ThaiPublica > คอลัมน์ > Lovecraft Country สัตว์ร้ายชั้นต่ำนั่นถูกเรียกว่า “นิโกร”

Lovecraft Country สัตว์ร้ายชั้นต่ำนั่นถูกเรียกว่า “นิโกร”

11 มิถุนายน 2022


1721955

Lovecraft Country (HBO,สิงหาคม 2020) ซีรีส์สั้น 10 ตอนจบ ที่เมื่อกรกฎาคม 2021 ได้ถูกประกาศแล้วว่า HBO จะไม่ผลิตซีซั่นสอง ถึงอย่างนั้นซีรีส์นี้กลับถูก American Film Institute Awards (โหวตโดยทีมสร้างหนัง และผู้ทรงเกียรติในแวดวงภาพยนตร์) จัดให้เป็นท็อป 10 ซีรีส์แห่งปี, Critics’ Choice Super Awards (โหวตโดยสมาพันธ์นักวิจารณ์) ให้รางวัลซีรีส์สยองยอดเยี่ยม, เว็บ Rotten Tomatoes ให้คะแนนสูงถึง 8.08/10, ไบรอัน ทัลเลริโค แห่ง RogerEbert.com กล่าวชมว่า “เป็นซีรีส์ที่ลอกเปลือกชนชั้นของประวัติศาสตร์อเมริกันเพื่อเผยให้เห็นปัญหาเชิงระบบที่อยู่ข้างใต้ ได้อย่างสนุกสนานน่าอัศจรรย์”, ขณะที่ ฮิวโก ริฟไคนด์ แห่งนิตยสาร The Times กล่าวว่า “โหดเหี้ยมและโกรธเคืองโดยชอบธรรม”

ผู้เขียนสารภาพตามตรงว่าที่ต้องเอาซีรีส์เก่าเรื่องนี้มาแทรก ไม่ใช่แค่เพราะช่วงนี้ไม่ค่อยมีซีรีส์ที่มีประเด็นทางสังคม แต่เพราะเพิ่งได้ดูแล้วก็ตื่นเต้นกับซีรีส์นี้อย่างมาก นิตยสาร Rolling Stone ถึงกับประทับตราว่า “เป็นซีรีส์ที่ทะเยอทะยานที่สุดแห่งปี”

เหนืออื่นใดซีรีส์เรื่องนี้เป็นผลงานร่วมสร้างของ 2 ผู้กำกับที่ผู้เขียนปลื้มมานานนั่นก็คือ เจเจ เอบรัมส์ (ซีรีส์ Lost, Fringe, Westworld / หนัง Cloverfield, Star Trek Beyond, Star Wars IX – The Rise of Skywalker) กับ จอร์แดน พีล (หนัง Get Out และ Us) ขณะที่โชว์รันเนอร์ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญให้โปรเจ็คต์นี้เกิดขึ้น คือ มิชา กรีน (ซีรีส์ Helix และ Underground) แล้วแน่นอนว่าเมื่อ 3 ชื่อนี้มารวมกัน ภาพลาง ๆ ที่พอจะเห็นได้คือ ไซ-ไฟ แฟนตาซี สยองขวัญ ที่วางอยู่บนแกนของการชำแหละด้านมืดแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมป๊อปอเมริกัน

เรื่องย่อ

Lovecraft Country เป็นส่วนผสมที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเขย่ามารวมกันได้ในเรื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นแนวผจญภัย กับเรื่องสยดสยอง สืบสวนลี้ลับซ่อนปม ไปจนถึงอวกาศต่างดาว ตำนานปีศาจ ความเชื่อโบราณ วัฒนธรรมต่างถิ่น ที่วางโครงไว้บนประวัติศาสตร์สุดหดหู่ของสังคมอเมริกัน บนแนวแบบตลก-ผจญภัย แต่ต้องขอเตือนว่ามีฉากโหด ๆ ไม่น้อย ทั้งควักไส้ ระเบิดหัว ร่างเละที่เชื่อว่าคอเกรดบีต้องพอใจ ดัดแปลงจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อเดียวกันโดย แม็ตต์ รัฟฟ์ ที่ตีพิมพ์ในปี2016 เล่าเหตุการณ์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือยุค1950s ผ่านสังคมคนผิวสี ในซีรีส์เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ แอ็คติคัส ทหารอาสาผู้ขอปลดประจำการหลังจากสงครามเกาหลีสงบ เนื่องจากรู้ข่าวว่าพ่อหายตัวไป ทำให้เขาร่วมเดินทางไปกับลุง และเพื่อนเก่า เพื่อไปตามหาพ่อก่อนจะค้นพบชุมชนอารยธรรมโบราณ ความเชื่อและสัตว์ประหลาดที่มนุษย์ไม่รู้จัก ที่ตามมาด้วยการผจญภัยต่อสู้ในอีกหลายแมทช์หลังจากนั้น

ใครคือ เลิฟคราฟต์

เลิฟคราฟต์ ผู้ขึ้นชื่อในด้านความรุนแรง ชื่อนี้ไม่ใช่นามปากกาแต่เป็นชื่อจริงของนักเขียนอเมริกันที่แม้ว่าตอนนี้ ฮาวเวิร์ด ฟิลลิปส์ เลิฟคราฟต์ (H.P. Lovecraft) จะเป็นนักเขียนที่โด่งดังไปแล้วในยุคเรา เนื่องจากปัจจุบันมีหนังและซีรีส์ที่หยิบเอาไอเดียแบบเลิฟคราฟต์มาใช้อย่างมาก อาทิ ซีรีส์ True Detective, Supernatural, Doctor Who หนัง The Evil Dead, The Thing, Event Horizon, Drag Me to Hell, Color Out of Space, The Deep Ones, Underwater, Hereditary, The Lighthouse รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับสุดเฮี้ยนอย่าง กีเยร์โม เดล โตโร เช่น Cronos, Pan’s Labyrinth, Hellboy, The Shape of Water (อ่านต่อ FYI 1.) แต่ความเป็นจริงแล้วความนิยมในผลงานของเลิฟคราฟต์ขณะมีชีวิตอยู่ยังเป็นเพียงในหมู่คนอ่านแค่หยิบมือ นั่นทำให้เขาเป็นนักเขียนยากจนไปจนเขาสิ้นชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้เมื่อปี1937

เลิฟคราฟต์ เกิดเมื่อปี 1890 ในเมืองโพรวิเดนซ์ แถบโรดไอร์แลนด์ กระทั่งพ่อของเขามีอาการป่วยทางจิตประสาทจนเสียชีวิตลงขณะเขาอายุเพียง 3 ขวบทำให้ต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวของแม่ ในแถบนิวอิงแลนด์ ที่นั่นเองคุณตาของเขาสอนให้เลิฟคราฟต์ติดนิสัยรักการอ่าน ด้วยหนังสืออย่าง เทพนิยายกริมม์, อาหรับราตรี, เทพปกรณัมกรีก ที่ต่อมาทำให้เขาเริ่มสนใจวิชาเคมี ฟิสิกส์ การเล่นแร่แปรธาตุ ไปจนถึงดาราศาสตร์ แต่ด้วยความเป็นเด็กป่วยบ่อย ทำให้เขาไม่ค่อยไปโรงเรียน และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณตานักธุรกิจของเขาเสียชีวิตลง ในปี 1904 ขณะที่เลิฟคราฟต์อายุแค่ 14 สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเขาจึงตกต่ำลง ต้องย้ายไปอยู่ห้องเช่าเล็ก ๆ กับแม่ และดับฝันที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ เพราะเรียนไม่จบไฮสคูล

และช่วงเวลานั้นเองที่เลิฟคราฟต์เริ่มเขียนเรื่องสั้นในยุคแรก ๆ ตั้งแต่ The Beast in the Cave ที่เริ่มเขียนตั้งแต่ 1904 แต่ถูกตีพิมพ์ในปี 1918 และ The Alchemist ที่เขียนในปี 1908 แต่ตีพิมพ์ในปี 1916 สาเหตุที่การตีพิมพ์ผลงานของเลิฟคราฟต์ล่าช้าไปกว่าปีที่เริ่มเขียนจริง ก็เพราะว่าช่วงเวลาเหล่านั้นเขาต้องต่อสู้อย่างหนักต่ออาการชักกระตุก ภาวะเครียดซึมเศร้า และปวดหัวขั้นรุนแรง ทำให้กว่าเขาจะเป็นที่รู้จักก็เมื่อหลังจากปี 1913 ไปแล้ว แต่ไม่ใช่จากผลงานเรื่องแต่ง แต่จากบทวิพากษ์อันเผ็ดร้อนที่เขามีต่อผลงานของ เฟรเดอริค เจ แจ็คสัน (อ่านต่อ FYI 2.) ที่ดันไปเข้าตาหัวหน้าใหญ่ของสมาคมสื่อมวลชนสมัครเล่น (UAPA)

สุดท้ายกลายเป็นว่าหนังสือเล่มแรก ๆ ของเลิฟคราฟต์ถูกตีพิมพ์ดังนี้ The Alchemist (1916), The Tomb (1922), Dagon (1919) อันเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ของเลิฟคราฟต์ที่มีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดกันป่วยเข้าโรงพยาบาลจิตเวช ก่อนจะเสียชีวิตลงในปี1921 เมื่อชีวิตเขาเริ่มคลี่คลาย เลิฟคราฟต์ ก็ได้คบหาดูใจกับ ซอนย่า กรีน ลูกครึ่งยิวรัสเซีย กระทั่งแต่งงานกันในปี1924 ก่อนจะย้ายไป บรูคลิน นิวยอร์ค

ผลงานเรื่องสั้นส่วนใหญ่ของเลิฟคราฟต์เป็นที่รู้จักผ่านการถูกตีพิมพ์ในนิตยสารรวมเรื่องแปลก Weird Tales แต่หลัง ๆ หลายชิ้นกลับไม่ได้รับการตีพิมพ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนบรรณาธิการ และนโยบายที่พยายามลดทอนความรุนแรงลง (ผลงานที่ถูกตีตกไปเหล่านั้น ภายหลังถูกตีพิมพ์หลังการตายของ เลิฟคราฟต์) ประกอบกับธุรกิจค้าหมวกของภรรยาเลิฟคราฟต์ล้มละลายลง เธอจึงทิ้งเขาให้อยู่ลำพังในนิวยอร์ค ก่อนที่เลิฟคราฟต์จะย้ายไปอยู่ย่านที่ราคาถูกกว่าในเรดฮุก ที่ซึ่งเขาถูกโจรปล้นบ้านเป็นครั้งแรก ทำให้เขาเขียน The Horror at Red Hook (พิมพ์ 1927) และ He (พิมพ์ 1926) เรดฮุกมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เนื่องจากมีผู้อพยพลี้ภัยมาอาศัยอยู่แถบนั้นเป็นจำนวนมาก ตรงนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อเขาเริ่มร่างจักรวาลคธูลู ด้วยเรื่องสั้น The Call of Cthulhu (ร่าง 1926 พิมพ์ 1928)

จักรวาลคธูลู

ประสบการณ์เลวร้ายย่านเรดฮุก ทำให้ เลิฟคราฟต์ มีอาการ Xenophobia คือเกลียดกลัวขยะแขยงต่อชาวต่างชาติ วัฒนธรรมแปลกถิ่น จนมีหลายกระแสเชื่อว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เลิฟคราฟต์เขียนถึงทวยเทพต่างโลก ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก รวมถึงมนุษย์ต่างดาว วัฒนธรรมอื่นอันน่ากระอักกระอ่วน ทวยเทพโบราณและปีศาจในนิยายของเลิฟคราฟต์จึงประหลาด พิลึกพิลั่น มีตำนานมาแต่โบร่ำโบราณก็จริง แต่ไม่เคยมีมนุษยมนาที่ไหนเคยได้ยินมาก่อน แล้วหลังการตายของเขาในปี1937 ก็มีนักเขียนอีกหลายคนที่ต่อยอดสิ่งที่เลิฟคราฟต์เริ่มเอาไว้ ฉีกออกเป็นตำนานใหม่ ๆ อีกมากมาย

‘บัดนี้นิทานทั้งหมดของผมอิงจากหลักฐานขั้นพื้นฐานที่ว่า กฎ ความสนใจ และอารมณ์ทั่วไปของมนุษย์ ไม่มีความถูกต้อง และไม่มีความสำคัญต่อจักรวาลอันใหญ่ไพศาล ไม่มีอะไรอีกแล้วนอกจากความไร้เดียงสาในนิทานที่คงรูปคงร่างของความเป็นมนุษย์ กิเลสตัณหา เงื่อนไข และมาตรฐานในแต่ละท้องถิ่น…สิ่งที่ถูกพรรนณาว่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของโลกอื่น หรือจักรวาลอื่น การบรรลุถึงแก่นแท้ในการทำความเข้าใจต่อพวกมัน ไม่อาจถูกจำกัดด้วยเวลา อวกาศ หรือมิติ เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้จัก เช่น กายเนื้อ ความดี ความชั่ว ความรัก หรือความเกลียดชัง และคุณสมบัติท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งหมด เป็นเพียงของเผ่าพันธุ์อันเล็กจ้อย และชั่วคราว…ที่เรียกว่า “มนุษยชาติ”…เมื่อเราข้ามเส้นไปสู่ความไม่รู้อันไร้ขอบเขตและน่าสะพรึงกลัว เราต้องไม่ลืมที่จะละทิ้งความเป็นมนุษย์และโลกาภิวัตน์เอาไว้ที่ธรณีประตู’ -บทบรรณาธิการ โดย เอช พี เลิฟคราฟต์ ใน The Call of Cthulhu

FYI 1. เลิฟคราฟต์ คือ โปรเจ็คต์สุดรักของ เดล โตโร

เมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา เว็บ IndieWire เปิดเผยว่า กีเยร์โม เดล โตโร ยังคงไม่พับกระดานต่อโปรเจ็คต์สุดรัก At the Mountains of Madness นิยายที่ตีพิมพ์ในปี 1936 ของเลิฟคราฟต์ เรื่องนี้ถูกให้สัมภาษณ์ทางพอดแคสต์ของช่อง The Kingcast ที่เดล โตโร ว่า “มันคือนิยายหนึ่งในสองเล่มแรกที่ผมเสนอกับทาง NetFlix (อีกเล่มคือ The Count of Monte Cristo) ที่จนป่านนี้ยังไม่ได้สร้าง แต่ผมยังไม่พับกระดานกับมันนะ”

ย้อนกลับไปในปี2010 The Hobbit ทำให้ค่ายยูนิเวอร์แซลทำเงินถล่มทะลาย ค่ายจึงประกาศว่าจะสร้าง At the Mountain of Madness โดยจะมีเดล โตโร เป็นผู้กำกับ นำแสดงโดย ทอม ครูซ และมี เจมส์ คาเมรอน เป็นผู้อำนวยการสร้าง แต่แล้วในเดือนมีนาคม 2011 ค่ายก็บอกเลิก เดล โตโร เนื่องจากหวั่นว่าหนังที่ตั้งใจจะให้เป็นเรต R แรง ๆ ด้วยทุนสร้างสูงถึง 150 ล้านเหรียญ น่าจะเสี่ยงเกินไปที่หนังจะทำรายได้

ล่าสุด เดล โตโร ประกาศว่า “บทในตอนนี้จะไม่เหมือนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีหลายอย่างเปลี่ยนไป โปรเจ็คต์ก็ลดขนาดลงได้ด้วย จากที่เคยวางไว้สูงลิ่ว คราวนี้ผมจะทำให้มันเป็นหนังทุนต่ำ แต่จะยิ่งพิสดารลึกล้ำไปกว่าตอนนั้นอย่างแน่นอน”

FYI 2. เลิฟคราฟต์ผู้เหยียดผิว

ซีรีส์ Lovecraft Country ถูกยกย่องอย่างมากในแง่ความชาญฉลาดต่อประเด็นเหยียดผิว เช่น วารสาร Chicago Tribune ชมว่า “ประสบความสำเร็จในประเด็นที่ไม่เคยมีคนคิดจะทำเลิฟคราฟต์ในฉบับคนผิวสีมาก่อน” ส่วนเว็บ The Dispatch ก็ยกย่องว่า “ตรวจสอบการเหยียดเชื้อชาติในอดีตของอเมริกาผ่านรูปแบบที่คาดไม่ถึง…และบ่อยครั้งที่ความชั่วร้ายที่แท้จริงสวมหน้ากากคนดี” ขณะที่นิตยสาร Variety ชมว่า “ความสยดสยองแบบเลิฟคราฟท์เชี่ยนครั้งนี้รุนแรงมาก…และยิ่งชั่วร้ายไปใหญ่เมื่อถูกหยิบมาเทียบกับความรุนแรงในยุคต่อต้านคนผิวสี”

ความฉลาดอย่างยิ่งของซีรีส์นี้ เหมือนผลงานมาสเตอร์พีชดีดีสักชิ้นที่ย้อนกลับไปตีแสกหน้าเจ้าของไอเดียต้นคิด เพราะอันที่จริง เลิฟคราฟต์ เป็นคนเหยียดผิวอย่างเปิดเผย ย้อนกลับไปในบทวิพากษ์ที่เลิฟคราฟต์เขียนถึงผลงานของ เฟรเดอริค เจ แจ็คสัน นั้น เลิฟคราฟต์ระบุว่า “นิยายเรื่องนี้แสดงความหลงไหลและอารมณ์อันอ่อนไหวต่อพวกนิโกรและมนุษย์วานร” รวมไปถึงในซีรีส์เอง มีตอนหนึ่งที่พระเอกผิวสีเล่าว่าพ่อเขาสอนให้ท่องกลอนเลิฟคราฟต์ที่ชื่อว่า On the Creation of Niggers อันมีท่อนสุดท้ายว่า…

‘สัตว์ร้ายชั้นต่ำที่พระเจ้าปั้นขึ้นในร่างกึ่งมนุษย์นั่น
มันถูกเติมแต่งเต็มด้วยความจัญไร และเรียกสิ่งนั้นว่า นิโกร’

ในบทความจากเว็บ Literary Hub จั่วหัวว่า เราไม่อาจเพิกเฉยต่อความเป็นคนขาวสุดโต่งของเลิฟคราฟต์ได้ เลิฟคราฟต์ผู้บงการจักรวาลแห่งความสยดสยอง ทำให้โลกรู้จักความน่าสะพรึงสุดขั้ว ทำลายจินตภาพเกี่ยวกับจักรวาลและประวัติศาสตร์ที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อคนดังอย่าง ริดลีย์ สก็อตต์ (Alian, Blade Runner, Prometheus) สตีเฟ่น คิง (The Shining, The Mist, It) จอส วีเดน (Buffy the Vampire Slayer, The Cabin in the Woods, Angel) แนวคิดแบบเลิฟคราฟต์เชียน ได้รับการฟื้นคืนชีพในวัฒนธรรมสมัยนิยมตั้งแต่แอนิเมชั่นจอมฉอดอย่าง South Park ไปจนเพลงหูเหล็กแนวเฮฟวี่เมทัล ภาพโป๊เปลือยประหลาด ๆ และเซ็กซ์ทอยฝีมือละเมียด แต่อีกด้านหนึ่งเขายังเป็นชายผิวขาวผู้เหยียดเชื้อชาติอีกด้วย เขาเคยกล่าวถึงฮิตเลอร์หลังจากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีว่า “วิสัยทัศน์ของฮิตเล่อร์ โรแมนติก และไร้เดียงสา ผมรู้ว่าเขาเป็นตัวตลก แต่พระเจ้า! ฉันชอบไอ้หมอนี่ว่ะ”

Who Fears Death (นิยายขายดีปี2010 ที่เมื่อปี2017 HBO ประกาศจะสร้างเป็นซีรีส์ที่มี จอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน แห่ง Game of Thrones เป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์) ของ เนดิ โอคอราฟอร์ นักเขียนหญิงผิวสีคนแรกที่คว้ารางวัล World Fantasy Award สาขานิยายยอดเยี่ยมมาได้ งานนี้จัดขึ้นในเมืองโพรวิเดนซ์ โรดไอร์แลนด์ บ้านเกิดของ เลิฟคราฟต์ โดยตัวรางวัลนี้ที่มีมาตั้งแต่ปี1975 เป็นรูปครึ่งบนของเลิฟคราฟต์ สร้างความขัดแย้งภายในจิตใจของ โอคอราฟอร์ อย่างยิ่งจนเธอถึงกับโวยผ่านบล็อกส่วนตัวว่า “รูปปั้นหัวชายเหยียดผิวนี้อยู่ในบ้านฉัน รูปปั้นนี้เป็นหนึ่งในเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะนักเขียน มันตั้งอยู่ในบ้านฉัน” รางวัลนี้ถูกเปลี่ยนรูปลักษณ์ในปี2016 แต่ก็ไม่วายจะถูกโต้แย้งจากนักวิชาการด้านเรื่องเล่าประหลาดผู้เชี่ยวชาญเลิฟคราฟต์เชียนชาวอเมริกัน-เชื้อสายอินเดีย อย่าง เอส ที โจชิ ให้ความเห็นว่า 1.มันคือรางวัลในแง่วรรณกรรมของเลิฟคราฟต์ มิใช่ในทางบุคลิกหรือลักษณะนิสัย 2.การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นว่าการเหยียดเชื้อชาติของเลิฟคราฟต์เป็นข้อบกพร่องที่ลบล้างความสำเร็จทางวรรณกรรมทั้งมวลของเขา

*** อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้กันว่า เลิฟคราฟต์เป็นอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ต่อต้านแนวคิดแบบมาร์กซิสม์ สนับสนุนฟาสต์ซิสม์ เชื่อในระบอบกษัตริย์ แต่น่าสนใจว่าสุดท้ายเขากลับเลือกจะแต่งงานกับภรรยาที่มีเชื้อสายยิว-รัสเซีย ด้วยเหตุผลว่า “เป็นส่วนผสมที่ลงตัวทางสายพันธุ์”

กฎหมายของจิม โครว

เส้นเรื่องของซีรีส์นี้วางอยู่ในยุคที่ยังใช้กฎหมายของจิม โครว อันเป็นกฎหมายของรัฐและท้องถิ่นที่บังคับใช้เพื่อการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในภาคใต้ของสหรัฐ รวมถึงหลายรัฐนอกเขตทางใต้ก็นำกฎหมายนี้มาใช้ร่วมด้วย เริ่มตั้งแต่ปี 1896 ไปจนถึงปี 1965

ในทางปฏิบัติกฎหมายของจิม โครว ได้กำหนดให้มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในสถานที่สาธารณะทั้งหมดในรัฐของฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา
( CSA ) กฎหมายของจิม โครว ได้รับการสนับสนุนในปี1896 จากการที่ศาลสหรัฐได้วางหลักทางกฎหมาย “แยกจากกันแต่เท่าเทียมกัน” เกี่ยวกับสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ สำหรับชาวผิวสี อันต่อมาถูกแยกไปถึงระบบการศึกษาด้วย คือมีโรงเรียนสำหรับคนดำโดยเฉพาะ
ในทางทฤษฎีหลักแบ่งแยกที่เท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยมีความเท่าเทียมสำหรับคนผิวสี คือจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ด้อยกว่าเสมอ หรือบางทีก็ไม่มีเลยด้วยซ้ำ อย่างกรณีในซีรีส์นี้จะเห็นได้ในฉากเปิดที่พระเอกนั่งรถบัสกลับบ้าน มีการจำกัดเขตให้คนผิวดำไปนั่งท้ายรถ แล้วเมื่อรถเสียกลางทาง จะมีรถเล็กของรัฐมารับผู้โดยสารตกค้าง ที่รับเฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น

จิม โครว คือใคร

จิม โครว ถูกใช้ในปี1892 ในบทความของ นิวยอร์ค ไทมส์ เกี่ยวกับรถรางในหลุยเซียน่าที่มีการแบ่งแยกพื้นที่สำหรับคนผิวสี เป็นคำที่เข้าใจง่ายเพราะมาจากการ์ตูนล้อเลียนการเต้นรำและเพลงของคนผิวสีที่ชื่อว่า Jump Jim Crow (1832)พูดง่าย ๆ ว่าเป็นคำเหยียดพวกผิวสี แต่น่าสนใจว่าเมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังจากกรณี Black Lives Matter (BLM) เมื่อปี2013 และ I can’t Breathe เมื่อปี 2014 ในเหตุความรุนแรงที่มีต่อชาวผิวสีจนเสียชีวิตนับตั้งแต่ เทรวอน มาร์ติน (อายุ17 ปี2012) เรเกีย บอยด์ (อายุ22 ปี2012) ไมเคิล บราวน์ (อายุ 18 ปี2014) อีริค การ์เนอร์ (อายุ 44 ปี2014) ฯลฯ ท่าเต้นแบบในการ์ตูน Jump Jim Crow ถูกนำมาให้ความหมายใหม่ใน MV เพลง This is America (2018) ของโดนัลด์ โกรเวอร์ ที่แม้จะเต็มไปด้วยความรุนแรง ตีสีหน้าสนุกสนาน แต่กลับท้าทายและเสียดสีตีแสกหน้าสังคมอเมริกันชนผิวขาวได้เป็นอย่างดี

เขตเมืองตะวันตกดิน

“ถ้าไม่ใช่คนขาว ก็จงออกไปจากแผ่นดินของคนขาวซะ!!”

ในซีรีส์จะมีตอนหนึ่งที่พวกพระเอกไปนั่งสั่งอาหารในร้าน แต่ทันทีที่พวกเขานั่ง พวกคนขาวก็ลุกออกจากร้านไปอย่างรังเกียจ ตามมาด้วยฝ่ายพระเอกถูกนายอำเภอยิงถล่มไล่ล่า แล้วกล่าวว่า “พวกเอ็งรู้จัก Sundown Town มั้ย” เขตเมืองตะวันตกดิน ยิงได้เลย สิ่งนี้ไม่ใช่แต่งเติมขึ้นมามั่ว ๆ ทั้งที่มันดูเซอร์เรียลเกินกว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่มันเป็นความจริง (ลองนึกเทียบอย่างกรณี กินแม็คโดนัลด์ กินแซนวิช ไปนั่งอ่านหนังสือ หรือยืนเฉย ๆ ยังถูกลากไปจับขังคุกได้ ยังเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วในประเทศแถบนี้) เมืองอาทิตย์อัสดง เป็นเขตเทศบาลสมมติที่ถูกใช้กันทั่วไปในเขตที่เรียกว่า “ขาวล้วน” อันเป็นการย่อประโยคขับไล่คนดำที่ว่า “พวกนิโกรต้องออกจากที่นี่ก่อนอาทิตย์ตกดิน” โดยรัฐอ้างความชอบธรรมเรื่อง “เพื่อป้องกันเหตุผิดวิสัยยามค่ำคืน” แต่ในทางปฏิบัตินั้นคือ เมื่ออาทิตย์ตก พวกคนขาวมีความชอบธรรมในการขับไล่ ล่า ฆ่า หรือจำคุกคนดำ และเชื่อหรือไม่จากการสำรวจในปี1960 เมืองแบบนี้มีมากถึงหมื่นแห่ง

หนังสือปกเขียว

โลกอาจจะรู้จักหนังสือชวนชิมอาหารในย่านต่าง ๆ อย่าง มิชลินไกด์ ที่ปัจจุบันให้ดาวกับร้านรสเลิศในหลากหลายประเทศ ด้วยไอเดียส่งเสริมการขายของล้อยางมิชลิน ที่ต้องการนำเสนอของอร่อยตามจุดแวะพักรถหรือทางผ่านระหว่างท่องเที่ยว แต่หนังสือปกเขียวเล่มนี้มีวิธีใช้ต่างกัน ในซีรีส์เล่าว่าคุณลุงของพระเอกเป็นนักเขียนหนังสือปกเขียว ซึ่งสิ่งนี้ จูเลียน บอนด์ อดีตประธาน สมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของผู้คนหลากสีผิว (NAACP) เคยกล่าวว่า “หนึ่งในคู่มือเอาชีวิตรอดของชีวิตที่แยกกันแต่เท่าเทียม คือ The Negro Traveller’s Green Book มันคือคู่มือเดินทางปลอดภัยสำหรับคนผิวสีที่ไม่อยากออกไปตายกลางทาง มันจะมีแนะนำว่าจุดไหนผ่านได้ ร้านไหนแวะกินได้ เมืองไหนต้อนรับคนดำ โปรดจงมีคู่มือนี้ติดไว้ประจำรถ ถ้าไม่อยากจู่ ๆ ก็หายไปเสียเฉย ๆ ระหว่างทาง มันถูกตีพิมพ์แบบอัพเดทรายปีตั้งแต่ปี1936-1966

*** ในฐานข้อมูลของ NAACP ระบุว่า ตั้งแต่ปี1882 ถึง ปี1968 มีคนผิวสีถูกคนขาวรุมประชาทัณฑ์และถูกจับแขวนคอกว่า 4,700 คน ขณะที่ในปี1865 ถึง1950 มีคนผิวสีเสียชีวิตโดยคนขาวทั้งหมดมากถึง 6,500 คน

เอ็มเม็ตต์ ทิลล์

“สันจมูกของลูกฉันเหมือนถูกสับด้วยอีโต้ ฟันของเขาที่สวยที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมา ตอนนี้เหลืออยู่แค่สองซี่ พอฉันมองแถวรูหู ฉันเห็นแสงส่องทะลุจากขมับอีกข้างนึงได้เลย พวกเขาจำเป็นต้องยิงลูกฉันขนาดนี้เลยหรือ” เป็นคำสัมภาษณ์จากปากแม่ของ เอ็มเม็ตต์ ทิลล์ เด็กชายวัย 14 ปีชาวชิคาโก ที่ถูกลักพาตัว ซ้อมทรมาน แล้วฆ่าทิ้งอย่างโหดเหี้ยมในเขตเมืองมิสซิสซิปปี้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1955
เหตุการณ์นี้ถูกเล่าในอีพีท้าย ๆ ของซีรีส์ เมื่อคนผิวสีเกือบทั้งชิคาโกร่ำไห้แห่แหนศพของเอ็มเม็ตต์ โดยที่แม่ของเขายืนยันที่จะเปิดฝาโลงให้เห็นสภาพศพของเขาโดยทั่วกัน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเอ็มเม็ตต์ไปเยี่ยมญาติที่มิสซิสซิปปี้ แล้วไปซื้อขนมในร้านของชำ ก่อนออกจากร้านเขายักคิ้วผิวปากส่งให้ แคโรลิน ไบรอันต์ คนขาวเจ้าของร้าน…ใช่แล้ว เหตุผลที่ทำให้เอ็มเม็ตต์ตายอย่างทารุณ เพียงเพราะเขาผิวปากใส่คนขาว

จากซ้าย รอย และ แคโรลีน ไบรอันต์ (ภรรยาไมแลม) และไมแลม

ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน คณะลูกขุนผู้เป็นชายผิวขาวทั้งหมด ลงมติให้ฆาตกรซึ่งก็คือ รอย สามีของแคโรลีน และไมแลม น้องชายต่างพ่อของรอย ไม่มีความผิด โดยอ้างคำให้การจาก แคโรลีน ว่า “เอ็มเม็ตต์ จับเอวฉันแล้วบอกว่า เดทกันมั้ยที่รัก แล้วคุยว่าเขาเคยมีอะไรกับหญิงผิวขาวมาก่อน” แต่ในปี2007 แคโรลีนสารภาพว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง

เอ็มเม็ตต์ถูกทารุณอย่างโหดเหี้ยมจนจำใบหน้าไม่ได้ ใช้ลวดหนามพันคอผูกกับพัดลมเหล็กขนาดใหญ่ทิ้งให้จมลงก้นแม่น้ำทัลลาฮัตชี แม้ในทางคดีฆาตกรทั้งคู่จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เมื่อนิตยสาร Look ขอสัมภาษณ์พวกเขาในปี1956 แลกกับค่าสัมภาษณ์ในราคาสี่พันเหรียญ ทั้งคู่ก็สารภาพออกมาเองเลยอย่างดุเดือดว่าฆ่าเอ็มเม็ตต์ด้วยน้ำมือตน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปีนี้เอง รัฐบาลสหรัฐในสมัยโจ ไบเดน ได้ผ่านร่างกฎหมายฆาตกรรมที่มุ่งไปที่เชื้อชาติว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง และจะต้องได้รับโทษสูงสุดคือจำคุก 30 ปี กฎหมายใหม่ฉบับนี้มีชื่อว่า กฎบัญญัติ Emmett Till Antilynching Act เพื่อย้ำเตือนถึงความผิดพลาดในคดีของเอ็มเม็ตต์ ทิลล์

ความน่าสะพรึงกลัวชวนขนหัวลุกของซีรีส์นี้ อาจไม่ใช่บรรดาปีศาจแปลกหน้าทั้งหลายที่โผล่เข้ามาตลอดเรื่อง แต่กลับคือเหตุการณ์สยดสยองต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริง หรือง่าย ๆ ว่าไม่ว่าในเรื่องนี้จะจินตนาการความสยดสยองออกมาน่าพิลึกแค่ไหน แต่กลับเทียบไม่ติดเลย กับเรื่องจริงที่มนุษย์เคยปฏิบัติต่อ ๆ กันมาด้วยความเกลียดชังอย่างโหดเหี้ยมในอดีต