ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์จ้างงานใหม่ภาคการเงินเกือบหมื่นตำแหน่งปี 2022

ASEAN Roundup สิงคโปร์จ้างงานใหม่ภาคการเงินเกือบหมื่นตำแหน่งปี 2022

22 พฤษภาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2565

  • สิงคโปร์จ้างงานใหม่ภาคการเงินเกือบหมื่นตำแหน่งปี 2022
  • อินโดนีเซียกลับลำอีกรอบยกเลิกห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม
  • อินโดนีเซียยกเลิกไม่ต้องแสดงผลตรวจโควิด
  • ธนาคารกลางเวียดนามเตรียมคุมกู้ต่างประเทศระยะสั้นเพื่อซื้อขายหุ้น อสังหาริมทรัพย์
  • เวียดนามตั้งเป้า 10 รัฐวิสาหกิจต้องมีมาร์เก็ตแคป 5 พันล้านดอลล์
  • เวียดนามปลดกราวรูดประธานก.ล.ต.และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์
  • ไทย-ญี่ปุ่นพร้อมใช้ประโยชน์ RCEP ร่วมกัน
  • สิงคโปร์จ้างงานใหม่ภาคการเงินเกือบหมื่นตำแหน่งปี 2022

    นายราวี เมนอน ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ที่มาภาพ:https://www.mas.gov.sg/news/speeches/2021/remarks-by-mr-ravi-menon-managing-director-mas-at-the-mas-annual-report-2020-2021-virtual-media-conference-on-30-june-2021

    ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) คาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงานใหม่ในภาคการเงินมากกว่า 9,400 ตำแหน่งในปีนี้

    การคาดการณ์การจ้างงานใหม่ในภาคการเงินมาจาก นายราวี เมนอน ผู้ว่าการ ธนาคารกลางในการกล่าวเปิดงาน Singapore Financial Forum 2022 ในหัวข้อ “A Future Ready Workforce for an International Financial Centre” เมื่อวันพฤหัสบดี(19 พ.ค.)

    สถาบันการเงินในสิงคโปร์กำลังลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ธนาคารและบริษัทประกันรายใหญ่กำลังเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลและเพิ่มการจ้างงานในการพัฒนาแอปพลิเคชัน วิทยาศาสตร์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์

    โดยประมาณ 3,000 ตำแหน่งจะอยู่ในด้านเทคโนโลยี ที่มีความต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์และวิศวกรยังมากที่สุดถึงกว่า 700 ตำแหน่ง ขณะที่งานอื่นเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ได้แก่ การเงินดิจิทัล เทคโนโลยีบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจจับการฉ้อโกงและการฟอกเงิน รวมไปถึงงานใหม่ๆในด้านการเงินยั่งยืนอีกด้วย จากการที่วิกฤติสภาพภูมิอากาศยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่การทำธุรกรรม ESG ไปจนถึงบริการให้คำปรึกษาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

    งานเหล่านี้จำนวนมากจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินแบบดั้งเดิม เช่น โครงสร้างผลิตภัณฑ์ การบริหารความเสี่ยง การรายงานและการกำหนดราคา แต่ได้ผสมผสานความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนเข้าไป

    “ศูนย์กลางทางการเงินของสิงคโปร์กำลังไปได้สวย และอนาคตยังสดใสสำหรับปีต่อๆ ไป” นายเมนอนกล่าว

    แม้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่ได้รั้งการเติบโตของภาคการเงิน โดยขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 7.2% ต่อปีในช่วงปี 2020 และ 2021 หรือเร็วกว่าเศรษฐกิจโดยรวม 4 เท่า นายเมนอนกล่าวและว่า การเติบโตขยายเป็นวงกว้าง ทั้งภาคธนาคาร ประกันภัย การบริหารสินทรัพย์ และบริการชำระเงิน

    ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการสร้างงานประมาณ 5,800 ตำแหน่งในภาคบริการทางการเงิน สถานะของสิงคโปร์ยังแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม โดยมีห้องปฏิบัติการนวัตกรรมระดับโลกและระดับภูมิภาคมากกว่า 50 แห่ง และบริษัทฟินเทค 1,400 แห่ง

    ในปี 2021 สิงคโปร์มีการลงทุนด้านฟินเทคสูงเป็นประวัติการณ์ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.39 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) และสูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563

    “เราเติบโตอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำด้านการจัดการกองทุนและศูนย์กลางการจัดตั้งบริษัท Variable Capital Companies (VCC) โดยมี VCC 500 แห่งที่จัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์ตั้งแต่เปิดตัวโครงสร้างกองทุนเพื่อการลงทุนใหม่เมื่อสองปีก่อน”

    ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศชั้นนำของเอเชีย ด้วยปริมาณการซื้อขายเงินตราที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ทุกปีตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021 โดยระบบนิเวศการซื้อขาย e-FX ที่ทันสมัยเป็นพื้นฐาน

    “เรากำลังขับเคลื่อนการพัฒนาของเอเชีย ด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น 5เท่าและproject financing เพิ่มขึ้น 80% ตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2020”

    เศรษฐกิจสิงคโปร์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตในอัตรา 3-5% ในปี 2022 เว้นแต่สภาพแวดล้อมภายนอกจะเลวร้ายลงอีก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้สร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตและเงินเฟ้อทั่วโลก แต่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาคการเงินน่าจะเติบโตอย่างน้อยเร็วเท่ากับเศรษฐกิจโดยรวม

    ที่สำคัญกว่านั้น growth story ของเอเชียยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และศูนย์กลางทางการเงินของสิงคโปร์อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะสนับสนุนและเติบโตไปพร้อมกับเอเชีย ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียคาดการณ์ว่าการส่งออกที่แข็งแกร่งและอุปสงค์ภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเอเชียกำลังพัฒนาให้เติบโตมาก กว่า 5% ต่อปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ความต้องการบริการทางการเงินมักจะเติบโตเร็วกว่ารายได้ เพราะชนชั้นกลางและกลุ่มที่มั่งคั่งขยายตัว

    “เราเห็นการพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกลไกการเติบโตให้กับภาคการเงินของเรา”

    “อนาคตของบริการทางการเงินในสิงคโปร์นั้นสดใส” นายเมนอน กล่าว “แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความท้าทาย แต่เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก ซึ่งจะส่งผลดีสำหรับการเติบโตของศูนย์กลางทางการเงินของเรา”

    อินโดนีเซียกลับลำอีกรอบยกเลิกห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด อินโดนีเซีย ที่มาภาพ:https://en.antaranews.com/news/230345/cooking-oil-exports-to-resume-from-may-23-jokowi
    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศว่า จะยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันสำหรับประกอบอาหารและวัตถุดิบที่สั่งห้ามตั้งแต่เดือนเมษายน ตั้งแต่วันจันทร์นี้ (23 พ.ค.)

    ในการประกาศห้ามส่งออกเมื่อวันที่ 28 เมษายนนั้น ประธานาธิบดีกล่าวว่า จะอนุญาตให้มีการส่งออกได้ต่อเมื่อปริมาณน้ำมันปรุงอาหารมีเพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ

    “จากราคาน้ำมันประกอบอาหารในปัจจุบันและปริมาณสต็อก และเมื่อพิจารณาจากแรงงาน 17 ล้านคนในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งรวมถึงชาวนา คนงาน และแรงงานอื่นๆ ผมได้ตัดสินใจว่าให้กลับมาส่งออกน้ำมันปรุงอาหารได้ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม นี้”ประธานาธิบดีกล่าวในแถลงการณ์ที่ออกอากาศผ่านช่อง YouTube ของสำนักเลขาธิการประธานาธิบดีเมื่อวันพฤหัสบดี(19 พ.ค.)

    นายวิโดโดกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ติดตามและกำหนดมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่ามีสต็อกน้ำมันประกอบอาหารสำหรับประชาชนนับตั้งแต่มีการห้ามส่งออกเมื่อเดือนที่แล้ว

    อินโดนีเซียต้องการน้ำมันประกอบอาหาร 194,000 ตันทุกเดือน แต่ในเดือนมีนาคมปีนี้ ก่อนที่จะมีคำสั่งห้าม สต็อกน้ำมันประกอบอาหารสำหรับตลาดในประเทศมีเพียง 64,500 ตัน

    “ต้องขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า น้ำมันปรุงอาหารของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากห้ามส่งออกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราได้จัดหาน้ำมันประกอบอาหารจำนวน 211,000 ตันต่อเดือน ซึ่งเกินความต้องการรายเดือนของเรา” ประธานาธิบดีกล่าว

    นอกจากนี้ ยังเน้นว่าการห้ามส่งออกประสบความสำเร็จในการดึงราคาน้ำมันปรุงอาหารให้ลดลง โดยเฉลี่ยจาก 19,800 รูเปียะห์ต่อลิตร ก่อนห้ามส่งออกเป็น 17,200–17,600 รูเปียะห์ต่อลิตร

    นายวิโดโด กล่าวว่า การเพิ่มสต็อกน้ำมันสำหรับประกอบอาหารและการลดราคาจะต้องดำเนินการร่วมกันจากรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน

    “แม้ราคาน้ำมันปรุงอาหารในบางภูมิภาคจะยังคงสูง แต่เชื่อว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารจำนวนมากจะมีราคาที่สามารถซื้อได้มากขึ้น เพราะมั่นใจในสต็อกได้แล้ว”

    ด้านนายมูฮัมหมัด ลุตฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกนำมันปาล์มหลังการแถลงของประธานาธิบดี แต่ยังบังคับใช้ มาตรการ domestic market obligation (DMO) และการกำกับดูแลด้านการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่

    มาตรการ DMO ที่ใช้บังคับน้ำมันปาล์มมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมราคาในประเทศ

    กระทรวงการค้า พร้อมด้วยรัฐวิสาหกิจและตัวแทนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะยังคงขยายการเข้าถึงน้ำมันประกอบอาหารแบบตวง(bulk)ผ่านโครงการน้ำมันปรุงอาหารเพื่อประชาชน โดยใช้แอปพลิเคชันดิจิทัลและจะเชื่อมโยงกันทั่วประเทศ นายลุตฟี กล่าว

    “ประชาชนสามารถซื้อน้ำมันปรุงอาหารแบบ bulk ได้วันละ 1-2 ลิตรโดยแสดงบัตรประจำตัว ขณะนี้มีจุดจำหน่ายมากกว่า 2 พันแห่ง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 แห่งในอนาคตอันใกล้นี้”

    ด้วยการดำเนินการร่วมกัน น้ำมันสำหรับประกอบอาหารจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารในประเทศจะค่อยๆ ลดลงท่ามกลางราคาน้ำมันพืชโลกที่พุ่งสูงขึ้น นายลุตฟีกล่าว

    อินโดนีเซียยกเลิกไม่ต้องแสดงผลตรวจโควิด

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศเมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) ว่า จะไม่กำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว ต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบอีกต่อไปเมื่อเดินทางเข้าอินโดนีเซีย

    “ผู้เดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิดแบบPCR หรือตรวจแบบ ATK อีกต่อไป” นายวิโดโดกล่าวในช่อง YouTube ของทำเนียบประธานาธิบดี

    อินโดนีเซียยกเลิกข้อกำหนดการตรวจโควิดสำหรับผู้เดินทางภายในประเทศที่ได้รับวัคซีนครบในเดือนมีนาคม แต่ยังคงกำหนดให้ผู้ที่มาจากต่างประเทศต้องตรวจหาเชื้อก่อนออกเดินทาง

    โฆษกคณะทำงานด้านโควิด-19 ของอินโดนีเซีย กล่าวในงานแถลงข่าวว่า นโยบายใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธ(18 พ.ค.) “แนวทางในการปฏิบัติจะมีรายละเอียดในข้อบังคับจำนวนหนึ่ง และจะมีผลในวันที่ 18 พฤษภาคม” “เราหวังว่าการปฏิบัติตามนโยบายจะราบรื่น อย่างไรก็ตาม ประชาชนและผู้เดินทางก็ยังคงต้องระมัดระวังตัวและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

    ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า รัฐบาลกำลังผ่อนคลายนโยบายสวมหน้ากากเช่นกัน “หากประชาชนทำกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งไม่แออัด จะได้รับอนุญาตให้ไม่สวมหน้ากาก อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมในร่มและการขนส่งสาธารณะ (คน) ยังต้องสวมหน้ากาก”

    จากจำนวนประชากรที่มี 270 ล้านคน มีชาวอินโดนีเซีย 166 ล้านคนได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว

    ธนาคารกลางเวียดนามเตรียมคุมกู้ต่างประเทศระยะสั้นเพื่อซื้อขายหุ้น อสังหาริมทรัพย์

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/economy/central-bank-limits-foreign-loans-for-trading-stock-real-estate-4465547.html
    ธนาคารกลางเวียดนามเตรียมที่จะ จำกัดการกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศสำหรับการซื้อขายหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันฟองสบู่เก็งกำไรในตลาด

    ธนาคารกลางกำลังรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหนังสือเวียนเพื่อใช้แทนที่ฉบับปัจจุบัน โดยมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมากขึ้นในการกู้เงินต่างประเทศระยะสั้นเพื่อคุมเพดานหนี้ของประเทศ

    ร่างหนังสือดังเวียนจะอนุญาตให้ธุรกิจเวียดนามกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศได้เพื่อชำระหนี้ แต่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ที่อาจมีความเสี่ยง เช่น การซื้อขายหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเกินมูลค่าที่แท้จริง จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

    ธนาคารกลางมีแผนที่จะห้ามการใช้เงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นเพื่อซื้อโครงการหรือถือหุ้น เนื่องจากการควบรวมและซื้อกิจการเป็นการลงทุนและพันธสัญญาระยะยาว

    เงินกู้ยืมระยะสั้นอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระยะกลางและระยะยาว การกู้เงินของบริษัทจากแหล่งต่างประเทศเพื่อซื้อหุ้นจากนักลงทุนโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายต่อเพื่อทำกำไร จะยิ่งมีผลต่อภาวะฟองสบู่มากขึ้นและไม่สร้างมูลค่าที่แท้จริงให้กับเศรษฐกิจ

    ธนาคารกลางยังพิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับต้นทุนการปล่อยสินเชื่อต่างประเทศและเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อต่างประเทศระยะสั้นและระยะกลางสำหรับธนาคารพาณิชย์

    การจัดทำหลักเกณฑ์มีขึ้นจากการที่ธุรกิจจำนวนมากกู้ยืมจากต่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเพดานการถอนเงินและการก่อหนี้ระยะสั้น

    รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารกลางออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับเงินกู้ต่างประเทศสำหรับบริษัทเอกชน เพื่อให้เพดานหนี้ของประเทศได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา

    เวียดนามตั้งเป้า 10 รัฐวิสาหกิจต้องมีมาร์เก็ตแคป 5 พันล้านดอลล์

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-wants-10-state-owned-firms-with-5-bln-in-capital-by-2025-4463692.html

    เวียดนามตั้งเป้าที่จะมีรัฐวิสาหกิจอย่างน้อย 10 แห่งที่มีมูลค่าตลาดกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

    ตามมติในการปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่ลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ข่าย เวียดนามจะมีธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของอย่างน้อย 25 แห่ง โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(market capitalization)ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ มีรัฐวิสาหกิจอย่างน้อย 10 แห่งต้องมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์

    ภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทเหล่านี้จะมีส่วนสนับสนุนงบประมาณของประเทศเพิ่มขึ้น 5-10% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2016-2020 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดจะปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่โครงการที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

    ข้อมูลจากกระทรวงการคลังพบว่า ปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนประมาณ 0.08% ของธุรกิจทั้งหมดในเวียดนาม แต่ถือครองทรัพย์สินประมาณ 7% และ 10% ของทุนของธุรกิจทั้งหมดในตลาด และยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนประมาณ 26% และมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรและการลงทุนทางการเงินระยะยาวถึงมากกว่า 23% ของบริษัทที่ยังดำเนินการ

    ในปี 2020 รัฐวิสาหกิจมีส่วนสนับสนุนงบประมาณของประเทศประมาณ 241.73 ล้านล้านด่อง (10.4 พันล้านดอลลาร์)

    ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์โฮิมินห์(HoSE) มีบริษัทจดทะเบียน 49 แห่งซึ่งมีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 80% ของตลาด บางส่วนเป็นธุรกิจ-ของกองทุนแห่งชาติเวียดนาม State Capital Investment Corporation (SCIC) เช่น Vietcombank, BIDV, Vietinbank, Sabeco และ Viglacera

    รัฐวิสาหกิจได้รับมอบหมายให้ลงทุนในโครงการสำคัญบางโครงการในสาขาที่มีความสำคัญสูง เช่น พลังงาน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจร และวัสดุในการผลิต

    รัฐบาลได้ขอให้ SCIC เพิ่มบทบาทในฐานะนักลงทุนของรัฐบาลเพื่อดึงดูดทรัพยากรทางการเงินสำหรับโครงการที่สำคัญ

    เวียดนามปลดกราวรูดประธานก.ล.ต.และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์

    Tran Van Dung chairman of the State Securities Commission ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20220521/vietnam-sacks-top-securities-regulator-for-serious-violations/67228.html
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเวียดนามได้สั่งปลดนายเจิ่น วาน ดุง จากตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งรัฐ (State Securities Commission:SSC) ออกจากตำแหน่ง ฐานกระทำความผิดร้ายแรงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และมอบหมายให้นาย เหงียน ดึ๊ก ชี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเข้าดูแล

    การประกาศสั่งปลดได้มีการลงนามเมื่อวันศุกร์(20 พ.ค.) โดยนาย โฮ่ ดึ๊ก ฟ้อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกล่าวว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแล ในวันเดียวกัน ในช่วงที่กระทรวงการคลังพิจารณาหาผู้ที่มาดำรงตำแหน่งประธาน SSC

    กระทรวงยังได้ออกคำเตือนนายวู บัง อดีตประธาน SSC นายเหงียน แถ่ง ลอง ประธานตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม และนายเหงียน เสิ่น ประธานศูนย์รับฝากหลักทรัพย์เวียดนาม (VSD) สำหรับความบกพร่องและการละเมิด

    เมื่อสองวันก่อน คณะกรรมการตรวจสอบกลางได้ออกหนังสือแจ้งการถอด นายดุง วัย 57 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน SSC ในปี 2560 ออกจากตำแหน่งทั้งหมดในพรรค เนื่องจากการละเมิดและข้อบกพร่องร้ายแรงในการปฏิบัติงาน

    นายวู บัง นายเหงียน เสิ่นได้รับคำเตือนจากพรรคถึงการละเมิดและความผิดระหว่างปฏิบัติหน้าที่

    Le Hai Tra, former general director of the Ho Chi Minh Stock Exchange ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/business/20220521/vietnam-sacks-head-of-the-country-s-main-stock-exchange-over-wrongdoing/67229.html

    นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ปลด นาย เล ไห่ จาผู้อำนวยการทั่วไปของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (HoSE) ออกจากตำแหน่ง และได้แต่งตั้ง จั่น อานห์ ด๋าว รองผู้อำนวยการขึ้นมาทำหน้าที่แทน

    นายเล ไห่ จาวัย 47 ปีถูกปลดเนื่องจาก “กระทำการละเมิดอย่างร้ายแรงและกระทำความผิด” รัฐบาลระบุในแถลงการณ์ โดยไม่ให้รายละเอียด นายเล ไห่ จาถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามด้วย

    นายเล ไห่ จาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสองใบ คือด้านการเงินและการบริหารจาก Kennedy School of Government แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

    เมื่อเดือนมีนาคม ทางการเวียดนามได้ดำเนินการต่อต้านการทุจริตในประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ตลาดการเงิน มีการจับกุมบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายรายในข้อหาปั่นตลาดหุ้นทำให้มูลค่าหุ้นเวียดนามหายไป 4 หมื่นล้านดอลลาร์ และกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

    กระทรวงการคลังยืนยันในแถลงการณ์ว่า “การกระทำผิดที่กระทำโดยบุคคลเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ SSC, ตลาดหลักทรัพย์ และ VSD”

    กระทรวงระบุว่า จะดูแลตลาดหุ้นให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มั่นคงและปลอดภัย และสิทธิและภาระผูกพันทั้งหมดขององค์กรและบุคคลที่มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศจะได้รับการคุ้มครอง

    นอกจากนี้ยังเน้นว่า จะแต่งตั้งบุคลากรที่มีคุณสมบัติทั้งความเชี่ยวชาญและจริยธรรม ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน SSC ตลาดหลักทรัพย์ และ VSD ในอีกไม่นาน เพื่อช่วยจัดการและกำกับดูแลตลาดหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

    คำเตือนและการสั่งปลด การขับออกจากพรรค มีขึ้นจากการสอบสวนของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเกี่ยวกับการละเมิดในตลาดหลักทรัพย์บางด้าน

    ก่อนหน้านี้วันที่ 29 มีนาคม จิ่ญ วัน เกวียต อดีตประธานบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ FLC ถูกจับในข้อหาปั่นหุ้นเป็นเวลากว่าสองเดือน หลังจากถูกพบว่าขายหุ้นเกือบ 75 ล้านหุ้นในตลาดหุ้น HoSE อย่างผิดกฎหมาย

    เมื่อวันที่ 20 เมษายน โด่ แถ่ง หญาน ประธานกลุ่มบริษัท Louis Holdings และโด่ ดึ๊ก นั่ม ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทโบรกเกอร์ Tri Viet Securities Do Duc Nam ก็ถูกควบคุมตัวในฐานความผิดเดียวกัน

    ในปลายเดือนมีนาคม คณะกรรมการตรวจสอบกลางได้รายงานข้อสรุปว่าคณะกรรมการพรรค SSC ในช่วงปี 2015 – 2020 นั้นละเลยในการบริหารจัดการและการกำกับดูแล ทำให้องค์กรและบุคคลบางกลุ่มสามารถละเมิดกฎหมาย ควบคุมตลาด และทำกำไรอย่างผิดกฎหมาย

    ไทย-ญี่ปุ่นพร้อมใช้ประโยชน์ RCEP ร่วมกัน

    วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือทวิภาคี (Bilateral discussions) กับนายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

    นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐมนตรีการค้าญี่ปุ่นเข้าพบไทยเพื่อหารือระดับทวิภาคี โดยประเด็นที่หยิบยกมาหารือมีด้วยกัน 3 ประเด็น

    ประเด็นที่หนึ่ง รัฐมนตรีญี่ปุ่นแจ้งให้ทราบเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนระหว่างเอเชียกับญี่ปุ่น เพื่ออนาคตหรือที่เรียกว่านโยบาย Japan Investing for the Future ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนโยบายที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาร่วมลงทุนกับภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนร่วมกับประเทศในเอเชียคือประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการลงทุนที่ใช้นวัตกรรม ซึ่งไทยได้เรียนให้รัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รับทราบว่า ประเทศไทยมีความประสงค์ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น แม้จะลงทุนเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว รวมทั้งมาร่วมทุนกับนักลงทุนไทยมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ขอให้ช่วยดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในญี่ปุ่นซึ่งมีมากกว่า 30 ราย ที่เป็นรายสำคัญในปัจจุบัน

    ประเด็นที่สอง คือ RCEP ซึ่งต้องถือว่าในช่วงที่ไทยเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP จนทำให้ RCEP ประสบความสำเร็จ นำไปสู่การบังคับใช้ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนและทางญี่ปุ่น แจ้งว่า ผลของ RCEP ทำให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และอาหารสำเร็จรูป โดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ได้มาก

    ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก RCEP ได้ในหลายสินค้า เช่น อาหาร สิ่งทอ เป็นต้น โดยเฉพาะอาหารและสิ่งทอ ไทยส่งไปญี่ปุ่นและได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งเห็นพ้องกันทั้งสองประเทศ ว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ RCEP ให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศ RCEP 15 ประเทศ

    ประเด็นสุดท้าย เรื่องประเด็นอินโด-แปซิฟิก ญี่ปุ่นแสดงความยินดีที่ไทยได้แจ้งความจำนงเข้าร่วมนับหนึ่งการเจรจา กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกต่อไปในอนาคต

    มูลค่าการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2564 มีมูลค่าร่วมกัน 60,670 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.123 ล้านล้านบาท ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 2 ของไทยรองจากจีน ตัวเลขการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นปี 2564 มีมูลค่าคิดเป็น 24,985 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 20% สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น สำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ถือว่าญี่ปุ่นลงทุนมากเป็นลำดับที่หนึ่งในประเทศไทย มีด้วยกันทั้งสิ้นกว่า 6,000 บริษัท