ThaiPublica > Native Ad > เมื่อวิถีชีวิตเราต้องก้าวสู่ “สังคม Low Carbon”

เมื่อวิถีชีวิตเราต้องก้าวสู่ “สังคม Low Carbon”

8 กรกฎาคม 2022


ปี 2030 เป็นวาระว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เรื่องการจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ฉบับที่สำคัญของโลก

โลกเราร้อนขึ้นแล้ว 1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้น ขณะที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Intergovernmental Panel on Climate Change:IPCC) เตือนว่ามีโอกาสถึง 95% ที่อุณหภูมิจะสูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นความท้าทายหลักที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ ทั่วโลกประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว พายุไซโคลน พายุเฮอริเคน ฝนตกหนัก ภัยแล้ง และคลื่นความร้อนกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชาวโลก

การร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำในวงกว้างที่ไกลกว่าพรมแดนของประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อโลกใบนี้ที่ยั่งยืน

สังคมคาร์บอนต่ำคืออะไร

เราได้ยินการพูดถึง สังคมคาร์บอนต่ำ หรือเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำกันมากขึ้น รวมไปถึงคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon) หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)

แล้วความหมายของคำเหล่านี้คืออะไรกันแน่

โดยทั่วไปแล้ว สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นคำเรียก สังคมที่ยั่งยืน ที่มาจากการรักษาสมดุลไม่ให้มีก๊าซใดลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศมากหรือน้อยจนเกินไป

ด้วยโลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่หลายชั้น ทำหน้าที่ของมันเป็น “ผ้าห่มโลก” ตามระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้อย่างซับซ้อนในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก พื้นผิวโลกสะท้อนความร้อนออกไปบางส่วน กักเก็บความร้อนไว้บางส่วนซึ่งเกิดจากการดูดซับความร้อนนั้นไว้โดยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซเรือนกระจกทำหน้าที่ควบคุมความอบอุ่นของโลกอยู่ให้ในสภาวะที่สมดุล เกิดสภาพอากาศและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมาอย่างยาวนาน

แต่บัดนี้ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมวลมนุษยชาติเอง กลายมาเป็นความท้าทายของมนุษย์ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร ที่ไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น

ก๊าซเรือนกระจกมีอยู่หลายชนิด เช่น มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ แต่ที่รู้จักกันส่วนใหญ่คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงมักใช้คำว่า “คาร์บอน” แทน “ก๊าซเรือนกระจก” และเพื่อให้เข้าใจผลกระทบที่ก๊าซเรือนกระจกมีต่อภาวะโลกร้อนได้ง่ายขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจึงได้กำหนดการวัดผลกระทบต่อโลกร้อนของก๊าซแต่ละชนิดแปลงเป็นค่าเทียบเท่า “คาร์บอน”

คำว่า “คาร์บอน” จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นและใช้แทนก๊าซทั้งหมด ที่เกิดจากกิจกรรมที่มวลมนุษย์ได้กระทำและปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก เพราะดูดซับความร้อนในชั้นบรรยากาศและทำให้โลกร้อนขึ้น

ล่าสุดรายงาน IPCC เมื่อเดือนเมษายน 2022 เป็นคำเตือนครั้งสุดท้ายที่พยายามบอกว่าผู้นำรัฐบาลต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ เราได้เห็นการตื่นตัวของเยาวชนรุ่นใหม่ว่านี่คือโลกอนาคตที่จะเผชิญ แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาตอนนี้ก็จะสายเกินไป หมายความว่าทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าทุกคนร่วมกันและตระหนักข้อเท็จจริง

ดังนั้นการเรียกร้องเพื่อสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ” จากทุกคน ทุกอุตสาหกรรม-บริการ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงเมื่อเทียบกับวิถีแบบเดิมๆ เป็นความท้าทายว่าเราจะไปสู่เป้าหมาย สังคมคาร์บอนต่ำได้หรือไม่

ถ้าทำไม่ได้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น (ติดตามตอนต่อไป)

ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้ที่งาน ESG Symposium 2022 : Achieving ESG and Growing Sustainability” เวทีความยั่งยืนระดับสากลแห่งปี โดยเอสซีจี ในวันที่ 19 ก.ค. 2565 เวลา 8.00-12.00 น. ลงทะเบียนและรับชมบนโลกออนไลน์เสมือนจริง ได้ที่ SCG Verse: www.scgverse.com