ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
เช้าตรู่ของวันที่ 22 มกราคม 2565 สำนักข่าวระดับโลก เช่น CNN, BBC, Al Jazeera, The New York Times, The Guardian ฯลฯ ได้เผยแพร่ข่าวสารไปทั่วโลกว่า ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ชาวพุทธที่มีชื่อเสียงอันดับสองของโลก รองจากองค์ทะไลลามะ ได้ละสังขารของตนอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ในวัย 95 ปี
ท่านติช นัท ฮันห์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกว๋างจิ ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงวียน ซวน บ๋าว ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดตื่อฮิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2485 ขณะมีอายุได้ 16 ปี และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา ชีวิตบรรพชิตของท่านช่วงแรกที่อยู่ในเวียดนาม
ท่านได้พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วยการเขียนบทความเพื่อหยุดยั้งความขัดแย้งในสังคมเวียดนามขณะนี้ซึ่งกำลังปะทุเกิดเป็นสงครามเวียดนาม ระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ แต่ข้อเขียน ของท่านกลับได้รับการต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธ และรัฐบาลเวียดนามใต้เป็นอย่างมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ท่านได้รับทุนไปศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัย พริ้นซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ท่านได้ศึกษาที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี และต่อมาแม้จะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียให้ศึกษาต่อ ท่านก็ตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในเวียดนามใต้เพิ่มสูงขึ้น ต่อมาท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพื่อสร้างเยาวชนพุทธขึ้นเพื่อรับใช้สังคม และทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเถรวาทในเวียดนามใต้ ท่านพยายามสอนแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อการรับใช้สังคม เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากสงคราม ท่านพยายามพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอนและเขียนในสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูง ภารกิจที่สำคัญของท่านคือ ก่อตั้งคณะเทียบหิน ในปี พ.ศ. 2509
แต่การรณรงค์เพื่อหยุดการสนับสนุนสงครามของท่านไม่บรรลุผลสำเร็จ ทำให้แม้ภายหลังจากที่รวมประเทศได้แล้วรัฐบาลเวียดนามก็ยังไม่ยอมรับท่าน และปฏิเสธการเข้าประเทศของท่าน ทำให้ท่านต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการที่ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้งหมู่บ้านพลัม เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชุมชนสงฆ์ของท่านที่เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2525
ในระยะแรกชุมชนนี้เป็นแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัยจากเวียดนามซึ่งในขณะนั้นเป็นที่รู้จักกันในนามของ Boat People เมื่อเป็นชุมชนที่มั่นคงแล้วท่านจึงเริ่มให้มีการบรรพชาอุปสมบทในปี พ.ศ. 2531
หมู่บ้านพลัมปัจจุบันได้จัดการอบรมภาวนาเกี่ยวกับการเจริญสติทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ให้แก่บุคคลทั่วไป ปัจจุบันมีนักบวชกว่าห้าร้อยคน จากกว่ายี่สิบประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านพลัม และที่อื่นๆ ได้แก่ Green Mountain Dharma Center รัฐเวอร์มอนต์ และ Deer Park Monastery รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา และที่วัดบัทหงา เมืองบ๋าวหลอบ และวัดตื่อฮิ้ว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
หมู่บ้านพลัมนั้นเป็นชุมชนต้นแบบในการปฏิบัติธรรมรวมพุทธบริษัทสี่ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “สังฆะ” กิจวัตรที่สมาชิกในหมู่บ้านทำเหมือกันคือ “การเจริญสติ” ในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในลมหายใจเข้าออก และให้อยู่กับปัจจุบันในทุกอิริยาบถ
ขณะนี้ชุมชนปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมเกิดขึ้นทั่วโลก 12 แห่ง อยู่ในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เวียดนาม และประเทศไทย นอกจากนี้มีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ กระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลกเกือบหนึ่งพันกลุ่ม
ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นพระอาจารย์เซนสายเวียดนามที่มีผลงานการเผยแพร่มากที่สุดในโลกรูปหนึ่ง ซึ่งได้เขียนหนังสือกว่า 300 เล่ม ซึ่งได้มีการแปลออกสู่ภาษาต่างๆ มากมาย ไม่นับเทศนาและการให้สัมภาษณ์ดังปรากฏในสื่อออนไลน์ ท่านจึงเป็นพระอาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงระดับโลก และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยเฉพาะการต่อสู้ให้ยุติสงครามเวียดนาม จนประเทศเวียดนามใต้ขณะนั้นห้ามท่านเข้าประเทศ และแม้เมื่อสิ้นสุดสงครามเวียดนามไปแล้ว รัฐบาลเวียดนามมิได้ต้อนรับท่านเช่นกัน ท่านถูกขับไล่ราวกับหมูกับหมา วัดถูกเผาต้องอพยพพร้อมลูกศิษย์เพื่อไปหาที่ตั้งสำนักใหม่ แต่ท่านยังเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพตัวยง ท่านเคยร่วมงานกับท่านสาธุคุณมาติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งได้นำแนวทางการต่อสู้แบบอหิงสาของมหาตมะคานธีมาใช้ เพื่อเรียกต้องความเป็นธรรมและสิทธิมนุษย์ชนจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ท่านสาธุคุณได้เสนอชื่อท่านติช นัท ฮันห์ เพื่อรับรางวัลนี้เช่นเดียวกัน
ในปี พ.ศ. 2510 มาร์ติน ลูเทอร์ คิงจูเนียร์ ได้เสนอชื่อของท่านให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยกล่าวว่า:
“ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวอีกที่จะมีคุณค่าพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกเหนือไปจากพระภิกษุผู้เต็มไปด้วยความเมตตาจากเวียดนามรูปนี้”
ประเทศฝรั่งเศสให้การต้อนรับท่าน จนทำให้ท่านได้สร้างหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ขึ้นที่ฝรั่งเศสซึ่งปัจจุบันเป็นสำนักเซนที่ใหญ่ในทวีปยุโรป สร้างลูกศิษย์ชาวยุโรปนับล้าน ซึ่งแนวทางปฏิบัติของท่านเน้นการมีเจริญสติให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก จนเป็นเกิดขบวนการทางสังคมอันเป็นที่รู้จักกันในนามของ Mindfulness Movement ซึ่งมุ่งเพื่อความหลุดพ้น แต่กระนั้น สิ่งที่แตกต่างจากสำนักปฏิบัติของพุทธศาสนาสำนักอื่นๆ คือ มีสำนึกของสังคมเป็นรากฐานในการทำกิจกรรมทั้งหมดคู่กันไป
สำนักเซนของท่านเน้นการใช้ศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าดนตรี การร้องเพลง การกีฬา การปลูกต้นไม้ การทำสวน การทำความสะอาด การทำกับข้าว การแต่งดอกไม้ ทั้งหมดเป็นการปฏิบัติธรรม และเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างสันติธรรมแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ Socially Engaged Buddhism หรือ พุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาสังคม แต่หัวใจในการปฏิบัติของท่านคือ การฝึกเจริญสติทุกลมหายใจเข้าออกเคียงคู่ไปกับการพัฒนาสังคมภายนอกอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านพระวินัยสำนักของท่านปฏิบัติตามพระวินัยธรรมคุปตะกะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับของคณะสงฆ์เวียดนามและจีน ซึ่งมีการฉันมังสวิรัติ (เว้นขาดจากเนื้อสัตว์ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกอย่าง) ก่อนการรับประทานอาหารจะมีบทพิจารณาอาหารทั้งห้าเพื่อให้รับประทานอย่างมีสติโดยมีเสียงระฆังเป็นเสียงปลุกสติทุกครั้ง เมื่อฉันเสร็จทุกครั้ง ทุกคนไม่ว่าพระหรือฆราวาสต้องอยู่ในความสงบต่อไปอีกสิบนาที รอเสียงระฆังดังสองครั้งติดต่อกันจึงลุกจากที่นั่งได้
ทั้งสำนักตื่นกันตั้งแต่ตีสี่ ลงสวดมนต์ทำวัตรเช้าเวลาตีห้าครึ่ง ภิกษุและภิกษุณีฉันเช้าพร้อมกันกับอุบาสก อุบาสิกา เวลาเจ็ดโมงถึงแปดโมงแล้วกลับไปทำกิจกรรมส่วนตัว ทุกคนรวมตัวกันอีกครั้งตอนรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกันเวลาสิบเอ็ดโมงถึงบ่ายโมง แล้วแยกย้ายกันไปพักผ่อนตามอัธยาศัย จนถึงเวลาบ่ายสองโมง ทุกคนมารวมกลุ่มสนทนาธรรมจนถึงเวลาบ่ายสาม ระหว่างการสนทนาธรรมมีการรับประทานน้ำชาและของว่าง แล้วจึงแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมของสงฆ์ตามหน้าที่ของตน ประมาณบ่ายสามโมงกินอาหารเย็น เวลาประมาณบ่ายสี่โมงไปออกกำลังกาย (ฟุตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน ปั่นจักรยาน เตะตะกร้อหรือกีฬาอื่นๆ ตามความถนัด) ประมาณหกโมงทำวัตรเย็นต่อด้วยการสนทนาธรรมอีกรอบหนึ่ง แล้วต่อด้วยการใช้เวลาตามอัธยาศัย แล้วเข้านอนประมาณสามทุ่ม วันเสาร์-อาทิตย์จะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมกิจกรรมของ “สังฆะ” ได้
สำนักของท่านมีรับสมาชิก ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย หรือพุทธแบบเถรวาทที่สมาชิกทั้งหมดทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์นั้นมีสำนึกร่วมกันว่า นี่คือ “สงฺฆ” หรือ สงฆ์ ซึ่งในความหมายของคำๆ นี้สูญหายไปแล้วจากภาษาไทย จนทำให้คำว่า พระภิกษุ แต่ละรูปถูกเรียกว่า “พระสงฆ์” ความหมายดั้งเดิมในภาษาบาลี นั้นหมายถึงชุมชน ซึ่งในยุคพุทธกาล “สงฺฆ” หมายถึงคณะบุคคลที่ประกอบด้วยภิกษุและภิกษุณีซึ่งรวมตัวกัน และนับญาติกันเหมือนพี่น้องในตระกูลเดียวกัน และเคารพกันตามอาวุโสว่าใครเกิดก่อนใครเกิดหลัง (brotherhood)
ความหมายนี้ยังคงรักษาไว้อย่างดีในคณะศิษานุศิษย์ของท่านติช นัท ฮันห์ ซึ่งในปัจจุบันยังได้รวมเอาสมาชิกฆราวาสของสำนักเข้าไปด้วยทำให้เกิดการบริหารที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม มีธรรมาภิบาล กิจกรรมทุกอย่างตัดสินใจด้วย “สงฺฆ”
ความหมายของ “สงฆ์” ที่สูญหายไปจากภาษาและวัฒนธรรมไทยนั้น มีสาเหตุ คือ กฎหมายคณะสงฆ์ไทยที่กำหนดให้ เจ้าอาวาสเป็นราวกับ “พระราชา” ในวัดของตนเอง จะไล่ใครให้ออกจากวัดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุสามเณรอุบาสกหรืออุบาสิกา เจ้าอาวาสเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในการควบคุมบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด การแต่งตั้งไวยาวัจกรซึ่งส่วนใหญ่ก็คือญาติหรือบริวารของเจ้าอาวาส เงินส่วนตัวของเจ้าอาวาสและเงินในบัญชีของวัดก็มักจะปนเปกันไปหมด ไม่มีการตรวจสอบและที่เลวร้ายที่สุดคือ เจ้าอาวาสไม่มีเกษียณอายุ เมื่อมีตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสก็สามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ไปได้นานตลอดชีวิต โดยสรุปคือการบริหารการคณะสงฆ์ของไทยนั้นยังเป็นระบบศักดินา (feudalism) ซึ่งหมดไปจากการบริหารราชการแผ่นดินไปทั่วโลกแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการแต่งตั้งพระราชาคณะของไทย มิได้ยึดโยงกับชาวพุทธในชุมชนเลย ในขณะที่ชุมชนมุสลิม โต๊ะครูมีสำนึกถึงประชาชนมุสลิมของเขาตลอด ทั้งเรื่องของการประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอน เรื่อยไปจนถึงคุณภาพชีวิตของชาวมุสลิมแต่ละคน ทั้งนี้เพราะกฎหมายอิสลามในประเทศไทย ให้สิทธิชาวมุสลิมในการเลือกตั้งผู้บริหารในชุมชนของตน
ส่วนพระราชาคณะของไทยไม่เคยมองสารทุกข์สุขดิบของชาวพุทธในละแวกอันเป็นที่ตั้งของวัดของตนเลย น้อยรูปที่จะให้ความสนใจกับชาวบ้านใกล้วัด ส่วนมากจะมองขึ้นข้างบนเพื่อให้ได้รับ “ความเอ็นดู” จากเจ้าคณะปกครองที่อยู่เหนือกว่าตน พอเข้าฤดูการแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งเจ้าคุณในระดับต่างๆ เพื่อให้เสนอชื่อตนเองให้เลื่อนตำแหน่งในระบบ “ขุนนางพระ” เพราะเห็นว่าเป็น “สรณะ” ที่มั่นคงของตน ความเคารพนับถือกันในฐานะเป็นพี่เป็นน้องแบบอาวุโส-ภันเต จึงเกิดขึ้นเฉพาะในพิธีกรรม เช่น การปลงอาบัติ ซึ่งกระทำกันเฉพาะก่อนลงปาฏิโมกข์เท่านั้น
ส่วนการนำความหมายของพระธรรมวินัยในระดับลึกมาประยุกต์ใช้ในสังคมนั้นไม่ต้องพูดถึงในหมู่เปรียญธรรมในประเทศไทย เพราะในหลักสูตรการเรียนบาลีตั้งแต่ประโยคหนึ่งถึงประโยคเก้านั้นไม่มีการศึกษาพระไตรปิฎกเลย ไม่เหมือนกับในเมียนมา สปป.ลาว ศรีลังกา หรือกัมพูชา หลักสูตรเปรียญของไทยแปลอรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นหลังพระไตรปิฎกกว่าพันปี อันเป็นผลงานจากวัดเพียงวัดเดียวคือวัดมหาวิหารในศรีลังกา
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นอ่อนแอ อาจเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะวิกฤติก็ได้ ทั้งในเชิงโครงสร้างการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาและระบบการศึกษาทั้งหมดที่ล้าสมัย นานๆ ทีก็มีเรื่องอื้อฉาวอันเนื่องด้วยการไม่เคารพพระธรรมวินัยของพระภิกษุ การมั่วสีกา การฉันอาหารเย็น การฉ้อโกงในดงขมิ้น การสร้างวัตถุมงคล พุทธพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ นานๆ ก็มี “ผู้วิเศษ” ที่อ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์บ้าง เป็นพระโพธิสัตว์บ้าง เป็นพระต้นธาตุต้นธรรมบ้าง ออกมาตั้งลัทธิสร้างฐานอำนาจของตนเอง ทำให้ชาวพุทธจิตตกกันมาตลอด
การบวชของชายไทยเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปบวชตามประเพณี “เพื่อแทนพระคุณน้ำนมแม่” แต่การศึกษาค้นคว้าวิจัยทางพระพุทธศาสนาเพื่อเชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงต่างๆ แทบจะไม่มี ยิ่งไปกว่านั้นการมีส่วนร่วมของชาวพุทธในการบริหารงานพระศาสนาจึงเกือบถือได้ว่าเป็นศูนย์ สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ
ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นพระมหาเถรที่มีคุณภาพ ท่านแตกฉานภาษาเวียดนาม อักษรจีนโบราณ ภาษาบาลีสันสฤต ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และพูดได้ถึง 7 ภาษา ท่านไม่เคยประกาศว่าตนคือพระอรหันต์หรือผู้วิเศษแต่อย่างใด ท่านได้ดึงเอาหัวใจของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติในชุมชนของท่านอย่างแยบคาย มีความยืดหยุ่น และทำให้ชาวตะวันตกเข้าใจพระพุทธศาสนาในภาคปฏิบัติโดยใช้ภาษาที่ฟังง่าย กระชับ และลึกซึ้ง
ท่านเห็นคุณค่าของดนตรีและศาสตร์แขนงต่างๆ รวมทั้งการกีฬา ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประชาชน สาขาต่างๆ ของหมู่บ้านพลัม มีขนบธรรมเนียมและวินัยในการปฏิบัติคล้ายคลึงกัน แต่ดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค เช่น ในยุโรป มีการเฉลมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ส่วนหมู่บ้านพลัมในประเทศไทยมีการฉลองวันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น แต่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคือการปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุพระนิพพานควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ทุกสาขาของท่านเน้นมาตลอด
สิ่งที่แตกต่างจากวัดในประเทศไทยคือ การที่หมู่บ้านพลัม ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่สะอาด ที่นี่ไม่มีการบอกบุญ ไม่มีการขายเครื่องรางของขลังหรือพุทธพาณิชย์ และสิ่งที่สมาชิกในหมู่บ้านนี้กลัวคือ “ลัทธิทุนนิยม” ที่จะเข้ามากัดเซาะเอกลักษณ์ของ “สังฆะ” ของเขา หมู่บ้านพลัมทุกสาขาไม่อนุญาตให้คนในวัดเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ตามอำเภอใจ จะมีก็เฉพาะเป็นของส่วนกลางไม่กี่เครื่องเท่านั้น และมีไว้เพื่อประโยชน์ของ “สังฆะ” เท่านั้น
ชายหญิงที่มีศรัทธาที่จะเข้ามาบวชเป็นสมาชิกของ “สังฆะ” ต้องเข้ามาเป็น “จิตอาสา” ช่วยงาน “สังฆะ” เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่าสองปี อย่างไม่มีข้อยกเว้น บางคนโกนหัวช่วยงานวัดมาเป็นสิบปี แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้บวชก็ยังมี
กิจกรรมที่เข้ามาช่วยงานในหมู่บ้านพลัม มีมากมายหลายอย่าง เช่น การทำความสะอาด ทำครัว เพระปลูกพืชผลเกษตร(ซึ่งต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ไม่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเลย) ทำเต้าหู้ ทำขนม การอบรมเยาวชน การทำงานธุรการต่างๆ ฯลฯ โดยที่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในชุมชนไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนที่นี่พูดจาไพเราะและมีนำใจพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้อื่นตลอดเวลา
ปัจจุบันภารกิจสำคัญของหมู่บ้านพลัม คือ “การแก้ไขปัญหาโลกร้อน” โดยการนำปรัชญาของพระพุทธศาสนามาใช้ให้เกิดความพอดี และสมดุลกับธรรมชาติ มิใช่เป็นการรุกรานและทำร้ายธรรมชาติ ซึ่งถูกครอบงำโดยลัทธิทุนนิยม เน้นหนักให้มนุษย์แต่ละคนมีสำนึกของส่วนรวม รู้จักการอยู่อย่างพอเพียง โดยการเจริญสติของตนในตลอดทั้งวัน และอยู่กับปัจจุบัน
แม้ท่านติช นัท ฮันห์ ได้มรณภาพไปแล้วก็ตาม ประวัติชีวิตของท่านคือตำนานให้อนุชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงจิตวิญญาณความเป็นนักสู้ของท่าน ความแตกฉานทางภาษาและคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นของเถรวาทและมหายาน จนทำให้ท่านได้ตีความอย่างลึกซึ้งจนทำให้ท่านได้สถาปนาหมู่บ้านพลัมขึ้นทั่วโลก
บทเทศนา การให้สัมภาษณ์ของท่าน เป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้รู้จักวิธีพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และมองเห็นการพัฒนาจิตว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและโลกนี้ทั้งหมด ท่านจึงเป็นปรมาจารย์ทางพุทธศาสนาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 21 ซึ่งโลกจะเล่าขานกันต่อไปอีกนานแสนนาน
หมู่บ้านพลัมที่ท่านสร้างได้เดินแนวการสร้าง “สงฆ์” ที่รักษาความเป็นพี่เป็นน้องของชาวพุทธเช่นในสมัยพุทธกาลเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่ท่านทิ้งไว้ให้โลก
วันที่ท่านติช นัท ฮันห์ มรณภาพ องค์ทะไลลามะ ได้มีสาส์นแสดงความเสียใจ ประกาศออกมาดังต่อไปนี้
สาส์นจากองค์ทะไลลามะที่ 14 ถึง สานุศิษย์ ท่านติช นัท ฮันห์
ข้าพเจ้าเสียใจ เมื่อได้รู้ข่าวการละสังขารของ ท่านติช นัท ฮันห์ กัลยาณมิตรและภราดาทางจิตวิญญาณ ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นใจมายังสานุศิษย์ของท่านทั้งในเวียดนามและทั่วโลก
การต่อต้านสงครามในเวียดนามด้วยสันติวิธี การสนับสนุนมาร์ติน ลูเทอร์ คิง กับการอุทิศตนของท่านในการเผยแผ่กรุณากับการเจริญสติเพื่อศานติในใจ ปลูกฝังการสร้างศานติเพื่อสันติภาพแท้ในโลก ทำให้ชีวิตของท่านมีความหมายอย่างแท้จริง
ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลย ว่าวิธีดีที่สุดที่เราจะตอบแทนท่าน คือการดำเนินงานของท่านต่อไป เพื่อส่งเสริมสันติภาพในโลก
22 มกราคม 2022