ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-22 กรกฎาคม 2565
อินโดนีเซียเปิดประมูลน้ำมันและก๊าซ 6 แปลง

อินโดนีเซียโดยกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ (ESDM) จะเปิดให้สำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซจำนวน 5 แปลงและพื้นที่ในการพัฒนา 1 แปลง ในรอบการประมูลแรกของปี 2565
แปลงที่นำออกประมูล ได้แก่ นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของอาเจะห์ นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอาเจะห์ และอารากุนโดในอาเจะห์ บาเวอันนอกชายฝั่งในชวาตะวันออก เบงการา 1 ในกาลิมันตันเหนือ และมาราตูอา 2 นอกชายฝั่งในช่องแคบมากัสซาร์
Tutuka Ariadji อธิบดีกรมน้ำมันและก๊าซของกระทรวง ESDM กล่าวเมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) และเชื่อว่าจะได้รับการตอบสนองที่ดี เนื่องจากรัฐบาลได้ เตรียมสิทธิประโยชน์จูงใจหลายด้านซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดและเงื่อนไขของการแบ่งกำไรของผู้รับเหมา ซึ่งจะพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของแหล่งน้ำมันและก๊าซเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้มูลค่าของค่าตอบแทนในการให้สัญญาสัมปทาน(signature bonus)ผู้รับเหมาสามารถต่อรองได้
อีกทั้งจากนั้นรูปแบบการชำระเงินของ First Tranche Petroleum (FTP คือ ส่วนของน้ำมันหรือก๊าซที่ผลิตและกันไว้จากพื้นที่สัญญาที่รัฐบาลและผู้รับเหมามีสิทธิ์รับและรับในแต่ละปีก่อนที่จะหักค่าดำเนินการใดๆ และต้นทุนการจัดการการผลิต) จะปรับเปลี่ยนเป็น 10% จาก 20% เช่นเดียวกับการกำหนดราคาตามเงื่อนไขแผนการขายตลาดในประเทศ DMO(Domestic Market Obligation) ที่ 100% ในช่วงระยะเวลาของสัญญา และมีความยืดหยุ่นในการเลืำอกรูปแบบสัญญา
“เราปรับเปลี่ยนข้อกำหนดและเงื่อนไขเพื่อให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการเก็บภาษี เราอาจหารือกันในภายหลัง” Ariadji กล่าวในประกาศอย่างเป็นทางการ
เมียนมาออกคำสั่งเข้มงวดขึ้นอีกรับมือดอลลาร์ขาด

โดยล่าสุดมีคำสั่งให้สถาบันการเงินแลกเปลี่ยนและปรับยอดเงินดอลลาร์สหรัฐคงเหลือในบัญชีของลูกค้า
ธนาคารกลางเมียนมา ได้สั่งให้ธนาคารในท้องถิ่นในบ่ายวันพฤหัสบดี(21ก.ค.) ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐที่เหลืออยู่ในบัญชีสกุลเงินต่างประเทศของธุรกิจ องค์กร และบุคคลภายในเวลา 18.00 น. ของวันนั้น
คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางเมียนมาในการจำกัดการถือครองสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างยิ่งยวดของกองทัพในการควบคุมการหมุนเวียนของเงินตราต่างประเทศในประเทศ
คำสั่งล่าสุดจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกือบทั้งหมดที่จดทะเบียนที่ สำนักงานดูแลด้านการลงทุนและการจัดตั้งบริษัทของเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration: DICA) รวมถึงบริษัทในประเทศที่มีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วน 35% แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้กล่าวกับ Myanmar Now
ในวันเดียวกันขณะที่มีการรายงานข่าว สถาบันการเงินยังคงขอความชัดเจนถึงขอบเขตของคำสั่งกับธนาคารกลาง
มีรายงานว่ามีข้อยกเว้นสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ดำเนินการโดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการลงทุนเมียนมาและธุรกิจที่ดำเนินงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) ทั้งสองกลุ่มได้รับการยกเว้นจากนโยบายธนาคารกลางที่กำหนดให้ต้องแลกสกุลเงินโดยในเดือนเมษายน
ในขณะนั้น ธนาคารกลาง ได้สั่งให้สถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต แปลงเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1,850 จั๊ตต่อดอลลาร์ ภายในหนึ่งวันทำการหลังจากได้รับเงินดอลลาร์มา
แต่หลังจากได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสถานทูตและหอการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารกลางได้ยกเลิกคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน และยกเว้นให้กับธุรกิจและองค์กรหลายประเภท รวมถึงบริษัทที่เข้ามาลงทุนโดยตรง บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนนักการทูตและพนักงานต่างชาติของ UN และหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศที่อื่นๆ
ในคำสั่งเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางยังได้ยกเว้นสำหรับบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10% แต่คำสั่งนี้มีการยกเลิกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา
ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ธนาคารกลางได้สั่งให้บริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 35% ให้แลกสกุลเงินต่างประเทศเป็นจั๊ตกับธนาคารพาณิชย์ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม
ในวันที่ 13 กรกฎาคมก่อนออกคำสั่งดังกล่าว ธนาคารกลางได้สั่งให้บริษัท ธนาคารในประเทศ และบุคคลที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ระงับการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศและกำหนดเวลาการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศใหม่ เพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ
ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก บริษัทในเมียนมียอดหนี้สกุลเงินดอลลาร์คงค้างอย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์
ธนาคารกลางยังปรับเปลี่ยนกฎที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสกุลเงิน
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม กรมศุลกากรในสังกัดกระทรวงการวางแผนและการคลังได้แจ้งหัวหน้าสำนักงานระดับภูมิภาคและหน่วยงานของรัฐ หัวหน้าเขตการปกครอง และเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการครบวงจรทุกแห่ง ว่า ผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกที่สามารถสำแดงได้เท่านั้น ที่จะสามารถขอ ใบขนสินค้าขาออกได้
สำหรับการส่งออกข้าวโพด ถั่ว ถั่วพัลส์ และพืชน้ำมัน การขอใบขนสินค้าขาออกสามารถทำได้เมื่อมีใบรับรองจากธนาคารที่ได้รับอนุญาต มีใบอนุญาตส่งออก และวิธีการโอนเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศ ข้อกำหนดนี้มีผลบังคับใช้วันที่ 14 กรกฎาคม
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกใบอนุญาตส่งออกข้าวโพด ถั่ว และถั่วพัลส์ชนิดต่างๆ สำหรับการค้าทางทะเลระหว่างประเทศตามปกติในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. คณะกรรมการกำกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศออกคำสั่งว่าด้วยการการชำระเงินสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรข้ามแดนได้แก่ ข้าวโพด ข้าว ถั่ว และพืชน้ำมัน ให้ดำเนินการเป็นดอลลาร์แทนเงินหยวน-จั๊ต และบาท-จั๊ต
ในวันที่ 14 กรกฎาคม ธนาคารกลางยังอนุญาตให้สถาบันต่างประเทศจัดตั้งสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ทั้งในรูปการถือหุ้นเต็มหรือในรูป joint ventures เพื่อดึงเงินทุนจากต่างประเทศ
รัฐบาลทหารเมียนมาได้ปรับกฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เข้มงวดขึ้น หลังจากที่ค่าเงินของประเทศอ่อนไปหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในปีที่แล้ว ภายหลังการรัฐประหารที่ทำให้มีการระงับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบางส่วนที่อยู่ในสหรัฐฯ และการระงับความช่วยเหลือในระดับพหุภาคี ซึ่งเป็นสองแหล่งเงินตราต่างประเทศที่สำคัญ
รัฐบาลได้สั่งห้ามการนำเข้ารถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันประกอบอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาปริมาณทุนสำรอง นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและบาทเพื่อการค้าตามแนวชายแดนจีนและไทย
นโยบายที่บังคับแปลงสกุลเงินที่บังคับของรัฐบาลทหารและคำสั่งที่ยกระดับความเข้มงวด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2,000 จั๊ตในตลาดมืดของเมียนมา ณ วันที่ 21 กรกฎาคม และราคาน้ำมันและสินค้านำเข้าก็เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
จากนโยบายที่คาดเดาไม่ได้ของรัฐบาลทหาร แหล่งข่าวก่อนหน้านี้ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารกลางอาจมีข้อกำหนดใหม่ในการแปลงสกุลเงินให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงหรือ FDI บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และในเขตเศรษฐกิจเฉพาะซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับคำสั่ง
ในรายงานการติดตามเศรษฐกิจฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี(21 ก.ค.) ธนาคารโลกกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายล่าสุดของรัฐบาลทหารมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อการเติบโตของประเทศและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
“ข้อจำกัดทางการค้าและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีผลต่อการปฏิรูปก่อนหน้านี้เพื่อเปิดเสรีการค้าและการทำให้มีอัตราแลกเปลี่ยนเดียว(แทนที่จะเป็นอัตราตลาดมืดและตลาดทางการ)” รายงานระบุ
บทเรียนจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเมียนมาชี้ว่า ตราบใดที่แนวโน้มเหล่านี้ยังคงต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะอ่อนแอลงอีก ซึ่งจำกัดศักยภาพในการเติบโตของเมียนมาในระยะยาว”
Total-Ooredoo ถอนตัวออกจากเมียนมา
บริษัต่างชาติทะยอยถอนตัวออกจากเมียนมา โดยล่าสุด TotalEnergies ของฝรั่งเศสกล่าวว่า การถอนตวออกจากเมียนมามีผลแล้ว
TotalEnergies บริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสกล่าวเมื่อวันพุธ(20 ก.ค.)ว่า แผนการถอนตัวจากเมียนมาซึ่งประกาศเมื่อหกเดือนก่อนได้มีผลแล้ว
“TotalEnergies ได้ถอนตัวออกจากเมียนมาแล้ว”บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ระบุในแถลงการณ์ “เป็นไปตามตารางเวลาหกเดือนที่ระบุไว้ในข้อตกลง การถอนตัวมีผลตั้งแต่วันพุธ”
ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศสและหุ้นส่วนเชฟรอนของสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่า จะถอนตัวออกจากแหล่งก๊าซยานาดา โดย TotalEnergies อ้างถึงสถานการณ์ที่ “เลวร้ายลง” ด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
“ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติธรรมดา TotalEnergies ได้เลือกที่จะถอนตัวออกจากเมียนมาโดยไม่ต้องแสวงหาค่าตอบแทนทางการเงินสำหรับสินทรัพย์ของบริษัท” บริษัทระบุในขณะนั้น
แหล่งยานาดา ในทะเลอันดามันผลิตกระแสไฟฟ้าแก่เมียนมาและ ไทย ประเทศเพื่อนบ้าน
TotalEnergies เจอแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้ตัดการเชื่อมโยงทางการเงินกับรัฐบาลทหารตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
Human Rights Watch กล่าวว่า โครงการก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายรับจากสกุลเงินต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเพียงแหล่งเดียวของเมียนมาโดยสร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุกปี
TotalEnergies กล่าวว่าการถอนตัวจาก Yadana และท่อส่งก๊าซ MGTC จะมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคม ด้วยการถือหุ้นในสัดส่วน 31.4% ของบริษัทในแหล่งก๊าซยาดานา ถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มบริษัทที่ร่วมลงทุน ซึ่งประกอบด้วยเชฟรอน บริษัท ปตท.สผ. ของไทย และ MOGE ที่กองทัพเมียนมาควบคุม ทั้งหุ้นที่บริษัทถือทั้งหมดขายให้กับบริษัท ปตท.สผ. และเชฟรอน
ขณะที่เชฟรอนจะถือหุ้นใหญ่ที่สุดที่ 41.1% โฆษกของบริษัทยืนยันแผนการถอนตัวออกจากเมียนมา แม้จะยังไม่ได้กำหนดวัน เนื่องจากให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านที่มีการวางแผนและไม่วุ่นวาย

ด้าน Ooredoo บริษัทโทรคมนาคมของกาตาร์ กำลังเจรจาขายธุรกิจในเมียนมาซึ่งจะเป็นสัญญาณการถอนตัวของบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายสุดท้ายของประเทศ แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กล่าวกับรอยเตอร์
แหล่งข่าวกล่าวว่า Ooredoo ซึ่งมีฐานอยู่ในโดฮาได้แจ้งกรมไปรษณีย์และโทรคมนาคมของเมียนมา (PTD) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศถึงความตั้งใจที่จะขายธุรกิจ ที่เป็นผู้ดำเนินการรายใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมาที่มีผู้ใช้เกือบ 15 ล้านคนในปี 2563 ก่อนที่อุตสาหกรรมจะหยุดชะงักจาก รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ผู้ซื้อที่มีศักยภาพหลักได้แก่ Young Investment Group บริษัทในเครือ Campana Group ธุรกิจบริหารโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ และบริษัทโทรคมนาคม SkyNet ซึ่งมี Shwe Than Lwin กลุ่มธุรกิจเมียนมาเป็นเจ้าของ
แต่การเจรจากับสามกลุ่มนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้ง Ooredoo และผู้ซื้อทั้งสามกลุ่มปฏิเสธที่จะให้ให้ความเห็น ขณะที่แหล่งข่าวไม่เปิดเผยมูลค่าที่จะซื้อขาย
ข้อมูลผลการดำเนินงานพบว่า Ooredoo มีลูกค้า 9 ล้านรายในปี 2565 ลดลงจาก 15 ล้านในปี 2563 ซึ่งมีรายได้ประมาณ 330 ล้านดอลลาร์
ภาคโทรคมนาคมในเมียนมาต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย การให้บริการ data บนมือถือยังคงปิดให้บริการในบางส่วนของประเทศ หลังจากการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศตลอดปี 2564
Ooredoo เป็นบริษัทโทรคมนาคมต่างชาติรายใหญ่รายสุดท้ายในเมียนมา หลังจากที่บริษัท Telenor ของนอร์เวย์ ถอนตัวออกไปในเดือนมีนาคมปีนี้
ธูรกิจของ Telenor ในเมียนมามีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทในประเทศ Shwe Byain Phyu และมียบริษัทการลงทุน M1 ของเลบานอน ถือหุ้นส่วนน้อย
ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นๆ ในประเทศ ได้แก่ MPT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และ Mytel ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกองทัพเมียนมา และ Viettel ที่กระทรวงกลาโหมเวียดนามเป็นเจ้าของ
ฟิลิปปินส์ได้โควตาน้ำตาลเพิ่มจากสหรัฐฯ

ในประกาศที่โพสต์บนเว็บไซต์ของสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (USTR) หน่วยงานบริการการเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรสหรัฐประกาศว่า ได้จัดสรรโควตาให้ฟิลิปปินส์เพิ่มอีก 145,235 ตันน้ำตาลทรายดิบ(MTRV) สำหรับปีการเพาะปลูก 2566 หรือ 1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2566 ซึ่งสูงกว่าการจัดสรร 142,160 ตันน้ำตาลทรายดิบ ในปีงบประมาณก่อนหน้า
การให้โควตาฟิลิปปินส์นับว่ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับสามรองจากสาธารณรัฐโดมินิกัน (189,343 MTRV) และบราซิล (155,993 MTRV)
การจัดสรรโควตาของสหรัฐฯ สำหรับปีการเพาะปลูก 2565-2566 อยู่ที่ 1.117 ล้านตันน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำที่สหรัฐฯ ให้คำมั่นกับองค์การการค้าโลก
กรอบโควตาอัตราภาษี (Tariff Rate Quota: TRQ)ของสหรัฐฯ สำหรับน้ำตาลทรายดิบช่วยให้ประเทศต่างๆ ส่งออกผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่กำหนดไปยังสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษีที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นอัตราภาษีพิเศษที่สหรัฐฯ อนุญาตให้แก่บางประเทศสำหรับการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ตามโควตาที่สหรัฐฯกำหนดให้
จากข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแลน้ำตาล ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ส่งออกน้ำตาลรวมมีน้ำหนัก 116,212 ตัน (commercial weight) ในปีการเพาะปลูก 2560-2561 ส่งออกน้ำหนัก 103,685 ตัน ในปี 2561-2562 ส่งออกน้ำหนัก 109,408 ตัน และส่งออกน้ำหนัก 112,008 ตันในปี 2563-2564
ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ไม่ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาล ไปยังสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีโจโควีเร่งรัดผลิตน้ำตาลเพิ่ม

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ โจโกวี สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Syahrul Yasin Limpo และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ Erick Thohir เพิ่มการผลิตน้ำตาลของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Syahrul Yasin Limpo กล่าวว่า กระทรวงและรัฐมนตรีอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐมนตรี SOE ได้รับคำสั่งให้เตรียมอ้อยตอและปรับพื้นที่อย่างเหมาะสม ซึ่งหมายความว่าต้องมีการเร่งดำเนินการและการขยายพื้นที่ควบคู่กันไป และการที่สั่งให้ใช้มาตรการที่จำเป็นในการเพิ่มน้ำตาลเพื่อการบริโภคน้ำตาล หมายความว่าต้องจัดหาน้ำตาล 850 ตัน
นาย Limpo ชี้ว่า ความต้องการน้ำตาลเพื่อการบริโภคของประเทศอยู่ที่ 3.2 ล้านตันและน้ำตาลอุตสาหกรรมที่ 4.1 ล้านตัน แต่การผลิตน้ำตาลในประเทศมีเพียง 2.35 ล้านตันเท่านั้น การผลิตและความต้องการน้ำตาลของประเทศที่ห่างกัน ทำให้ยังมีส่วนต่างประมาณ 850,000 ตัน
นอกจากนี้ชี้ว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะงักงัน ทำให้ประเทศอื่น ๆ จำกัดโควตาการส่งออก ส่งผลให้อุปทานน้ำตาลในอินโดนีเซียมีความผันผวน
ประธานาธิบดีจะติดตามสถานการณ์ปริมาณสต็อกอาหารอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะน้ำตาลที่ได้เน้นย้ำ เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีผลต่อระดับเงินเฟ้อของประเทศ
ณ เดือนมิถุนายน 2565 เงินเฟ้อของอินโดนีเซียแตะระดับ 4.35% เมื่อเทียบเป็นรายปี
มาเลเซียศูนย์กลางผลิตอุปกรณ์ 5G ในเอเชียแปซิฟิกของ Ericsson

มาเลเซียได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม 5G ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Ericsson โดยจะผลิต 5G New radios โครงข่าย 5G ใหม่ล่าสุดและทันสมัยที่สุดของ Ericsson โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปีนี้
David Hagerbro ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (มาเลเซีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ) กล่าวว่า มาเลเซียจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตอุปกรณ์ 5G ของ Ericsson สำหรับตลาดในประเทศและภูมิภาค
สิ่งที่สนับสนุนการตัดสินใจให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคคือความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่มาเลเซียมี
“นี่เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นระยะยาวของ Ericsson ต่อประเทศรวมถึงเครือข่าย 5G ที่กำลังเปิดตัว” Hagerbro กล่าวในแถลงการณ์
Borje Ekholm ประธานและ CEO ของกลุ่ม Ericsson ร่วมกับ Hagerbro ได้เข้าคาราวะนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ในปุตราจายาเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Ericsson ต่อมาเลเซีย
Hagerbro เปิดเผยว่า Ericsson จะลงทุนเพิ่มและสร้างโอกาสการจ้างงานในประเทศให้มากขึ้น
“นอกจากเป็นศูนย์การผลิตแล้ว เรายังมีศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคที่สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ เช่นเดียวกับศูนย์บำรุงรักษาและสนับสนุนในชาห์อาลัม ซึ่งจะช่วยให้เรายกระดับการตอบสนองและการส่งมอบบริการสนับสนุนแก่ลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
นอกจากนี้ Ericsson ยังได้ริเริ่ม Ericsson Educate ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ Universiti Teknologi Malaysia (UTM) และ Digital Nasional Bhd เพื่อเสริมสร้างความรู้แก่นักเรียนมาเลเซียเกี่ยวกับ 5G และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆที่เกิดขึ้น
“ความร่วมมือนี้คาดว่าจะส่มอบความรู้ให้นักเรียนได้มากถึง 1,200 คนในปีแรก และจะช่วยให้นักศึกษา UTM สามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทในเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศและการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม 4.0
ศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของมาเลเซียในการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยี 5G ถูกจัดตั้งขึ้นโดย Ericsson ที่ UTM ในปี 2559
แบงก์ ออฟ อเมริกากลับเข้าตลาดเวียดนาม

Madhu Kannan รองประธานบริหารด้าน Global Corporate and Investment Banking ของ แบงก์ ออฟ อเมริกาเปิดเผยว่า แบงก์ ออฟ อเมริกา อยู่ระหว่างการขออนุญาต จัดตั้งสาขามูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ในโฮจิมินห์ซิตี้
ในการพบปะกับฟาน วัน มาย ประธานคณะกรรมการประชาชน โฮจิมินห์ ซิตี้ ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ Kannanได้ขอการสนับสนุนให้ธนาคารกลับมาดำเนินการในเวียดนามอีกครั้งหลังจากปิดสำนักงานในกรุงฮานอยในปี 2545 ในช่วงที่บริษัทแม่เริ่มการปรับโครงสร้าง
ฟาน วัน มาย กล่าวว่า การเชิญ แบงก์ ออฟ อเมริกากลับไปที่โฮจิมินห์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการมาเยือนครั้งนี้ พร้อมกับย้ำว่ามุ่งมั่นที่จะช่วยธนาคารจัดตั้งสาขาในโฮจิมินห์ ซิตี้ ที่วางแผนจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้โฮจิมินห์ ซิตี้ ยังยินดีต้อนรับธุรกิจของสหรัฐฯ ให้ลงทุนในภาคการเงิน เทคโนโลยี การศึกษา และการดูแลสุขภาพ
Kannan กล่าวว่า าารดำเนินธุรกิจของธนาคารจะสอดคล้องกับเส้นทางการพัฒนาของเมือง
แบงก์ ออฟ อเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี 2447 เป็นธนาคารใหญ่อันดับสองของสหรัฐอเมริกา