ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > มช. ร่วมลดหมอกควันภาคเหนือ พัฒนาฟางข้าวเหลือใช้ สู่เยื่อฟางข้าวมหัศจรรย์

มช. ร่วมลดหมอกควันภาคเหนือ พัฒนาฟางข้าวเหลือใช้ สู่เยื่อฟางข้าวมหัศจรรย์

4 กันยายน 2022


ปัญหาหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพกาย และเศรษฐกิจของผู้คนในภาคเหนือมาเป็นระยะเวลานานนับทศวรรษ สาเหตุสำคัญหนึ่ง มีผลมาจากการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อการเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกต่อไปในช่วงฤดูฝน โดยภาคเหนือมีพื้นที่การปลูกข้าวกว่า 15 ล้านไร่ มีฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวจำนวนมหาศาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงกำเนิดโครงการ “การเพิ่มมูลค่าฟางข้าวด้วยนวัตกรรมการผลิตแผ่นเยื่อฟางข้าวและวัสดุก่อสร้างมวลเบา เพื่อลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมในภาคเหนืออย่างยั่งยืน” โครงการที่คิดค้นวิธีการนำฟางข้าวเหลือใช้ไปสร้างประโยชน์ตามแนวคิด Zero Waste บูรณาการความร่วมมือจากนักวิจัยหลายหน่วยงาน กำเนิดเป็นองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคเหนือ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การผลิตแผ่นเยื่อฟางข้าวจากฟางข้าวเหลือใช้สู่กระบวนการผลิตเยื่อฟางข้าวมหัศจรรย์ งานวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร ภายใต้โครงการดังกล่าว กับแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำเยื่อฟางข้าวไปใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและครบวงจร ผ่านการคัดสรรวิธีการที่ใช้เคมี พลังงาน และเวลาน้อยที่สุด โจทย์สำคัญหนึ่งของงานวิจัยคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดเยื่อฟางข้าวที่มีคุณภาพ ศูนย์วิจัยข้าวล้านนาได้เลือกฟางข้าวสายพันธุ์สันป่าตองที่มีจำนวนมากมาเป็นงานวิจัยตั้งต้น ซึ่งสายพันธุ์สันป่าตองมีคุณสมบัติของฟางที่มีคุณภาพดี สามารถประหยัดสารเคมีไปได้ 10 เท่า เนื่องจากกระบวนการผลิตเยื่อจากผลผลิตธรรมชาติ อย่างเช่นกระดาษสา เยื่อจากชานอ้อย ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องดินเค็มตามมา แต่เมื่อใช้ฟางจากข้าวสายพันธุ์สันป่าตอง ทำให้ลดการใช้สารเคมีและเวลาในการผลิตลงด้วย จาก 4-5 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

กระบวนการผลิต เริ่มต้นจากการเตรียมฟางข้าวโดยตัดฟางให้เป็นท่อนสั้นๆ แล้วนำมาแช่กับสารละลายสูตรเฉพาะที่คณะวิจัยเตรียมไว้ หลังจากนั้นจะนำไปเข้าเครื่องหม้อนึ่งแรงดันสูงจนได้ฟางข้าวที่แตกตัว ต่อมาจึงนำฟางข้าวไปเข้าเครื่องกระจายเยื่อ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว จะยังมีสารเคมีค้างอยู่ ต้องนำมาล้างให้เยื่อนั้นมีสภาพเป็นกลาง เมื่อล้างเสร็จจึงนำไปอบจนได้เยื่อกระดาษที่นำไปใช้งานต่อได้ ขั้นตอนการทำเยื่อนี้ จะเหมือนกับการทำเยื่อเส้นใยอื่น ๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ทีมผู้วิจัยมุ่งให้ลดการใช้สารเคมีลง 5-10 เท่าและลดระยะเวลาการผลิต ซึ่งฟางข้าวจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองพิเศษนี้ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมาก

งานวิจัยพัฒนาจนกลายเป็นเยื่อฟางข้าวที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ ด้วยการนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปจากเยื่อชานอ้อย หรือนำมาทำเป็น กระดาษจากเส้นใยธรรมชาติ โดยเยื่อจากฟางข้าวนับว่ามีเซลลูโลสคุณภาพดี จึงสามารถนำมาใช้แปลงเป็น สารให้ความหนืดในอาหารได้ ซึ่งจะใช้กระบวนการที่ผลิตสำหรับ Food Grade เพื่อทำให้เยื่อนั้นแปรไปเป็นสารให้ความหนืดที่ปลอดภัย

ไม่เพียงเท่านั้นทางด้านการแพทย์เส้นใยของฟางข้าวยังสามารถนำไปพัฒนาเป็น แผ่นฟิล์มแปะแผล ช่วยสมานแผลหรือช่วยรักษาได้ เช่น แผ่นดูดชับเลือด แผ่นแปะสิว หรือแผ่นที่สามารถปล่อยสารบางอย่างสู่ร่างกาย

ลักษณะของเยื่อฟางข้าวที่ดีนั้น ประการแรกจะต้องมีความสามารถในการยึดเกาะประสานกันเองได้ดี สามารถนำมาขึ้นรูปวัสดุที่มีความแข็งแรงสูงได้ ประการที่สอง ในกลุ่มสายอาหาร เยื่อนั้นต้องมีปริมาณเซลลูโลสสูงเพื่อที่จะสามารถแปลงเซลลูโลสไปเป็นสารต่าง ๆ ได้ ประการที่สาม ต้องพร้อมที่จะถูกลดขนาดให้เป็นระดับนาโน ถ้าเยื่อไม่ดีก็จะไม่สามารถย่อยให้เป็นระดับนโนได้ หากเราสามารถผลิตเยื่อที่ดีมีความบริสุทธิ์สูง สามารถย่อยได้ง่ายก็จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นกับงานด้านต่าง ๆ ได้อีกมาก

ในปัจจุบันการลดใช้พลาสติกยังเป็นประเด็นที่สังคมต่างให้ความสนใจเพิ่มมาขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายจะทำให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกตามมา ซึ่งกลุ่มพลาสติกที่ย่อยสลายได้มีราคาสูง การนำฟางข้าวมาผสมกับพลาสติกที่ย่อยสลายได้ก็จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนลง และยังมีส่วนในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยทั่วไปแล้วตั้งเป้าการย่อยสลายหลังทิ้งไว้ภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ยังมีผลทางเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มรายได้อีกทางให้แก่เกษตรกร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุฐพัศ คำไทย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า “ปกติแล้วหากขายฟางข้าว เกษตรกรจะได้เงินเพียง 200 บาทต่อไร่ แต่ถ้าเรานำมาผลิตเป็นเยื่อฟางข้าวจะเพิ่มมูลค่าให้กับฟางได้มากกว่านั้น โจทย์ของงานวิจัยนี้คือ ห้ามใช้กระบวนการทำซับซ้อนเกินไป เพื่อจะให้ประชาชนสามารถไปผลิตเองได้

กระบวนการนี้จะช่วยทำให้เราถ่ายทอดให้กับประชาชนได้ง่ายและทำให้ได้เยื่อคุณภาพ

นวัตกรรม งานวิจัยได้ถูกถ่ายทอดแก่เกษตรกร และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสภาเกษตรกร ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน) และได้มีการติดตามการดำเนินงานร่วมกับนักวิจัย เกษตรกร และภาคเอกชน ต่อยอดไปสู่การวางแผนนโยบายสาธารณะของชุมชนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อการใช้ฟางข้าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม เกิดเป็นอาชีพใหม่ และสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการได้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนแก่สังคมในหลากหลายมิติ สอดรับกับแผนพัฒนาที่ 13 การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ที่พัฒนาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไปอย่างควบคู่กัน