ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง แจงเหตุเงินเฟ้อออกนอกกรอบ คาดกลับสู่เป้าหมายต้นปี’ 66

ธปท.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง แจงเหตุเงินเฟ้อออกนอกกรอบ คาดกลับสู่เป้าหมายต้นปี’ 66

12 เมษายน 2022


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ทำหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อ ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าที่สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมี ข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กําหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 – 3 เป็น เป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสําหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสําหรับปี 2565 รวมถึงระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย

โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ถึง ไตรมาสที่ 1 ปี 2566) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินในปัจจุบัน ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจงถึง

    (1) ปัจจัยสําคัญที่ทําให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
    (2) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ
    (3) การดําเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ปัจจัยสําคัญที่ทําให้อัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย

กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ถึง ไตรมาสที่ 1 ปี 2566) จะมีแนวโน้มสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินจากแรงกดดัน เงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push shocks) เป็นสําคัญ ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-put inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ (ภาพที่ 1)

แรงกดดันเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจาก

(1) ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ (global supply shocks) สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคา สินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องทําให้ราคาน้ํามันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะเร่งตัวสูงที่ ร้อยละ 16.8 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 1.6 มาก

(2) ปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ (domestic supply shocks) จากโรคระบาดในสุกรและการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคา อาหารสําเร็จรูป นอกจากนี้ ราคาอาหารสดหมวดอื่น ๆ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวด อาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ ร้อยละ 0.6 มากเช่นกัน

แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกําลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งนัก จากเศรษฐกิจที่กําลังทยอยฟื้นตัวและยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าทําได้เพียงบางส่วน แม้ต้นทุนจะปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลัง ของปี 2564 จากปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศต่อเนื่อง มายังต้นปี 2565 ตามราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า อัตรา เงินเฟ้อพื้นฐานในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากราคาอาหารสําเร็จรูปที่มี แนวโน้มสูงขึ้นเป็นหลัก

  • กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50% ลดคาดการณ์ GDP เหลือ 3.2% เงินเฟ้อทะลุ 5%
  • Oil Shock กระแทกเศรษฐกิจ ทำเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่การฟื้นตัวไม่สะดุด
  • ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

    อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่าร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556

    การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้สะท้อนผลจากฐานที่ต่ําของราคาน้ํามันและ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเทียบปีต่อปีสูงขึ้น แม้ระดับราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากก็ตาม โดยอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ นอกจากนี้ ราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามอุปทานน้ํามันของกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 (ภาพที่ 2)

    ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ํามันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้และ การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด แต่โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะสูงกว่า กรอบเป้าหมายมีไม่มาก โดยราคาน้ํามันและการส่งผ่านต้นทุนต้องสูงขึ้นกว่าคาดมากจึงจะส่งผลให้อัตรา เงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางที่สะท้อนจากข้อมูลตลาดการเงิน ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษา เสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2551 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.5 ตามราคาน้ํามันในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงสุดถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตรา เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 6 แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางปรับเพิ่มขึ้น ไม่มากและยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ การยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงที่ สาธารณชนมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนนําไปสู่การปรับเพิ่มราคาอย่างเป็นระลอกได้ (secondround effect) ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของแรงกดดันลักษณะดังกล่าว

    ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจนําไปสู่การเพิ่มขึ้นของ ราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ํามันและสินค้า โภคภัณฑ์โลก รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้มั่นใจว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

    นโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

    ภายใต้กรอบการดําเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับ ดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังให้ น้ําหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสําคัญ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและรายได้ของภาคธุรกิจและประชาชนให้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง สามารถ รองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ขณะที่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานในระยะสั้นที่ผันผวนสูง เป็นสําคัญ ดังนั้น นโยบายการเงินที่ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป อาจจําเป็นที่จะต้อง มองผ่านความผันผวนในระยะสั้นดังกล่าว (look through) และให้ความสําคัญกับการดําเนินนโยบายการเงิน ที่มุ่งจะรักษาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

    ในระยะต่อไป กนง. เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสําคัญ ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะมาตรการการคลังที่ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด เพื่อสร้างรายได้และบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่ม เปราะบาง ขณะที่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนภาวะการเงินโดยรวม นอกจากนี้ มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่มีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม ที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่าง ยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชําระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว จะช่วย เสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินและไม่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ กนง. จะติดตามปัจจัยสําคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและพร้อมใช้เครื่องมือนโยบาย การเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและ เสถียรภาพระบบการเงิน

    ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งใน 6 เดือน ข้างหน้า หาก ณ เวลานั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชน เป็นการทั่วไป กนง. จะเผยแพร่สาระของหนังสือชี้แจงฉบับนี้ต่อสาธารณชนผ่านทาง website ของ ธปท. ด้วย