ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลฎีกาตัดสินให้กรมศุลฯชนะ คดีภาษีโตโยต้าพรีอุส

ศาลฎีกาตัดสินให้กรมศุลฯชนะ คดีภาษีโตโยต้าพรีอุส

15 กันยายน 2022


ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้กรมศุลกากรชนะคดีโตโยต้าพรีอุส ชี้กรณีนำเข้าอะไหล่ชิ้นส่วนครบเซ็ท-ไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิลดภาษีตามข้อตกลง JTEPA-ต้องจ่ายภาษีเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 เวลา 11.00 น. ศาลภาษีอากรกลาง นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีพิพาทระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โจทก์ กับกรมศุลกากร จำเลยที่ 1 และ กรมสรรพากรจำเลยที่ 2 กรณีการใช้สิทธิลดอากร หรือ ยกเว้นอากรขาเข้าอะไหล่ชิ้นส่วน เพื่อนำมาประกอบเป็นรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นพรีอุส ตามข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หรือ “JTEPA” รวม 10 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์รวมกว่า 10,000 ล้านบาท

โดยในวันนี้ศาลฎีกา พิพากษา “ยืนตามศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” ที่เคยตัดสินให้กรมศุลกากรเป็นฝ่ายชนะคดีสำหรับความเป็นมาของคดีนี้เกิดขึ้นในปี 2553 – 2555 บริษัทโตโยต้า หรือ โจทก์ได้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อนำมาผลิตรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส โดยอาศัยสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 และมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2533 และตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ “JTEPA” โจทก์จึงไปยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากร ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากร ขณะที่จำเลยทั้งสอง (กรมศุลกากรกับกรมสรรพากร) ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมา ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของกรมศุลกากร ส่วนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์จึงยื่นฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

คดีนี้ ศาลฎีกา แผนกคดีภาษีอากร พิจารณาแล้วเห็นว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์นำเข้า เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส และสามารถนำไปประกอบเป็นรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ได้ทันที จึงต้องจำแนกเข้าประเภทพิกัดของชิ้นส่วนที่สมบูรณ์ หรือ สำเร็จแล้วที่นำเข้ามา โดยถอดแยกออกจากกัน หรือ ยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันในฐานะที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ ประเภทพิกัด 8703.23.41 หรือ 8703.23.51 (ตามช่วงเวลาที่นำเข้า) ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และข้อ 6 ในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ 2530 จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ออกมาเพื่อให้เป็นไปตามความตกลง JTEPA และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2553 ทั้งไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรในอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 30 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้คิดอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 80 ชอบแล้ว ส่วนประเด็นอื่นศาลไม่รับวินิจฉัย “พิพากษายืน”