ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐหั่นงบเด็กแรกเกิด-6 ปี 600 บาท/คน/เดือน ปี’66 ไปไม่ถึงสิทธิถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน

รัฐหั่นงบเด็กแรกเกิด-6 ปี 600 บาท/คน/เดือน ปี’66 ไปไม่ถึงสิทธิถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน

8 มิถุนายน 2022


ทีดีอาร์ไอเปิดผลศึกษาสนับสนุนรายได้เด็กแรกเกิด- 6 ปี 600 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย แถมถูกหั่นงบประมาณ ปี2566 จาก 3 หมื่นล้านเหลือ 1.6 พันล้าน เครือข่ายการขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรก 340 องค์กร ชี้สวัสดิการเด็กยังเป็นเรื่องการสงเคราะห์ไปไม่ถึงสวัสดิการถ้วนหน้า

หลัง พ.ร.บ งบประมาณ ปี 2566 ผ่านการพิจารณาวาระแรกไปแล้ว แต่พบปัญหางบประมาณการอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสู่ และแก้ไขปัญหาความยากจนไม่ได้ รับการจัดสรรตาม มติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่ให้อุดหนุนแบบถ้วนหน้าในอัตรา 600 บาท เริ่มตั้งแต่ ปี 2565 แต่พบว่า การจัดสรรงบประมาณ ปี 2566 ให้เด็กแรกเกิด เพียง 2.58 ล้านคน หรือใช้งบประมาณ 16,321.18 ล้านบาท จากจำนวนเด็กแรกเกิดทั้งหมด 4.2 ล้านคน เพื่อผลักดันให้การจัดสรรงบประมาณปี 2566 เป็นไปตาม เป้าหมายสู่ความถ้วนได้

เครือข่ายการขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรก 340 องค์กร อาทิ คณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมาธิการการแรงงาน คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดในงานเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 : ทำอย่างไรให้บรรลุมติ กดยช. เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรัฐสภาตระหนักถึงความสำคัญของสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และเห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลควรต้องเพิ่มงบประมาณสำหรับสวัสดิการดังกล่าว

นางสุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่างบประมาณในการสนับสนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีในปีงบประมาณ 2566 ไม่ได้จัดสรรให้ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่ให้อุดหนุนแบบถ้วนหน้าในอัตรา 600 บาท เริ่มตั้งแต่ปี 2565 โดยพบว่ามีการสนับสนุนงบประมาณเพียง 2.58 ล้านคน ใช้งบประมาณ 16,321.18 ล้านบาท จากจำนวนเด็กทั้งหมด 4.2 ล้านคน ซึ่งหากสนับสนุนเด็กทุกคนแบบถ้วนหน้าจะใช้งบประมาณเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่ต้องผลักดันให้จัดสรรงบประมาณให้กับเด็กแรกเกิดให้เพียงพอ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้จะจัดสรรให้กับเด็กยาจนเป็นอันดับแรก แต่ก็พบว่า มีเด็กที่ตกหล่นไม่ได้รับสิทธิ์ 30% จากกระบวนการคัดกรองความจน หากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อเด็กเพียงจัดสรรงบประมาเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิถ้วนหน้าตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ที่ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 แต่ยังไม่มีการดำเนินการ

“การจัดสรรงบประมาณเพื่อเด็กแรกเกิด จนถึง 6 ขวบ ยังเป็นเรื่องของการสงเคราะห์สำหรับเด็กยากจน ที่มีปัญหาเรื่องของการคัดกรอง ทำให้มีเด็กตกหล่นจำนวนมาก แต่การจัดสรรให้กับเด็กแบบถ้วนหน้าจะเป็นเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับ”

ที่มาภาพ : UNICEF

วิจัยพบเงินอุดหนุน 600 บาทไม่เพียงพอ

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เปิดงานวิจัยทำไมต้องสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสู่ความถ้วนหน้าว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการตามโครงการนี้พบว่าเงินอุดหนุนที่ให้กับครอบครัวที่ยากจนเกิดประโยชน์จริงในการดูแลเด็กแรกเกิด แต่มีปัญหาว่ามีเด็กแรกเกิดจำนวนมากที่ไม่ได้รับสิทธินั้น ถึงเวลาที่จะให้การจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็นสิทธิที่จัดสรรแบบถ้วนหน้า ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และตามบัญญัติการคุ้มครองเด็กตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้จากการศึกษาประเมินการดำเนินการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงเด็กแรกเกิดในปี 2562 พบว่า มีเด็กยากจนตกหล่นไม่ได้เงินอุดหนุกมากถึง 30% ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของเด็กที่ควรได้รับประโยชน์ ขาดโอกาสที่จะมีภาวะโภชนาการที่ดี ขาดการเข้าถึงบริการของรัฐ

นอกจากนี้ยังพบว่า เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาทต่อเดือน ที่ได้รับมาตั้งแต่ปี 2559 ไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็ก คือน้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริง ที่ครอบครัวใช้จ่ายในการดูแลเด็กแรกเกิด

ดร.สมชัย ได้เปิดงานศึกษา เรื่องความพอเพียงของเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริง โดยใช้วิธีการศึกษาแบบเจาะส้มภาษณ์กลุ่มแม่หรือผู้ดูแลเด็ก กว่า 4,000 คนพบว่าเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดไม่เพียงพอในการใช่จ่าย โดยพบว่าค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวใช้ในการดูแลเด็ก อยู่ที่ประมาณ 3,373 บาทต่อเดือน ทำให้ครอบครัวที่ดูแลเด็กแรกเกิดยังมีปัญหาค่าใช้จ่าย ที่ส่งผลกระทบต่อการดูแลเด็กให้มีคุณภาพได้ โดยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ควรจะอยูที่ 1,500 บาท่อเดือน

“รัฐควรจะพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก ไม่จำเป็นต้องเพิ่มให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริง โดยเห็นว่าหากเพิ่มเงินอุดหนุนอยู่ที่ 1,200-1,500 บาทต่อเดือน จะช่วยค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กให้กับครอบครัวที่ยากจนได้ 48-61 % ตามลำดับ”

ทั้งนี้ทีดีอาร์ไอเสนอทางเลือกเชิงนโยบายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นแบบถ้วนหน้า และเพิ่มเงินอุดหนุนให้เพียงพอ คือ เพิ่มเงินอุดหนุน จาก 600 บาท เป็น 800 บาท, 1,000 บาท, 1,200 บาท และ 1,500 บาทต่อเดือน

“ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกำลังเผชิญกับดักรายได้ปานกลาง เราไม่สามารถปล่อยให้เด็ก ๆ สูญเสียโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพได้เลย ค่าเสียโอกาสนั้นราคาแพงเกินไป”

นอกจากนี้ 1. ขยายความคุ้มครองเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีทุกคน 2.ขยายการคุ้มครองเด็กทุกคนเริ่มทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 3. เปลี่ยนเกณฑ์อุดหนุนทุกครอบครัว ยกเว้นครอบครัวที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัfเลือกในเรื่องผู้มีฐานะ โดยรัฐบาลมีข้อมูลรายได้อยู่แล้ว

ส่วนงบประมาณที่ไปทำให้เกิดสวัสดิการ อุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกแบบถ้วนหน้า หากจ่ายเงินอุดหนุนเท่าเดิมคือ 600 บาท ใช้งบประมาณปี 2566 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท สามารถสนับสนุนเด็กแรกเกิดจำนวน 4.2 ล้านคน แต่หากเพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 800 บาท จะใช้งบประมาณสนับสนุน 39,606 ล้านบาท

ที่มาภาพ : UNICEF

เงินเด็กแรกเกิดถูกหั่นไปไม่ถึงสวัสดิการถ้วนหน้า

การสนับสนุนงบประมาณเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ยังไม่สามารถทำตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติที่ให้เริ่มจัดสรรงบประมาณแบบถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2566 โดยสำนักงบประมาณตัดงบประมาณเหลือเพียง 16,000 ล้านบาท

นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ได้ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน คนละ 600 บาทต่อเดือน ประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่สำนักงบประมาณฯ ถูกตัดงบประมาณเหลือ 16,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 เข้าสู่คณะรัฐมนตรี เงินอุดหนุนเด็กจึงเป็นเงินแบบสงเคราะห์ไม่ถ้วนหน้าเช่นเดิม แต่อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้เกิดความถ้วนหน้าในเด็ก จะต้องผลักดันต่อไป เพราะที่ผ่านมาโครงการนี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กแรกเกิดมาก

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะปรับแก้งบประมาณ หลังจากที่ผ่านสภาผู้แทนราษฏรไปแล้ว ซึ่งกรรมาธิการเสวนาประกอบด้วย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน/กรรมาธิการงบประมาณ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง กรรมาธิการงบประมาณ นายนพพล เหลือทองนารา กรรมาธิการงบประมาณ ต่างเห็นว่า การแปรญัติพ.ร.บ.งบประมาณในวาระ 2 เพื่อเพิ่มปรับเพิ่มงบประมาณ ทำไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญ ทำได้เพียงพิจารณาตัดงบประมาณเท่านั้น ดังนั้นการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนเด็กแรกเกิด ใน พ.ร.บ.งบประมาณ วาระสองจึงเป็นไปไม่ได้
แต่ยังมี อีกแนวทางคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้งบกลางที่มีอยู่ มาสนับสนุนเป็นเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า แต่กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ จะต้องมีความเห็นร่วมกันและพร้อมใจกันในการตัดงบประมาณเพื่อนำไปรวมไว้ในงบกลาง ซึ่งอยู่ในอำนาจนายกฯ แต่ก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน

ยูนิเซฟเรียกร้องให้ขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นแบบถ้วนหน้า

ขณะที่นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาที่จัดขึ้นที่รัฐสภาว่า “การขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าในเวลานี้ถือว่าจำเป็นยิ่งกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ครอบครัวจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้หรือตกงาน วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างความเปราะบางให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ก่อนการแพร่ระบาดพ่อแม่ผู้ปกครองต่างต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลลูกไปพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว พอเกิดวิกฤติก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในขณะที่โอกาสหารายได้กลับลดลง การขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนให้กับทุกครอบครัวที่มีเด็กเล็กจึงเป็นการช่วยให้พวกเขามีรายได้ขั้นพื้นฐาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพให้กับประเทศด้วย”

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถือเป็นการคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำสำหรับเด็กเล็ก โดยริเริ่มในปี 2558 และขยายความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีจำนวน 2.3 ล้านคนได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี

ที่มาภาพ : UNICEF

เมื่อเดือนกันยายน 2563 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการให้ขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันกำลังรอการพิจารณาและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยหากได้รับการอนุมัติ จะครอบคลุมเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จำนวนทั้งหมด 4.2 ล้านคนทั่วประเทศ

การขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกราว 15,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 0.16 ของประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศปี 2567 อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ใช้จะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราการเกิดในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าในปี 2570 งบประมาณที่ใช้จะอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีหลักฐานชี้ชัดว่าประเทศไทยมีความสามารถในการจัดงบประมาณเพื่อขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมโดยยังคงรักษาความยั่งยืนทางการคลังไว้ได้

นางคิมกล่าวเสริมว่า “การลงทุนในช่วงปฐมวัยของเด็ก ถือเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดและคุ้มค่าที่สุด โดยประเทศไทยมีศักยภาพสามารถทำได้ เพราะช่วงหกปีแรกของชีวิตเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเด็กทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถมีชีวิตที่แข็งแรง เรียนรู้อย่างเต็มที่ มีรายได้ดีในอนาคต ตลอดจนมีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น และนั่นหมายความว่าการเพิกเฉยอาจจะมีราคาที่แพงกว่าการลงทุนให้กับเด็ก ๆ ยูนิเซฟหวังว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าตามมติ กดยช. ซึ่งถือเป็นการลงทุนในเด็กในช่วงที่สำคัญที่สุดของชีวิต”