ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลสำรวจพฤติกรรมการพนันปี ’60 พบคนไทยเริ่มเล่นตั้งแต่ 7 ขวบ – กว่า 2 .3 ล้านคน เล่นพนันข้ามชาติ

ผลสำรวจพฤติกรรมการพนันปี ’60 พบคนไทยเริ่มเล่นตั้งแต่ 7 ขวบ – กว่า 2 .3 ล้านคน เล่นพนันข้ามชาติ

17 กุมภาพันธ์ 2019


ที่มาภาพ : www.aacasinosolutions.com/dynimage/detailImage/1025/image.jpg

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน เปิดเผยรายงานผลการสำรวจปี 2561 ในหัวข้อ “สถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2560” ที่จัดทำโดย “ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนกับกระทรวงการคลังที่มีความเชี่ยวงานงานสำรวจและวิจัยเชิงปริมาณ ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 กันยายน ถึง 12 ตุลาคม 2560 รวมทั้งสิ้น 7,008 ตัวอย่าง โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะกลุ่มตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจริง

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำรายงานมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ประสบการณ์การเล่นการพนันของคนไทย ทัศนคติ และความเข้าใจที่คนไทยมีต่อการพนัน ทั้งในเชิงภาพรวมและรายประเภทการพนัน ที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการเล่นการพนันที่เป็นปัญหา และการติดพนัน รวมทั้งผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการพนัน

จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 96.5 ระบุว่า มีบุคคลแวดล้อมเล่นการพนัน และร้อยละ 75.2 หรือคิดเป็นค่าประมาณการ 39.84 ล้านคน ระบุว่าเคยมีประสบการณ์เล่นการพนันอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงชีวิตที่ผ่านมา โดยการพนันที่คนไทยมีความคุ้นเคยมากที่สุด อันดับแรก คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล (กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79 ระบุ) อันดับที่ 2 หวยใต้ดิน ร้อยละ 74 อันดับถัดมาคือ ไพ่ ร้อยละ 38.1 ทายผลฟุตบอล ร้อยละ 17.1 และไฮโล โปปั่น กำถั่ว ถั่วแยก น้ำเต้าปูปลา ร้อยละ 14

  • งานวิจัยทีเอ็มบี เจาะลึกพฤติกรรมคนเสพหวย – “หวย” คือ ความฝันที่แลกด้วยเงินล้านของคนไทย
  • ภาคกลาง-เหนือ ซื้อ “ลอตเตอรี่” อิสาน-ใต้ เล่น “หวยใต้ดิน”

    หากจำแนกประเภทการพนันที่คนไทยเคยมีประสบการณ์การเล่นมากที่สุดนั้น ก็ไม่แตกต่างจากข้อมูลการพนันที่คนไทยมีความคุ้นเคย ยกเว้นกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี ระบุว่า เคยมีประสบการณ์เล่นไพ่มากเป็นอันดับที่ 1 แต่ถ้าจำแนกตามภูมิภาคจะพบว่า สลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นการพนันที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนหวยใต้ดิน จะเป็นที่แพร่หลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มากกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เป็นอันดับ 2

    คนไทย 2.34 ล้านคน ขนเงินเล่นพนันต่างแดน

    รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ระบุว่า ประสบการณ์การเล่นพนันของคนไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น จากการประมาณการจำนวนคนที่เดินทางไปเล่นการพนันในต่างประเทศ พบว่ามีคนไทยเคยไปเล่นการพนันตามบ่อนบริเวณชายแดนไทยประมาณ 1.38 ล้านคน เล่นการพนันในต่างประเทศที่ไม่ติดกับชายแดนไทยประมาณ 4.84 แสนคน และเล่นการพนันผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศอีก 4.74 แสนคน สรุปในปี 2560 มีคนไทยเดินทางไปเล่นการพนันในต่างแดนประมาณ 2.34 ล้านคน

    พบคนไทยเริ่มหัดเล่นพนันตั้งแต่ 7 ขวบ – แก่สุด 60 ปี

    หากไปดูที่อายุของคนไทยที่เล่นการพนัน พบว่า คนไทยเริ่มต้นเล่นการพนันกันตั้งแต่ในช่วงที่เป็นเยาวชน เฉลี่ยที่อายุ 23 ปี และถ้าพิจารณาในรายละเอียด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.9 ระบุว่าเริ่มต้นเล่นการพนันในช่วงมัธยมปลายถึงอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 16-20 ปี รองลงมาอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ร้อยละ 36.6 เล่นการพนันในช่วงอุดมศึกษาหรือวัยแรงงานตอนต้น อายุ 21 -30 ปี

    กลุ่มตัวอย่างที่เริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุน้อยที่สุด คือ 7 ปี และมีเช่นกันที่เพิ่งมาเริ่มเล่นการพนันในช่วงสูงวัยที่อายุ 60 ปี โดยเพศชายจะเริ่มเล่นการพนันเฉลี่ย 22 ปี เร็วกว่าเพศหญิงที่เริ่มเล่นการพนันที่อายุ 24 ปี

    “หวยใต้ดิน” ประตูบานแรกสู่โลกการพนัน

    ประตูบานแรกที่ชักนำคนไทยเข้าสู่โลกของการพนัน อันดับแรก เป็นการพนันที่ผิดกฎหมาย คือ หวยใต้ดินร้อยละ 38.7 อันดับที่ 2 สลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 27.3 อันดับที่ 3 ไพ่ ร้อยละ 20 โดยแรงจูงใจที่ชักนำให้คนไทยเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่วัยเยาว์ ย่อมหนีไม่พ้นความอยากรู้อยากลอง หรือเห็นว่าเป็นการเสี่ยงโชค ร้อยละ 25.4, อยากได้เงินร้อยละ 20.8, ชอบความตื่นเต้นและเพลิดเพลิน ร้อยละ 13.8, เล่นตามคนใกล้ชิดร้อยละ 12.5 และมีคนชักชวนให้เล่นจึงอยากลอง ร้อยละ 10.8

    ส่วนทัศนคติของคนไทยต่อการเล่นการพนันนั้น จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่ามีความขัดแย้งกับภาพความคุ้นเคย หรือประสบการณ์ที่คนไทยมีต่อการพนัน โดยผลการสำรวจกลับแสดงให้เห็นว่า คนไทยยังมีทัศนคติที่ลักลั่น อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นการพนัน กล่าวคือ

    ในด้านหนึ่ง คนไทยเข้าใจดีว่าการพนันเป็นสิ่งที่มีผลกระทบทางลบ โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.1 เห็นว่าการพนันก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน, ร้อยละ 72.6 เห็นว่าทำให้ขาดความน่าเชื่อถือทางการเงิน, ร้อยละ 82.3 เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ และร้อยละ 69.6 เห็นว่าการพนันทำให้เสียสุขภาพ

    ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีกลุ่มตัวอย่างบางส่วนยังมีทัศนคติไม่ถูกต้องต่อการพนัน แม้จะมีจำนวนไม่มากแต่มีประเด็นที่น่าสังเกต คือ ในปี 2560 พบว่า คนไทยมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อการพนันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลผลการสำรวจฯ ในปี 2558 ที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ กล่าวคือ

    • คนที่เห็นด้วยว่า การพนันช่วยให้รวยทางลัดเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 23.9 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 29.6 ในปี 2560
    • คนที่เห็นว่า การพนันไม่ส่งผลกระทบกับครอบครัวเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 11.1 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.8 ในปี 2560
    • คนที่เห็นว่า การพนันนับเป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้หาเลี้ยงตัวเองได้ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากร้อยละ 9.8 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 16.7 ในปี 2560

    สรุปว่า คนไทยเข้าใจดีว่าการพนันเป็นสิ่งที่มีผลกระทบทางลบ เช่น ก่อให้เกิดหนี้สิน ขาดความน่าเชื่อถือทางการเงิน ทำให้เสียสุขภาพ เป็นต้น แต่ก็ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อการพนัน แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก

    ชี้สังคมไทยเข้าใจผิด “เล่นหวย” ไม่ถือเป็นการพนัน

    นอกจากนี้ สังคมไทยในปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นการพนัน โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการพนันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 53.4 ในปี 2560 คนที่เห็นว่าการซื้อหวยใต้ดินไม่ถือเป็นการพนันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.3 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 27.7 ในปี 2560

    ความเข้าใจผิดที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ สอดคล้องกับทัศนคติที่เปิดรับให้กิจกรรมการพนันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย กล่าวคือ มีกลุ่มตัวอย่างที่เห็นว่า ประเทศไทยควรเปิดพนันทายผลฟุตบอลอย่างถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 19.2 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 27.9 ในปี 2560 และเห็นว่า ประเทศไทยควรเปิดบ่อนคาสิโนอย่างถูกกฎหมาย เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 22.1 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 29.3 ในปี 2560

    หลังจากกลุ่มตัวอย่างได้ตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นพนันประเภทต่างๆ และผลกระทบจากการพนันแล้ว ผู้สำรวจได้สอบถามความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง กรณีประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการพนันแบบถูกกฎหมาย ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.5 กลับเห็นว่าจะมีผลทำให้จำนวนผู้เล่นการพนันมีเพิ่มมากขึ้น

    สรุปความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.4 เห็นว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ถือเป็นการพนัน ร้อยละ 27.2 เห็นว่าหวยใต้ดิน ก็ไม่ถือเป็นการพนัน ในขณะที่ร้อยละ 65.5 เห็นว่าหากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการพนันถูกกฎหมายจะมีผลทำให้ผู้เล่นการพนันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

    ทัศนคติที่ลักลั่นและมองการพนันในแง่บวกเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจการพนันกำลังค่อยๆ รุกคืบเข้าช่วงชิงพื้นที่การรับรู้ของคนไทย ดังจะเห็นจากกระแสสังคมในช่วงที่ผ่านมา ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการถูกรางวัลใหญ่จากการพนันที่จัดขึ้นโดยรัฐปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งผ่านสื่อต่างๆ กระจายในวงกว้างผ่านสังคมออนไลน์ ถูกผลิตซ้ำ ขยายผลการทำข่าว จนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคม

    ความหวังและความต้องการที่จะ “รวยทางลัด” ของคนไทย ที่ยังไม่เคยริบหรี่ อาจจะกลับมาเจิดจำรัสมากขึ้น เรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การพนันกลายเป็นกิจกรรมที่ทวีความนิยมมากยิ่งขึ้นในปี 2560 ดังข้อมูลสถานการณ์และพฤติกรรมของการพนันที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจะนำเสนอในตอนต่อไป