ThaiPublica > เกาะกระแส > กรุงเทพธนาคมยุติ โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน 2 ปีได้แค่ 10 กม.ใช้งบ 200 ล้าน

กรุงเทพธนาคมยุติ โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน 2 ปีได้แค่ 10 กม.ใช้งบ 200 ล้าน

10 กันยายน 2022


บริษัทกรุงเทพธนาคมยกเลิกแผนก่อสร้างโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 2,450 กิโลเมตรงบประมาณ 2 หมื่นล้าน หลังก่อสร้าง2 ปีแล้วเสร็จแค่ 10 กิโลเมตรใช้งบประมาณไปแล้ว 200 ล้านบาท แต่ไม่มีเอกชนเข้ามาใช้บริการแม้แต่รายเดียว ส่งผลสภาพคล่องบริษัทในการจ่ายเงินผู้รับเหมา

บริษัทกรุงเทพธนาคม สั่งยุติการก่อสร้างโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งหมด หลังเริ่มดำเนินการในปี 2564 และทำเสร็จไปเพียง 10 กิโลเมตร ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท จากเป้าหมายระยทาง 2,450 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี  โดยเริ่มในเดือนมิถุนายน 2562 ในสมัย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“ได้ยุติโครงการทั้งหมดไปเพราะเลือดไหลไม่หยุด ผู้รับเหมามาวางบิลตอนนี้ยังไม่มีเงินจ่ายเลย เพราะโครงการไม่มีเอกชนมาใช้บริการ”

แหล่งข่าวระดับบริหารของบริษัทกรุงเทพธนาคม บอกว่า จำเป็นต้องยุติ โครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินทั้งหมด เนื่องจากไม่มีผู้มาใช้บริการท่อร้อยสายใต้ดินที่ทำเสร็จแล้ว เนื่องจากปัญหาค่าบริการที่มีราคาสูง และยังมีปัญหาการออกแบบท่อที่มีขนาดเล็กและไม่ลึก แม้จะดูดีและสวยแต่การใช้งานอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จนทำให้ไม่มีผู้เข้ามาใช้บริการ

สำหรับเทคนิคการขุดเจาะโครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายส่อสารใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใช้เทคโนโลยีท่อร้อยสาย จำนวน 14-21 ไมโครดัก ผ่านการก่อสร้างแบบเจาะลากท่อ (horizontal drill — HDD) และการก่อสร้างแบบเปิดหน้าดิน open cut (semi-direct burial) เป็นวิธีที่เปิดหนาดินน้อย

ท่อเล็ก-ค่าบริการแพง ไร้เงาเอกชนใช้บริการ

อย่างไรก็ตามด้วยระบบและเทคนิคที่นำมาใช้ทำให้ท่อมีขนาดเล็ก ไม่จูงใจเอกชนมาใช้บริการ ขณะที่ค่าใช้บริการที่สูงหากเทียบค่าบริการ พบว่าค่าใช้จ่ายสูงกว่าบนดินในการเกี่ยวสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า อยู่ที่ 100-200 บาท ขณะที่หากนำสายไฟลงดินจะต้องใช้เงิน 2,000 บาททำให้ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการสื่อสารใช้บริการท่อไร้สายของกทม.

“ไม่มีเอกชนมาใช้บริการเพราะมันแพงขณะที่ท่อของ กทม. ที่วางเสร็จแล้วประมาณ 10 กม.ยังอยู่ตรงกลางระหว่างท่อของการไฟฟ้านครหลวง และ กสทช. ทำให้เอกชนมีทางเลือกในการใช้บริการและไม่ได้มาใช้ท่อของ กทม.”

โครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินมีปัญหาขาดสภาพคล่องไม่มีงบประมาณจ่ายผู้รับเหมาจนทำให้ผู้บริหารชุดเก่ามีแนวคิดนำที่ดิน ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ที่ จ.อุทัยธานี พื้นที่ 200 ไร่ไปจำนองเพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนและจ่ายผู้รับเหมา

“ในอดีตเคยมีผู้บริหารชุดเก่าเคยจะเอาที่ดินที่สำหรับหมา แมว ที่จังหวัดอุทัยธานีไปจำนองเพื่อนำเงินมาจ่ายผู้รับเหมาซึ่งเราไม่เห็นด้วยเลย เพราะฉะนั้นหากดำเนินการไปแล้วเลือดไหลไม่หยุดก็ต้องยุติการดำเนินการไป”

แหล่งข่าวจากกรุงเทพธนาคม บอกด้วยว่า ขั้นตอนหลักๆ ในการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน ในเขต กทม. เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จะประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะประสานงานต่อไปยังผู้ประกอบการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมรายต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน เคเบิลทีวี ค่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้นำสายสื่อสารลงดินด้วยผ่านผ่านบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)

“แต่ที่ผ่านยอมรับว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติไม่ได้ทำได้ง่าย เนื่องจากไม่ใช่การประสานงานระหว่างรัฐและรัฐโดยตรงทำให้ในทางปฏิบัติการนำสายสื่อสารลงไปในท่อใต้ดินเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่สามารถบังคับผู้ประกอบการได้ อีกทั้งการเอาสายสื่อสายไปเกี่ยวไว้ตามเสาไฟฟ้าค่าบริการถูกกว่า ทำให้ที่ผ่านมาถนนที่สามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้มาจากการไฟฟ้านครหลวงหักเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน จนทำให้สายสื่อสารต้องลงใต้ดินตามไปด้วย แต่หากถนนไฟยังมีเสาไฟฟ้าผู้ประกอบการสื่อสารก็เลือกเกาะเสาไฟฟ้าเพราะมีราคาถูกกว่า”

 2 ปีดำเนินการแล้วเสร็จ 10 กิโลเมตร

ที่มาภาพ: https://www.thanakom.co.th/

โครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ กทม. มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาสายสื่อสารตามเสาไฟฟ้าปรับภูมิทัศน์เมืองให้สวยงามและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยกรุงเทพมหานครมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ดำเนินการระยทาง 2,450 กิโลเมตร งบประมาณ 20,000 ล้านบาท เริ่มดำเนินงานก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายในเดือนมิถุนายน 2562 ระยะในเวลา 2 ปี

บริษัท กรุงเทพธนาคม ใช้รูปแบบการบริหารจัดการโครงการ โดยการจัดหาผู้รับเหมาดำเนินการสำรวจ จัดทำพื้นที่พร้อมออกแบบระบบโครงข่ายและดำเนินการก่อสร้าง โดยมีบริษัทฯได้มีการปรับรูปแบบเป็นการก่อสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับผู้ใช้งานมากขึ้นรวมทั้งให้สอดคล้องกับแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ระยะทางประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อพื้นที่แบ่งเป็น 4 พื้นที่ดังนี้

พื้นที่ 1 ระยะทาง 50.10 กิโลเมตรได้แก่ ถนนราชวิถี ถนนพระราม 5 ถนนพระราม 6 เป็นต้น

พื้นที่ 2 ระยะทาง 61.63 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก ถนนประชาสงเคราะห์ เป็นต้น

พื้นที่ 3 ระยะทาง 58.89 กิโลเมตรได้แก่ ถนนสาทร ถนนพระราม 3 ถนนสาธุประดิษฐ์ เป็นต้น

พื้นที่ 4 ระยะทาง 51.31 กิโลเมตรได้แก่ ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 เป็นต้น

ภาพการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระราม 1 โครงการสายสื่อสารลงใต้ดิน

ปัจจุบันได้ก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 กม. วงเงิน 200 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี-แยกเพลินจิต-หน้าซอยร่วมฤดี)
2. ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2-หน้าซอยรัชดาภิเษก 7)
3. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) แนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 กม.

แผนนำสายสื่อสายลงใต้ดิน ‘กฟน-กสทช.-กทม.’

สำหรับการรายงานแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินและจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กทม.มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการประกอบด้วยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน) สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  และกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 การนำสายไฟลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ปัจจุบันเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟลงดิน เสร็จแล้ว 62 กิโลเมตร (กม.) กำลังก่อสร้าง 174.1 กม. รวมแล้วจะนำสายไฟฟ้าลงดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะทาง 236.1 กม. โดยในปี 2565 คาดว่าจะรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าได้ระยะทาง 12 กม.

ที่มาภาพ: https://www.mea.or.th/content/detail/82/3131/3306
https://www.mea.or.th/content/detail/82/3131/3306

นอกจากนี้การไฟฟ้านครหลวงเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 77.3 กม. ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570

ที่ผ่านมาการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินมาตั้งแต่ปี 2530 โดย กฟน. ได้นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว 6 โครงการ เป็นระยะทาง 35 กิโลเมตร รวมวงเงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ได้แก่ โครงการสีลม, โครงการปทุมวัน, โครงการจิตรลดา, โครงการพญาไท, โครงการพหลโยธิน และโครงการสุขุมวิทบางส่วน

ส่วนที่ 2 แผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ของสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของกฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งแผนดำเนินการปี 2565 ยังต้องดำเนินการในส่วนของแผนค้างดำเนินการมาจากปี 2563-2564 ซึ่งล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ส่วนที่ 3 แผนการจัดระเบียบสายสื่อสารของสำนักงาน กสทช. ในพื้นที่ของ กฟน. กลุ่มเร่งด่วน ระยะทางรวม 400 กม. แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย กลุ่มย่อยแรก 39 เส้นทาง ระยะทาง 104.83 กม. กลุ่มย่อยที่สอง 169 เส้นทาง ระยะทาง 306.46 กม. และยังมีนอกเหนือจากกลุ่มเร่งด่วนอีก 38 เส้นทาง ระยะทาง 346.59 กม.

อย่างไรก็ตามการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนันจากหลายหน่วยงานประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT)  และการไฟฟ้านครหลวง แต่ที่ผ่านมาการทำงานดังกล่าวยังไม่ประสานกันทำให้การนำนำสายสื่อสารลงใต้ดินบางส่วนซ้ำซ้อน ทำให้บริษัทกรุงเทพธนาคมต้องยกเลิกโครงการเพื่อหยุดปัญหาการสิ้นเปลืองงบประมาณ