ThaiPublica > คอลัมน์ > ความไม่แน่นอนของรายได้ครัวเรือนกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยในชนบท

ความไม่แน่นอนของรายได้ครัวเรือนกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยในชนบท

9 มิถุนายน 2022


ศศิวุฑฒิ์ วงษ์มณฑา [email protected] มหาวิทยาลัยบูรพา

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/abridged

คนส่วนใหญ่มักเชื่อกันว่าการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตและช่วยสร้างโอกาสในการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว ในระดับนโยบาย การขยายโอกาสทางการศึกษายังมีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะสมจากรุ่นสู่รุ่นและสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusive growth) อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจในสังคมไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้และทรัพย์สินต่ำ

บทความนี้จะนำเสนอข้อค้นพบเชิงประจักษ์ว่า นอกจากการมีรายได้ต่ำหรือฐานะยากจนจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย การมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นชั่วคราวของรายได้ ส่งผลให้การคงอยู่ในระบบโรงเรียนของนักเรียนไทยลดลง อย่างไรก็ดี ครัวเรือนมักมีแนวโน้มที่จะชดเชยการให้บุตรหลานออกจากโรงเรียน เมื่อเผชิญกับการมีรายได้ไม่แน่นอน โดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายการศึกษาให้กับบุตรหลานที่อายุน้อยกว่าและยังอยู่ในระบบโรงเรียน

เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายการศึกษาของเด็กไทย จะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการลงทุนด้านการศึกษาระหว่างครัวเรือนในเมืองและในชนบท และระหว่างครัวเรือนที่มีระดับรายได้ต่างกัน จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Account: NEA)1 ปี 2562 พบว่า ครัวเรือนไทยที่มีเด็กศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ย 10,910 บาทต่อคนต่อปีสำหรับเด็กในเมือง และ 8,720 บาทต่อคนต่อปีสำหรับเด็กในชนบท ซึ่งต่ำกว่าเด็กในเมืองประมาณร้อยละ 20 หากพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนก็จะพบแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในทำนองเดียวกัน โดยร้อยละ 10 ของครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตรหลานมากถึง 15,290 บาทต่อปี ในขณะที่เด็กที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยสุด มีค่าใช้จ่ายเพียง 4,900 บาทต่อปีเทียบเท่าประมาณหนึ่งในสามของเด็กในเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำของการลงทุนทางการศึกษายิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของค่าเล่าเรียนในค่าใช้จ่ายการศึกษารวม โดยค่าเล่าเรียนมีสัดส่วนเกือบครึ่ง (ร้อยละ 46) ของค่าใช้จ่ายการศึกษารวมสำหรับเด็กในเมือง ในขณะที่สัดส่วนค่าเล่าเรียนของเด็กชนบทอยู่ที่ประมาณหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายรวม ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีสัดส่วนค่าเล่าเรียนมากถึงร้อยละ 56 เปรียบเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยสุดที่มีสัดส่วนค่าเล่าเรียนเพียงร้อยละ 24 ต่อค่าใช้จ่ายการศึกษารวม

เราจึงเห็นได้ว่า ครัวเรือนในเมืองหรือครัวเรือนที่มีฐานะดีมีการลงทุนการศึกษาบุตรหลานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากเด็กจากครอบครัวรายได้น้อยที่ได้รับการสนับสนุนค่อนข้างจำกัด โดยความแตกต่างนี้อาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทุนมนุษย์และโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

นอกจากการสนับสนุนทางการศึกษาของครัวเรือนเองแล้ว นโยบายสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Basic education) ของภาครัฐตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กไทย ภาพที่ 1 แสดงอัตราการคงอยู่ของนักเรียนที่เริ่มเข้าศึกษาประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2539 2545 และ 2550 รวม 3 รุ่น พบว่า อัตราการคงอยู่ของนักเรียนจนถึงจบชั้น ม.6 (รวม ปวช.) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 51 สำหรับเด็กที่เข้าประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี 2539 เพิ่มเป็นร้อยละ 63 และร้อยละ 70 สำหรับเด็กที่เข้าประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี 2545 และ 2550 ตามลำดับ สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณการศึกษาของภาครัฐที่ได้ใช้ประมาณสองในสามของงบประมาณรวมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กไทย

อย่างไรก็ตาม สถิติข้างต้นเป็นการนำเสนอในภาพรวมระดับประเทศ หากพิจารณาเฉพาะเด็กในพื้นที่ชนบทและครอบครัวที่ยังมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทางการเกษตรและมีรายได้ไม่แน่นอน อัตราการคงอยู่ในระบบการศึกษาน่าจะต่ำกว่านี้

ภาพที่ 1 อัตราการคงอยู่ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
หมายเหตุ: ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2565) อ้างอิงจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ อัตราการคงอยู่ของนักเรียนระดับ ม.ปลาย รวมนักเรียนที่ศึกษาต่อสายอาชีพระดับ ปวช.

การที่ครัวเรือนมีรายได้ไม่แน่นอนเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนการศึกษาบุตรหลาน โดยเฉพาะการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงแม้ว่าการสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง แต่การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการขาดรายได้จากการทำงาน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีบุตรหลานในวัยเรียนหลายคน ยิ่งไปกว่านั้น การมีรายได้ไม่แน่นอนยังทำให้การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบทำได้จำกัด และการกู้ยืมเงินนอกระบบหรือขายทรัพย์สินที่สร้างรายได้ (Productive assets) มีต้นทุนสูงและอาจทำให้สถานการณ์ทางการเงินยิ่งแย่ลง ดังนั้น เมื่อครัวเรือนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ลดลงมากหรือมีความผันผวนสูง อาจมีความจำเป็นต้องให้บุตรหลานออกจากระบบการศึกษาเพื่อทำงานประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาผลกระทบทางรายได้และข้อจำกัดการกู้ยืมต่อการตัดสินใจลงทุนทางการศึกษาของบุตรหลาน2 โดยใช้ข้อมูลตัวอย่างซ้ำของครัวเรือนไทยเขตชนบทจากโครงการ Townsend Thai Project ระหว่างปี 2556-2560 ที่มีบุตรหลานอายุระหว่าง 6-18 ปี จำนวน 1,511 คน จาก 820 ครัวเรือน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรควบคู่กับการหารายได้นอกภาคเกษตร และงานศึกษานี้ได้นำความผันผวนของปริมาณน้ำฝนระดับจังหวัดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 20 ปี มาใช้เป็นตัววัดความไม่แน่นอนของรายได้

  • รัฐหั่นงบเด็กแรกเกิด-6 ปี 600 บาท/คน/เดือน ปี’66 ไปไม่ถึงสิทธิถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน
  • “เรียนฟรี 15ปี” ไม่อยู่จริง เด็กยากจนพิเศษ 2.4 ล้าน ส่อหลุดนอกระบบ
  • ภาระค่าใช้จ่ายรับเปิดเทอม เรียนฟรี 15 ปี ไม่ใช่คำตอบ?
  • ผลการศึกษาพบว่า การมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้โอกาสการศึกษาต่อของเด็กไทยลดลงมากถึงร้อยละ 10 โดยการเพิ่มขึ้นชั่วคราวของรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากราคาพืชผลการเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานมากขึ้นในช่วงดังกล่าว และทำให้เด็กส่วนหนึ่งออกจากระบบโรงเรียนมาทำงาน โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย อย่างไรก็ดี ครัวเรือนมีแนวโน้มชดเชยการที่ให้บุตรหลานออกจากโรงเรียนโดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตรหลานที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาร้อยละ 1.7 (โดยไม่ปรากฏความแตกต่างระหว่างเด็กชายและหญิง) สะท้อนว่าครัวเรือนไทยยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนการศึกษาบุตรหลาน

    นัยยะเชิงนโยบาย ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับครัวเรือน หากต้องการให้เด็กไทยได้รับประโยชน์เต็มที่จากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ การช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยกำหนดเกณฑ์คัดเลือกอย่างเหมาะสมให้กับเด็กที่มีฐานะยากจนหรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรง เช่น ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ การเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตของหัวหน้าครอบครัว ภัยธรรมชาติ เป็นต้น รวมทั้งการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบและระบบประกันภัยเพื่อให้ครัวเรือนบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้ครัวเรือนมีรายได้มั่นคงและสามารถลงทุนการศึกษากับบุตรหลานได้อย่างต่อเนื่อง

    หมายเหตุ :
    1. บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Account of Thailand: NEA)
    2.ศศิวุฑฒิ์ วงษ์มณฑา (2564). ผลกระทบทางรายได้และข้อจำกัดการกู้ยืมกับโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยในชนบท (Abridged No. 18/2021). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

    ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์