ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาหลีใต้ จากสนามรบเปลี่ยนผ่าน สู่ประเทศที่มีสุขภาพดี ที่สุดของโลก

เกาหลีใต้ จากสนามรบเปลี่ยนผ่าน สู่ประเทศที่มีสุขภาพดี ที่สุดของโลก

29 มิถุนายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://eng.amc.seoul.kr/gb/lang/specialities/illness.do?id=50

ในการให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ vox.com Ezekiel Emanuel ผู้เขียนหนังสือ Which Country Has the World’s Best Health Care? กล่าวตอบคำถามที่ว่า ประเทศไหนมีระบบประกันสุขภาพดีที่สุดในโลก โดยบอกว่า คำถามนี้ไม่สามารถมีคำตอบได้ชัดเจน เพราะคำตอบขึ้นกับว่า จะให้ความสำคัญแก่หลักเกณฑ์ในด้านไหนของระบบสาธารณสุข

หากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ก็จะให้ความสำคัญในเรื่องการประกันสุขภาพที่ครอบคลุมที่ทั่วถึงทุกคน หรือเป็นระบบที่ใช้งบประมาณสูงหรือไม่ ในจุดนี้สหรัฐฯ ยังทำได้ไม่ดีพอ สำหรับคนทั่วไปอาจสนใจปัญหาที่ว่า ระบบประกันสุขภาพให้มีทางเลือกเกี่ยวแพทย์และโรงพยาบาลหรือไม่ ในประเด็นนี้ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน มาอันดับ 1 แต่หากคนไข้ไม่ต้องการที่จะร่วมจ่ายเงินในจุดให้บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐในอังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย ดีที่สุด

ภายใน 60 ปี คนเกาหลีใต้อายุเพิ่ม 30 ปี

ที่มาภาพ: amazon.com

แต่ Andrew Wear เขียนไว้ในหนังสือ Solved ว่า เกาหลีใต้คือประเทศที่เปลี่ยนจากสนามรบกลายเป็นประเทศที่มีสุขภาพดีที่สุดของโลก ชื่อเสียงของเกาหลีใต้ นอกจากเรื่องภาพยนตร์ ซีรีส์ รถยนต์ หรืออาหารกิมจิแล้ว อีกอย่างคือระบบสาธารณสุข ทุกวันนี้ อายุเฉลี่ยคนเกาหลีใต้สูงกว่าประเทศตะวันตก และในอีกไม่นาน จะมีอายุเฉลี่ยสูงสุดในโลก

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงงานชาวเกาหลีตายไปกว่า 4 แสนคนเพราะความอดอยากและสภาพการทำงานที่เลวร้าย ผู้หญิงเกาหลีกว่า 2 แสนคนถูกบังคับเป็นทาสแรงงานทางเพศ หลังสงคราม สหประชาชาติมีมติแบ่งเกาหลีออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในปี 1950 เกาหลีเหนือที่โซเวียตหนุนหลังบุกโจมตีเกาหลีใต้ สงครามเกาหลีนานกว่า 3 ปีทำให้คนเกาหลีตายไป 1.2 ล้านคน เมืองต่างๆ ในเกาหลีใต้ถูกทำลาย

หลังสงคราม คนเกาหลีใต้เผชิญกับชีวิตยากลำบากและขาดแคลนอาหาร เด็กนักเรียนต้องอาศัยอาหารที่บริจาคจากต่างประเทศ เช่น นมผงสำหรับอาหารกลางวัน เด็กที่เกิดในช่วงนี้จะมีอายุเฉลี่ย 50 ปี น้อยกว่าเด็กที่เกิดในออสเตรเลียหรือในสหรัฐฯ 20 ปี

แต่หลังสงคราม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์ ประชากร 50 ล้านคนสามารสร้างประเทศให้มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 12 ของโลก World Economic Forum ที่จัดอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศต่างๆ เพื่อชี้วัดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะยั่งยืนหรือไม่ ระบุว่าเกาหลีใต้อยู่อันดับ 15 รายได้ต่อคนเพิ่มจาก 100 ดอลลาร์ในปี 1960 เป็น 39,000 ดอลลาร์ ทุกวันนี้ คนเกาหลีใต้มีรายเทียบเท่ากับคนญี่ปุ่นหรืออิตาลี

  • ก้าวพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” แบบอย่างความสำเร็จของเกาหลีใต้
  • วิธีการเพิ่มอายุเฉลี่ยประชากร

    คู่ขนานไปกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกาหลีใต้ก็ได้รับการปรังปรุงขึ้นอย่างมาก ปี 1960 คนเกาหลีใต้มีอายุเฉลี่ยที่ 53 ปี ต่ำกว่าอายุเฉลี่ยของประชากรในกลุ่มประเทศร่ำรวย OECD ถึง 14 ปี เกาหลีใต้ทำให้อายุประชากรเฉลี่ยเท่ากับ OECD ได้ในปี 2005 ปัจจุบัน คนเกาหลีใต้มีอายุเฉลี่ย 83 ปี รองจากญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ที่ 84 ปี แต่ภายในเวลาไม่ถึง 60 ปี เกาหลีใต้ทำให้ประชากรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30 ปี

    หนังสือ Solved บอกว่า การเพิ่มอายุเฉลี่ยของประชากรให้สูงขึ้นเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ หยุดยั้งการเสียชีวิตในช่วงต้นอายุของประชากร และการทำให้ประชากรที่สูงอายุมีชีวิตยาวนานขึ้น

    นักประชากรศาสตร์ของเกาหลีใต้ ได้ค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในแต่ละช่วงอายุ และค้นพบว่าการลดการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดให้ได้มากสุด และการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะมีผลต่อการลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควรมากที่สุด

    มาตรการรัฐบาลเกาหลีใต้เรื่อง โครงการส่งเสริมสุขภาพสตรีที่ตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด และเด็กทารก มีส่วนทำช่วยให้อายุเฉลี่ยคนเกาหลีใต้สูงขึ้นถึง 17-18% ในทศวรรษ 1960 อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดของเกาหลีใต้อยู่ที่ 60 คนต่อทารก 1,000 คน ปัจจุบันลดมาอยู่ที่ 2.8 คน ถือเป็นอัตราต่ำสุดของโลก

    การลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ด้วยวิธีการปรับปรุงถนนหนทาง การเรียนขับรถยนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้การเสียชีวิตบนถนนเทียบกับประชากร 1 ล้านคนลดจาก 278 คนในปี 1996 เป็น 81 คนในปี 2017 ทุกวันนี้ คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มีชีวิตยาวนานจนถึงวัยชรา

    ที่มาภาพ: wikipedia.org

    ผลพวงที่มาจากการเปลี่ยนผ่าน

    ความสำเร็จด้านสุขอนามัยของเกาหลีใต้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านของฐานะทางเศรษฐกิจ ในปี 1962 คนเกาหลีใต้แค่ 18% เข้าถึงน้ำประปา และ 4 ใน 5 ของคนเกาหลีใต้ติดเชื้อโรคจากทางน้ำ ทำให้ในปี 1965 รัฐบาลกำหนดให้การมีน้ำดื่มที่สะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม

    ในทศวรรษ 1950 เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลก แต่นับจากปี 1970 เป็นต้นมา ผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อคนในแต่ละปีของเกาหลีใต้เพิ่มมาถึง 11,000% ในช่วงเวลาเดียวกัน รายได้ต่อคนเพิ่มจาก 6% ของค่าเฉลี่ยของกลุ่ม OECD มาเป็น 89% รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขอนามัยของประชาชนได้รับการปรับปรุงที่ดีขึ้นอย่างมาก ธนาคารโลกระบุว่า รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้น 10% จะมีผลทำให้อายุเฉลี่ยประชากรเพิ่มขึ้น 2.2 เดือน

    หนังสือ Solved บอกว่า ความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจยังนำไปสู่ความสำเร็จด้านการศึกษาของประชากร ทศวรรษ 1970 อัตราการสำเร็จการศึกษามัธยมปลายมีแค่ 40% เพราะครอบครัวรายได้ต่ำและในชนบทให้ลูกหลานออกมาทำงานเมื่ออายุยังน้อย เมื่อเศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีความเป็นไปได้ของการเลื่อนฐานะทางสังคม ภายในเวลาไม่ถึง 50 ปี อัตราความสำเร็จของการศึกษระดับมัธยมพุ่งเป็น 100%

    การศึกษาก็เหมือนรายได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขอนามัยของประชาชนดีขึ้นอย่างมาก จากการศึกษาของกลุ่ม OECD คนที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจะมีชีวิตยาวนานกว่าคนที่จบการศึกษาที่ต่ำกว่า 6 ปี เพราะคนมีการศึกษาสูงจะได้รับข้อมูลและการรับรู้ที่ดีกว่าในเรื่องพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่างๆ

    ประกันสุขภาพแบบเกาหลีใต้

    หนังสือ Solved บอกว่า เมื่อสาธารณสุขพื้นฐานได้รับการปรับปรุง และโรคเฉพาะถิ่นของประชาชนถูกขจัดออกไปจนหมด สิ่งที่เหลือก็อยู่คือ เกาหลีใต้จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดี คำตอบคือระบบประกันสุขภาพที่ทั่วถึง (universal healthcare)

    การนำระบบประกันสุขภาพทั่วถึงมาใช้ในช่วงปี 1977-1989 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้สุขภาพอนามัยของคนเกาหลีใต้ได้รับการปรับปรุงอย่างมาก เกาหลีก็เหมือนกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ คือ 100% ของประชากรได้รับการคุ้มครองจากระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐ

    ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขมีความเห็นตรงกันว่า การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น ระบบประกันสุขภาพหมายถึงการให้บริการของรัฐด้านสาธารณสุขแก่ทุกคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีเงินจ่ายค่าบริการหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สาธารณสุขของชุมชนถูกยกระดับให้สูงขึ้น และระบบประกันสุขภาพของเกาหลีใต้ก็มีประสิทธิภาพมาก ใช้เงินงบประมาณ 8.1% ของ GDP ขณะที่สหรัฐฯ 16.9% อังกฤษ 9.8% และออสเตรเลีย 9.3%

    ระบบประกันสุขภาพทำให้คนเกาหลีใต้ได้รับบริการตรวจสุขภาพฟรี ทั้งนี้ จำนวนครั้งของการตรวจสุขภาพฟรีขึ้นอยู่กับอายุ เช่น คนมีอายุมากกว่า 40 ปี จะได้รับการตรวจสุขทั่วไป 2 ปีต่อ 1 ครั้ง เช่น การเอกซเรย์ปอด การตรวจเลือด และตรวจหามะเร็งต่างๆ การให้บริการด้านการป้องกันทางสาธารณสุขจึงให้ผลดีอย่างมาก

    เจ้าหน้าที่สถานทูตออสเตรเลียในกรุงโซล บอกกับ Andrew Wear ผู้เขียน Solved ว่า คนเกาหลีใต้ไปพบแพทย์บ่อย ไม่ว่าจะเป็นคลีนิกชุมชนหรือโรงพยาบาล เพราะค่าใช้จ่ายไม่แพงและสะดวก ทำให้แพทย์สามารถระบุอาการโรคได้ในระยะเริ่มแรก ประชาชนร่วมจ่ายค่าบริการน้อยมาก เช่น การพบแพทย์เกี่ยวกับการเจ็บป่วยทั่วไป คนไข้จะเสียเงิน 4000 วอนหรือ 3.5 ดอลลาร์

    หนังสือ Solved ยังกล่าวว่า เกาหลีใต้ยังทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่ทันสมัยที่สุดของโลก หากเจ็บไข้ไม่สบายในประเทศนี้ ประกันได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด นิตยสาร Newsweek เคยจัดอันดับ 100 โรงพยาบาลดีที่สุดของโลก ปรากฏว่าเป็นโรงพยาบาลในเกาหลีใต้ 10 แห่ง และเป็นโรงพยาบาลในกรุงโซล 3 แห่ง คือ Asan Medical Center, Samsung Medical Center และ Seoul National University Hospital

    ที่มาภาพ : https://eng.amc.seoul.kr/gb/lang/specialities/illness.do?id=50

    เกาหลีใต้ให้บทเรียนอะไร

    หนังสือ Solved กล่าวว่า บทเรียนแรกที่ได้จากเกาหลีใต้คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจนำไปสู่อายุที่ยืนยาวขึ้นของประชาชน การพัฒนาในระยะ 50 ปีของเหลีใต้แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาที่เข้มแข็งและการปรับปรุงมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีส่วนอย่างมากในเรื่องการพัฒนาสาธารณสุขและชีวิตที่ยืนยาว การพัฒนาเศรษฐกิจยังทำให้มีเงินมากพอที่จะนำไปใช้ด้านสาธารณสุข แต่ระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดจะต้องกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง

    ประการที่ 2 ระบบประกันสุขภาพที่ทั่วถึงจะต้องทั่วถึงจริงๆ หากเป็นบริการสุขภาพที่ประชาชนไม่สามารถมีเงินจ่ายค่าบริการ คนเราก็จะหลีกเลี่ยงการไปพบแพทย์ ไปตรวจสุขภาพ หรือซื้อยาที่แพทย์สั่ง ระบบประกันสุขภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการปรับปรุงสาธารณสุขของประชาชน เพราะเป็นโล่ปกป้องทางการเงินแก่ประชาชนจากค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาล และเป็นหลักประกันว่า ประชากรทั้งหมดจะสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข

    ประการที่ 3 การเติบโตทางเศรษฐกิจและประเทศมีรายได้สูง มีส่วนทำให้สุขภาพของประชากรดีขึ้น ประเทศที่มั่งคั่งแทบจะเดินมาถึงจุดที่สามารถขจัดการเสียชีวิตของประชาชนก่อนวัยอันควร คนแทบจะทุกคนมีชีวิตอยู่จนถึงวัยเกษียณ

    แต่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว ในตัวมันเองไม่ได้ทำให้ประเทศจะมีภาวะสาธารณสุขดีที่สุด สิ่งนี้ยังต้องการปัจจัยหลายอย่าง เช่น ประชากรมีการศึกษาดี ระบบประกันสุขภาพที่เป็นแบบความเท่าเทียม และประชาชนมีวิถีชีวิตที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ อันได้แก่การทานอาหารที่สมดุล การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์

    เกาหลีใต้มีปัจจัยทั้งหมดนี้ รวมทั้งประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ ประเทศเอเชียดังกล่าวได้ประโยชน์จากการเติบตางเศรษฐกิจ โดยนำสิ่งนี้มาสร้างระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดของโลกขึ้นมา

    เกาหลีใต้ยังรักษาธรรมเนียมการทานอาหารดั้งเดิม หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบตะวันตกที่มากเกินไป เช่น ทานอาหารสำเร็จรูป การไม่ออกกำลังกาย และการมีภาวะน้ำหนักมากเกินไป

    เอกสารประกอบ
    Which country has the world’s best health care system? 24 October 2020, www.vox.com
    Solved, Andrew Wear, Black Inc., 2022.