ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง คาดเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายกลางปี’66

ธปท.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง คาดเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายกลางปี’66

11 ตุลาคม 2022


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ทำหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1- 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565 รวมถึงระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 6.41 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 -กันยายน 2565) อยู่ที่ร้อยละ 5.23 ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ประกอบกับ กนง. ได้ประเมินในการประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ถึง ไตรมาสที่ 3 ปี 2566) จะอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย

ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจงถึง

    (1) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
    (2) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ
    (3) การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายจากแรงกดดันด้านอุปทาน (cost-push inflation) โดยเฉพาะราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) มีจำกัด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้จะทยอยลดลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนที่มากขึ้นส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ที่พื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 5.23 สูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ได้แก่

    (1) ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ(global supply shocks) ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับฐานที่ต่ำจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 26.76 และ

    (2) ปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ (domestic supply shocks) ที่เกิดจากโรคระบาดในสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดหมวดอื่น 1 ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์และปุยเคมีที่สูงขึ้น ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 4.41 และมีการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานผ่านราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ

โดยภาพที่ 1 แสดงอัตราเงินเฟ้อไทยซึ่งเคลื่อนไหวตามแรงกดดันด้านอุปทานเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา จาก (1) กำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งตามเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัว (2) ตลาดแรงงานที่เปราะบาง และ (3) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังทำได้จำกัด

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ร้อยละ 3.9 สูงกว่ากรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้จะทยอยลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ยังอยู่ในระดับสูง (ภาพที่ 2) โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานจะอยู่ที่ร้อยละ 12.4 และหมวดอาหารสดที่ร้อยละ 1.7 ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.46 เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 3.8 ในปี 2566 จะเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้าไปยังราคาสินค้าได้มากขึ้น

ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงจาก

    (1) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่อาจลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอุปทานน้ำมันโลกที่อาจเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และ
    (2) ราคาอาหารสดที่คาดว่าจะไม่ปรับขึ้นสูงดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและต้นทุนปุ๋ยและอาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลง จากการคลี่คลายของปัญหาการซะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนอกจากนี้ แนวโน้มต้นทุนที่ลดลงจะช่วยลดแรงกดดันที่ผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะไม่เร่งขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางที่สะท้อนจากข้อมูลตลาดการเงินยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาตามการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาสินค้าบางประเภท สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่สาธารณชนมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนนำไปสู่การปรับเพิ่มราคาอย่างเป็นระลอกได้ (second-round effect)

อย่างไรก็ดี กนง. จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลก ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรวมถึงการส่งผ่านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ กนง. จึงได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้กลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว(policy normalization) และให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

  • กนง.มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1%
  • โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังสามารถลดความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจมากกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ กนง. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

    นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าควรดำเนินมาตรการเฉพาะจุดและส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่มีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้สำหรับกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว จะช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินและไม่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ กนง. จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน

    ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า หาก ณ เวลานั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย

  • ธปท.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง แจงเหตุเงินเฟ้อออกนอกกรอบ คาดกลับสู่เป้าหมายต้นปี’ 66