บุณยดา เหล่าประภัสสร [email protected] University of Michigan
ภาคการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey) ในปี 2022 พบว่าภาคการเกษตรมีอัตราการจ้างแรงงานสูงถึงเกือบ 30% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ1 โดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย มีพื้นที่เพาะปลูกคิดเป็น 46% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในไทยในปี 2019 ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกนโยบายและโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อยเพื่อช่วยเหลือชาวนา อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการศึกษามากนัก คือ บทบาทของอำนาจตลาด (market power) ของพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิผลของนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ที่มีต่อเกษตรกร
บทความนี้จะตอบหลาย ๆ ข้อสงสัย โดยศึกษาอำนาจตลาดของโรงสีข้าว ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางสำคัญในห่วงโซ่การผลิตข้าว เพื่อนำเสนอให้เห็นว่า การแข่งขันระหว่างโรงสีมีผลต่อชาวนาไทยอย่างไร และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในพฤติกรรมและอำนาจตลาดของโรงสีเหล่านั้น เพื่อกำหนดนโยบายสำหรับช่วยเหลือชาวนาให้มีประสิทธิผลต่อไป
อำนาจตลาดของโรงสีมาจากไหน?
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมโรงสีข้าวถึงมีอำนาจตลาดได้ ทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้มีการจำกัดจำนวนและสถานที่ตั้งของโรงสี ขณะเดียวกัน หากโรงสีมีอำนาจตลาดและสามารถทำกำไรได้ ทำไมจึงไม่มีโรงสีใหม่ ๆ เข้าไปแข่งขัน และลดอำนาจของโรงสีที่เปิดกิจการอยู่แล้ว?
ปัจจัยหนึ่งที่สามารถอธิบายข้อสงสัยนี้ได้คือ ต้นทุนคงที่ (fixed costs) ของโรงสี เนื่องจากการสีข้าวต้องใช้เครื่องจักร ทำให้มีต้นทุนคงที่เกิดขึ้น โรงสีจะเข้าไปดำเนินกิจการก็ต่อเมื่อกำไรผันแปร (variable profit) ที่ได้รับสูงกว่าต้นทุนคงที่ (กำไรผันแปรของโรงสีขึ้นอยู่กับอัตรากำไรต่อหน่วย และปริมาณข้าวที่โรงสีรับซื้อมาจากชาวนา) ดังนั้น ต้นทุนคงที่จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้โรงสีใหม่ ๆ ไม่เข้ามาแข่งขันด้วย
เมื่อพิจารณาที่ตั้งของโรงสีข้าวในประเทศไทย จะเห็นได้ว่า โรงสีมีการกระจายตัวไปในแต่ละจังหวัดที่ไม่สม่ำเสมอนัก โดยจากข้อมูลช่วงปี 2007-2019 ในรูปที่ 1 ด้านซ้าย จะเห็นได้ว่าบางจังหวัดไม่มีโรงสีเลย ในขณะที่บางจังหวัดมีโรงสีมากกว่า 90 โรง นอกจากนี้ จากรูปที่ 1 ด้านขวา ความหนาแน่นของโรงสีข้าวกับปริมาณผลผลิตข้าวในแต่ละจังหวัดมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก กล่าวคือ จังหวัดที่ปลูกข้าวในปริมาณมาก โดยเฉลี่ยแล้วจะมีจำนวนโรงสีมากกว่าจังหวัดที่ปลูกข้าวน้อย
ข้อสังเกตเหล่านี้บ่งบอกถึงต้นทุนคงที่ของโรงสี แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีอุปสรรคทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้โรงสีใหม่เริ่มกิจการ แต่การที่โรงสีมีต้นทุนคงที่นั้นหมายความว่า โรงสีจะเข้ามาตั้งกิจการก็ต่อเมื่อสามารถบรรลุยอดขายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น พื้นที่ที่มีข้าวปลูกมากจะมีความหนาแน่นของโรงสีสูงกว่าพื้นที่ที่มีข้าวปลูกน้อย ทำให้โรงสีในพื้นที่ที่มีผลผลิตข้าวมากจะเผชิญกับการแข่งขันในระดับท้องถิ่นที่สูงกว่าโรงสีในพื้นที่ที่มีผลผลิตข้าวน้อย หรืออาจกล่าวได้ว่า ทำให้โรงสีในพื้นที่ที่มีข้าวปลูกมากมีอำนาจตลาดที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ
การแข่งขันในระดับท้องถิ่นของโรงสีมีผลต่อราคาข้าวที่ชาวนาได้รับอย่างไร?
งานวิจัยของ Laoprapassorn (2021)2 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการแข่งขันในระดับท้องถิ่นและราคาข้าวที่ชาวนาได้รับ โดยใช้ข้อมูลระดับจุลภาคเกี่ยวกับเกษตรกรและโรงสีข้าวในประเทศไทย พบว่าการแข่งขันระดับท้องถิ่นของโรงสี มีผลกระทบในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาข้าวของชาวนา กล่าวคือ หากค่าวัดการแข่งขันระหว่างโรงสีที่ใช้ในงานวิจัยนี้เพิ่มขึ้น 1 S.D. (standard deviation หรือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) โดยเฉลี่ยแล้วราคาข้าวที่ชาวนาได้รับจะสูงขึ้น 7.7%
ทั้งนี้ สาเหตุที่การแข่งขันระดับท้องถิ่นมีผลต่อราคาที่ชาวนาได้รับ เป็นเพราะการขนส่งข้าวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งนั้นมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น ชาวนาจึงมักจะขายข้าวให้โรงสีในบริเวณใกล้เคียง โดยในบริเวณที่มีโรงสีอยู่มาก หากโรงสีให้ราคาต่ำ ชาวนาจะสามารถเอาข้าวไปขายให้โรงอื่นได้ง่ายกว่า โรงสีจึงแข่งขันกันสูง ทำให้ชาวนาได้รับราคาที่สูงขึ้น จะเห็นได้ว่าต้นทุนคงที่ที่ทำให้บริเวณที่ปลูกข้าวปริมาณมากมีจำนวนโรงสีมากกว่าบริเวณที่ปลูกข้าวน้อย ส่งผลให้ระดับการแข่งขันหรืออำนาจตลาดของโรงสีในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป และทำให้ราคาที่ชาวนาได้รับแตกต่างกันด้วย
อำนาจตลาดของโรงสีมีความสำคัญต่อผลของนโยบายที่มีต่อชาวนาอย่างไร?
เนื่องจากการกระจายตัวของโรงสีมีผลต่ออำนาจตลาดของโรงสี และราคาข้าวที่ชาวนาได้รับ ดังนั้น หากเราต้องการประเมินว่านโยบายหรือโครงการแต่ละประเภทจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรอย่างไร เราจำเป็นต้องเข้าใจว่านโยบายเหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อจำนวนโรงสีที่ดำเนินกิจการหรือไม่ และจะมีผลต่ออำนาจตลาดของโรงสีอย่างไรด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากมีการพัฒนาถนนเกิดขึ้น เดิมทีเราอาจคิดว่าการพัฒนาถนนจะช่วยให้ค่าขนส่งถูกลง ชาวนาสามารถเลือกโรงสีได้มากขึ้น ช่วยลดอำนาจตลาดของโรงสี และจะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่กำไรต่อหน่วยของโรงสีลดลง อาจทำให้จำนวนของโรงสีลดลงไปด้วย ซึ่งหมายความว่าการแข่งขันระหว่างโรงสีอาจลดลง และโรงสีที่ยังดำเนินกิจการต่อไปอาจมีอำนาจตลาดที่สูงขึ้นได้
งานวิจัยของ Laoprapassorn (2021) ได้ใช้แบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการพัฒนาถนนที่มีต่อรายได้ของชาวนา และพบว่า พฤติกรรมและอำนาจตลาดของโรงสีมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการกระจายผลประโยชน์ต่อชาวนา กล่าวคือ แม้ว่าชาวนาทุกกลุ่มจะได้รับผลประโยชน์ แต่การที่ต้นทุนขนส่งลดลงเท่า ๆ กันทั้งประเทศจะส่งผลดีต่อกลุ่มชาวนาที่มีรายได้สูงมากกว่า โดยผลวิจัยพบว่า เมื่อต้นทุนการขนส่งทั้งประเทศลดลง 9% อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ของชาวนาในกลุ่มรายได้เดไซล์แรกนั้นโดยเฉลี่ยแล้วจะสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ของชาวนาในกลุ่มรายได้เดไซล์สุดท้าย 25%
ผลลัพธ์นี้เกิดจากอำนาจตลาดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ และจำนวนโรงสีในแต่ละพื้นที่ที่เปลี่ยนไปเมื่อค่าขนส่งลดลง ประการแรก บริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพสูงและมีรายได้สูงอยู่แล้วนั้นมีโรงสีข้าวหนาแน่นกว่า ทำให้โรงสีในบริเวณดังกล่าวมีอำนาจตลาดต่ำกว่า และส่งต่อผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรในสัดส่วนที่มากกว่า ประการที่สอง ค่าขนส่งที่ลดลงอาจชักจูงให้มีโรงสีมาเปิดในบริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพสูงเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนโรงสีในบริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำลดลง ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างราคาที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้นไปอีก
โดยสรุป เราจะเห็นได้ว่าอำนาจตลาดและพฤติกรรมของโรงสีมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้ของชาวนา การมีอยู่ของต้นทุนคงที่และค่าขนส่งหมายความว่าโรงสีจะเลือกสถานที่ตั้งอย่างมีกลยุทธ์ นำไปสู่การกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอของโรงสี และอำนาจตลาดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่ชาวนาได้รับในที่สุด ดังนั้น การประเมินผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ต่อชาวนา ต้องอาศัยความเข้าใจว่านโยบายเหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อจำนวนโรงสีที่ดำเนินกิจการหรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงในการกระจายตัวของโรงสีจะส่งผลต่ออำนาจตลาด และราคาที่เกษตรกรได้รับอย่างไรด้วย
หมายเหตุ
1. National Statistical Office, “The Labor Force Survey Whole Kingdom Quarter 1: January – March 2022,” http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาแรงงาน/ภาวะการทำงานของประชากร/2565/report_q1_65.pdf.Accessed July 5, 2022.
2. Laoprapassorn, Bunyada, “Entry and Spatial Competition of Intermediaries: Evidence from Thailand’s Rice Market,” 2021.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์