กฟผ. รับรางวัลธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ระดับยอดเยี่ยม จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สะท้อนการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การลดก๊าซเรือนกระจก และความยั่งยืนในทุกมิติ
นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. รับมอบรางวัลธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ประจำปี 2565 ระดับยอดเยี่ยม จากนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในพิธีปิดโครงการแถลงผลสำเร็จโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565
นางศรีวรรณได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ว่า กฟผ. มุ่งมั่นผลิตและส่งไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อส่งมอบพลังงานสะอาด ภายใต้การรักษาความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“กฟผ. ตั้งเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยใช้กลยุทธ์ “Triple S” คือ Sources Transformation ปรับการผลิตและส่งไฟฟ้า โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยเสริมให้มีความยืดหยุ่นรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงใช้ระบบกักเก็บพลังงาน Sink Co-creation เพิ่มแหล่งกักเก็บดูดซับคาร์บอน โดย กฟผ. ผนึกกำลังพันธมิตรตั้งธงปลูกป่าหนึ่งล้านไร่ ภายในปี ค.ศ. 2031 และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS มาใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และ Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชย และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กฟผ. เชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 ได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL กฟผ. เป็นของคนไทยทุกคน และทำเพื่อทุกคน”
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ กล่าวว่า การประเมินครั้งนี้ เป็นไปด้วยความยุติธรรมและมีมาตรฐาน ขอแสดงความยินดีกับ 21 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ นับเป็นแบบอย่างที่ดีและมีส่วนร่วมปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ สอดรับกับแนวทางของโลกที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรนำไปใช้ในการลงทุนและสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป