ThaiPublica > คอลัมน์ > อินเดียนำหรือตามระเบียบโลกใหม่?

อินเดียนำหรือตามระเบียบโลกใหม่?

27 มิถุนายน 2022


กวี จงกิจถาวร

นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที เดินทางถึงเยอรมนีเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่มาภาพ : https://www.thehindu.com/news/

วันนี้ อินเดียเผชิญทางสองแพร่งคือ อินเดียจะทำตัวเหมือนเดิม อยู่เบื้องหลังในเวทีการเมืองโลกไม่ออกหน้าออกตา หรืออินเดียยุคใหม่มีพลังและความพร้อมที่จะแสดงตัวแสดงจุดยืนในฐานะเป็นชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก

พฤติกรรมของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ที่ผ่านมามีท่าทีกลางๆ มีการออกหน้าออกตาในบางครั้ง หลบฉากถอยในบางครั้ง

สงครามรัสเซียกับยูเครนทำให้อินเดียโดดเด่นขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ร่วมมือกันกดดันให้รัฐบาลอินเดียประณามรัสเซียในการรุกล้ำอธิปไตยของยูเครน และแสดงตัวว่าอยู่ข้างโลกประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเสาหลัก

ปรากฏว่า อินเดียได้ยืนหยัดกับจุดยืนตัวเองอย่างไม่สั่นคลอนเลยแม้แต่นิดเดียว เหตุผลของอินเดียนั้นเรียบง่ายมาก คือ มันเป็นผลประโยชน์แห่งชาติอินเดียที่จะไม่เข้าข้างใครในสงครามครั้งนี้ เป็นที่รู้กันในวงการเศรษฐกิจโลกดีว่า อินเดียต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานของต่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย ตลอดเวลาที่ผ่านมารัสเซียได้ขายน้ำมันราคาถูกต่ำกว่าระดับโลกให้กับอินเดีย นอกเหนือจากนั้น อินเดียยังพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์เกือบทุกชนิดที่นำเข้าจากรัสเซีย

ในเวทีการเมืองโลกอินเดียมีนโนบายการทูตที่ชัดเจนคือเป็นกลางมาตลอด แต่ในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโมทีเริ่มเปลี่ยนทิศทางการทูตอินเดียหันไปทางโลกตะวันตกมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากสงครามชายแดนระหว่างอินเดียกับจีนในบริเวณเทือกเขาหิมาลัยเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2020 ทำให้ทหารอินเดีย 20 นายเสียชีวิต

หลังสงครามครั้งนี้ ท่าทีอินเดียยิ่งชัดว่าต้องการเพื่อนใหม่ๆ ที่จะมาคานพลานุภาพของจีนในยุคที่จีนกำลังพุ่งทะยานในทุกมิติ ก่อนหน้านี้สัมพันธ์อินเดียกับจีนเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะอินเดียพึ่งจีนในเรื่องสินค้าอุปโภคทุกชนิด รวมทั้งระบบสื่อสารไอซีที

พอมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครนปลายกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้อินเดียแสดงตัวชัดเจนว่าไม่เอาด้วยกับจุดยืนหรือท่าทีของโลกตะวันตก ทำเอาสหรัฐอเมริกาและยุโรปผิดหวังมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มควอด (QUAD) ที่อินเดียเป็นสมาชิกอยู่ ที่น่าแปลกใจคือ จุดยืนของอินเดียได้รับการสนับสนุนจากประเทศเล็กๆ ที่กำลังพัฒนาทั่วโลก เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการเลือกข้าง เช่นกันแต่พูดมากไม่ได้

ในหมู่สมาชิกอาเซียนมีท่าทีหลากหลาย มีทั้งสิงคโปร์ที่สนับสนุนโลกตะวันตกพร้อมออกมาตรการคว่ำบาตร ส่วนเวียดนามและลาวได้งดออกเสียงพร้อมกับอินเดีย เกาหลีเหนือ และจีน ส่วนที่เหลือของสมาชิกอาเซียนออกมาแบบกลางๆ คือมีการประนามการรุกรานประเทศอื่นๆ ที่ผิดหลักการกฎบัตรองค์การสหประชาชาติ แต่ไม่มีการเอ่ยชื่อประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้

ในขณะนี้มีการถกเถียงกันมากว่า ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระเบียบการเมืองโลกใหม่ ซึ่งกำลังจะก่อร่างสร้างตัว ว่าจะมีอินเดียเป็นตัวยืนหรือเปล่า ประเด็นคือ อินเดียพร้อมหรือยังที่จะเข้ามารับบทบาทเป็นผู้นำทางเลือก

ผู้เขียนเพิ่งกลับจากอินเดียเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการและคลังสมองหลายกลุ่ม พอสรุปได้ว่า อินเดียไม่พร้อมที่จะโดดเข้ามาในเวทีโลก เพราะมีปัจจัยท้าทายในบริบทการเมืองภายในมากมาย

อินเดียมีประชากร 1.5 พันล้านคน ส่วนใหญ่ยังมีความเป็นอยู่ที่ยากจน การนำเอาทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนไปใช้ที่อื่นๆ มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักการเมืองฝ่ายค้าน

พูดง่ายๆ ก็คือ จะเป็นมหาอำนาจนั้นต้องมีทั้งพลังแบบบูรณาการคือมีสตางค์คอยสนับสนุนท่าทีการทูตและการทหาร ดูตัวอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ได้จัดสรรงบประมาณด่วนพิเศษแบบไม่อั้นเพื่อสู้กับรัสเซีย งบประมาณเหล่านี้ถูกดึงออกมาจากงบประมาณหลัก ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาการใช้งบประมาณเกินดุล

คงจำกันได้ หลังจากเจรจาแบบมาราธอนกันมา 8 ปี เพื่อเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก (Regional Comprehensive Economic Cooperation) ในนาทีสุดท้ายที่กรุงเทพฯ ในปี 2019 อินเดียถอนตัวออกเฉย เพราะถูกฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมโจมตีหนัก

ในอนาคตอินเดียก็ยังคงเป็นอินเดียที่ปิดทองหลังพระ อยู่เบื้องหลัง ไม่ออกหน้าออกตา เป็นปากเป็นเสียงให้กับประเทศเล็กๆ ไม่ยอมเป็นลูกไล่ของโลกตะวันตก ส่วนอาเซียนพยายามดึงเอาอินเดียมาถ่วงดุลอำนาจของจีนในภูมิภาค ขณะนี้อาเซียนพยายามยกระดับสมาชิกภาพของอินเดียให้สูงเท่ากับสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครบถ้วน (comprehensive strategic partnership)

ที่มาภาพ : https://asean.org/co-chairs-statement-on-the-special-asean-india-foreign-ministers-meeting-in-celebration-of-the-30th-anniversary-of-the-asean-india-dialogue-relations/

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและอินเดียมีการประชุมพิเศษที่กรุงเนิวเดลีอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองสัมพันธ์ 30 ปี ทั้งสองฝ่ายยังต้องมีการเจรจาเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเปิดตลาดการค้าของอินเดีย และคำขออินเดียที่ขอเข้ามาในตลาดด้านบริการ ในสมาชิกอาเซียน

ลึกๆ อินเดียยังจะหมกหมุ่นอยู่ปัญหาท้าทายหลากหลายภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง สัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติและศาสนา รวมทั้งระบบวรรณะในสังคมอินเดีย อนาคตคนหนุ่มสาวที่ตกงาน การกระจายอำนาจ ฯลฯ