลก ซึ่งไม่ใช่สัญญานที่ดีเลย คือ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง เดิมตลาดนี้เป็นตลาด safe เพราะเคยเข้าออกได้สะดวกที่สุด จะขายเท่าไหร่ก็มีคนซื้อ จะซื้อเท่าไหร่ก็มีคนขาย และราคาไม่แกว่ง แต่ช่วงหลังตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐสภาพคล่องเริ่มหด การซื้อล็อตใหญ่ทำไม่ค่อยได้ ต้องซื้อในล็อตที่เล็กลง แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่สัญญาณที่ดี มันเริ่มออกอาการ ทำให้ปีหน้าเห็นกับระเบิดที่พร้อมจะระเบิดอยู่ และที่ประชุมก็ถกกันอยู่ว่าไม่รู้ว่าจะเป็นจุดไหน แต่เชื่อว่าสภาวะแบบนี้มีแน่ และผลกระทบจะขึ้นกับว่าไปผุดตรงไหน

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ถ้าจำได้ปี 2008 วิกฤติซับไพรม์ ที่เกิดในสหรัฐอเมริกา แต่ธนาคารแรกที่ล้มอยู่ที่เยอรมัน ฉะนั้น ครั้งนี้ปัญหาจะไปผุดที่ไหน ดูไม่ออก แต่ถ้าถามว่าในเอเชีย กังวลที่ไหนมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ที่อยู่ในสภาพน้ำลงตอผุด ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำมาตลอด เมื่อไหร่ที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มขึ้น แม้จะยืนยันไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว(Japanese Government Bond)JGB เริ่มขยับขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ใครที่ถือก็จะถูก mark to market เกิด capital loss แล้วถ้าทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ย ความสามารถในการคุมอัตราดอกเบี้ยก็จะลำบากขึ้น ในเอเชีย ตลาด JGB จึงน่ากังวล

ทั้งนี้ ในที่ประชุมไม่ได้มีความกังวลต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่เหมือนปี 2008 แต่คิดว่าปัญหาจะอยู่กับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน แต่จะเป็น nonbank มากกว่า กองทุนขนาดใหญ่ อีกจุดที่น่ากังวลคือ ตลาด private credit market, private equity ต่างๆ

เพราะฉะนั้นที่น่าห่วง คือ market dysfunction คือ การที่ตลาดเคยทำงานดี มีความผิดปกติ ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย แม้สถานะของระบบธนาคารพาณิชย์จะดี แต่ปัญหาจะลามไปที่ nonbank ส่วนหนึ่งที่มอง nonbank มากกว่า เพราะกู้มาก leverage สูง ที่อยู่ได้ตอนนี้เพราะดอกเบี้ยต่ำ ถ้าเกิดสะดุด โอกาสจะล้มมีสูง และหากมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกต้นทุนก็จะสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิก็ไม่คิดว่า ตลาดจะระเบิด เพราะปล่อยให้ระเบิดไม่ได้ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ)คงเข้ามาดูแลไม่ให้ความตกใจ เกิดผลข้างเคียง

เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้รับมือ shock ดีกว่าที่อื่น

ฉะนั้น ปีหน้าจะมีข่าวไม่ค่อยดีเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความสามารถในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ กับ shock ในลักษณะนี้ได้ดีกว่าที่อื่น มีภูมิคุ้มกันดีเทียบกับที่อื่น เพราะเวลามีข่าวไม่ค่อยดี ก็จะเกิด risk-off trade อาจจะเกิดภาวะเงินไหลออก แต่ไทยมีความสามารถในการรับมือได้ดีกว่าเทียบกับที่อื่น

“เศรษฐกิจไทยนั้นยัง take off อยู่ การคาดการณ์อะไรก็ยังคงอยู่ เพราะปัจจัยที่เอื้อให้ไทยฟื้นตัวยังไม่เปลี่ยนแปลงไป หลัก ๆ การฟื้นฟูมาจากการบริโภคในประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ส่วนเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงก็คาดไว้แล้ว ทำให้การคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 8% ปีหน้าโต 1% แล้วโอกาสที่ปีหน้าจะแย่มาก โตต่ำกว่า 3% มีโอกาสน้อยมาก ถ้าจะเห็น…นั่นหมายถึงการบริโภคโตต่ำกว่าที่คาดไว้เยอะมาก หรือส่งออกแทนที่จะเติบโตน้อยกลายเป็นหดตัว หรือติดลบ 1-2% ซึ่งประเมินว่าคงไม่เห็นภาพขนาดนั้น ทำให้คิดว่ายังคงเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ เพียงแค่ช่วง take off อาจไม่ smooth” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อของโลกก็ยังไม่น่าวางใจ ไม่ลงง่าย สำหรับประเทศไทย นโยบายเดิมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ยังเหมาะสมอยู่ เพราะบริบทต่างๆ ไม่เหมือนประเทศอื่น อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่เหมือนที่อื่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ไม่เหมือนที่อื่น เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว และมีหนี้สูง ถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ก็มีโอกาสที่จะไม่ฟื้นตัวอย่างที่อยากเห็น

“เวลาผมไปต่างประเทศทีไรก็จะถูกต่อว่าเยอะมาก ว่าทำไมขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้ แต่ที่อื่นขึ้นแบบเต็มที่ทันที (front-load) ภาวะเขาต้องเหยียบแรง ก็ได้อธิบายไป ประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยแบบ front-load อาจจะเหมาะสมเพราะเงินเฟ้อวิ่งไปแรง แต่ front-load สำหรับเราไม่เหมาะสม หน้าตาเงินเฟ้อเราไม่เหมือนกับที่อื่น บริบทการฟื้นตัวเราก็ยังไม่ได้เร็ว หนี้ก็สูง ค่อยๆฟื้น ถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรง การฟื้นที่เราอยากเห็นก็อาจจะไม่มี” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

แต่การดำเนินนโยบายแบบนี้ก็มีผลต่อค่าเงินอาจจะเคลื่อนไหวไปทางอ่อนค่า แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะมีหลายอาการ แต่ต้องเลือกอาการไหนมีผลระยะยาวกว่า เช่น ค่าเงินบาทที่บางช่วงอ่อน อ่อนเสร็จก็กลับมาแข็ง แต่ดอกเบี้ยถ้าขึ้นไปแล้วจะมาลง ก็ไม่ใช่ ถ้าขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องขึ้นต่อเนื่อง การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่รายได้คนยังไม่ขึ้น จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และคงกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็จะเป็นเอ็นพีแอลไปอีกยาวนาน ขณะที่ค่าเงินแข็งแล้ว ก็อ่อนค่าได้ และก็มีสิทธิ์จะแข็งค่าได้…ไม่ใช่ไม่สนใจเรื่องเงินอ่อน แต่ก็ดูแลไม่ให้อ่อนเกินไป และโดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เงินบาทไม่อ่อนไปจนกระทบเสถียรภาพ ซึ่งช่วงหลังก็จะเห็นว่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ ที่ช่วงแรกจะเห็นว่าสูงมาก 7.9% แต่จะเห็นว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงตามที่มองไว้ แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อของไทยไม่เหมือนในต่างประเทศที่ขึ้นแล้วไม่ยอมลง

“ถ้าถามผม ที่กังวลจริงๆ ความเสี่ยงที่มาจาก market dysfunction ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย และไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดที่ไหน”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า นอกจาก maket ไม่ function ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่อง Geo Politic(ด้านภูมิรัฐศาสตร์) ถ้าในระยะยาวมีการแบ่งขั้วกันจริง ๆ ประเทศอย่างไทยจะเหนื่อย ส่วน recession ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น เกิดขึ้นได้ก็ฟื้นตัวได้

ความเสี่ยงจากนโยบายแปลกจากการหาเสียง

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ความเสี่ยงอีกอย่างที่ต้องระวังมาก คือ ความเสี่ยงจากนโยบายแปลกๆ จากการหาเสียง เพราะมีบทเรียนจากต่างประเทศที่ชัดเจน คือ อังกฤษ ที่ทำให้เห็นว่า ตลาดจะ punish นโยบายที่นักลงทุนใช้ศัพท์ว่าเป็น stupid policy และการทำอะไรผิดพลาด ยังต้องจ่าย stupid premium อีกต่างหาก

สำหรับนโยบายแปลกๆที่เห็นอยู่และค่อนข้างกังวล คือ นโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับหนี้ เช่น พักหนี้เท่านี้ปี หรือพักหนี้แล้วพักดอกเบี้ยด้วย ไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่ทำแบบนี้ จากเดิมไทยถูกวางในจุดที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะปัจจัยพื้นฐาน แต่ถ้าเราไปทำแบบนั้น ภาพก็จะเปลี่ยน ไทยก็จะถูกมองว่า มีความเสี่ยงทางการเมืองสูง ทำอะไรแปลก ๆ ทำอะไรที่กระทบต่อเสถียรภาพ

“อะไรที่ทำแล้วอาจจะฟังดูดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมีผลข้างเคียงเยอะ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น การที่จะลบข้อมูลเครดิตบูโร เข้าใจว่าเป็นวิธีซื้อใจคน หาเสียง แต่มันมีผลข้างเคียง และท้ายที่สุดคนจะยิ่งเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

“การพักหนี้ ไม่ได้ลดหนี้ หนี้ยังอยู่ แล้วไม่คิดดอกอีก ยิ่งไปกันใหญ่ massive moral hazard” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและว่า หากนโยบายการเงินการคลังไม่ประสานกัน ตลาดก็จะปั่นป่วน อย่างอังกฤษที่เห็นกันก็เพราะเหตุนี้ มีการประกาศนโยบายว่าจะลดภาษี แต่การชดเชย(financing)งบประมาณไม่พูดถึง”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในเรื่องของนโยบาย อาจจะฟังดูไม่ได้ popular แต่ต้องเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการกระตุ้น ณ จังหวะนี้ เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะมีการระบาดของโควิดที่มีผลกระทบหนัก แต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่า แม้จะฟื้นช้า แต่ฟื้น การที่จะเหยียบคันเร่งตลอดเวลาไม่เหมาะสม ส่วนทางการคลังก็ได้เห็นว่า กำลังจะที่รวบ(consolidate)นโยบาย และหากละเลยเรื่องเสถียรภาพ ตลาดก็จะมาตี ฉะนั้น ถ้าดูจากปัจจัยพื้นฐานของไทยดีอยู่แล้ว อย่าสร้างความเสี่ยงของเราเพิ่มเติม

“ความเสี่ยงด้านนี้มีพอสมควร เพราะเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ปัจจัยโลกเราคงควบคุมไม่ได้ ปีหน้าอาจจะไม่ราบรื่น ยกเว้นสร้างภูมิคุ้มกันไว้ แต่ตัวเราอย่าไปสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม ทำอะไรที่ทำให้เสถียรภาพหายไป คือบริษัทจัดเครดิตเรตติ้งจะดูแบงก์ไทย ดูเหมือนกำไรเยอะ แต่เครดิตเรตติ้งจะมองอีกแบบ คือ จะดูศักยภาพ ดูความสามารถในการทำกำไร เอ็นพีแอลจะสูงขึ้นหรือไม่ การออกนโยบายตอนหาเสียงก็ขอว่า อย่าออกอะไรที่แปลก ๆ แล้วคำนึงถึงผลข้างเคียง ถ้าคิดผลระยะสั้น ไม่คิดถึงระยะยาว ไม่คิดถึงผลข้างเคียง โดยเฉพาะตอนนี้ที่ตลาด market ready to punish stupid policy จากบทเรียนที่อังกฤษ”

ภูมิคุ้มกันที่ประเทศไทยมีถือว่าใช้ได้ และขึ้นกับ shock ประเภทไหน โดยในปีหน้าปัจจัยที่จะช่วย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเกินดุล เพราะการท่องเที่ยวกลับมา ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยระดับหนึ่ง ถึงได้พูดว่า เทียบกับที่อื่นเราน่าจะดีกว่า และความสามารถในการรองรับการอ่อนค่าของค่าเงินของไทยก็ดีกว่าที่อื่น เพราะหนี้ต่างประเทศไม่มาก แต่การที่ค่าเงินบาทอ่อนมาก แล้วส่งผลต่อเงินเฟ้อ ทำให้ภาพเงินเฟ้อที่คนไม่คาดคิดว่าจะไม่วิ่งต่อก็ปลี่ยน อันนี้เป็นสิ่งที่กังวล

ที่ผ่านมาคือ ค่าเงินที่อ่อนมาก ผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปไม่ได้เยอะ แต่ตอนนี้มีหลายอย่างมาพร้อมกัน อาจเกิดการส่งผ่านไปถึงเงินเฟ้อมากกว่าปกติ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้มาก ผลกระทบหลักๆ ต่อเงินเฟ้อยังเป็นราคาน้ำมัน

สถานการณ์ หรือ shock ต่างๆที่ติดตาม จะในกรณีที่หากเกิด market dysfunction ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทาง คือตลาดหุ้น ค่าเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่ไม่ใช่ว่าสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรไทยจะลดลงมากในทันที สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรกคือ risk-off trade ทุกคนจะกลัว จะถอยออกมาจากตลาดเพื่อความปลอดภัย ตลาดหุ้นก็จะปรับตัวลดลง ค่าเงินจะอ่อนค่า และเงินทุนไหลออก

“เราก็ต้องดูจากตรงนี้ว่าจะส่งผ่านเข้ามาระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร สิ่งที่เราเป็นห่วงคือไม่ต้องการให้เกิดในเชิงระบบ systemic ไม่ให้ลาม แต่การสะดุดในบางจุดเป็นเรื่องปกติ ที่อาจจะไม่ต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา moral hazard”

Resiliency ไทยต้องสร้างความยืดหยุ่น

“โจทย์ตอนนี้ ผมสรุปคำเดียว resiliency คือต้องหาวิธีที่จะทำให้เกิดความยืดหยุ่น ทำให้เร็ว เพราะสิ่งที่เราคุยกันไม่ใช่เรื่องระยะสั้น ทั้ง market dysfunction ไปจนถึง Geo-politic รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานจะทำอย่างไร implication มหาศาล ทุกอย่างพันกันหมด”ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

สำหรับ สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่ากันนั้น ดร.เศรษฐพุฒิเล่าว่า ในช่วงหนึ่งของการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมรายหนึ่งแนะนำให้อ่านคำกล่าวปาฐกถาของที่ปรึกษาคนปัจจุบันของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐRemarks by National Security Advisor Jake Sullivan at the Special Competitive Studies Project Global Emerging Technologies Summit ซึ่งจะพบว่า Tone เปลี่ยน

โดยจากเดิมที่ว่า อเมริกาจะก้าวหน้ากว่าจีนในระดับที่ไม่มากนัก ก็ต้องรักษาระยะห่างนี้ไว้ให้ได้ แต่กลายเป็นว่า ไม่ใช่ว่า”ต้องทำให้เราวิ่งเร็วกว่าเขา แต่ต้องทำให้เขาวิ่งช้าลง” ซึ่งเมื่ออ่านแล้วรู้สึกเป็นน้ำเสียงที่แรงมาก

We previously maintained a “sliding scale” approach that said we need to stay only a couple of generations ahead.

That is not the strategic environment we are in today.

Given the foundational nature of certain technologies, such as advanced logic and memory chips, we must maintain as large of a lead as possible.

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ดังนั้นก็ต้องกลับมาวิธีที่ทำให้ไทย resilient มีความยืดหยุ่น

ดร.เศรษฐพุฒิปิดท้ายการอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกว่า “เมื่อไรก็ตามที่คิดว่า มันจะดีขึ้น ก็ต้องมีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามา ตอนนี้เลยเตรียมใจว่าจะมีเข้ามาตลอด เปรียบเหมือนกับเพลงบลูส์ ของ Buddy Guy ‘Where Is the Next One Coming From?'”

จากเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ว่า
Well I had a job, but I got laid off
I had a heart but it got too soft
I had a girlfriend and she lied
I had a wife but my wife she died
Oh where
Where is the next one comin’ from

“ผมเลยใช้คำนี้เลย Where is the next one comin’ from มาไม่หยุด”