ASEAN Roundup ประจำวันที่ 18-24 กันยายน 2565
เวียดนามเล็งตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯเทคโนโลยีใหม่ 3 แห่ง

นายวินห์ ทันห์ ดัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เทคโนโลยีขึ้นใหม่ 3 แห่ง เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อกับตลาดหลักทรัพย์ระดับภูมิภาคและระดับโลก
นายดัต กล่าวในที่การเสวนา เกี่ยวกับการพัฒนาตลาดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และบูรณาการเข้าด้วยกัน ว่า ตลาดหลักทรัพย์ใหม่จะเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทาน ผลิตงานงานวิจัยเพื่อการพาณิชย์ และสนับสนุนองค์กรและบุคคล ในการแสดง สาธิต จัดแสดง และส่งเสริมการทำธุรกรรมของผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องมีการสร้างฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันและพอร์ทัลในตลาดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการลงทุนในการพัฒนาและใช้เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ สถิติ ธุรกรรมทางเทคโนโลยี การประมวลผลข้อมูล การจัดการและการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน การแปลงเป็นดิจิทัล และการรวมข้อมูล
นอกจากนี้ยังต้องสร้างเครือข่ายและสร้างฐานข้อมูลของผู้มีความสามารถที่เป็นชาวเวียดนามทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาตลาดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเวียดนาม
นายดัตกล่าวว่า ภาคธุรกิจจะได้รับการสนับสนุนในการประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยี สร้างขีดความสามารถและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้มของเทคโนโลยีและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
เวียดนามจะมุ่งสู่การประสานตลาดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสินค้าโภคภัณฑ์ แรงงาน และตลาดการเงิน กิจการต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนให้เชี่ยวชาญในมาตรฐานทางเทคนิคและเข้าใจข้อบังคับ และเพื่อปกป้องและใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการเจรจา การทำธุรกรรม และการซื้อ
ด้านกฎหมายจะจัดการให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคที่มีความสำคัญ
“นอกจากนี้จะมีการวางนโยบายที่ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงไปยังธุรกิจสนับสนุนในประเทศ” นายดัตกล่าว
เวียดนามส่งเสริมให้ธุรกิจนำเข้าเทคโนโลยีหลัก

ในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นด้วยความพยายามของเวียดนามในการเชื่อมโยงสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยกับธุรกิจ นายจิ๋งห์ ได้ย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของตลาดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในการพัฒนาเศรษฐกิจระบบตลาด และเร่งการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คุณภาพ และความสามารถในการแข่งขัน
นายจิ๋งห์ กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์ผลงานที่อุตสาหกรรมตอบรับ ขณะที่ความต้องการและความสามารถของธุรกิจในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้มีการจัดตั้งตลาดเทคโนโลยี 20 แห่งเพื่อนำทั้งสองฝ่ายมาเจอ แต่ยอมรับว่ายังต้องทำอีกมากในเชิงพาณิชย์ สำหรับงานวิจัยเชิงวิชาการ การสร้างสถาบันตัวกลางที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้เพื่อเร่งการทำธุรกรรม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับชาติที่ล้ำสมัยและเชื่อมโยงอย่างดี
เวียดนามตั้งเป้าที่จะสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์และล้ำหน้า นายจิ๋งห์ กล่าวว่า ตลาดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ และให้บริการธุรกิจ
ในเมืองใหญ่ ๆ ในอนาคตจะได้มีตลาดหลักทรัพย์ด้านวิทย์-เทคระดับชาติเพื่อเชื่อมต่อกับคู่ค้าระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันนายจิ๋งห์ เรียกร้องให้ดำเนินการตามนโยบายที่ออกมาเพื่อนำงานวิจัยออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว
เวียดนามติดอันดับ 63 ของโลกด้านสภาพแวดล้อมดิจิทัล
เวียดนามติดอันดับที่ 63 จาก 113 ประเทศในด้านสภาพแวดล้อมดิจิทัลและระบบสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการ เมื่อประเมินจากดัชนีที่พัฒนาโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)
ดัชนี ADB วัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัล โดยพิจารณาจากระดับของการทำให้เป็นดิจิทัลใน 8 ด้าน คือ วัฒนธรรม สถาบัน สภาพตลาด โครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ ความรู้ การเงิน และเครือข่าย
สิงคโปร์มีสภาพแวดล้อมดิจิทัลและระบบสนับสนุนที่ดีที่สุดในโลกสำหรับผู้ประกอบการ ตามดัชนี Global Index of Digital Entrepreneurship Systems ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กันยายน โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Asian Development Outlook 2022 ฉบับใหม่ โดยสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 2 สวีเดนที่ 3 ไทย 59 เวียดนาม 63 อินโดนีเซีย 71 อินเดีย 75 และฟิลิปปินส์ 79
ADB กล่าวว่า 17 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย จาก 21 ประเทศถูกจัดอยู่ในอันดับล่างสุด ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่หลายฝ่ายจะต้องประคับประคองผู้ประกอบการด้านดิจิทัล โดยชี้ว่า การนำดิจิทัลมาใช้ทำให้มีโอกาสเติบโตอย่างมากสำหรับธุรกิจในเอเชียและแปซิฟิก
การนำดิจิทัลมาปรับใช้เป็นตัวขับเคลื่อนของนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศที่พยายามบรรลุสถานะประเทศรายได้สูง และยังช่วยให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้ธุรกิจจำนวนมากอยู่รอดจากการระบาดของโควิด-19 และส่งเสริมการเติบโตโดยรวมด้วยการลดต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ
“ผู้ประกอบการดิจิทัลช่วยให้เศรษฐกิจอยู่รอดได้ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสามารถกลายเป็นกลไกสำคัญในการเติบโตและนวัตกรรมในโลกหลังการระบาดใหญ่ และเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้น จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน ทั้งจากนโยบายและสิทธิประโยชน์จูงใจ “อัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB กล่าว
นอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น เครือข่ายบรอดแบนด์แล้ว รัฐบาลต้องสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ระบบกฎหมายที่เชื่อถือได้ ตลาดที่เปิดกว้างและแข่งขันได้ และมีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง การวิเคราะห์ของ ADB แสดงให้เห็นว่าหลักนิติธรรมที่เข้มงวดมีผลในเชิงบวกต่อนวัตกรรมขององค์กร ในขณะที่การทุจริตน้อยลงในสังคมสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่สู่ตลาด
สำหรับเอเชียและแปซิฟิกโดยรวมแล้ว การขาดวัฒนธรรมที่สนับสนุน เป็นหนึ่งในจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดเมื่อพูดถึงการประคับประคองผู้ประกอบการดิจิทัล ตัวอย่างหนึ่งคือ การขาดความชื่นชมจากสาธารณชนต่อบทบาทสำคัญที่ผู้ประกอบการมีต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วิธีหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้คือ การยกระดับการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการผ่านการศึกษา
เวียดนามเทรด crypto สูงอันดับสองในอาเซียน

เวียดนาม พร้อมกับประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ต่างก็มีสถิติการเข้าชมเว็บสูงสุดไปยังตลาด Non-Fungible Token หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่สามารถทำซ้ำได้
มีการประมาณว่า 25% ของชาวฟิลิปปินส์และ 23% ของชาวเวียดนามเล่นเกมเพื่อหารายได้ และถึงระดับหนึ่ง ผู้เล่นที่อยู่ในฟิลิปปินส์คิดเป็น 40% ของฐานผู้เล่นของ Axie Infinity ในเวียดนาม
ในรายงานก่อนหน้านี้ Chainalysis กล่าวว่า เป็นปีที่สองที่เวียดนามได้รับการจัดอันดับสูงสุดในดัชนีการยอมรับสกุลเงินดิจิทัล
เวียดนามส่งออกข้าวทะลุเป้าหมายทั้งปี

นายเหงียน ง็อก นัม ประธานสมาคมอาหารเวียดนามกล่าวว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามน่าจะทะลุเป้าหมายของปีนี้ทั้งปี
ในการสัมมนาที่จัดโดยกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทและคณะกรรมการประชาชนของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเมืองเกิ่นเทอ เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายนัมกล่าวว่าเวียดนามมีรายได้เกือบ 2.4 พันล้านดอลลาร์จากการส่งออกข้าว 4.97 ล้านตันในช่วง 8 เดือนแรก ของปีนี้ เพิ่มขึ้น 20.7% ในด้านปริมาณและเกือบ 9.9% ในด้านมูลค่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เวียดนามวางแผนจัดส่งข้าว 6.3-6.5 ล้านตันในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 100,000–200,000 ตันจากปี 2564 โดยเอเชียเป็นผู้ซื้อข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% รองลงมาคือแอฟริกาและอเมริกา
ฟิลิปปินส์เพียงประเทศเดียวซื้อข้าวเวียดนามมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิและข้าวคุณภาพสูง เพิ่มขึ้นมากกว่า 47% เมื่อเทียบปีต่อปี
ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จีนซื้อข้าวกว่า 520,000 ตันจากเวียดนาม หรือประมาณ 10% ของการส่งออกข้าวของเวียดนาม ลดลง 29% ต่อปี ปัจจุบันจีนมีความต้องการข้าวเหนียวมาก แต่อุปทานในเวียดนามไม่เพียงพอ
กานาและไอวอรี่โคสต์ยังคงเป็นตลาดที่มั่นคงสำหรับเวียดนาม โดยซื้อข้าวกว่า 18% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด
เวียดนามยันไม่จับมือไทยขึ้นราคาข้าว
นายเล มินห์ ฮวาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเวียดนามกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี(21 ก.ย.)ว่า เวียดนามไม่ทำข้อตกลงกับไทยในการร่วมกันขึ้นราคาข้าว
กระทรวงเกษตรของทั้งสองประเทศ “ได้ร่วมมือในเรื่องทั่วไปเท่านั้น” นายฮวาน กล่าวในแถลงการณ์ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีในกรุงฮานอย
แถลงการณ์ซึ่งเป็นฉบับแรกของรัฐบาลเวียดนามในประเด็นนี้ มีขึ้นไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากเจ้าหน้าที่เกษตรของไทยกล่าวว่าทั้งสองประเทศตกลงที่จะร่วมมือในการขึ้นราคาข้าวในตลาดโลก
ทั้งสองประเทศเริ่มการเจรจาในเดือนพฤษภาคม
โฆษกของไทยกล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการขึ้นราคาร่วมกันคือ เพื่อเพิ่มอำนาจในตลาดโลกและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
กระทรวงเกษตรสหรัฐเปิดเผยว่า ประเทศไทยและเวียดนามมีสัดส่วนการผลิตข้าวเปลือกประมาณ 10% ของทั้งโลกและส่งออกประมาณ 26% ของการส่งออกทั่วโลก
ผู้ส่งออกของไทยกล่าวว่า การฮั้วราคาไม่สามารถทำได้และทำให้ไทยและเวียดนามไม่สามารถแข่งขันได้
สมาคมอาหารเวียดนามกล่าวว่า เมื่อปลายเดือนที่แล้วการส่งออกข้าวของเวียดนามคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้าน-6.5 ล้านตันในปีนี้จาก 6.24 ล้านตันในปีที่แล้วตามความต้องการที่แข็งแกร่ง
เซ็นทรัลเล็งสร้างห้างในสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง

เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกของไทยต้องการที่จะเปิดห้างสรรพสินค้าในจังหวัด ด่งท้าป บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของจังหวัด เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้มีการประชุมระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัดกับโอลิวิเยร์ บรง ซีอีโอของเซ็นทรัล รีเทล และผู้ที่เคยแนะนำพื้นที่ 6 แห่งให้กับห้างสรรพสินค้า
ในเดือนกรกฎาคม เซ็นทรัล รีเทล เปิดเผยแผนการที่จะลงทุน 20 ล้านล้านด่อง (851 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในตลาดเวียดนามในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์ม Omni-channel ชั้นนำในธุรกิจอาหารและศูนย์การค้า
ในเวียดนาม เซ็นทรัล รีเทลมีการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกทั่วไป อิเล็กทรอนิกส์ สินค้ากีฬา แฟชั่น การบริการ และอีคอมเมิร์ซ
กัมพูชากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนแรงงานสิ่งทอปี’66 ที่ 200 ดอลลาร์

สมาชิกสภาค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติจำนวน 51 คน ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน ได้มีการลงคะแนนลับเพื่อเลือกค่าแรงขั้นต่ำใหม่สำหรับปี 2566 ในวันที่ 21 กันยายน จาก 4 ตัวเลือกคือ 198 ดอลลาร์, 206 ดอลลาร์, 210 ดอลลาร์ และ 213 ดอลลาร์ หลังจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำระหว่างการเจรจาได้
ผลปรากฎว่า 46 คน จาก 51 คนโหวตเลือก 198 ดอลลาร์ ในขณะที่ 210 ดอลลาร์ได้รับ 5 คะแนน ส่วนอีกสองตัวเลือก 210 ดอลลาร์กับ 206 ดอลลาร์ ไม่มีการเลือกจากสมาชิกทั้ง 51 คนซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 17 คนจากสหภาพแรงงาน ตัวแทนของนายจ้างภายใต้สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา (GMAC) 17 คน และผู้แทนรัฐบาล 17 คน
“สภาค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติตัดสินให้เงิน 198 ดอลลาร์เป็นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2566 แต่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้สั่งการให้เพิ่มขึ้นอีก 2 ดอลลาร์จาก 198 ดอลลาร์ ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปีหน้าจึงถูกกำหนดไว้ที่ 200 ดอลลาร์” นายอิท สัมเฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว
แรงงานที่ยังอยู่ในช่วงทดลองงานจะได้รับเงินเดือน 198 ดอลลาร์
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำปีนี้อยู่ที่ 194 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 ดอลลาร์จาก 192 ดอลลาร์ที่สภาฯกำหนด หลังจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเข้าแทรกแซง
แม้มีการประชุมหลายครั้ง แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สามารถบรรลุฉันทามติเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำได้ ผู้แทนสหภาพแรงงานเริ่มการเจรจาโดยขอไว้ที่ 213 ดอลลาร์ แต่ลดลงเหลือ 210 ดอลลาร์ในการประชุมครั้งต่อมา และ 206 ดอลลาร์ในการเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน
นายสัมเฮงกล่าวว่า คนงานจะยังคงได้รับผลประโยชน์ด้านอื่นเช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พัก 7 ดอลลาร์ต่อเดือน โบนัสการทำงาน 10 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการไม่ใช้วันหยุด ค่าอาหาร 0.50 ดอลลาร์ต่อวันสำหรับการทำงานล่วงเวลาโดยสมัครใจ (นายจ้างบางรายจะจัดหาอาหารให้ฟรีแทนให้เงิน 0.50 ดอลลาร์) และโบนัสประจำปีระหว่าง 2-11 ขึ้นอยู่กับ อายุงานของพนักงาน (พนักงานต้องทำงานอย่างน้อยสองปีกับบริษัทจึงจะมีคุณสมบัติรับโบนัส)
คนงานแต่ละคนจะได้รับเงินเดือนโดยเฉลี่ยระหว่าง 217-228 ดอลลาร์ต่อเดือน หากเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้วกับปีนี้ คนงานจะได้รับเงิน 6 ดอลลาร์
นาง โสธี ประธานร่วมของภาคเอกชนและตัวแทนนายจ้าง กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 200 ดอลลาร์ถือว่าเหมาะสมสำหรับแรงงาน เพราะหากกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 215 ดอลลาร์ โรงงานบางแห่งอาจต้องปิดตัวลง
“ค่าแรงขั้นต่ำ 200 ดอลลาร์ในปี 2566 จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติที่ต้องการลงทุนในกัมพูชา”
โสธีขอให้รัฐบาลช่วยเพิ่มขีดความสามารถและฝึกอบรมคุณภาพในภาคสิ่งทอเพื่อให้เจ้าของโรงงานสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงได้
“ต้นทุนสำหรับโลจิสติกส์ บริษัทขนส่ง และท่าเรือของเราต้องอยู่ในระดับที่กัมพูชาสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน” S
ปอ สีนา ประธานสหภาพแรงงานร่วมกล่าวว่า แม้จะไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 206 ดอลลาร์ตามที่สหภาพแรงงานเรียกร้อง แต่ “198 ดอลลาร์เป็นการตัดสินใจของเสียงข้างมาก”
ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปี 2566 จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายของคนงานหรือไม่ก็ตาม นโยบายการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีก็เป็นกลไกที่ดี และสมาพันธ์สหภาพแรงงานจะตรวจสอบสวัสดิการของคนงานเป็นประจำและดำเนินการเมื่อจำเป็น
สีนากล่าวว่า หากค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก นักลงทุนต่างชาติจะย้ายไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า
เข็ง สุคน แรงงานวัย 26 ปีจากโรงงาน Ying Hy กล่าวว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 6 ดอลลาร์ไมน่าดีใจเท่าไร ไม่มากแต่ก็ดีกว่าไม่เพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็ใช้ซื้ออาหารได้ 2 วัน ก่อนหน้าโรงงานปิดช่วงการระบาดของโควิดจึงไม่มีเงิน แต่ตอนนี้กลับมาทำงานและมีเงินสำหรับซื้อข้าว จายค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ และส่งเงินกลับบ้านได้บ้าง และพยายามทำงานล่วงเวลา เพื่อหาเงินให้ได้ 260- 280 ดอลลาร์ต่อเดือน
สะดึง จันเดือน แรงงานจากเมืองสตึงเมียนเจย กล่าวว่า ราคาอาหารและของใช้สูงขึ้นและการใช้เงินให้ชนเดือนจึงยากมาก แม้ค่าแรงจะขึ้น เพราะยังต้องส่งเงินให้ที่บ้าน ให้มีชีวิตรอด จึงทำงานล่วงเวลาค่อนข้างมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าโรงงานมีงานหรือไม่ นอกจากนี้ไม่มีการใช้จ่ายด้านบันเทิงเลย ได้แต่เพียงรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยกับเพื่อนๆ และยอมรับว่าผิดหวังที่ค่าแรงไม่ได้ปรับขึ้นไปที่ 213-215 ดอลลาร์
อาเซียนใช้หยวนกว่า 4 ล้านล้านปี’64

ปริมาณเงินหยวนข้ามแดนจีน-อาเซียนเพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่าในทศวรรษที่ผ่านมา Financial News ระบุโดยอ้างรายงานเกี่ยวกับการใช้เงินหยวนในประเทศอาเซียน
ในปี 2564 การใช้เงินหยวนในอาเซียนสูงถึง 4.8 ล้านล้านหยวน (684.96 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี รายงานซึ่งเผยแพร่โดยสมาคมการเงินกว่างซี(Financial Society of Guangxi)ในการประชุมสุดยอดผู้นำจีน-อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินและการพัฒนาครั้งที่ 14 ระบุ(14th China-ASEAN Summit Forum on Financial Cooperation & Development)
ณ สิ้นปี 2564 จีนได้ลงนามในข้อตกลงการชำระเงินทวิภาคีกับเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา รวมถึงข้อตกลงแลกเปลี่ยนสกุลเงิน(currency swap agreements)กับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย มูลค่ารวมประมาณ 8 แสนล้านหยวน
เครือข่ายการชำระเงินและการหักบัญชีของหยวนยังคงเพิ่มขึ้นระหว่างจีน-อาเซียน
ในปี 2564 สถาบันการเงินในอาเซียนทั้งหมด 16 แห่งเป็นผู้เข้าร่วมใหม่ทางอ้อมของระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามแดนหรือ Cross-border Interbank Payment System (CIPS) CIPS รองรับธุรกรรมข้ามแดนจีน-อาเซียนถึงมูลค่า 3.3 ล้านล้านหยวนในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ต่อปี
ด้วยการลงนามในข้อตกลง RCEP และการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค คาดว่าเงินหยวนจะนำไปใช้ในวงกว้างในประเทศอาเซียน รายงานระบุ
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาเป็นเวลา 13 ปีติดต่อกัน และอาเซียนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2563 แซงหน้าสหภาพยุโรป รายงานจากกระทรวงพาณิชย์
ตั้งแต่มกราคมถึงสิงหาคม การค้าระหว่างจีนและอาเซียนมีมูลค่า 627.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การค้าระหว่างจีนกับสมาชิก RCEP อื่นๆ เพิ่มขึ้น 7.5% ต่อปี ตามรายงานของสำนักงานศุลกากรทั่วไป
รัฐมนตรี RCEP เห็นชอบตั้งสำนักเลขาธิการ

ประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมด้วย ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และนิวซีแลนด์ ได้ข้อสรุปในการประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรกเมื่อวันที่
18 กันยายนที่จังหวัดเสียมราฐ โดย เจอร์รี่ ซัมบัวก้า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย และฟิล ทไวฟอร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อการค้าและการเติบโตของการส่งออกของนิวซีแลนด์การประชุมเป็นประธานร่วม
ที่ประชุมยินดีที่ข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ของเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งแทบจะใกล้เคียงกับการเปิดการเจรจา RCEP ในปี 2555 เมื่อกัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรกระบุ พร้อมชี้ถึงความสำคัญของความตกลง RCEP ในภูมิภาค ที่ประชุมรอที่จะประเทศสมาชิกที่ลงนามทั้งหมดให้สัตยาบันครบถ้วน
ในการประชุม รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วม RCEP และยินดีกับการจัดตั้งหน่วยงานย่อยภายใต้การดูแลของคณะกรรมการร่วม รวมทั้งยังสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ขยายการใช้ข้อตกลง RCEP และติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามข้อตกลง RCEP เพื่อนกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในภูมิภาค
ในการนี้ ที่ประชุมได้ยืนยันความจำเป็นที่จะต้องละเว้นจากการใช้มาตรการใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ความตกลง RCEP
“ที่ประชุมตั้งตารอการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP อย่างรวดเร็วตามเงื่อนไขที่จะตกลงกันโดยภาคีต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนด้านเลขานุการและทางปฏิบัติแก่คณะกรรมการร่วม RCEP และหน่วยงานย่อย” แถลงการณ์ระบุ
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้แสดงความมุ่งมั่นของกัมพูชาที่จะเป็นที่ตั้งให้กับสำนักเลขาธิการ RCEP ในกรุงพนมเปญ
“กัมพูชายังคงให้ความสนใจ และพร้อมสนับสนุนทุกด้านในการเป็นที่ตั้งสำนักเลขาธิการ” สมเด็จฮุนเซนกล่าวในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 54 ในเมืองเสียมราฐ
การประชุมได้มีมุมมองพ้องกันว่า RCEP สามารถสนับสนุนการฟื้นฟูหลังเกิดโรคระบาดของภูมิภาค และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเน้นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์มากขึ้นของข้อตกลง RCEP เพื่อทำให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคลึกยิ่งขึ้น
ข้อตกลง RCEP ที่ลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยกลุ่มสมาชิก 10 คนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และมีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
ในฐานะกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก RCEP ได้เป็นตลาดขนาด 2.2 พันล้านคนหรือ 30% ของประชากรโลกและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 26.2 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของ GDP โลกและ 28%ของการค้าโลก