ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐเตรียมขายหวย 3 ตัว จะมอมเมาไปถึงไหน?

รัฐเตรียมขายหวย 3 ตัว จะมอมเมาไปถึงไหน?

15 กรกฎาคม 2022


กองสลากฯ เตรียมขาย “หวย 3 ตัว” ปี ’66 แก้ปัญหาการพนันนอกระบบ-ขายสลากเกินราคา ท่ามกลางสถานการณ์การพนันที่ยังคงทวีความรุนแรง จากผลสำรวจของ “ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน” ปี ’64 พบคนไทย กว่า 32 ล้านคน เล่นพนันทุกรูปแบบ เพิ่มจากปี ’62 เกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 5 ล้านคน ประสบปัญหาการเงิน-เสียสุขภาพ-ครอบครัวแตกแยก หย่าร้าง กว่า 1 ล้านคน มีหนี้สินจากการพนัน 15,307 ล้านบาท

ต่อจากตอนที่แล้ว หลังจากที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินมาตรการแก้ปัญหาขายสลากเกินราคามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งปรับลดรายได้ตัวเองมาเพิ่มเป็นส่วนลดให้กับตัวแทนจำหน่าย, ตัดโควตาสลากที่เคยจัดสรรให้กับบริษัท ห้างร้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรคนพิการ และทยอยเพิ่มปริมาณการพิมพ์ออกขายจากงวดละ 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านโครงการซื้อ-จองสลากล่วงหน้าผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย และแอปฯ “เป๋าตัง” ภายใต้โครงการ “สลากดิจิทัล” จนทำให้สำนักงานสลากฯ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังมากที่สุด เป็นอันดับ 1 แซงหน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรากฏว่ายังแก้ปัญหาสลากเกินราคาให้หมดไปจากสังคมไทยไม่ได้

  • 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ ปั๊มหวย 37 เป็น 100 ล้านใบ/งวด หาเงินโปะถังแตก
  • ล่าสุด สำนักงานสลากฯ เตรียมออก “สลากเลข 3 หลัก (Number 3)” ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาที่กำหนด ที่มีนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม และจะสิ้นสุดในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 13 (7/1) แห่ง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ “การออกประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย”

    สำหรับเหตุผลความจำเป็นในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของสำนักงานสลากฯ ในครั้งนี้ ตามเอกสารสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ระบุว่า “ปัจจุบันสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ “ลอตเตอรี่ (lottery)” เป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่เป็นที่นิยมซื้อของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเสี่ยงโชคเพียงอย่างเดียวที่ถูกกฎหมาย ดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐ มีการออกรางวัลที่ชัดเจนโปร่งใส และมีความแน่นอนในการจ่ายรางวัล อย่างไรก็ตาม การมีผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการเสี่ยงโชคของประชาชนได้เพียงพอ และเกิดผลกระทบที่ตามมา เช่น ปัญหาการพนันนอกระบบที่มาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การเล่นหวยใต้ดิน พนันบอล พนันออนไลน์และการพนันในรูปแบบอื่นๆ ที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดหนี้สิน เกิดปัญหาต่อครอบครัวและขยายไปสู่ปัญหาสังคม นอกจากนี้ มีอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญและมีความซับซ้อน ต่อเนื่อง นั่นคือปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ซื้อสลาก และภาพลักษณ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จากปัญหาดังกล่าวนี้ ทำให้สำนักงานสลากฯ มีความจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายให้มีความเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาด้วย… ”

    ขณะที่สถานการณ์การพนันในสังคมไทยปี 2564 ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันที่ทำการสำรวจ และประมวลผลข้อมูล โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ได้ออกไปเก็บข้อมูลกับประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 24 จังหวัด รวม 6,977 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 8 เมษายน 2564 พบว่าในปี 2564 มีคนไทยเล่นการพนันประมาณ 32.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2562 ประมาณ 1.9 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2562 ประมาณ 6.3% โดยคนไทยที่เล่นการพนันทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นเพศหญิง 16.30 ล้านคน และเพศชาย 16.03 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่เล่นการพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือ ที่เรียกว่า “นักพนันหน้าใหม่” ประมาณ 795,000 คน แต่ที่น่ากังวล คือ มีเด็ก อายุ 15-25 ปี เล่นการพนันประมาณ 4.33 ล้านคน เทียบกับผลการสำรวจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมาประมาณ 542,000 คน และเป็นผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป 4.05 ล้านคน เพิ่มจากการสำรวจเมื่อปี 2562 ประมาณ 691,000 คน สรุปว่า 2 ปีที่ผ่านมามีนักพนันเพิ่มขึ้นทุกช่วงวัย

    สำหรับการพนันที่คนไทยนิยมเล่นกันมากที่สุด อันดับ 1 คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล มีผู้เล่นการพนันประเภทนี้ประมาณ 24.63 ล้านคน แม้ว่าในปี 2564 สำนักสลากฯ จะงดออกรางวัลไป 3 งวด เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อปี 2562 จำนวนนักพนันสลากกินแบ่งฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 1.88 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้น 8.30% อันดับที่ 2 หวยใต้ดิน ในปี 2564 มีจำนวนนักพนันประมาณ 19.27 ล้านคน เพิ่มจากการสำรวจเมื่อปี 2562 ประมาณ 1.545 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 8.70% อันดับที่ 3 ไพ่ บาคาร่า และป็อกเด้ง มีจำนวนนักพนัน ประมาณ 4.48 ล้านคน เพิ่มจากปี 2562 แค่ 29,988 คน หรือเพิ่มขึ้น 0.70% อันดับที่ 4 ทายผลฟุตบอล มีจำนวนนักพนัน 3.83 ล้านคน เพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 367,088 คน หรือเพิ่มขึ้น 10.60% และอันดับที่ 5 ไฮโล โปปั่น น้ำเต้า ปู ปลา มีจำนวนนักพนันประมาณ 2.51 ล้านคน เพิ่มจากปี 2552 ประมาณ 534,026 คน หรือเพิ่มขึ้น 27%

    หากจำแนกแยกตามสัดส่วนของผู้เล่นการพนันต่อประชากรในวัยเดียวกัน พบว่า จำนวนนักพนันเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15-18 ปี จากผลการสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีประมาณ 391,905 คน ที่นิยมเล่นหวยใต้ดิน ลำดับถัดมาจะเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล มีประมาณ 341,727 คน , เล่นไพ่มีประมาณ 295,140 คน , ทายผลฟุตบอลมีประมาณ 227,882 คน และไฮโล โปปั่น น้ำเต้าปูปลา มีประมาณ 91,898 คน

    นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมากถึง 7.024 แสนคน ทั้งที่ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2562 ห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่เด็ก หรือเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

    ส่วนการพนันที่เยาวชนในช่วงอายุ 19-25 ปี นิยมเล่นกันมากที่สุด อันดับ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล มีประมาณ 2,239,020 คน อันดับ 2 หวยใต้ดิน มีประมาณ 1,616,978 คน , อันดับ 3 เล่นไพ่ มีประมาณ 935,942 คน , อันดับ 4 ทายผลฟุตบอลมีประมาณ 739,935 คน และอันดับ 5 ไฮโล โปปั่น น้ำเต้าปูปลา มีประมาณ 383,413 คน ซึ่งมีจำนวนและรูปแบบใกล้เคียงกับกลุ่มนักพนันที่มีอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป อันดับที่ 1 ชอบเล่นการพนันประเภทสลากกินแบ่งรัฐบาลมีประมาณ 2,960,325 คน , อันดับ 2 หวยใต้ดิน 2,296,680 คน , อันดับ 3 ไพ่ มีประมาณ 229,724 คน , อันดับ 4 ไฮโล โปปั่น น้ำเต้าปูปลา มีประมาณ 229,202 คน และอันดับ 5 วัวชน ไก่ชน มีประมาณ 145,823 คน

    แต่ถ้าไปดูปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดการพนัน โดยเฉพาะสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นการพนันที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนไทย พบว่าในปี 2564 ตลาดพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลมีเงินหมุนเวียนประมาณ 139,977 ล้านบาท เทียบกับผลการสำรวจเมื่อปี 2562 ลดลงไปประมาณ 10,509 ล้านบาท แต่ถ้านำมาหาค่าเฉลี่ยต่องวดแล้ว (ในปีนี้งดออกรางวัลไป 3 ครั้ง เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ เหลือการออกรางวัลแค่ 21 ครั้ง) ปรากฏว่าปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดพนันสลากกินแบ่งฯ เฉลี่ยต่องวดอยู่ที่ประมาณ 66,650 ล้านบาท มากกว่าผลการสำรวจเมื่อปี 2562 ที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดพนันเฉลี่ยต่องวด (24 งวด) ประมาณ 62,700 ล้านบาท

    ส่วนหวยใต้ดินการพนันยอดนิยม อันดับที่ 2 ของคนไทย พบว่า ในปี 2564 ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ เช่นเดียวกัน เนื่องจากการออกรางวัลของหวยใต้ดินใช้ตัวเลขอ้างอิงกับผลการออกรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งงดออกรางวัลไป 3 งวด ทำให้ตลาดพนันหวยใต้ดินในปีนี้มีปริมาณเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 149,919 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 ลดลงไป 3,329 ล้านบาท แต่ถ้าดูข้อมูลปริมาณเงินที่หมุนเวียนเฉลี่ยต่องวดแล้ว พบว่าตลาดพนันหวยใต้ดินมีปริมาณเงินที่หมุนเวียนเฉลี่ยต่องวดอยู่ที่ 71,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีประมาณเงินหมุนเวียนเฉลี่ยต่องวดอยู่ที่ประมาณ 63,810 ล้านบาท และจากผลการสำรวจนักพนันที่เล่นหวยใต้ดินประมาณ 72.90% ระบุว่า ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย พูดง่ายๆ คือเล่นทั้งหวยใต้ดินและสลากกินแบ่งฯ

    นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนไทยเล่นหวยอื่นๆ ประมาณ 1.35 ล้านคน คิดเป็น 2.5% ของจำนวนประชากร มีปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดพนันประเภทนี้ประมาณ 58,754 ล้านบาท ข้อสังเกต หวยอื่นๆ ถึงแม้จะมีจำนวนผู้เล่นไม่มากนัก แต่ถ้านำไปเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2562 พบว่ามีอัตราการขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะหวยต่างประเทศในปีนี้มีจำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 39% และหวยหุ้นมีจำนวนผู้เล่นเพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 6.80% และหวยปิงปอง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 4% เป็นต้น ซึ่งหวยประเภทนี้จะนิยมเล่นกันมากทางภาคใต้

    คราวนี้มาดูผลกระทบจากการเล่นการพนัน ผลการสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันในปี 2564 พบว่า ผู้เล่นการพนัน 15.1% หรือประมาณ 4.88 ล้านคน ระบุว่าได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพนันดังนี้

  • ปัญหาการเงินและหนี้สินที่เกิดจากการพนัน ประมาณ 60.70% ระบุว่า ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน , ประมาณ 23.90% ระบุว่าเป็นหนี้พนัน , ประมาณ 11.80% ระบุว่าต้องขายทรัพย์สิน สิ่งของมีค่า เพื่อนำเงินไปเล่นการพนันหรือใช้หนี้ , ประมาณ 1.10% ระบุว่า เคยทำสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อหาเงินมาเล่นการพนัน และประมาณ 0.80% ระบุว่า เคยถูกเจ้าหนี้ข่มขู่ทำร้ายร่างการ
  • ปัญหาสุขภาพการใช้ชีวิตประจำวัน ประมาณ 45.40% ระบุว่ามีปัญหาความเครียดเสียสุขภาพจิต , ประมาณ 22.90% ระบุว่า เสียเวลาทำงานและการเรียน และประมาณ 16.60% ระบุว่าสุขภาพเสื่อมโทรม
  • ปัญหาความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ทางสังคม ประมาณ 15.90% ระบุว่าเคยทะเลาะกับคนในครอบครัว , ประมาณ 8.40% ระบุว่า เคยเสียเพื่อน ญาติ และครอบครัว , ประมาณ 6.40% ระบุว่า เสื่อมเสียชื่อเสียง และประมาณ 0.50% ระบุว่า เกิดปัญหาครอบครัวหย่าร้าง
  • และจากการสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประเมินว่าในปี 2564 มีนักพนัน 1.127 ล้านคน เป็นหนี้ที่มาจากการพนันประมาณ 15,307 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยที่คนละ 13,579 บาท และเป็นหนี้สูงสุดประมาณ 100,000 บาท นอกจากนี้ทางศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันยังสอบถามผู้ที่เป็นหนี้พนันต่อว่ามีช่องทางในการหาเงินจากไหนมาใช้หนี้ พบนักพนัน ประมาณ 67.70% ระบุว่า ขอยืมเงินเพื่อน , ประมาณ 46.90% ระบุว่าขอยืมเงินจากญาติ , ประมาณ 32.30% ระบุว่า ขอยืมเงินจากคนในครอบครัวหรือคู่สมรส , ประมาณ 16.20% ระบุว่า ใช้วิธีเล่นแชร์ , ประมาณ 14.60% ระบุว่าใช้วิธีขายหรือจำนองจำนำทรัพย์สินมาใช้หนี้พนัน , ประมาณ 8.50% ระบุว่าขอยืมเงินจากแฟน , ประมาณ 7.70% ระบุว่า ใช้วิธีกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้หนี้ , ประมาณ 6.90% ระบุว่าใช้วิธีเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้หนี้ และประมาณ 3.10% ระบุว่า ใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาใช้หนี้

    จากนั้นทางศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันก็ได้สอบถามนักพนันที่เป็นหนี้พนันต่อว่าจะหยุดเล่นหรือไม่ ปรากฏว่านักพนันที่มีปัญหาหนี้สินประมาณ 81.30% ตอบว่าไม่หยุดเล่น , ประมาณ 16.70% ตอบว่าหยุดเล่น ที่เหลือ 2% ไม่ได้ระบุ สำหรับรายละเอียดของการพนันประเภทอื่นๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

    ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ก็เป็นสถานการณ์การพนันและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ดังนั้น การเพิ่มปริมาณสลากเข้าสู่ระบบ จากงวดละ 37 ล้านฉบับ เพิ่มเป็น 100 ล้านฉบับ ตลอดจนการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสลากเข้าสู่ระบบดิจิทัลที่ทันสมัย และการออก “สลากตัวเลข 3 หลัก” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเสี่ยงโชค แข่งขันกับการพนันนอกระบบ และแก้ปัญหาสลากเกินราคา แต่ในอีกมุมมอมหนึ่ง ถือเป็นการมอมเมาประชาชนหรือไม่ คงต้องรอฟังผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าสังคมไทยมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร…

    อนึ่ง จากผลการศึกษาของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พบว่าสลากกินแบ่งพื้นฐานที่นิยมเล่นกันในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะมีอยู่ทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

    1. สลากแบบดั้งเดิม (Conventional Lottery/Traditional Lottery)
    สลากกินแบ่งแบบดั้งเดิมเป็นสลากพื้นฐานของสลากที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีการจัดพิมพ์หมายเลข และจำนวนไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อจำกัดที่ผู้ซื้อสลาก ไม่สามารถเลือกหมายเลขที่ต้องการจะซื้อเป็นจำนวนมากได้ สลากชนิดนี้จัดว่าเป็นประเภท passive นิยมเล่นในประเทศไทย สเปน และญี่ปุ่น เป็นต้น

    2. สลากล็อตโต้ (Lotto)

    สลากชนิดนี้ถือว่าเป็นเกม “active” ผู้เล่นสามารถเลือกซื้อหมายเลขใดก็ได้ และเป็นจำนวนมากเท่าที่ตนต้องการ ตัวอย่างเช่น Lotto 6/49 เป็นสลากที่ประกอบด้วยเลขชุดหนึ่งมีจำนวน 49 หมายเลข เรียงลำดับจาก 1-49 ผู้เล่นเลือกหมายเลข 6 หมายเลขจากเลขชุดดังกล่าว ผู้เล่นเลือก 2, 9, 13, 27, 31, 49 เป็นต้น ส่วนผลการออกรางวัลอาจจะเป็น 2, 10, 13, 24, 31, 36 นั่นหมายถึงผู้เล่นถูก 3 หมายเลข คือ 2, 13, 31 รางวัลจะมากขึ้น ถ้าถูกหมายเลขมากขึ้น หากถูกทั้ง 6 หมายเลข จะได้รับเงินรางวัลที่เรียกว่า “แจ็กพอตแตก” เงินรางวัลของสลาก Lotto มีลักษณะคล้ายกับการแข่งม้า คือ เงินรางวัลมีสัดส่วนเป็นไปตามยอดขายของสลากแต่ละงวด หากงวดใดไม่มีผู้ถูกรางวัลแจ็กพอต เงินรางวัลจะสมทบไปในงวดถัดไป ซึ่งจะทำให้ยอดเงินรางวัลแจ็กพอตสูงขึ้น เป็นเสน่ห์ในการดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้มาก

    3. สลากแบบรู้ผลทันที (Instant Lottery)

    ที่เรียกเช่นนี้ เพราะผู้เล่นจะทราบผลทันทีว่าถูกรางวัลหรือไม่ รูปแบบสลาก instant นี้ มีขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในครั้งนั้นมีลักษณะเป็นสลากที่ถูกพับหลายครั้งเพื่อปกปิดรางวัลไว้ภายใน เนื่องจากได้มีการกำหนดรางวัลไว้ล่วงหน้าแล้ว

    สลาก instant รูปแบบปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากบริษัท Scientific Games Development Corporation of Atlanta รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา (ชื่อในขณะนั้น) ผู้เล่นจะรู้ผลทันทีว่า “ได้” หรือ “ไม่ได้” รับรางวัล เพราะหมายเลขที่ได้รับรางวัลจะถูกพิมพ์ลงในตัวสลากไว้แล้ว และฉาบด้วยฟิล์มทึบแสง ป้องกันการมองเห็นจากภายนอก ผู้เล่นเพียงแค่ใช้ขอบเหรียญขูดสลากก็จะพบทันทีว่าตนได้รับรางวัลหรือไม่

    สลาก instant แบบขูด (scratch) ได้รับความนิยมมากในสหรัฐอเมริกา และได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเคยออกสลากแบบขูดเช่นกันเมื่อปี 2524 ซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลภูมิพล เพื่อหาเงินรายได้สร้างอาคารคุ้มเกล้า หรือที่เรียกว่า “สลากคุ้มเกล้า”

    4. สลากตัวเลข (Numbers Game)

    สลากประเภทนี้ เริ่มเล่นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในรัฐควิเบก (Quebec) ต่อมาได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ มีทั้งสลากประเภทเลือก 3 ตัวเลข และสลากประเภทเลือก 4 ตัวเลข

    วิธีการเล่นสลาก 4 ตัวเลข คือ ผู้เล่นเลือกเลขใดก็ได้ ตั้งแต่ 0000-9999 จากนั้นเลือกรูปแบบที่จะเล่น เช่น แบบถูกต้องทั้งตัวเลขและตำแหน่ง (straight/exact order) แบบถูกต้องเฉพาะตัวเลข แต่ตำแหน่งสลับกัน (box/any order) แบบถูกสองคู่หน้า (front pair) แบบถูกสองคู่หลัง (back pair) เป็นต้น จากนั้นก็เลือกวันที่จะเล่น, จำนวนเงิน แล้วกรอกข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ลงในแบบฟอร์ม (betting slip) และรอฟังผลการออกรางวัล ซึ่งแต่ละองค์การจะกำหนดวันออกสลากต่างกัน เช่น อาจจะออกรางวัลทุกวัน หรือออกรางวัลทุกวันเสาร์ เป็นต้น และกฎเกณฑ์ข้อบังคับของผู้ที่มีสิทธิเล่นแตกต่างกันไป เช่น รัฐเพนซิลเวเนีย ผู้เล่นจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

    5. สลากกีฬา (Toto/Sports Betting)

    รูปแบบของสลากกีฬา หรือ สลาก Toto มีลักษณะเป็นการทายผลการแข่งขันกีฬา ซึ่งประเทศในแถบยุโรป และอเมริกาใต้นิยมเล่นกันมาก อย่างเช่น การทายผลการแข่งขันฟุตบอล ผู้เล่นต้องใช้ความรู้ความสามารถ และติดตามข่าวสารข้อมูล บทวิจารณ์จากผลการแข่งขันฟุตบอลคู่สำคัญๆ ที่ผ่าน เพื่อนำมาประกอบกับการทำนายผลการแข่งขันในหนังสือพิมพ์ เช่น ประเทศฮังการีออกสลาก Toto โดยกำหนด ให้แทงผลการแข่งขันฟุตบอลคู่สำคัญครั้งละ 14 คู่ เป็นการแข่งขันทั้งในประเทศ และนอกประเทศ โดยกำหนดเครื่องหมายว่า “1” ทายว่าทีมเจ้าบ้านชนะ “x” ทายว่าเสมอกัน “2” ทายว่าทีมเยือนเป็นผู้ชนะ หากทายถูกทั้ง 14 คู่จะได้รับรางวัลใหญ่สุด หากทายถูก 7 คู่ นับเป็นรางวัลต่ำสุด เป็นต้น สำหรับข้อมูลว่าคู่ใด ใครเป็นทีมเจ้าบ้าน ใครเป็นทีมเยือน จะมีข้อมูลให้ในร้านขายสลากกินแบ่งทั่วไป หรือติดตามอ่านข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ก็ได้

    จากผลการศึกษาของสำนักงานสลากฯ พบว่า รูปแบบผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาลที่เหมาะสมกับบริบทและสภาพสังคมไทยมี 2 รูปแบบ คือ

    รูปแบบที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก (NUMBERS 3: N3) หรือที่เรียกว่า “สลากตัวเลข 3 หลัก” เป็นสลากประเภทสมทบสมทบเงินรางวัล ตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฯ หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลจะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบ เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้ แต่จะจ่ายได้ไม่เกินหนึ่งงวด ทั้งนี้ เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปนั้น ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

    ส่วนวิธีการเลือกสลาก สามารถเลือกหมายเลขได้ ตั้งแต่ 000 ถึง 999 จำนวน 1 หมายเลขต่อการเลือกซื้อสลาก 1 รายการ การซื้อทุกๆ 1 รายการ จะได้หมายเลขรางวัลพิเศษ 1 หมายเลข ซื้อสลาก 1 รายการมีสิทธิลุ้นทุกรางวัล โดยผู้ที่จะซื้อหรือขายสลากประเภทนี้ต้องมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป

    สำหรับการจัดสรรเงินรางวัล ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฯ กำหนดให้กันเงินรายได้จากยอดขายทั้งหมด 60% มาจ่ายเป็นเงินรางวัล นำเงินรายได้ส่งคลังไม่ต่ำกว่า 23% และกันไว้เป็นการบริหารของสำนักงานสลากไม่เกิน 23% ของรายได้จากยอดขายทั้งหมด

    การจัดสรรเงินรางวัลจะแบ่งออกเป็น 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลสามตรง (ตรงเลข-ตรงหลัก) กล่าวคือ ตัวเลขที่เลือกต้องตรงกับผลการออกรางวัล และหลักต้องตรงกันด้วย รางวัลสามสลับหลัก (ตรงเลข-สลับหลัก) หมายถึง ตัวเลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัล แต่หลักสามารถสลับกันได้ และรางวัลสองตรง (ตรงเลข-ตรงหลัก) คือ ตัวเลขที่เลือกต้องตรงกับผลการออกรางวัลและหลักตรงกันด้วย และรางวัลพิเศษ

    ส่วนการกำหนดสัดส่วนในการจัดสรรเงินรางวัล (60% ของรายได้จากยอดขาย) จะนำมาจ่ายเป็นเงินรางวัลสามตรงในสัดส่วน 30%, รางวัลสามสลับหลัก 30% รางวัล 2 ตัวตรง 39% และรางวัลพิเศษ 1%

    โดย สลากตัวเลข 3 หลัก จะเป็นสลากแบบดิจิทัล ที่ไม่มีการกำหนดหมายเลขสลากกำกับไว้ในระบบดิจิทัลเหมือนกับลอตเตอรี่ ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขที่ตนเองต้องการได้ทุกหมายเลข ตั้งแต่ หมายเลข 000 ถึงหมายเลข 999 จำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ออกรางวัลเดือนละ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

    ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลที่ถูกกันไว้ 60% ของรายได้จากยอดขายในแต่ละงวดตามที่กล่าวข้างต้น จะกำหนดการจ่ายเงินรางวัลแบบผันแปรในแต่ละรางวัล ยกเว้นรางวัลพิเศษ เงินรางวัลจะจ่ายเป็นจำนวนเต็ม โดยเศษของเงินรางวัลทุกรางวัลจะนำไปรวมกับรางวัลพิเศษ ดังนี้

      1. รางวัลสามตรงจ่ายแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่กันเอาไว้ 30% มาจ่ายให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลสามตรง ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษ (ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษที่เหลือไปรวมสมทบกับรางวัลพิเศษ
      2. รางวัลสามสลับหลักจ่ายแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่กันเอาไว้ 30% มาจ่ายให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลสามสลับหลัก ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษ (ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษที่เหลือไปรวมสมทบกับรางวัลพิเศษ
      3. รางวัลสองตรงจ่ายแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่กันเอาไว้ 39% มาจ่ายให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลสองตรง ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษ (ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษที่เหลือไปรวมสมทบกับรางวัลพิเศษ
      4. รางวัลพิเศษ จ่ายจากเงินรางวัลที่กันเอาไว้ 1% และเศษของเงินรางวัลทั้ง 3 ประเภท ที่ถูกนำมาสมทบ จ่ายให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลพิเศษ

    ทั้งนี้ ผู้ถูกรางวัลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนค่าอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)

    รูปแบบที่ 2 สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (LOTTERY 6: L6) หรือ “ลอตเตอรี่” ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน เป็นสลากที่ไม่สมทบเงินรางวัล หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยผู้ซื้อสามารถเลือกสลาก 1 หมายเลขต่อฉบับ/รายการ ประกอบด้วย หมายเลข 6 หลัก ตั้งแต่ 000000-999999 ที่ปรากฏอยู่บนใบสลาก หรือ บนระบบดิจิทัลต่อ 1 ฉบับ/รายการ ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป การจัดสรรเงินรางวัลเป็นไปตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฯ โดยกำหนดกันเงินรายได้จากยอดขาย 60% เตรียมไว้จ่ายเป็นเงินรางวัล, นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไม่ต่ำกว่า 23% และกันเงินไว้เป็นค่าใช้จ่านในการบริหารของสำนักงานสลากฯ ไม่เกิน 17%

    ทั้งนี้ การจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก จะแบ่งออกเป็นชุดละ 1,000,000 ฉบับ/รายการ แต่ละฉบับ/รายการ ประกอบด้วย หมายเลข 6 หลัก ตั้งแต่ 000000-999999 ในแต่ละชุดจะมีการกำหนดหมายเลขไว้ล่วงหน้า (มีหมายเลขจำกัด) จึงไม่สามารถเลือกเลขซ้ำๆ กันได้ โดยการจัดสรรเงินรางวัลในแต่ละชุดจะมีทั้งหมด 9 รางวัล รวมจำนวนรางวัลทั้งหมดมี 14,168 รางวัลต่อสลาก 1 ชุด (1 ล้านฉบับ)

    ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก ออกจำหน่ายงวดละ 100 ล้านฉบับ โดยมีสลากอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. สลากแบบใบ เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการพิมพ์ออกมาเป็นใบ โดยมีการพิมพ์หมายเลขสลากกำกับไว้บนใบสลาก 2. สลากแบบดิจิทัล เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการกำหนดหมายเลขสลากกำกับไว้ในระบบดิจิทัล จัดจำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้ง 2 รูปแบบ ออกรางวัล เดือนละ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

    ส่วนการการจ่ายเงินรางวัลที่กันไว้ 60% ของรายได้จากยอดขาย โดยการจัดสรรเงินรางวัลดังกล่าวนี้กันไว้จ่ายเป็นรางวัลที่ 1 ในสัดส่วน 12.50% รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 มีสัดส่วน 0.42% รางวัลที่ 2 มีสัดส่วน 2.08% รางวัลที่ 3 มีสัดส่วน 1.67% รางวัลที่ 4 มีสัดส่วน 4.17% รางวัลที่ 5 มีสัดส่วน 4.17% รางวัลเลขหน้า 3 ตัว มีสัดส่วน 16.66% รางวัลเลขท้าย 3 ตัว มีสัดส่วน 16.66% รางวัลเลขท้าย 2 ตัว มีสัดส่วน 41.67%

    ทั้งนี้การจ่ายเงินรางวัลทั้งหมดนี้จะผันแปรตามยอดการจำหน่ายสลาก หมายความว่า สลาก 1 ชุด มี 1,000,000 ฉบับ/รายการ และหากจำหน่ายสลากไม่หมด การกำหนดเงินรางวัลแต่ละชุด ต้องลดลงตามส่วน แต่ต้องจัดสรรให้ครบ 60% ของรายได้จากยอดขาย ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ถูกรางวัลจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนค่าอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)