ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ต้องการเป็น Hub บล็อกเชนด้านการเงิน

ASEAN Roundup สิงคโปร์ต้องการเป็น Hub บล็อกเชนด้านการเงิน

6 พฤศจิกายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 31 ตุลาคม-6 พฤศจิกายน 2565

  • สิงคโปร์ต้องการเป็น Hub บล็อกเชนด้านการเงิน
  • เวียดนามได้โควตาใหม่ส่งออกกล้วยไปจีน
  • ราคาข้าวเวียดนามแซงไทยในตลาดโลก
  • ฟิลิปปินส์ยังเป็นตลาดข้าวใหญ่ที่สุดของเวียดนามปี 2565
  • เวียดนามทำแผนยกระดับตลาดหลักทรัพย์
  • FTA กัมพูชา-เกาหลีใต้มีผลธ.ค.นี้
  • อินโดนีเซียเล็งตั้งกลุ่มโอเปกโลหะแบตเตอรี่

 

สิงคโปร์ต้องการเป็น Hub บล็อกเชนด้านการเงิน

สิงคโปร์ยังคงต้องการเป็นศูนย์กลางของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไรในสกุลเงินดิจิทัล

นายราวี เมนอน กรรมการผู้จัดการธนาคารกลางของสิงคโปร์เปิดเผยว่า สิงคโปร์ต้องการเป็นศูนย์กลางของบล็อกเชนในด้านการเงิน ไม่ใช่การซื้อขายสกุลเงินคริปโทแบบเก็งกำไร

“หากว่าการเป็น hub ของเงินคริปโทเพื่อทดสอบเงินที่ถูกโปรแกรมไว้ ด้วยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการใช้งานหรือการแปลงสินทรัพย์ทางการเงินเป็นโทเคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงิน เราก็ต้องการเป็นศูนย์กลางคริปโทแบบนั้น” นายเมนอนกล่าวในการเปิดงาน Singapore Fintech Festival 2022 เมื่อวันวันพฤหัสบดี(3 พ.ย)

การแปลงสินทรัพย์ทางการเงินเป็นโทเคน คือการแปลงสิทธิการเป็นเจ้าของเป็นโทเคนดิจิทัล

DBS Bank กำลังทดสอบโปรแกรมนำร่องเงินดิจิทัลครั้งแรกของสิงคโปร์ ในโครงการรับบัตรกำนัลจากรัฐบาล ทำให้ผู้ค้าสามารถตั้งโปรแกรมและดำเนินการแจกจ่ายและใช้งานด้วยตนเอง

“แต่หากว่าการเป็น hub นั้นเป็นเพียงการซื้อข่ยและเก็งกำไรในสกุลเงินคริปโท ก็ไม่ใช่ hub อย่างที่เราต้องการจะเป็น”

สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะเป็น hub ของโลกด้านเงินคริปโท แต่ได้เข้าควบคุมอุตสาหกรรมหลังจากนักลงทุนรายย่อยสูญเสียเงินเก็บจำนวนมากไปในการซื้อขายเงินคริปโท นอกจากนี้สิงคดปร์ยังได้เตือนหลายครั้งว่า การซื้อขายเงินคริปโทนั้นมีความเสี่ยงสูงมากและไม่เหมาะกับคนทุกคน เนื่องจากมีความผันผวนและมีการก็งกำไรเป็นปกติ อีกทั้งยังได้ห้ามการโฆษณาเงินคริปโทในพื้นที่สาธารณะ และสื่อโซเชี่ยลในเดือนมกราคม 2021 และมีมาตรการใหม่เพื่อคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยเมื่อไม่นานมานี้หลังจากกรณีการล่มสลายของ Luna จาก Terra ที่มีมูลค่าถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า ยังคงเปิดรับเทคโนโลยีบล็อกเชน และมีการดำเนินการในหลายโครงการ เช่น โครงการ Project Ubin ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้บล็อกเชนเพื่อการเคลียริ่งและชำระบัญชี และหลักทรัพย์

ส่วนอีกโครงการหนึ่งคือ Project Guardian ซึ่งก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการนำร่องใช้กับภาคธุรกิจ โดยมี DBS Bank, JPMorgan and SBI Digital Assets Holdings ทำธุรกรรมในการแปลงเงินตราต่างประเทศและพันธบัตรรัฐบาลเป็นโทเคน

“Project Guardian นำร่องได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะลดความเสี่ยงในการซื้อขาย,”

“โครงการเหล่านีเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนในการออกและต้นทุนบริการ รวมทั้งยกระดับความโปร่งใสและการเข้าถึง เราชื่อว่า Project Guardian จะช่วยปูทางในการปฏิวัติตลาดการเงินในสิงคโปร์” Menon กล่าว

MAS จะเปิดอีกสองโครงการนำร่องในระดับอุตสาหกรรม โครงการแรก ทำร่วมกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่เป็นผู้นำในการริเริ่มการออกโทเคนที่เชื่อมกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนโครงการที่สองทำร่วมกับเอชเอสบีซี ยูโอบี และ Marketnode ในการออกสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารความมั่งคั่ง

Menon ยังประกาศเปิดตัวโครงการ Project Ubin+ ซึ่งเป็นความริเริ่มระดับโลกรองรับการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนข้ามแดนและการชำระบัญชีธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

Project Ubin เริ่มในปี 2016 และเป็นตัวเปิดสำหรับการพัฒนา Partior การเคลียริ่งและชำระบัญชีผ่านเครือข่ายบล็อกเชนโดยDBS Bank JPMorgan และ Temasek

เวียดนามได้โควตาใหม่ส่งออกกล้วยไปจีน

ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/economy/new-official-quota-to-boost-banana-export-to-china-4531617.html

เวียดนามและจีนได้ลงนามในพิธีสารเกี่ยวกับการส่งออกกล้วย ซึ่งมีผลเป็นเวลา 5 ปี เป็นผลจากความพยายามของเวียดนามที่จะเพิ่มการขายผลไม้ให้จีนผ่านโควตาอย่างเป็นทางการ

พิธีสารกำหนดให้เวียดนามส่งออกกล้วยไปยังจีนภายใน 10-16 สัปดาห์หลังออกดอก พร้อมตรวจสอบแหล่งที่มาได้

กล้วยต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดในการควบคุมโรคและต้องปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามและศุลกากรจีน

ภายในสองปีแรกของพิธีสารที่มีผลบังคับใช้ สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนาม 2% ต้องผ่านการตรวจสอบโรค หากไม่พบการฝ่าฝืน อัตราส่วนจะลดลงเหลือ 1%

ปัจจุบันเวียดนามส่งออกผลไม้ 11 ประเภทไปจีน ผ่านโควตาที่เป็นทางการ ซึ่งรวมถึงแก้วมังกร แตงโม ลิ้นจี่ มะม่วง และกล้วยซึ่งกลายเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญ ตามหลังแก้วมังกรและมะม่วง เวียดนามยังหารือที่จะส่งออกมันเทศและส้มโอไปจีน

การส่งออกตามโควตาทางการต้องมีการทำสัญญาก่อนการส่งออกและมีมาตรฐานคุณภาพที่สูงขึ้น กว่าการส่งออกที่ไม่ผ่านระบบโควตา ที่ผู้ซื้อผู้ขายทำการค้าผ่านตลาดบริเวณชายแดน

ราคาข้าวเวียดนามแซงไทยในตลาดโลก

ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/industries/vietnamese-rice-prices-surpass-thailands-in-global-markets-4531073.html

ข้าวหัก 5% ของเวียดนาม ซึ่งปกติจะมีราคาต่ำกว่าไทยซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดส่งออก ได้พุ่งแซงหน้าไทยในเดือนตุลาคมจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทระบุว่าราคาได้แตะ 425-430 ดอลลาร์ต่อตัน สูงกว่าพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันจากอินเดีย 48-51 ดอลลาร์และสูงกว่าไทย 18-25 ดอลลาร์

เวียดนามส่งออกข้าวชนิดต่างๆ กว่า 6 ล้านตันเป็นมูลค่าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 17% และเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ธุรกิจในประเทศให้ข้อมูลว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวเวียดนามสามารถได้ราคาที่สูงกว่าของไทยได้ แต่การจดจำแบรนด์ข้าวของเวียดนามกำลังเพิ่มขึ้นในตลาดโลก

“ข้าวหอมเวียดนามยังคตามหลังประเทศไทย แต่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคต่างชาติ” Pham Thai Binh ผู้อำนวยการทั่วไปของ Trung An Hi-tech Farming Joint Stock Company ในเมืองเกิ่นเทอทางตอนใต้กล่าว

บริษัทของเขาส่งออกข้าวประมาณ 30 ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังยุโรปทุกเดือนในราคา 700-1,250 ดอลลาร์ต่อตัน

ออสเตรเลียเพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ‘Gao Ong Cua Vietnam’ สำหรับพันธุ์ข้าว ST24 และ ST25 ที่พัฒนาโดยวิศวกรเกษตร Ho Quang Cua

พันธุ์ข้าว ST25 ชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกในปี 2019 และพันธุ์ข้าว ST24 ได้เป็นอันดับสองในปี 2017

ข้าวของกลุ่ม Loc Troi ที่มีเครื่องหมายการค้า ‘Com Vietnam Rice’ จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต 4,000 แห่งในฝรั่งเศส

บริษัททในประเทศคาดว่าการส่งออกข้าวจะมีปริมาณสูงและได้ราคาสูงในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุปทานอาหารลดลง ขณะที่ผลผลิตข้าวของไทยลดลง

เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสามของโลกรองจากอินเดียและไทย และคิดเป็นสัดส่วน 7.8% ของการค้าข้าวทั่วโลก ปัจจุบันเวียดนามจำหน่ายข้าวใน 28 ประเทศและดินแดนทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป

ฟิลิปปินส์ยังเป็นตลาดข้าวใหญ่ที่สุดของเวียดนามปี 2565

ที่มาภาพ: https://interaksyon.philstar.com/politics-issues/2021/11/24/205243/philippines-temporarily-limits-rice-imports-from-vietnam/

รัฐบาลเวียดนามรายงานว่าฟิลิปปินส์ยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้

ฟิลิปปินส์ได้รับข้าว 2.47 ล้านเมตริกตันจากเวียดนามในราคา 425-430 ดอลลาร์ต่อตัน รวมเป็นมูลค่าประมาณ 1.14 พันล้านดอลลาร์ จากรายงานของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทในกรุงฮานอย

ตลาดฟิลิปปินส์คิดเป็น 43.9% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้น 35.3% ในด้านปริมาณและ 22.2% ในมูลค่าตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวตรงกับการคาดการณ์ในเดือนกันยายนของสำนักอุตสาหกรรมพืชที่ประเมินการนำเข้าข้าวจากเวียดนามไว้ราว 2.5 ล้านตัน

ยอดนำเข้าข้าวจากเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 สูงกว่ายอดรวม 2.4 ล้านตันในปี 2564 แล้ว ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มะนิลาพยายามที่จะจำกัดการนำเข้าข้าวจากเวียดนามชั่วคราว โดยอ้างการเก็บเกี่ยวในฤดูฝน

รองจากเวียดนาม เมียนมาเป็นแหล่งข้าวที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ โดยได้จัดส่งประมาณ 204,000 ตันไปยังฟิลิปปินส์ในช่วงมกราคมถึงกันยายน ส่วนประเทศไทยมาเป็นอันดับสาม โดยส่งออกไปแล้ว 150,000 ตัน

ในเดือนตุลาคม กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์เป็น 3.4 ล้านตันจาก 3.3 ล้านตันในเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566

“ข้าวเป็นพืชผลที่มีต่อทางการเมืองสูงในฟิลิปปินส์ และความเพียงพอของอุปทานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับรัฐบาล ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยสามารถดำรงชีวิตได้ แม้มีข้าวปริมาณน้อย” สำนักงานบริการการเกษตรต่างประเทศของ USDA ระบุในรายงาน

สาเหตุที่นำเข้าจากเวียดนามสูง เพราะผู้ผลิตข้าวเวียดนามมีผลผลิตที่มีเสถียรภาพ ได้ข้าวเมล็ดยาวสีขาว เช่น ข้าวหอมมะลิและข้าว OM ที่สอดคล้องรสนิยมของชาวฟิลิปปินส์ ในขณะที่คงราคาไว้ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้มีความสามารถในการจัดส่งและมีต้นทุนใกล้เคียงกับความต้องการของฟิลิปปินส์เนื่องจากระยะทางระหว่างสองประเทศไม่ไกลมาก

เวียดนามทำแผนยกระดับตลาดหลักทรัพย์

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:Hanoi_Stock_Exchange_(18780216822).jpg

กระทรวงการคลังเวียดนามกำลังทำแผนที่จะยกระดับสถานะของตลาดหุ้นจากตลาดชายขอบ(rontier) เป็นตลาดเกิดใหม่(emerging)ก่อนปี 2025 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดหุ้นปี 2030

ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดจะเท่ากับอย่างน้อย 100% ของ GDP ภายในปี 2025 และ 120% ภายในปี 2030 ยอดพันธบัตรคงค้างจะมีสัดส่วนอย่างน้อย 47% ของ GDP ภายในปี 2025 และ 58% ภายในปี 2030 และสัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลที่ถือโดยนักลงทุนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 55% ภายในปี 2025 และ 60% ภายในปี 2030

นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจะมีสัดส่วน 8% ของประชากรในประเทศภายในปี 2025 และ 10% ภายในปี 2030

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องวางกรอบทางกฎหมายในตลาดหุ้นให้เสร็จสิ้น รวมทั้งยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการ และปกป้องสิทธิของนักลงทุน กระทรวงกล่าว

ปีนี้ GDP คาดว่าจะมีมูลค่า 394.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากประเทศรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6% ต่อปีไว้ได้จนถึงปี 2025 GDP จะสูงถึง 470 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Le Dat Chi รองคณบดีคณะการเงิน มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงิน โฮ จิมินห์ กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว มูลค่าหุ้นต้องสูงถึง 220 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาเพียงสองหรือสามปี ในขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ในปัจจุบันต่ำกว่า 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนนักลงทุนาหุ้นเป็น 10% ของประชากรนั้นไม่จำเป็น Chi กล่าวว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นที่การพัฒนากองทุนเพื่อการลงทุนแบบมืออาชีพ และสร้างเงื่อนไขการลงทุนที่ดีและปลอดภัยในตลาด

FTA กัมพูชา-เกาหลีใต้มีผลธ.ค.นี้

ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501162478/cambodia-korea-fta-to-come-into-force-from-december-1/

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ประกาศว่า ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับเกาหลีใต้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมนี้
การค้าทวิภาคีของสองประเทศมีมูลค่า 818 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA)

สื่อกัมพูชารายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการครบรอบ 10 ปีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการเปิดตัวหนังสือว่าด้วยกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค(Framework for Regional Integration)อย่างเป็นทางการโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่อ อาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia-ERIA) ตามรายงานของ

กัมพูชาส่งออกรองเท้าและเครื่องแต่งกายอื่นๆ สินค้าเพื่อการเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นหลักไปยังเกาหลีใต้

อินโดนีเซียเล็งตั้งกลุ่มโอเปกโลหะแบตเตอรี่

ที่มาภาพ: https://www.afr.com/companies/energy/indonesia-eyes-opec-style-cartel-for-battery-metals-20221031-p5budd

อินโดนีเซียกำลังศึกษาการจัดตั้ง กลุ่มพันธมิตรในรูปแบบเดียวกับกลุ่มโอเปกสำหรับนิกเกิลและโลหะแบตเตอรี่ที่สำคัญอื่นๆ โดยชี้ไปที่ความเชื่อมั่นทางการเมืองของประเทศต่างๆ ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรที่จำเป็นในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

นายบาห์ลิล ลาฮาดาเลีย รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนของประเทศ กล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังมองหากลไกที่คล้ายคลึงกับกลไกของโอเปก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 13 ชาติ ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดหาโลหะซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

“ข้อดีของการสร้างโอเปกในการจัดการการกำกับดูแลการค้าน้ำมัน ก็จะช่วยทำให้มั่นใจว่าจะสามารถคาดการณ์ได้สำหรับนักลงทุนและผู้บริโภคที่มีศักยภาพ”

“อินโดนีเซียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโครงสร้างการกำกับดูแลแร่ธาตุที่เรามี รวมถึงนิกเกิล โคบอลต์ และแมงกานีส”

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็น 38% ของอุปทานในการสกัดทั่วโลก จากข้อมูลของ CRU ที่ปรึกษา และยังมีปริมาณสำรองวถึงหนึ่งในสี่ของโลหะสำรองของโลก

เมื่อถามว่าได้ติดต่อกับผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่รายอื่นๆ เกี่ยวกับแนวคิดพันธมิตรหรือไม่ กระทรวงการลงทุนกล่าวว่า กระทรวงยังคงอยู่ระหว่างการกำหนดโครงสร้างที่สามารถเสนอได้

ความพยายามใดๆ ในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อควบคุมราคานิกเกิลทั่วโลกนั้นคงอยู่ห่างไกลจากการเดินหน้า รัสเซียเป็นผู้จัดหานิกเกิลที่มีความบริสุทธิ์สูงในสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ที่ใช้ในแบตเตอรี่ ขณะที่แคนาดาและออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าอินโดนีเซียจะเป็นแหล่งเติบโตที่ใหญ่ที่สุดในปีหน้า

ความซับซ้อนประการหนึ่งคือ อินโดนีเซียต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติ เช่น Tsingshan ของจีน ผู้ผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมรายใหญ่ที่สุดของโลก และ Vale ของบราซิลในการสกัดนิกเกิล ในบรรดาประเทศที่มีอำนาจของ OPEC เช่น ซาอุดิอาระเบีย การผลิตน้ำมันถูกครอบงำโดยบริษัทของรัฐ

อินโดนีเซียเป็นสมาชิกดั้งเดิมของ OPEC แต่ระงับการเป็นสมาชิก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ และผลกระทบจากการลดการผลิตของกลุ่มพันธมิตรที่มีต่อฐานะการเงินของรัฐบาล

อินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิในปี 2547

ความสามารถของประเทศในการจัดหานิกเกิลเกรดแบตเตอรี่ยังเพิ่งเกิดขึ้น ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่มีความบริสุทธิ์ต่ำกว่าที่ใช้ในสแตนเลส และต้องมีโรงงานแปรรูปเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนให้เป็นวัสดุสำหรับแบตเตอรี่

อินโดนีเซียได้สั่งห้ามการส่งออกแร่นิกเกิลตั้งแต่ปี 2563 เพื่อขยายอุตสาหกรรมการแปรรูปในประเทศ รวมทั้งกำลังวางแผนภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์นิกเกิลขั้นกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาซัพพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

ในปีนี้ อินโดนีเซียเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ 2 รายแรกจากฮุนไดของเกาหลีใต้และ Wuling Motors ของจีน

นายลาฮาดาเลียกล่าวว่าประเทศ “จะไม่ปรับเปลี่ยนและไม่ถอยกลับในแง่ของนโยบายของเรา” แม้ว่าการห้ามส่งออกจะจุดชนวนให้เกิดข้อพิพาทกับองค์การการค้าโลกกับสหภาพยุโรป

แม้ว่าอินโดนีเซียจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมาย แต่บทบาทในการจัดหานิกเกิลให้กับผู้ผลิตรถยนต์ตะวันตกก็ยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากข้อเท็จจริงที่ว่าแนวการผลิตเป็นของจีนและมีปริมาณคาร์บอนมากเนื่องจากการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

ข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าจีนเพิ่มการลงทุนในประเทศเป็นสองเท่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งนำโดยการก่อสร้างโรงถลุงนิกเกิล

Frank Fannon กรรมการผู้จัดการของ Fannon Global Advisors และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านทรัพยากรพลังงาน กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรแบบกลุ่มโอเปกสำหรับโลหะแบตเตอรี่จะ “ทำให้การลงทุนของตะวันตกชะลอลง” ในภาคนิกเกิลของอินโดนีเซีย

ก่อนหน้านี้ “สามเหลี่ยมลิเธียม” หรือ ithium triangle ของชิลี อาร์เจนตินา และโบลิเวียได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มที่คล้ายกับกลุ่มโอเปกเพื่อควบคุมอุปทานทั่วโลกและการกำหนดราคาของโลหะแบตเตอรี่

มาร์เซลา เฮอร์นันโด รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่ของชิลีแสดงความไม่สนใจโดย กล่าวกับ Financial Times ว่า “ความสนใจของเราในการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านต้องคำนึงถึงการจัดการความรู้เพื่อช่วยให้เราร่วมมือกันในด้านความสามารถ”