ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ ปั้มหวย 37 เป็น 100 ล้านใบ/งวด หาเงินโปะถังแตก

8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ ปั้มหวย 37 เป็น 100 ล้านใบ/งวด หาเงินโปะถังแตก

10 กรกฎาคม 2022


8 ปี จากรัฐบาล คสช.ถึงรัฐบาลประยุทธ์ พิมพ์หวยเพิ่ม แก้ปัญหาขายสลากเกินราคา จากงวดละ 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ ดันกองสลากฯ ครองแชมป์อันดับ 1 รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังสูงสุดต่อเนื่อง 7 ปี แต่ยังแก้ปัญหาสลากแพงไม่ได้

8 ปี ของความพยายามในการแก้ไขปัญหาขายสลากเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค หลังจากรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ก็ได้มีการประกาศแนวทางการปฏิรูประบบสลากกินแบ่งรัฐบาล (Road Map) เพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคาเอาไว้ 3 ระยะ ซึ่งใช้เป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาสลากแพงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฟสแรก ประกาศกำหนดราคาขายสลากทั่วประเทศ ใบละ 80 บาท พร้อมกับเพิ่มส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายสลากเป็น 12-14% ของราคาสลาก 80 บาท ตั้งแต่งวดวันที่ 16 มิถุนายน 2558 , จัดชุดปฏิบัติการพิเศษกวดขันจับกุมผู้ค้าสลากที่ขายเกินราคา โดยมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท รวมทั้งยกเลิกการจัดสรรโควตาสลาก หรือ ไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่ใช่องค์กรการกุศล หรือ สมาคมคนพิการที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2558 อาทิ มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล , สมาคมพนักงานผู้เกษียณอายุและตัวแทนจำหน่ายสลากรายใหญ่ประมาณ 2,495 ราย ที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก 7.9 ล้านฉบับคู่ หรือ 15.8 ล้านฉบับ เป็นต้น โดยสำนักงานฯ นำโควตาสลากส่วนนี้ไปจัดสรรให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยคนละ 5 เล่ม (1 เล่ม มี 100 ใบ) จากเดิมได้รับจัดสรรคนละ 1.5 – 125 เล่ม และอีกส่วนหนึ่งนำไปจัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยที่สมัครเข้าร่วมโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จากนั้นก็มีการเพิ่มรางวัลเลขหน้า 3 ตัว เป็นครั้งแรก ตั้งแต่งวดวันที่ 1 กันยายน 2558

  • เปิดไอ้โม่ง ต้นเหตุ “สลากเกินราคา” ตะลึง!โควตา 74 ล้านฉบับ “มูลนิธิสำนักงานสลากฯ” กวาด 9.2 ล้านฉบับ/งวด – รายย่อย 37,000 รายได้เฉลี่ย 12 เล่ม/งวด
  • เฟสที่ 2 เริ่มดำเนิน “โครงการซื้อ – จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล” โดยนำโควตาสลากที่ยึดคืนมาจากนิติบุคคลที่ไม่ใช่องค์กรการกุศล นำมาจัดสรรให้กับตัวแทนจำหน่ายที่มาลงทะเบียนไว้กับสำนักงานสลากฯ คนละ 5 เล่ม โดยเปิดให้ตัวแทนจำหน่ายสั่งซื้อสลากผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยครั้งแรก ตั้งแต่งวดวันที่ 16 ตุลาคม 2558 และเปิดให้ตัวแทนจำหน่ายสั่งจองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ตั้งแต่งวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา โดยสำนักงานสลากฯจะจัดส่งสลากให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิซื้อ-จองสลากผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยทางไปรษณีย์ใบละ 70.40 บาท

    โดยในงวดนี้ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558) สำนักงานสลากฯพิมพ์สลากออกขายเพิ่มอีก 13 ล้านใบต่องวด เป็นครั้งแรก จากเดิมพิมพ์สลากออกขายงวดละ 37 ล้านใบ (ฉบับคู่) รวมเป็นงวดละ 50 ล้านใบ โดยปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายทั้งหมดนี้ได้จัดสรรให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ 35%, ตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อย 39% และตัวแทนจำหน่ายรายย่อยในโครงการต่างๆอีก 26% ทั้งนี้ เพื่อปรับปริมาณสลากในตลาดให้เข้าสู่ “สมดุล” โดยคาดหวังว่าราคาสลากที่ขายกันอยู่ตามท้องตลาดใบละ 100-120 บาท จะปรับราคาขายลงมาเหลือใบละ 80 บาท

    ปรากฏว่ายังขายสลากเกินราคากันอยู่เหมือนเดิม ช่วงเดือนมกราคม 2559 สำนักงานสลากฯจึงพิมพ์สลากอีก 10 ล้านใบ นำมาขายผ่านโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ทำให้ปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายเพิ่มเป็น 60 ล้านใบต่องวด แต่ก็ยังขายเกินราคากันอยู่ สำนักงานสลาก ฯจึงทยอยเพิ่มปริมาณสลากฯเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปีงบประมาณ 2559 สำนักงานสลาก ฯพิมพ์สลากออกขายเพิ่มเป็นงวดละ 60-65 ล้านใบ , ปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเป็นงวดละ 68 -71 ล้านใบ , ปีงบประมาณ 2561 พิมพ์สลากออกขายงวดละ 80-90 ล้านใบ , ปีงบประมาณ 2562 พิมพ์สลากออกขายงวดละ 90-100 ล้านใบ จากนั้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 สำนักงานสลากฯก็พิมพ์สลากออกมาขายงวดละ 100 ล้านใบ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

    แม้สำนักงานสลากฯจะพยายามแก้ปัญหาขายสลากเกินราคา ด้วยการเพิ่มปริมาณสลากเข้าไปในตลาด โดยคาดหวังว่าซัพพลายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสลากลดลง แต่ก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายสลากปรับกลยุทธ์สู้ โดยการไปตั้งโต๊ะรับซื้อสลากจากตัวแทนจำหน่ายทั้งที่อยู่ในระบบโควตา และระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล แบบเหมายกเล่มในราคา 80-90 บาทใบ เพื่อนำมารวมเป็น “หวยชุด” ขายใบละ 120 บาท ซึ่งในขณะนั้นสามารถรวมหวยชุดได้ 15 – 20ใบ

    ช่วงเดือนมีนาคม 2562 สำนักสลากฯ แก้เกม โดยปรับสูตรการพิมพ์สลากใหม่ ให้เป็นแบบคละเลขหมายภายใต้สูตร 2-2-1 พร้อมกับจัดพิมพ์สลากรวมชุด 2 ใบ ออกขาย ทั้งนี้ เพื่อให้การรวมชุดทำได้ยากขึ้น โดยตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการจัดสรรสลาก คนละ 5 เล่ม (1 เล่ม มี 500 ใบ) ในจำนวนนี้มีสลากเลขเหมือนกันทั้ง 6 หลัก จำนวน 2 เล่ม และอีก 2 เล่ม ก็มีเลขหมายที่เหมือนกันทั้ง 6 หลัก แต่เลขไม่ซ้ำกับ 2 เล่มแรก ส่วนที่เหลืออีก 1 เล่ม เป็นแบบคละเลขหมาย แต่เลขท้าย 2 ตัวหลัง เรียงลำดับตั้งแต่เลข 00 ถึง 99 ผลปรากฏว่าก็ยังมีการรวมชุดขาย แต่จำนวนสลากที่นำมารวมเป็นชุดขายลดน้อยลง ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับสูตรการพิมพ์สลากแบบคละเลขหมายนี้ ใช้บังคับเฉพาะตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนตัวแทนจำหน่ายระบบโควตายังจัดสรรสลากแบบเดิม คือ ทั้ง 5 เล่ม จะมีเลข 4 ตัวหน้าเหมือนกัน แต่เลขท้าย 2 ตัว เรียงลำดับ 00-99 ซึ่งต่อมาสำนักงานสลากฯได้ปรับสูตรการพิมพ์และจัดสรรสลากให้เป็นแบบ 2-1-1-1 แต่ก็ยังมีการนำสลากมารวมชุดขายเกินราคากันอยู่ในปัจจุบัน

  • กองสลากฯ ออกหวยชุด 2 ใบ สลับเลข 4 ตัวหน้า ขาย 1 มี.ค.นี้ ดัดหลัง “ยี่ปั๊ว” ตั้งโต๊ะรับซื้อ รวมชุดขายเกินราคา
  • จากนโยบายแก้ปัญหาสลากแพงกันมานานเกือบ 8 ปี จึงแก้ด้วยการเพิ่มซัพพลายมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้นตอของปัญหาสลากเกินราคา คือ เรื่องการขายเปลี่ยนมือ ต้นทุนสลากออกจากสำนักงานสลากฯใบละ 70.40 บาท กว่าจะถึงมือผู้บริโภค เอาไปขายต่อให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว บวกกำไรกันมาเป็นทอดๆ จนทำให้ราคาสลากเพิ่มเป็นใบละ 100-120 บาท ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาสลากเกินราคาที่ตรงจุดที่สุด คือ ทำอย่างไรถึงไม่ให้มีการนำสลากใบไปซื้อ-ขายเปลี่ยนมือกัน และวิธีที่ดีที่สุด คือ “สลากดิจิทัล” โดยการนำสลากใบมาสแกนขายผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์

  • บอร์ดสลากฯเคาะขาย ‘ลอตเตอรี่ดิจิทัล’ 5 ล้านใบ ผ่านแอปเป๋าตัง 2 มิ.ย.นี้
  • เพิ่มสลากออนไลน์ 20 ล้านใบ ท้าพิสูจน์ “ความจริงใจ” รัฐบาลประยุทธ์ แก้หวยแพง
  • วันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ประชุมบอร์ดสลากฯ จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานสลากฯดำเนินการจำหน่ายสลากดิจิทัล 5 ล้านใบ ราคาใบละ 80 บาท ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ผลการจัดจำหน่ายสลากดิจิทัล 3 งวดที่ผ่านมา ปรากฎว่าได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อดีเกินคาด สลาก 5 ล้านใบ แม้แต่เลขไม่สวย ก็ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน

    แต่อย่างไรก็ตาม สลากดิจิทัลที่นำมาขายผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ของสำนักงานสลากฯนั้นมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนแค่ 5% ของปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายทั้งหมด 100 ล้านใบ/งวด หลังจากสลากดิจิทัลขายหมดเกลี้ยงแล้ว ผู้บริโภคก็ยังต้องซื้อ ลอตเตอรี่ หรือ สลากใบราคา 100-120 บาท เหมือนเดิม แนวทางแก้ปัญหาก็คือต้องเพิ่มปริมาณสลากดิจิทัลเข้าไปในตลาด เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการซื้อสลากราคา 80 บาท ให้ได้นานที่สุด แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบ 100 ล้านใบเหมือนเดิม ไม่ได้พิมพ์เพิ่ม

    ที่ประชุมบอร์ดสลากฯจึงมีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เห็นชอบให้สำนักงานสลากฯ เพิ่มปริมาณสลากดิจิทัลสุดไม่เกิน 20 ล้านใบ ภายในปี 2565 โดยมอบหมายให้สำนักสลากฯพิจารณาเพิ่มปริมาณสลากแต่ละครั้งไม่เกิน 2 ล้านฉบับต่องวด โดยล่าสุดนี้จะมีการเพิ่มปริมาณสลากดิจิทัลออกขายเป็น 7 ล้านใบ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป หากยังขายหมดเกลี้ยงภายใน 3 วัน เหมือน 3 งวดที่ผ่านมา ก็จะทยอยเพิ่มสลากดิจิทัลเข้าสู่ระบบ งวดละ 2 ล้านใบ ไปจนกว่าราคาสลากใบที่ขายตามท้องตลาดจะลดราคาขายลงมาเหลือใบละ 80 บาท

    เฟสที่ 3 เป็นแนวทางการแก้ปัญหาสลากอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยสำนักงานสลากฯได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้บอร์ดสลากฯ สามารถพัฒนาสลากรูปแบบใหม่ๆ ออกมาขายได้ ผลักดันจนกระทั่ง พ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาล 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา ส่วนการพัฒนาพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

    จากนโยบายเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขายในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จากงวดละ 37 ล้านใบ เพิ่มเป็นงวดละ 100 ล้านใบในปัจจุบัน ทำให้สำนักงานสลากมีรายได้จากการจำหน่ายสลาก และรายได้นำส่งคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปีงบประมาณ 2557 สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขายงวดละ 37 ล้านใบ มีรายได้จากการจัดจำหน่ายสลาก 48,320 ล้านบาท นำส่งรายได้เข้าให้กับกระทรวงการคลัง 15,312 ล้านบาท

    ปีงบประมาณ 2558 สำนักสลากฯเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขายเป็น 50 ล้านใบ รายได้จากการจำหน่ายเพิ่มเป็น 51,760 ล้านบาท นำส่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง 15,433 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้กระทรวงการคลังสูงสุด

    พอมาปีงบประมาณ 2559 มีการเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขายเป็น 60-65 ล้านใบ รายได้จากยอดขายของสำนักงานสลากฯเพิ่มเป็น 104,400 ล้านบาท นำส่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลังเพิ่มเป็น 25,919 ล้านบาท ส่งผลทำให้สำนักงานสลากฯ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังสูงที่สุดเป็นปีแรก แซงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่นำส่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง 22,607 ล้านบาท , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำส่งรายได้เข้าคลัง 14,599 ล้านบาท

    จากนั้น สำนักงานสลากฯ ก็ครองแชมป์รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ 2560 สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขายเพิ่มเป็น 68-71 ล้านใบ/งวด มีรายได้จากยอดขายสลาก 128,720 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลัง 30,948 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2561 เพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขายเป็น 80-90 ล้านใบ/งวด มีรายได้จากยอดขาย 155,040 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลัง 40,850 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2562 พิมพ์สลากออกขายเพิ่มเป็น 90-100 ล้านใบ/งวด มีรายได้จากยอดขาย 166,800 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลัง 41,917 ล้านบาท ,ปีงบประมาณ 2563 พิมพ์สลากออกขายเพิ่มเป็น 100 ล้านใบ/งวด แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้รายได้จากยอดขายสลากลดลงมาเหลือ 145,680 ล้านบาท แต่ก็ส่งรายได้เข้าคลัง 46,598 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2564 พิมพ์สลากออกขาย 100 ล้านใบ/งวด มีรายได้จากยอดขายสลาก 182,480 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลัง 51,125 ล้านบาท

  • ‘กองสลากฯ’ แชมป์ส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด 23,644 ล้านบาท
  • ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ แถลงผลการจัดเก็บเงินรายได้จากรัฐวิสาหกิจที่ต้องนำส่งคลัง ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – วันที่ 31 มีนาคม 2565) พบว่าสำนักงานสลากฯยังคงครองแชมป์นำส่งรายได้เข้าคลังสูงที่สุด 23,644 ล้านบาท แซง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ลงมาอยู่อันดับ 2 นำรายได้ส่งคลัง 17,519 ล้านบาท อันดับที่ 3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งรายได้เข้าคลัง 6,419 ล้านบาท , อันดับที่ 4 ธนาคารออมสิน ส่งรายได้เข้าคลัง 5,313 ล้านบาท , อันดับที่ 5 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่งรายได้เข้าคลัง 2,610 ล้านบาท , อันดับที่ 6 การไฟฟ้านครหลวง ส่งรายได้เข้าคลัง 2,587 ล้านบาท ,อันดับที่ 7 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่งรายได้เข้าคลัง 2,374 ล้านบาท , อันดับที่ 8 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ส่งรายได้เข้าคลัง 1,400 ล้านบาท , อันดับที่ 9 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่งรายได้เข้าคลัง 1,345 ล้านบาท , อันดับที่ 10 การประปาส่วนภูมิภาค ส่งรายได้เข้าคลัง 746 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรัฐวิสาหกิจและกิจการอื่นฯ รวมเงินรายได้ที่นำส่งคลังอีก 2,415 ล้านบาท

    จากความพยายามในการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งการปรับลดรายได้รัฐมาเพิ่มเป็นส่วนลดให้แก่ตัวแทนจำหน่าย , ตัดโควตาสลากนิติบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรคนพิการ , ลดการผูกขาด โดยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสลากผ่านโครงการซื้อ-จองสลากล่วงหน้ากับธนาคารกรุงไทย จากเดิมขายผ่านตัวแทนจำหน่ายระบบโควตาช่องทางเดียว รวมทั้งทยอยเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากเข้าสู่ระบบ เปิดขายสลากดิจิทัลผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ ปรากฏว่าปัจจุบันก็ยังแก้ปัญหาสลากเกินราคาไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลและกองสลากฯกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น นี่คือผลงานการแก้ปัญหาของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสลากดิจิทัล 20 ล้านใบ และผลิตภัณฑ์ใหม่ (สลากเลข 3 ตัว) จะช่วยแก้ปัญหาสลากแพงได้จริงหรือไม่