ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > “ธนัฐ ศิริวรางกูร”เจ้าของเพจคลินิกกองทุน บอก’ESG’ เป้าหมายที่ต้องพุ่งชน-แฮปปี้ที่จะลงทุน

“ธนัฐ ศิริวรางกูร”เจ้าของเพจคลินิกกองทุน บอก’ESG’ เป้าหมายที่ต้องพุ่งชน-แฮปปี้ที่จะลงทุน

26 ตุลาคม 2022


ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investing” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล) ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG


เพจ “คลินิกกองทุน” กับสโลแกน “กองทุนมีปัญหา ปรึกษาหมอนัท” เป็นที่รู้จักกันดีในวงการกองทุน เพราะด้วยสไตล์เพจแนวให้ความรู้นักลงทุน ทำให้เจ้าของเพจอย่าง ‘หมอนัท’ หรือ นสพ.ธนัฐ ศิริวรางกูร ผู้เป็นเหมือนหมอในแวดวงนี้

หมอนัทไม่ใช่แค่ฉายาที่ล้อกับคลินิกกองทุน แต่เขาเป็นสัตวแพทย์ที่ผันตัวเข้าสู่วงการการเงิน ด้วยตำแหน่งนักวิเคราะห์กองทุน ผ่านหลักสูตร วางแผนการเงิน, อสังหาฯ และหลักสูตรการเงินมากมาย และเป็นผู้เขียนหนังสือ “รวยด้วยกองทุน..ใคร ๆ ก็ทำได้”

เส้นทางของหมอนัทเริ่มจากเห็นรุ่นพี่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย ก็ไม่อยากให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสภาวะแบบเดียวกัน จึงเริ่มมองหาการลงทุนที่ตอบโจทย์ระยะยาว และได้เงินเก็บก้อนแรกในช่วงปี 2549-2550 นำมาลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นคึกคัก

แต่โชคไม่เข้าข้าง เพราะหลังจากนั้นหนึ่งปี ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Subprime Crisis) ทำให้หมอนัทได้รับบทเรียนครั้งใหญ่จากการลงทุน

ต่อมาเขาเลือกเรียนปริญญาโทด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และเปลี่ยนสายอาชีพจากสัตว์แพทย์เป็น ‘นักวิเคราะห์’ เป็นเวลา 4-5 ปี ขณะเดียวกันก็สร้างเพจเฟซบุ๊ก “คลินิกกองทุน” ระหว่างที่เรียนปริญญาโท เพื่อเขียนเรื่องราวจากสิ่งที่เขาสนใจ นั่นคือ ‘กองทุน’ รวมทั้งเขียนบทความในเว็บไซต์ aommoney

“ผมเขียนภาษาง่ายๆ คนก็ชอบเพราะสื่อสารง่าย เราทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เพราะเราไม่ได้จบสายการเงินตั้งแต่ปริญญาตรี ก็รู้สึกทำไมการเงินมันยากจริง แต่พอไปเรียนจริงๆ มันไม่ได้ยากเลย เทียบกับตัวเราถือเป็นอะไรที่ง่ายมากๆ”

ผลงานทั้งหมดไปเข้าตา ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ทำให้หมอนัทได้ทำงานร่วมกับก.ล.ต. และยังเป็นผู้สอนการลงทุนให้กับสถาบันฝึกอบรม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ATI ASCO Tranning Institute) ในเวลาต่อมา

ทฤษฎีความรู้ด้านการลงทุนกับการลงทุนด้วยตัวเองจริงๆ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะเรื่องการลงทุนจำเป็นต้องอาศัยทั้งทฤษฎีควบคู่ไปกับประสบการณ์ และการตัดสินใจที่ถูกจังหวะ จึงจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่หมอนัทได้มาหลังจากลองผิดลองถูกมาหลายปี

พลิกพอร์ตตัวแดงหลังวิกฤติซับไพร์ม

หมอนัท เล่าว่า ตอนลงทุนช่วงแรกเรียกได้ว่า ‘มั่ว’ เพราะถึงจะอ่านหนังสือหุ้น แต่เวลาซื้อหุ้นก็จะดูแค่ชื่อบริษัทตามคนอื่น ไม่ได้ลงรายละเอียดอย่างจริงจัง แต่พอได้เรียนปริญญาโทด้านการเงินปี 2552-2554 อาจารย์ผู้สอนก็ให้ยกวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นตัวอย่างการลงทุน จุดนั้นเองทำให้เข้าใจว่าที่ผ่านมา ‘ตัดสินใจผิด’ ทั้งเรื่องการเตรียมความพร้อม การบริหารพอร์ต รวมถึงเทคนิคต่างๆ

“มหา’ลัยสอนให้เราลองคัดเลือกหุ้น ดูปัจจัยพื้นฐาน อ่านงบการเงิน เพราะตอนผมเรียนคือ Corporate Finance คือเข้าไปดูงบการเงินบริษัท ดู cash flow งบดุล Proforma ดูงบการเงินล่วงหน้า เลยได้เห็นหุ้นบางตัวที่ราคาถูกมาก บางตัวพื้นฐานดี กำไรต่อหุ้นก็ดี เลยเป็นโอกาส ตอนนั้นโชคดีที่ได้ซ้อมสนามจริง และมีโอกาสในหุ้นหลายตัว ตอนนั้นพอร์ตเลยพลิกกลับมาได้เร็วเพราะเราเห็นอะไรบางอย่าง”

หมอนัท เล่าต่อว่า “ตอนช่วงซับไพร์ม ผมมีกองทุนลดหย่อนภาษี RMF LTF ปรากฏมันฟื้นเร็วกว่าพอร์ตหุ้นเราอีก เพราะ fund manager มีเวลาและทำได้ดีกว่าเรา แต่ถ้าพูดถึงผลกำไรต่อครั้งเราเยอะกว่าเพราะเราซื้อหุ้นรายตัว แต่กองทุนรวมไม่ได้เยอะกว่าเรา เพียงแต่เขาฟื้นเร็วและเราไม่ต้องมานั่งดู เราก็ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีแล้วแฮปปี้”

จุดนี้เองทำให้เขาเห็นว่า กองทุนก็คือโอกาสสำคัญ และน่าสนใจในสายตานักลงทุน อีกทั้งปัจจุบันยังมีบริการซื้อขายออนไลน์ได้ ทำให้กองทุนเข้าถึงคนได้มากขึ้น

หมอนัทเล่าว่า แนวทางการลงทุนระหว่าง “กองทุนรวม” กับการลงทุนใน “หุ้น” เองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการลงทุนในหุ้นคือการมองอนาคตว่าในปีนี้ หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะแข่งขันอย่างไร เป็นผู้นำตลาดไหม ส่วนแบ่งการตลาดเท่าไร กำไรสุทธิเท่าไร พูดง่ายๆ คือดูอนาคต แต่กองทุนรวมต้องดูอดีตหุ้นด้วย เนื่องจากกองทุนถูกดูแลโดยผู้บริหารจัดการกองทุน ดังนั้นอดีตจะเป็นตัวบอกว่าผู้บริหารคนนั้นจัดการได้ดีหรือไม่

“ทั้งสองอย่างผลตอบแทนต่างกัน การลงทุนในหุ้นเองดีกว่า ถ้าลงทุนเป็น แต่กองทุนรวมเหมาะกับคนไม่มีเวลา ถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่ดีก็ตอบใช้เวลากับมัน โลกนี้มันตรงไปตรงมา ถ้าเราใส่ความรู้ ใส่ความพยายามเยอะ มันก็กลับมาหาเราเยอะ ถ้าเราไม่มีเวลาแล้วใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือมันก็กลับมาหาเราระดับหนึ่ง ผมว่าขึ้นอยู่กับเวลาของเราด้วย”

ESG กับหลักการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’

อีกหนึ่งบทบาทของหมอนัทคือเป็นผู้สอนด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนและแนวคิด ESG ด้วย โดยหมอนัท กล่าวถึงแนวคิดนี้ว่า “ผมค่อนข้างชอบแนวคิด ESG มาก ปกติถ้าเรามองในอดีต ในมุมเจ้าของบริษัทอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ ไม่ว่าวิสัยทัศน์องค์กร หรือ maximize profit และ shareholder profit จะมุ่งไปที่ผู้ประกอบการมีกำไรมากที่สุด แต่ทำแล้วมันไม่ยั่งยืน เพราะถ้าผู้ประกอบการมีกำไรมากสุดก็แค่ลดค่าจ้าง ให้พนักงานทำงานหนักๆ หามรุ่งหามค่ำเหมือนคำว่าโรงงานนรก แม้แต่ลดคุณภาพสินค้า ลดต้นทุน ทำให้คนใช้ของหงุดหงิด ของแย่ลง ถ้าธุรกิจมองแค่กำไรจะไม่ยั่งยืน”

แต่ ESG ในมุมของหมอนัทคือ หลักการที่ช่วยกำกับให้บริษัทดำเนินไปพร้อมการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล โดยเฉพาะวิธีคิดแบบ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา

“เช่น ถ้าเราเป็นเจ้านายที่ดี พนักงานจะเป็นยังไง ถ้าเราเป็นพนักงานก็อยากได้เงินเดือนสูงๆ สวัสดิการที่ดี ทำงานกับบริษัทนี้แล้วแฮปปี้ บริษัทก็ต้องส่งเสริมให้พนักงานมีความสุขในองค์กร ไม่ว่าตำแหน่งงานหรือ career path ถ้าพนักงานแฮปปี้ บริษัทก็แฮปปี้เพราะพนักงานอยู่ยาว ไม่ต้องเปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ เพราะการเปลี่ยนพนักงานหนึ่งคนต้นทุนเพิ่มแน่นอน”

หมอนัท กล่าวต่อว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด ESG คือปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นทุกปี เพราะการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราอยู่บนโลกนี้ได้ดี ที่สำคัญสิ่งแวดล้อมเชื่อมกันทั้งโลก เกิดผลกระทบร่วมกัน ดังนั้นถ้ายึดหลัก ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ สิ่งแวดล้อมและโลกก็จะดีขึ้น

หมอนัท กล่าวต่อว่า ในอดีตธุรกิจจะมองผู้ถือหุ้น (shareholder) เป็นหลัก แต่เมื่อมี ESG เข้ามาทำให้ธุรกิจต้องมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) กระทั่งมองถึงบริษัทที่ทำสินค้าให้ก็ต้องมั่นใจว่าดี และไม่กีดกันรายใหม่ หรือการเปิดเผยข้อมูล ทำให้มีโอกาสโดนฟ้องร้องน้อยลง

“ESG เหมือนเป็นหลักการมากๆ แต่มันเป็นหลักที่ touching มาก เพราะเกี่ยวกับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ดังนั้น บริษัทไหนทำ ESG ผมค่อนข้างแฮปปี้และจะเลือกลงทุนกับเขา”

หุ้น ESG ให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่า

แต่บริษัทที่ทำ ESG ในไทยยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับบริษัทในต่างประเทศ เพราะกฎเกณฑ์และมาตรการที่ลึก และบังคับใช้อย่างจริงจัง ดัชนีด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับหุ้นไทยยังมีอยู่ไม่มาก เช่น หุ้นยั่งยืน (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์ หรือหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJSI)

หมอนัท ยกตัวอย่าง เกณฑ์ของต่างประเทศคือดัชนี MSCIESG ของบริษัท Morgan Stanley Capital International (MSCI) ที่มากำกับดูแลโดยวิเคราะห์ความเสี่ยงและธรรมาภิบาลขององค์กรอย่างเข้มข้น โดยนอกจากประเมินข้อมูลจากบริษัทโดยตรงแล้ว ยังไปตรวจสอบทางอ้อมถึงแหล่งข้อมูลทางเลือกอื่นๆ (alternative data source) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งไปสอบถามกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอเมริกาว่าบริษัทนี้มีประวัติเสียหรือไม่ การใช้ไฟฟ้าปล่อยก๊าซคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน การปล่อยของเสียลงแม่น้ำ หรือไปตรวจสอบข่าวลือจากแหล่งข่าวท้องถิ่น ซึ่งการตรวจสอบลักษณะนี้ทำให้ได้ข้อมูลคู่ขนานประกอบการพิจารณาข้อมูลจากบริษัท

“ผมเคยเอาตัวเลขของ World Equipity Index เทียบกับ ESG World Index เหมือนกัน ปรากฏว่าในระยะยาว ESG ให้ผลตอบแทนดีกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า ในต่างประเทศเรื่อง ESG ชัดเจนมาก”

“ยิ่งเปรียบเทียบ ESG Thematics Fund กับกองทุนทั่วไป ผลตอบแทนต่างกัน กองทุนหุ้นต่างประเทศเห็นชัดเจนว่า ผลตอบแทนดีกว่าในระยะยาว แต่ระยะสั้นพอๆ กัน และเรามั่นใจได้ว่าบริษัทที่ได้ MSCI ESG Index เป็นบริษัทที่ลงทุนไปจะไม่โดนฟ้องหรือโดนค่าปรับ 3-4 พันล้านเหรียญ”

หมอนัท กล่าวต่อว่า กระแส ESG ต่างประเทศมาแรง เห็นได้จากการรวมตัวของนักลงทุนสถาบันทั่วโลกภายใต้ชื่อ UN PRI (Principles for Responsible Investment) ซึ่งกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มีเงินหลักแสนล้านเหรียญ และมีอำนาจกดดันธุรกิจในเรื่องนี้

“นึกภาพไปถือหุ้นบริษัทไหนแล้วยังไม่มี ESG เขาบอกเลยว่าถ้าไม่ทำขายหุ้นทิ้ง ราคาหุ้นเละเทะแน่นอน บริษัทไหนมี ESG เขาก็จะชักชวนกันไปลงทุน บริษัทไหนไม่ทำก็ขายหุ้นทิ้ง”

ส่วนบจ.ในไทยก็พยายามทำทุกอย่างให้ ESG เข้าไปอยู่ในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้ ปัจจุบันบจ.ไทยได้เข้าเกณฑ์ MSCI บ้างแล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตก แต่ทั้งนี้จำนวนบจ.ไทยที่ทำ ESG ก็นับว่าสูงที่สุดในอาเซียน

“ESG บ้านเรามีข้อจำกัดเรื่องเดียวคือทำได้เฉพาะบริษัทใหญ่ๆ เราควรส่งเสริมให้บริษัทเล็กทำ แต่มันมีต้นทุนบางอย่างตอนเริ่มต้น ช่วงแรกต้องใช้แรงเยอะ ปฏิบัติจริงค่อนข้างยากเพราะผ่านหลายขั้นตอน มันต้องเปลี่ยนตั้งแต่ vision ของบริษัทแล้ว ดึงลงมาให้เกี่ยวข้องกับทุกส่วน หลักการไม่ยาก แต่ตอนปฏิบัติมีขั้นตอนเยอะ ผู้บริหารต้องสมัครใจทำระยะยาว ถ้าทำต้องจริงจัง จริงใจและตรวจสอบได้”

“เวลาเราไปดูดัชนี ‘หุ้นยั่งยืน’ เทียบกับ SET Index จะเห็นว่าผลตอบแทนไม่ต่างกัน เป็นข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่ง อย่างนี้คนก็คิดว่าไปลง SET Index ดีกว่า ไม่ต้องดูดัชนีหุ้นยั่งยืนก็ได้…เพราะการที่เราไปให้น้ำหนักหุ้นตัวใหญ่ เรียก market weight ตรงนั้นไม่ค่อยดี เพราะสุดท้ายบริษัทใหญ่ๆ ในบ้านเราทำ ESG อยู่แล้ว ไม่แปลกที่ดัชนีหุ้นยั่งยืนกับ index จะไปทางเดียวกัน”

“อย่างผมทำธุรกิจซอฟต์แวร์ บังเอิญผมได้งานหนึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่มีสาขาทั่วโลก ผมก็ผ่านหลายขั้นตอน แต่เขาบอกว่าลืมเอกสารชุดหนึ่งคือ ESG ปึกหนาเลย ผมต้องไปนั่งกรอกให้เขา ผมถามว่า บริษัทผม 15 คน เล็กนิดเดียวต้องมี ESG ด้วยหรอ เขาบอกอะลุ่มอล่วยให้เวลา 2 ปีต้องมี ESG ไม่งั้นเขาจะไม่ใช้ซอฟต์แวร์ต่อ เอสเอ็มอีก็โดน ถ้าใครอยากเติบโต ผมว่าต้องรีบทำด้วย เพราะเป็นโอกาส ถ้าทำแล้วเราแข่งขันกับต่างประเทศได้”

สร้างดัชนีแปลกใหม่กระตุ้น ESG บริษัทเล็ก

หมอนัท กล่าวถึงการลงทุนในหุ้นยั่งยืนว่า ถ้าต้องการลงทุนในหุ้นยั่งยืนให้เลือกซื้อหุ้นใหญ่ที่มี ESG รายอุตสาหกรรม แล้วค่อยไปดูการดำเนินการของแต่ละบริษัท แต่ถ้าต้องการแบบเติบโตร้อนแรงให้เล่นหุ้นเล็ก ควรถือผสมกันเพื่อสร้างความมั่นคงกับพอร์ตฟอลิโอ

อีกเหตุผลในการลงหุ้น ESG คือการให้กำลังใจธุรกิจที่ทำ ESG ได้ดี หมอนัท อธิบายว่า สมมติหุ้นราคา 40 บาท และถ้าหุ้นตัวนั้นพื้นฐานดี บวกแต้มมูลค่าพื้นฐาน อาจทำให้มูลค่าพื้นฐานเพิ่มไปถึง 60 บาท ซึ่งต่างประเทศก็นำวิธีคิดแบบนี้มาวิเคราะห์ด้วย

ขณะเดียวกัน ตลาดทุนต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น สร้างดัชนีแปลกใหม่ และหาเครื่องมือที่ทำให้นักลงทุนไม่รู้สึกเบื่อ ตัวอย่างเช่น สถาบันไทยพัฒน์ใช้วิธีการ Eco Weight เพื่อให้หุ้นทุกตัวมีน้ำหนักเท่ากันหมด แล้วค่อยนำ ESG ไปวิเคราะห์ หรือทำลักษณะ smart data index โดยเอาบริษัท ESG เข้ามา ทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น

“ผมว่าเป็นการส่งเสริมตลาดทุนที่ถูกต้องมี 2 ปัจจัย หนึ่ง ดันบริษัทที่ดีเข้ามา จะได้มีโอกาสเลือกหุ้นตัวเล็กและยั่งยืน สองคือเครื่องมือช่วยเหลือนักลงทุนว่าผลตอบแทนดีขึ้น”

หมอนัท ย้ำว่า บริษัทขนาดกลางและเล็กต้องทำ ESG ให้ได้ ไม่อย่างนั้นผลตอบแทนการลงทุนจะไม่ต่างจากหุ้นปกติ ความท้าทายคือทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าลงทุน ESG แล้วดีขึ้น ไม่น่าเบื่อ