ThaiPublica > เกาะกระแส > ครัวไทยครัวโลก ซีพีกับตลาดข้าว – เปิดต้นทุนการทำนา ชาวศรีสะเกษ ยกระดับการปลูกข้าวด้วยระบบ GAP Plus

ครัวไทยครัวโลก ซีพีกับตลาดข้าว – เปิดต้นทุนการทำนา ชาวศรีสะเกษ ยกระดับการปลูกข้าวด้วยระบบ GAP Plus

21 พฤศจิกายน 2014


ชาวนาศรีสะเกษ

จากตอนที่แล้วได้กล่าวถึง ครัวไทยครัวโลก ซีพีกับตลาดข้าว ใช้โครงการ GAP Plus ปั้น smart farmer โดยทั่วไปแล้ว ชาวนาใน จ.ศรีสะเกษ อยู่ในพื้นที่ของ “ทุ่งกุลาร้องไห้” แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ ใช้ข้าวขาวดอกมะลิพันธุ์ 105 สลับกับข้าวพันธุ์ กข 15 ด้วยลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว เป็นที่ต้องการของตลาด

จากแนวทางโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวด้วยระบบ GAP Plus ที่ทาง บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด (ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวตราฉัตร และเส้นตราฉัตร) เข้ามาสนับสนุนให้ชาวนาในพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานตามระบบที่กรมการข้าววางไว้ และมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องระบบตลาดและราคา ที่เป็นปัญหาของชาวนามาโดยตลอด

ซึ่งเป้าหมายที่ทางซีพีวางไว้คือ ชาวนาสามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพนำมาส่งขายได้ โดยบริษัทจะรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด นำไปผลิตข้าวถุงสำหรับการวางจำหน่ายในประเทศและส่งออก

เมื่อสอบถามจากเหตุผลของการเข้าร่วมโครงการจากเกษตรกรหลายราย พบว่า การที่บริษัทให้ราคาสูงกว่าราคาตลาด มีมาตรฐานในการตรวจคุณภาพที่เชื่อถือได้ มีการรับซื้อข้าวเปียก รวมไปถึงเข้ามารับซื้อถึงที่ มีปุ๋ยมาส่งถึงมือ เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ และเลือกที่จะขายข้าวให้กับซีพี แม้ทางบริษัทจะไม่บังคับให้ชาวนาต้องขายข้าวให้

ในเบื้องต้นพบว่า ผลประโยชน์ที่ชาวนาได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ คือ ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 20-50 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ต้นทุนในการผลิตลดลงประมาณ 100 บาทต่อไร่ และขายได้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 10% แลกกับการที่ต้องใช้เวลาในการดูแลเอาใจใส่แปลงนาของตนมากขึ้น

นายอาจ พรรต นางรัตนา นิยม และชาวนาคนอื่นๆ อ.ราสีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวกับผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าว่า การทำนาที่ผ่านมา หลังจากการหว่านข้าวแล้ว ชาวนาที่นี่ก็ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เข้าไปดูแลนานๆ ครั้ง จนข้าวออกรวงจึงเก็บเกี่ยว แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวในระบบ GAP ก็ต้องหมั่นเข้าไปดูแลข้าวในแปลงนาของตน เพื่อตัดพันธุ์ปน ถอนหญ้า ใส่ปุ๋ยตามสูตรที่โครงการกำหนด โดยรวมแล้วมีภาระต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น

นายอาจ พรรต เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปลูกข้าว GAP Plus
นายอาจ พรรต เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปลูกข้าว GAP Plus

“ปัจจุบันต้องเข้าไปดูแลแปลงนาทุกวัน เนื่องจากผมเลี้ยงวัวด้วย ต้องไปเกี่ยวหญ้าให้วัว และใช้เวลาดูแลแปลงนา ตัดพันธุ์ปนไปด้วย ก็เหนื่อยกว่าเดิม แต่พอผลผลิตออกมามันดีกว่าเดิม จากที่เคยได้ประมาณ 300 กว่าเกือบ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตประมาณ 430 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตรวจสอบออกมาบอกว่าข้าวของเรามีคุณภาพดี แล้วก็ขายได้ราคาดี ผมหายเหนื่อยเลย” นายอาจกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีชาวนาบางส่วนที่ทำนาอินทรีย์มาอยู่ก่อนแล้ว มีการรวมกลุ่มกันในชุมชนของตน อาทิ นายวินัย ลี้ลับ ชาวนาบ้านอุ่มแสง ต.ดู่ อ.ราสีไศล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนนั้นมีที่ดิน 32 ไร่ 2 งาน แบ่งที่นาส่วนหนึ่งมาลองเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวระบบ GAP จำนวน 10 ไร่ โดยระบบการเพาะปลูกยังคงใช้รูปแบบการปลูกแบบอินทรีย์ดังเดิม

นายวินัยกล่าวว่า ปกติข้าวอินทรีย์ที่ขายให้กับทางกลุ่มฯ นั้นขายได้ราคาดีอยู่แล้ว แต่เมื่อมีโครงการเข้ามาใหม่ก็อยากจะลองเข้าร่วม และเนื่องด้วยโครงการไม่ได้บังคับว่าจะต้องขายข้าวให้กับทางซีพี เมื่อได้ผลผลิตออกมาก็สามารถตัดสินใจได้ว่าจะขายให้กับทางกลุ่มฯ หรือทางซีพี แต่ตนเห็นว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วก็คงจะขายข้าวให้กับทางซีพี

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยด้านราคา ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าต้นทุน จำพวกเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย จนกระทั่งราคาขาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวนาเข้ารวมโครงการ อีกทั้งระบบคิดจำพวก “บุญคุณต้องทดแทน” ทำให้แม้โครงการจะไม่บังคับให้ชาวนาต้องขายผลผลิตให้ซีพี แต่ที่สุดแล้วชาวนาที่เข้าร่วมโครงการก็ต้องนำผลผลิตของตนมาขายให้กับทางซีพี

นายวินัย ลี้ลับ เกษตรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ และเข้าร่วมโครงการปลูกข้าว GAP Plus
นายวินัย ลี้ลับ เกษตรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ และเข้าร่วมโครงการปลูกข้าว GAP Plus

ต้นทุนชาวนา และการทำนาของชาวนา อ.ราษีไศล

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวนารายอื่นๆ ใน “งานวันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2” พบว่า โดยรวมแล้วการทำนาของที่นี่เป็น “นาน้ำฝน” ไม่ต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำ ครอบครัวที่มีที่ดินมาก จะเป็นครอบครัวใหญ่ และผู้คนในหมู่บ้านยังใช้การ “เอาแรง” คือช่วยกันในการเก็บเกี่ยว หรือหว่านเมล็ด จึงไม่ค่อยมีต้นทุนในส่วนของค่าจ้างแรงงานคน โดยต้นทุนในการทำนาของชาวนาสามารถแบ่งได้ดังนี้

1) ต้นทุน 700-2,000 บาทต่อไร่ ผลผลิต 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยชาวนาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและได้ผลผลิตดีจะเป็นผู้ที่ทำ “นาอินทรีย์” ชาวนาเหล่านี้จะมีการเก็บเมล็ดพันธ์ไว้สำหรับทำพันธุ์เอง ปักดำเอง มีการเลี้ยงสัตว์จึงสามารถทำปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักใช้เองได้ ใช้สารชีวภาพในการกำจัดแมลง และวัชพืชส่วนใหญ่มีไม่เยอะสามารถถอนเองได้ ต้นทุนส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การใช้รถไถและการใช้รถเกี่ยวข้าว อย่างไรก็ตาม พบว่าบางครัวเรือนมีการเกี่ยวมือเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

– การไถฮุด คือ การไถครั้งเดียว ก่อนทำการหว่านเมล็ด หรือปักดำ ค่ารถไถอยู่ที่ 220 บาทต่อไร่
– กรณีที่มีการไถกลบฟาง และไถเพื่อเตรียมดิน 2 ครั้ง ค่ารถไถอยู่ที่ 500 บาทต่อไร่
– ค่าเมล็ดพันธุ์ในปีที่มีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ใหม่ 700-750 บาท จำนวน 25 กิโลกรัม ใช้ประมาณ 7–8 กิโลกรัมต่อไร่ เฉลี่ยค่าเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ 175-187 บาทต่อไร่
– ค่าสารชีวภาพไล่แมลง 100 บาทต่อไร่ (ใช้เฉพาะในปีที่มีแมลงระบาด)
– ค่ารถเกี่ยว 500-550 บาทต่อไร่

2) ต้นทุน 4,000-5,000 บาทต่อไร่ ผลผลิต 430-450 กิโลกรัมต่อไร่ ชาวนาที่มีต้นทุน 4,000-5,000 บาทต่อไร่ จะเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวในระบบ GAP Plus แต่ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นนาอินทรีย์ ชาวบ้านไม่ได้เก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง ซื้อเมล็ดพันธุ์จากทางโครงการ ยังมีการใช้ปุ๋ยเคมี และซื้อปุ๋ยคอกใช้จากทางโครงการ ขณะที่ในเรื่องของวัชพืชส่วนใหญ่ชาวนาไม่ใช้สารเคมีเนื่องจากสามารถถอนเองได้

– มีการไถกลบฟาง และไถเพื่อเตรียมดินก่อนหว่าน 2 ครั้ง ค่ารถไถอยู่ที่ 500 บาทต่อไร่
– เมล็ดพันธุ์ 1 กระสอบ 25 กิโลกรัม ใช้ในการหว่าน 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าเมล็ดพันธุ์ 700-800 บาทต่อกระสอบ
– ปุ๋ยตามสูตรของโครงการ 3 แบบ ราคา 700-800 บาทต่อกระสอบ ประกอบด้วย ปุ๋ยอินทรีย์ 2 กระสอบต่อไร่ เพิ่มความสมบูรณ์ของดิน, ปุ๋ยสูตร 16-16-8 จำนวน 1 กระสอบต่อไร่, ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จำนวน ½ กระสอบต่อไร่ ดังนั้น ค่าปุ๋ยอยู่ที่ 2,350-2,800 บาทต่อไร่
– ค่ารถเกี่ยว 500-550 บาทต่อไร่

3) ต้นทุน 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ผลผลิตอยู่ที่ 430-450 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้นทุนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในกรณีที่ต้องจ้างแรงงานในการหว่านหรือปักดำ รวมไปถึงมีการไถเพื่อปรับหน้าดินถึง 3 ครั้งต่อการผลิต 1 ครั้ง รวมทั้งไม่ได้มีการเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง ยังคงซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกฤดูการผลิต

– มีการไถกลบฟาง และไถเพื่อเตรียมดินก่อนหว่าน 3 ครั้ง ค่ารถไถอยู่ที่ 700-900 บาทต่อไร่
– จ้างแรงงานในการหว่านเมล็ด 300 บาท/วัน
– เมล็ดพันธุ์ 1 กระสอบ 25 กิโลกรัม ใช้ในการหว่าน 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าเมล็ดพันธุ์ 700-800 บาท/กระสอบ
– ปุ๋ย ตามสูตรของโครงการ 3 แบบ ราคา 700-800 บาท/กระสอบ ประกอบด้วย ปุ๋ยอินทรีย์ 2 กระสอบต่อไร่ เพิ่มความสมบูรณ์ของดิน, ปุ๋ยสูตร 16-16-8 จำนวน 1 กระสอบต่อไร่, ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จำนวน ½ กระสอบต่อไร่ ดังนั้นค่าปุ๋ยอยู่ที่ 2,350-2,800 บาทต่อไร่
– ค่ารถเกี่ยว 500-550 บาทต่อไร่

การทำนาของชาวนาราษีไศล

ส่วนใหญ่แล้วชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะมีต้นทุนอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อไร่ ได้ผลผลิต 430-450 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิตค่อนข้างมีความแตกต่างจากชาวนาในภาคกลาง https://thaipublica.org/2014/02/cost-of-famer/ เนื่องมาจากเป็นการทำนาปี อาศัยน้ำฝนในการทำนา ไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ อีกทั้งบริบททางสังคมยังคงมีการพึ่งพากัน มีการอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่ จึงมีการจ้างแรงงานในการทำนาน้อย

ด้วยสภาพแวดล้อมทำให้วัชพืชมีไม่มาก ชาวนาจึงนิยมถอนวัชพืชเอง ส่วนเรื่องโรคแมลง จากการสอบถามพบว่ามีน้อย ปริมาณการใช้สารเคมีจึงไม่แน่นอน ไม่สามารถคำนวณได้

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการทำนาอินทรีย์มีต้นทุนต่ำที่สุด อีกทั้งปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มจะสูงกว่าการทำนาทั่วๆ ไป นายวินัย ลี้ลับ เกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปทำนาแบบสมัยก่อนได้ ต้นทุนในการทำนาจะไม่มีเลย ชาวนาจะได้เงินจากการขายข้าวโดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากค่าแรงของชาวนาเองในการทำนา

เนื่องด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ชาวนามีจำนวนลดลง และมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จึงต้องอาศัยเครื่องจักรเป็นเครื่องทุ่นแรงช่วยในการทำนา อย่างไรก็ตาม หากสังคมกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางดังกล่าว ในอนาคตการทำนาของไทยจะอยู่ในรูปแบบใดคงคาดเดาได้ไม่ยาก