ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > “คณิศ แสงสุพรรณ” 4 ปี EEC เดินหน้า หรือถอยหลัง!!

“คณิศ แสงสุพรรณ” 4 ปี EEC เดินหน้า หรือถอยหลัง!!

22 สิงหาคม 2022


“คณิศ แสงสุพรรณ” แจงประสบการณ์ 4 ปีแห่งการขับเคลื่อน “เมกะโปรเจกต์” 1.8 ล้านล้าน ยืนยัน “อีอีซีเกิดแน่” คาดก่อสร้างเสร็จอีก 3-4 ปีข้างหน้า ดันเศรษฐกิจไทยโตแบบก้าวกระโดดขั้นต่ำ 5% มั่นใจไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนมาบริหารประเทศ ต้องสานต่อ

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 เป็นวันสุดท้ายของการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ของ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อันเนื่องมาจากดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้แต่งตั้งนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ โดยนำเสนอรายชื่อ (short list) ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่เคยบริหารโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้ที่ประชุม กพอ. พิจารณาภายใน 2 เดือน

อดีตเลขาธิการอีอีซีเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการบริหาร และขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็มีปัญหาและอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ก่อนมีอีอีซี ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำมาก จากปี 2537-2539 เคยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 7.3% ปี 2545-2549 ขยายตัวเฉลี่ย 5.8% และปี 2556-2559 ขยายตัวเฉลี่ยแค่ 2.8% ต่อปี นอกจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ภายในประเทศก็มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ หนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง

ช่วงนั้นหลายคนคงเคยได้ยินข่าวบริษัทต่างชาติ ย้ายฐานการผลิตไปลงทุนประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมประสบปัญหา digital transform เริ่มมีปัญหาสงครามการค้า ครั้นจะยกระดับปรับเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ก็ขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง ขยายการลงทุนก็ติดข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ และต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจดั้งเดิมก็อยู่ในสภาพที่แออัด ขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน หากเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกโดยธรรมชาติ ขีดความสามารถในการแข่งขันกำลังลดลงเรื่อยๆ บัณฑิตจบมาก็ตกงาน

“ขณะนั้นคนไทยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ new normal ขยายตัวไม่เกิน 3% ต่อปี เราจึงพยายามแก้ความเชื่อดังกล่าวนี้ โดยผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยขยายตัวแบบก้าวกระโดด ตั้งเป้าหมายโตอย่างน้อย 5% ต่อปี”

ในช่วงนั้นรัฐบาลจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา พบว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะในบริเวณ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” เดิม ยังมีพื้นที่ในบริเวณข้างเคียงที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เหลืออยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร หากนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และวางระบบสาธารณูปโภคให้ดี รวมทั้งหามาตรการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้

ถามว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ ตอนนั้นก็คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านล้านบาท คำถามต่อมา แล้วจะหาเงินจากที่ไหนมาลงทุน ด้วยงบประมาณของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่วนใหญ่เป็นงบประจำมีสัดส่วนประมาณ 80% เหลืองบลงทุนแค่ 20% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งต้องนำไปใช้ในการพัฒนาทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน ในช่วงนั้นก็มีหลายประเทศยื่นข้อเสนอที่จะให้เงินกู้แก่รัฐบาลไทย เพื่อลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี แต่เราไม่เอา เพราะจากบทเรียนในอดีต ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้เรารู้ว่า การไปกู้ยืมเงินจากต่างชาติมาลงทุนมันไม่ยั่งยืน ดอกเบี้ยต่ำก็จริง แต่ต้องใช้บริษัทผู้รับเหมา วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีของต่างชาติ ทำงานเสร็จก็ส่งกำไรกลับประเทศ ทิ้งหนี้ไว้ให้เราผ่อนกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 30 ปีที่แล้ว เรามีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและเงินการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเราไม่มีเงิน คล้ายกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านของเราในปัจจุบัน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการอีอีซี

“แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีบริษัทยักษ์ที่มีศักยภาพสูงหลายบริษัท และมีแหล่งทุนในประเทศมากพอที่จะลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีได้ ส่วนงานไหนที่เราไม่ถนัด ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงหรือความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ก็อาจจะใช้วิธีไปชวนบริษัทต่างชาติเข้ามาเป็นพันธมิตรหรือร่วมทุนกันจัดตั้งเป็น “กิจการร่วมค้า” โดยมีบริษัทของคนไทยเป็นแกนนำ เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งการลงทุนรูปแบบนี้จะแตกต่างจากในอดีตตรงที่เมื่อบริษัทต่างชาติทำงานเสร็จแล้วยังกลับประเทศไม่ได้ ต้องอยู่ช่วยกันบริหารโครงการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัมปทาน นี่ก็คือที่มาของการตัดสินใจใช้รูปแบบโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน หรือที่เรียกว่า “PPP” โดยใช้เงินคนไทย บริษัทไทย นำพันธมิตรต่างชาติ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศเหมือนในอดีต ผสมผสานกับงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เข้าไปร่วมลงทุนกับเอกชน รวมทั้งจัดงบบูรณาการผ่านส่วนราชการอีก 30 แห่ง ซึ่งปกติรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานเหล่านี้อยู่แล้ว คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี เพียงแต่เราปรับทิศปรับทางให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณให้พุ่งตรงกับยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่อีอีซี”

หลังจากที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ก็มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขึ้นมา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยใช้รูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) 4 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน 3. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และ 4. โครงการท่าเรือแหลมฉบัง

  • “อู่ตะเภา มหานครการบิน” 50 ปี ฝันที่เป็นจริงของ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าพ่อ Boutique Airline
  • “คณิศ” แจง 4 ปี อนุมัติการลงทุนในอีอีซีเข้าเป้าฯ ก่อนกำหนด- ชงนายกฯ ผ่านแผน 5 ปี 2.2 ล้านล้านบาท ต.ค. นี้
  • บอร์ด กพอ. ยกระดับ ‘อู่ตะเภา’ เป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” ประกอบการค้าเสรี 24 ชั่วโมง
  • ช่วง 5 ปีแรก (2561-2565) ถือเป็นช่วงแห่งการวางเสาเอก และคัดเลือกภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ เราก็เร่งดำเนินงานจนกระทั่งได้ตัวผู้รับเหมาหรือผู้บริหารโครงการ เสนอให้ที่ประชุม กพอ. อนุมัติ และได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาแค่ 4 ปี ที่ประชุม กพอ.อนุมัติโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนไปทั้งสิ้น 1,841,709 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผน 5 ปี ประมาณ 141,709 ล้านบาท ประกอบด้วย

    1. โครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชนใน 4 โครงการหลัก อนุมัติงบลงทุนไปทั้งสิ้น 655,821 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนของภาคเอกชน 440,193 ล้านบาท เงินลงทุนในส่วนภาครัฐ (งบผูกพัน) 238,841 ล้านบาท

    2. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แม้โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ก็มีนักลงทุนจากต่างประเทศ สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา BOI ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในกับนักลงทุนจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 1,091,374 ล้านบาท โดย 4 ปีที่ผ่านมา BOI ได้อนุมัติการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-curve) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70 % ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 new S-curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้

    3. เป็นโครงการลงทุนของ 30 หน่วยงาน ผ่านงบบูรณาการตามที่กล่าวข้างต้นอีก 94,514 ล้านบาท และงบลงทุนของสำนักงานอีอีซีอีก 2,759 ล้านบาท จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่และชุมชนอีกหลายโครงการ เช่น โครงการพลังสตรี ดูแลสิ่งแวดล้อม, โครงการอีอีซี สแควร์, โครงการบัณฑิตอาสา, โครงการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน และก็ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดหลักสูตรอบรมให้กับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

    นอกจากภารกิจขับเคลื่อนโครงการหลักแล้ว ยังทำโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ เช่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวะ และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ จัดทำหลักสูตรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ (EEC Model — Demand Driven Education) รองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า “new S-curve” โดยมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมไปแล้ว 16,114 คน รวมทั้งเร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการก้าวกระโดดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอีกหลายโครงการ เช่น เร่งวางโครงข่ายสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่อีอีซีจนครบ 100% ภายใน 1 ปี ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ automation ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมของไทย และยังส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี และอะไหล่ชิ้นส่วนของรถ EV ในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล

    ล่าสุด ทาง BOI ได้อนุมัติออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท BYD เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในพื้นที่อีอีซีเป็นแห่งแรกของเมืองไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 17,891 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเร่งยกระดับบริการสาธารณสุข และวางเครือข่ายธุรกิจ wellness จัดตั้งศูนย์จีโนมิกส์ และ digital hospital ในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์สมัยใหม่ และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม เช่น EECi ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านเกษตรสมัยใหม่, ธุรกิจดิจิทัล, หุ่นยนต์, สร้างสนามทดสอบโดรนและรถ EV, EECd โดยในส่วนของ digital valley ได้เปิดดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจัดตั้ง EECh โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังดำเนินการก่อสร้าง digital hospital คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567 นี่คือผลงานของอีอีซีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

    ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า แต่พอขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไปได้ระยะหนึ่ง ก็มาเกิดปัญหาวิกฤติโควิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนและภาพรวมของเศรษฐกิจไทยกันไปพอสมควร แต่โครงการลงทุนต่างๆ ในพื้นที่อีอีซีได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงที่ภารกิจหลักยังอยู่กับภาครัฐ เช่น การเวนคืนที่ดิน การย้ายสาธารณูปโภคที่คร่อมทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การปรับพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และการปรับพื้นที่วางระบบท่าเรือ เพื่อมอบพื้นที่ให้กับผู้ร่วมทุนภาคเอกชน เตรียมถมทะเลสร้างท่าเรือ เป็นต้น

    “แต่ใน 4 โครงการลงทุนหลักของเรา ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งตามสัญญาเดิมการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องส่งมอบโครงการให้กับภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 โดยมีเงื่อนไขว่า ภาคเอกชนต้องวางเงินประกันประมาณ 10,000 ล้านบาท แลกกับสิทธิในการบริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ปรากว่ามาเจอโควิด ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงต่ำกว่าประมาณการถึง 90% จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 90,000 คนต่อวัน ลดเหลือเพียง 10,000 คนในวันที่ส่งมอบ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น” ดร.คณิศ กล่าว

    ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า ถามว่าเราจะบังคับให้เอกชนปฎิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัด โดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในที่สุดเอกชนก็เดินต่อไปไม่ไหว ส่วนภาครัฐก็ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ เข้ามาทำงานแทน ซึ่งตามสัญญาก็สามารถทำได้ แต่อาจจะได้สัญญาที่ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์มากกว่าเดิม วงเงินลงทุนที่อาจต้องปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ผลตอบแทนของภาครัฐก็อาจจะลดลง และที่สำคัญอาจจะไม่มีเอกชนสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตรงนี้จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายโซ่ตรวนเพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้ โดยการปรับแก้สัญญาร่วมทุนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และที่สำคัญที่สุด ภาครัฐต้องไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับโครงการรถไฟไทย-จีนเจรจาตกลงกันได้ จึงมาขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งสร้างเส้นทางสถานีดอนเมือง-สถานีบางซื่อให้กับรถไฟไทย-จีนด้วย จากเดิมกำหนดให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต้องเร่งก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีดอนเมืองไปสถานีอู่ตะเภาให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะกลับมาสร้างทางรถไฟในช่วงสถานีดอนเมือง-บางซื่อ โดยใช้ตอม่อเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีนเปิดให้บริการได้ทันตามกำหนดเวลา ตรงนี้จึงนำไปสู่การแก้ไขสัญญารถไฟฟ้า 3 สนามบินโดยที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 9,000 ล้านบาท ส่วนความคืบหน้าในขณะนี้ ทาง รฟท. ได้ส่งผลการเจรจาและข้อเสนอมาที่สำนักงานอีอีซีแล้ว และคาดว่าจะนำเสนอที่ประชุม กพอ. พิจารณาเร็วๆ นี้

    คำถามสุดท้าย โครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะเกิดหรือไม่ ดร.คณิศ ยืนยันว่าเกิดแน่นอน เพราะตอนนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนนำเงินเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซีแล้วเป็นจำนวนมาก และยังยืนยันว่าเดินหน้าโครงการนี้ต่อ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็ได้รับรายงานจาก รฟท. ว่าได้เคลียร์พื้นที่ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาจนครบ 100% พร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้ภาคเอกชนดำเนินการก่อสร้างได้ภายในเดือนตุลาคม 2565 รวมทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาก็กำลังจะโอนพื้นที่ไปให้ภาคเอกชนดำเนินการก่อสร้างด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตอนนี้ถมทะเลไปแล้วประมาณ 15% ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังกำลังจะเริ่มถมทะเล คาดว่าจะเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ทั้ง 4 โครงการ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ก็มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะไปบรรจบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อสร้างเสร็จพอดี จากนั้นประเทศไทยก็พร้อมที่จะกลับมาโตแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง อย่างน้อย 5% ต่อปี

    “หากย้อนหลังกลับไปดูโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต ช่วง 5 ปีแรกที่กำลังลงมือก่อสร้าง เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ก้าวกระโดด แต่มาก้าวกระโดดภายหลังจากที่สร้างเสร็จแล้วในอีก 5 ปีต่อมา ผมเชื่อว่าโครงการดีๆ เป็นอนาคตของชาติ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องเดินหน้าต่อ อย่างโครงการ 30 บาท โครงการกองทุนหมู่บ้าน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเป็นคนคิดนโยบายขึ้น รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็ต้องสานต่อ เลิกไม่ได้ โครงการอีอีซีก็เช่นกัน และถ้าใครคิดจะยกเลิกโครงการนี้ ก็ต้องไปถามภาคเอกชนที่นำเงินเข้ามาลงทุนและประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าเขายอมหรือไม่ เพราะตอนนี้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับแล้วว่าโครงการอีอีซีทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น ทั้งสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การศึกษา สาธารณสุข และที่สำคัญ ขนาดโควิดระบาดราคาที่ดินที่ชลบุรีก็ยังไม่ลดเลย มีแต่จะขึ้นทุกวัน แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้คิดจะขายนะ เพราะเขารู้ว่ามันเป็นอนาคตของเขา ส่วนภาคเอกชน ถ้าไม่ทำโครงการต่อ เราก็ยึดเงินประกัน และก็หารายใหม่เข้ามาทำต่อ ซึ่งผมไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ และเมื่อบริหารโครงการไปจนครบ 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผมไม่เคยไปพูดที่ไหนนะ แต่วันนี้ออกจากตำแหน่งเลขาธิการอีอีซีมาแล้ว เลยกล้าพูด” ดร.คณิศ กล่าว

    ป้ายคำ :