ThaiPublica > Sustainability > Mercer CFA Institute Global Pension Index จัดอันดับระบบบำนาญไทยได้เกรด D

Mercer CFA Institute Global Pension Index จัดอันดับระบบบำนาญไทยได้เกรด D

18 ตุลาคม 2022


ภาพต้นแบบ : https://www.mercer.dk/vores-viden/mmgpi-dk.html

Mercer และ CFA Institute ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับระบบบำนาญที่ดีที่สุดของโลก Mercer CFA Institute Global Pension Index 2022 (MCGPI) ประจำปีครั้งที่ 14 ซึ่งพบว่า กลุ่มประเทศนอร์ดิกติดอันดับต้นๆ โดยไอซ์แลนด์ คว้าอันดับหนึ่งอีกปี ส่วนเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กครองตำแหน่งที่สองและสามตามลำดับเป็นปีที่สองติดต่อกัน ซึ่งแต่ละประเทศได้รับการจัดอันดับในเกรด A ในฐานะระบบบำนาญที่ยั่งยืนและมีการจัดการที่ดี

ผลการศึกษายังพบว่า มีนายจ้างจำนวนมากขึ้นที่ถอยจากแผนเกษียณแบบกำหนดการจ่ายอัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบที่แน่นอน (defined contribution — DC) รวมทั้งยังได้สำรวจความท้าทายและโอกาสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่แผนแบบ DC ทั่วโลก ซึ่งผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น

ไอซ์แลนด์ได้คะแนนรวมสูงสุด (84.7) ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ (84.6) และเดนมาร์ก (82.0) โดยมีคะแนนสูงในด้านความเพียงพอ ความยั่งยืน และความซื่อตรง ทั้งนี้ ความเพียงพอพิจารณาจากระบบโดยรวมและวัดระดับผลประโยชน์จากทั้งเงินบำนาญของรัฐและเงินบำนาญส่วนบุคคล ความยั่งยืนจะวัดว่าระบบบำเหน็จบำนาญจะยังคงให้ผลประโยชน์เหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษหรือไม่ และความซื่อตรงจะตรวจสอบว่าระบบมีการกำกับดูแลที่ดีเพียงใด

ดร.เดวิด น็อกซ์ หุ้นส่วนอาวุโสของ Mercer และผู้เขียนนำในรายงานผลการศึกษากล่าวว่า ประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ได้รับประโยชน์จากเงินบำนาญขั้นต่ำที่จัดว่าดีทีเดียว และมีสัดส่วนของผู้ที่มีเงินบำนาญส่วนตัวสูงด้วย ข้อมูลของ OECD พบว่า จำนวนประชากรที่ทำงานด้วยบัญชีเงินบำนาญส่วนตัวในไอซ์แลนด์มีมากถึง 83% ในเนเธอร์แลนด์ 88% และ 92% ในเดนมาร์ก

“ประเทศเหล่านี้มีเงินบำนาญเกษียณอายุขั้นต่ำที่นับว่าดีพอสมควรเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเฉลี่ย ประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 65 ปี มีบัญชีเงินบำนาญส่วนบุคคล” ดร.น็อกซ์กล่าว

ความยั่งยืนของระบบบำเหน็จบำนาญเหล่านี้มาจากการออมที่นำมารวมกันเป็นกองเงินออมที่ลึก ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200% ของ GDP

“ประเทศเหล่านี้ใน 3 อันดับแรกกำลังกันเงินไว้สำหรับอนาคต ซึ่งได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว เกือบทุกคนอยู่ในระบบ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงถึงอยู่ในอันดับต้นๆ” ดร.น็อกซ์กล่าว

ข้อมูลของ OECD แสดงให้เห็นว่า การสะสมสินทรัพย์ในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 125% ของ GDP ในขณะที่ออสเตรเลียอยู่ที่ 140% ของ GDP

การวิจัยยังพบว่า ช่องว่างทางเพศในเชิงรายได้หลังเกษียณของกลุ่มประเทศอันดับต้นๆ ลดลง เป็นผลจากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในการให้การดูแลเบื้องต้น ซึ่งมักจะเป็นมารดาในปีแรกของเด็กที่เกิดมา

“ประเทศในแถบยุโรปเหนือตระหนักดีว่า ผู้หญิงพักการทำงานเพื่อดูแลเด็กหลังคลอด และ… สิ่งที่พวกเขาทำ ก็เพื่อประโยชน์ระยะยาวของเศรษฐกิจ และพวกเขาก็ควรได้รับเครดิตบางส่วนจากผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ” ดร.น็อกซ์กล่าว

สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งเอเชีย

ในเอเชีย สิงคโปร์ยังคงครองตำแหน่งสูงสุด ขณะที่ญี่ปุ่นและมาเลเซียมีระบบรายได้หลังเกษียณดีขึ้นมากที่สุด

ระบบการเกษียณอายุของสิงคโปร์ยังคงครองตำแหน่งสูงสุดในเอเชีย โดยอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 44 ระบบการเกษียณอายุในการจัดอันดับครั้งที่ 14 ส่วนเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเลเซียอยู่ใน 3 อันดับแรกของภูมิภาค โดยติดอันดับที่ 19 และ 23 ของโลกตามลำดับ

สิงคโปร์ได้คะแนน 74.1 จากที่ลดลงเล็กน้อยในปี 2564 แต่ฟื้นตัวในปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากการปรับการประเมินการให้คะแนนและอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณสุทธิที่เพิ่มขึ้น ระบบรายได้หลังเกษียณส่วนใหญ่ในเอเชียโดยรวมดีขึ้น ยกเว้นจีนแผ่นดินใหญ่ (54.5) อินโดนีเซีย (49.2) และฟิลิปปินส์ (42)

ในเอเชีย มาเลเซีย (63.1) และญี่ปุ่น (54.5) มีการปรับปรุงระบบมากที่สุด ส่งผลให้มาเลเซียกระโดดจากเกรด C ไปที่เกรด C+ และญี่ปุ่นเลื่อนขึ้นมาเป็นเกรด C จาก D ในปี 2564 นอกเหนือจากการปรับการประเมินเพื่อให้คะแนนแล้ว อันดับที่สูงขึ้นของมาเลเซียมีสาเหตุหลักมาจากอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณสุทธิที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นได้ปรับแก้ไขแนวทางที่เกี่ยวข้องกับแผนบำเหน็จบำนาญ

ด้านเกาหลี (51.1) ได้รับการอัปเกรดเป็น C ส่วนเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (64.7) อินเดีย (44.4) และไต้หวัน (52.9) ก็ดีขึ้นกว่าปีก่อน

ขณะที่ประเทศไทย (41.7) ยังคงมีคะแนนต่ำสุดทั่วโลกและอยู่ในเกรด D แต่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความคืบหน้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ระบบการเกษียณอายุของเอเชียยังคงล้าหลังโลก ด้วยคะแนนโดยรวมของภูมิภาคอยู่ที่ 53.8 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 63

MCGPI ใช้ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของดัชนีย่อยของความเพียงพอ ความยั่งยืน และความซื่อตรงในการจัดอันดับ โดยด้านความเพียงพอซึ่งพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่มอบให้แก่คนยากจนและกลุ่มผู้มีรายได้ที่แตกต่างกัน ตลอดจนรูปแบบและคุณลักษณะหลายประการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบรายได้หลังเกษียณโดยรวม

ในเอเชีย สิงคโปร์มีคะแนนความยั่งยืนสูงสุด (65.4) ซึ่งพิจารณาจากตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนในระยะยาวของระบบปัจจุบัน เช่น อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานประชากรสูงอายุ และระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ประเทศไทยมีค่าต่ำสุด (36.4)

ด้านความซื่อตรง ซึ่งพิจารณาถึงสามด้านกว้างๆ ของระบบบำเหน็จบำนาญ ได้แก่ กฎระเบียบและธรรมาภิบาล การคุ้มครองและการสื่อสารกับสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงมีค่าสูงสุด (87.6) โดยระบบรายได้เกษียณของฟิลิปปินส์ได้คะแนนต่ำสุด (30.0) )ในเอเชียและของโลก

นางสาวเจเน็ต หลี่ ผู้นำธุรกิจความมั่งคั่งแห่งเอเชียของ Mercer กล่าวว่า “ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ รวมถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ผันผวน ได้นำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญใหม่ ไม่ใช่เฉพาะตลาดเอเชียแต่รวมถึงโลกโดยรวมด้วย ในขณะที่เอเชียยังคงตามหลังค่าเฉลี่ยทั่วโลกในคะแนนโดยรวม แต่ก็มีการปรับปรุงในเชิงบวกทุกปีสำหรับตลาดส่วนใหญ่ และที่กล่าวกันว่า การมีอายุยืนยาวจะเป็นความท้าทายที่ต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลไม่สามารถที่จะปรับปรุงและยกระดับระบบการเกษียณอายุของตนเองได้ แต่ต้องจัดลำดับความสำคัญและดำเนินการทันที”

นิค พอลลาร์ด กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สถาบัน CFA กล่าวว่า “แนวโน้มความท้าทายระยะสั้น ส่วนใหญ่มาจากระดับราคาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ค่าเงินอ่อนค่า และเงินทุนไหลออก กำลังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของเอเชียในช่วงที่หลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดกำลังพัฒนา กำลังพยายามฟื้นฟูจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ ในระยะยาว เอเชียและทั่วโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แนวโน้มเหล่านี้ยังคงมีอยู่และกลายเป็นความปกติใหม่ ด้วยเหตุนี้ ไม่มีตลาดไหนในเอเชียที่ไม่ต้องปฏิรูประบบบำนาญอย่างเร่งด่วน และผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่างบดุลบำนาญเพียงพอและผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุมีความยั่งยืน”

ผู้เกษียณมีความเสี่ยงเงินไม่พอ

MCGPI เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญ 44 ระบบทั่วโลก คิดเป็น 65% ของประชากรโลก โดยเปรียบเทียบระบบรายได้หลังเกษียณทั่วโลก ชี้ข้อบกพร่องบางด้านในแต่ละระบบ และเสนอแนะการปฏิรูปในบางด้านที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะช่วยให้มีสวัสดิการการเกษียณอายุที่เพียงพอและยั่งยืนมากขึ้น

ดร.เดวิด ค็อกซ์ หุ้นส่วนอาวุโสของ Mercer และผู้เขียนนำของผลการศึกษานี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแผนการเกษียณอายุที่มั่นคง เพราะความไม่แน่นอนภายนอกที่เพิ่มขึ้น

“คนแต่ละคนเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้นสำหรับการออมเพื่อการเกษียณของพวกเขามาระยะหนึ่งแล้ว ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนที่มากขึ้นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ พวกเขากำลังลงมือทำในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนและผันผวนมากขึ้น แม้จะมีความแตกต่างในอิทธิพลทางสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ หรือเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค ความท้าทายมากมายเหล่านี้กลับเหมือนกัน และในขณะที่การปฏิรูปที่ต้องทำอาจใช้เวลาและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ผู้กำหนดนโยบายต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเกษียณอายุได้รับการสนับสนุน พัฒนา และกำกับดูแลอย่างดี” ดร.น็อกซ์กล่าว

นางมาร์จ แฟรงคลิน ประธานและซีอีโอของ CFA Institute เน้นย้ำถึงสภาพแวดล้อมที่มีพลวัตของอุตสาหกรรมการลงทุน

“นับตั้งแต่การก่อตั้ง Mercer CFA Institute Global Pension Index การจัดการการลงทุนและอุตสาหกรรมบำเหน็จบำนาญโดยรวมต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่ธรรมดา ผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการเงินใหม่จะต้องส่งมอบผลตอบแทนที่เพียงพอสำหรับผู้รับผลประโยชน์ ปีที่ผ่านมา เราได้เปลี่ยนผ่านสภาพแวดล้อมของอัตราดอกเบี้ยที่ ‘ต่ำลงและนานขึ้น’ ไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่มีนัยสำคัญ อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกบางแห่งเพิ่มขึ้น 4 เท่า และค่าครองชีพที่สูงขึ้นสำหรับหลายๆ คน ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อรายได้คงที่ของผู้เกษียณอายุอย่างมีนัยสำคัญ” นางแฟรงคลินกล่าว

การปรับเปลี่ยนไปสู่แผนการออมเพื่อเกษียณแบบกำหนดการจ่ายอัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบที่แน่นอน เพิ่มความไม่แน่นอนสำหรับผู้เกษียณอายุ

การที่นายจ้างยังคงเดินหน้าถอยห่างจากการสร้างความมั่นคงทางการเงินที่มีให้ในแผนแบบกำหนดอัตราผลตอบแทนผลประโยชน์แน่นอน (defined benefit — DB) ทำให้ผู้คนทั้งแบกรับความเสี่ยงและมีโอกาสทั้งก่อนและหลังเกษียณ ซึ่งแตกต่างจากแผน DB ที่คนจะได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญที่กำหนดไว้แน่นอนล่วงหน้าเมื่อเกษียณอายุ โดยทั่วไปแผน DC จะจ่ายเงินที่สะสมในบัญชีของตนเองเมื่อเกษียณอายุ นอกจากนี้ รัฐบาลหลายแห่งกำลังพิจารณาการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อระดับของผลประโยชน์ทางสังคม ที่มีผลต่อความยั่งยืนทางการเงินของประเทศในระยะยาว

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ คนจำนวนมากอาจจะมีเงินไม่พอหลังเกษียณ ดังนั้น การตัดสินใจทางการเงินที่เหมาะสมในระหว่างขั้นตอนการสะสมและการลดการสะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากมูลค่าของเงินตามเวลา ขณะที่การกระจายความเสี่ยงเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนการลงทุน โดยอาจพยายามกระจายเงินออมเพื่อการเกษียณของตนระหว่างที่มีรายได้ประจำ การคุ้มครองที่เหมาะสม และการเข้าถึงเงินทุน ตลอดจนแหล่งการสนับสนุนทางการเงินต่างๆ ซึ่งรวมถึงรัฐบาล เงินบำนาญของเอกชน และการออมส่วนบุคคล

“ครัวเรือนจะต้องพิจารณาความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการได้รับรายได้ที่มั่นคง การเข้าถึงเงินทุนบางส่วน และการปกป้องจากความเสี่ยงในอนาคต เนื่องจากความไม่แน่นอนหลายประการที่ผู้เกษียณอายุต้องเผชิญ” ดร.น็อกซ์กล่าว

“ประเด็นสำคัญคือ เราต้องเข้าใจว่าระบบรายได้หลังเกษียณทั่วโลกจะสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของชุมชนของพวกเขาในอีกหลายทศวรรษข้างหน้าได้หรือไม่” ดร.น็อกซ์กล่าวและว่า “ไม่มีคำตอบเดียวหรือสมบูรณ์แบบ ระบบที่ดีที่สุด คือ ระบบที่ช่วยให้คนสามารถดำรงชีวิตแบบเดิมไว้ได้จนถึงวัยเกษียณ รัฐบาล นายจ้าง ผู้กำหนดนโยบาย และอุตสาหกรรมบำเหน็จบำนาญควรใช้ผลิตภัณฑ์และนโยบายทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อให้บุคคลสามารถเกษียณอย่างมีศักดิ์ศรี ความมั่นใจ และความมั่นคงทางการเงิน”

นางสาวหลี่กล่าวเสริมว่า “การเปลี่ยนรูปแบบการออมเพื่อเกษียณจาก DB เป็น DC เกิดขึ้นต่อเนื่องในเอเชียตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหลายแห่งกำลังอยู่ในกระบวนการ หรือกำลังวางแผนปฏิรูปอย่างแข็งขันเพื่อออกแบบระบบบำเหน็จบำนาญของตนเพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงของการมีอายุยืนยาว แม้โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจทำให้ล่าช้าบ้าง แต่ DB ก็ยังคงอยู่ในเส้นทางที่จะกลายเป็นโครงสร้างแผนหลัก เราคาดหวังว่าจะได้เห็นการปรับ DC ที่เป็นทางการมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะผ่านข้อกำหนดการจ่ายเงินสมทบแบบบังคับ สิทธิประโยชน์จูงใจสำหรับการจ่ายเงินสะสมเพิ่มเติมโดยสมัครใจ หรือทั้งสองอย่าง การให้ความรู้ทางการเงินในวงกว้างและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้คนตัดสินใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับการออมเพื่อการเกษียณ”