ThaiPublica > Sustainability > Contributor > เหยียบคันเร่งสู่จังหวัดเข้มแข็ง ท้องถิ่นยั่งยืน

เหยียบคันเร่งสู่จังหวัดเข้มแข็ง ท้องถิ่นยั่งยืน

18 เมษายน 2022


ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์

ปีนี้นับเป็นปีที่ 7 ที่ประชาคมโลกได้ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เพื่อให้บรรลุตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) และร่วมกันสร้างสังคมโลกที่เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งและครอบคลุม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การดำเนินการในช่วงปีแรก ๆ นั้น ประเทศส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการวางแผน กำหนดนโยบาย ตั้งเป้าหมาย และวางระบบการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ จากนั้นจึงเป็นการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ เพื่อเดินหน้าไปให้ถึงเป้าหมายได้ทันในปี 2030 ซึ่งสหประชาชาติได้นิยามช่วงเวลานี้ว่าเป็น Decade of Action หรือ ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=UOIaVAf9X78)

การเดินหน้าไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 นั้น ประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาคน (People) และมิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership for Development) แต่ก็มีอุปสรรคหลายประการ อาทิ โรคอุบัติใหม่ สงครามซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ตลอดจนปัญหาทางสังคมที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น จนทำให้การเดินทางไปยังเป้าหมายปี 2030 ต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังต้องมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีสิ่งกีดขวางบ้าง แต่ก็ต้องมุ่งไปโดยหลบหรือปะทะสิ่งกีดขวางให้บอบช้ำน้อยที่สุด

เรื่องสำคัญของการก้าวเดินไปข้างหน้า ก็คือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นหมายถึง ถ้าเราจะวิ่งหรือเหยียบคันเร่งไปข้างหน้านั้น เราก็ต้องอย่าลืมมองข้างหลังให้แน่ใจด้วยว่า ไม่มีใครที่วิ่งตามไม่ทันหรือตกรถตกขบวนจนต้องเจ็บและจากไป

เรื่อง SDGs จึงไม่ใช่เรื่องระดับประเทศแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของคนทุกคน ในทุกพื้นที่ และในทุกครัวเรือน

การขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ หรือ SDG Localization จึงมีความสำคัญมาก แม้ว่าประเทศจะมีคณะกรรมการระดับชาติที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและผลักดันไปสู่การปฏิบัติก็ตาม แต่ฟันเฟืองสำคัญของการสร้างความยั่งยืน คือ คน ซึ่งกระจายอยู่ในท้องถิ่นและชุมชนทั่วประเทศ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ให้ยั่งยืนในช่วงปี 2562 โดยได้ลงไปในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ น่าน เลย กาฬสินธุ์ ยโสธร ลพบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และนราธิวาส และ 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบจ.กระบี่ อบต.บ้านไร่ (จ.อุทัยธานี)เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เทศบาลเมืองศรีสะเกษ และเทศบาลตำบลวังไผ่ (จ.ชุมพร) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พบประเด็นสำคัญ 3 ประการ คือ

    1. ระดับของความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยส่วนมากจะเข้าใจว่า SDGsเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้ให้ได้ผลจึงควรพิจารณาตามบริบทของพื้นที่

    2. การสนับสนุนจากผู้บริหารและการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ตลอดจนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ มีความสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อน SDGs ให้บรรลุผล ซึ่งการผนวกหลักความยั่งยืน SDGs เข้าไปในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่นจะทำให้มิติการพัฒนาเป็นไปอย่างครอบคลุมมากขึ้น

    3. ข้อมูลตัวชี้วัดระดับจังหวัดและท้องถิ่นที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดของ SDGs ยังมีจำนวนน้อย ซึ่งจังหวัดและท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์สถานการณ์ในเชิงลึก ซึ่งจะสะท้อนบริบทการพัฒนาของพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ สศช. ยังได้ประเมินสถานะของจังหวัดตามมิติการพัฒนา SDGs พบว่า แต่ละพื้นที่มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ต่างกัน โดยยังมีหลายพื้นที่ที่ยังต้องเร่งปิดจุดอ่อนและเสริมความเข้มแข็ง ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

สถานะการประเมินระดับจังหวัด ตามมิติการพัฒนาSDGs

ที่มา: สศช. (2564). ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด. เข้าถึงได้จาก https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2022/03/ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด-2564.pdf

สถานการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ ไม่สามารถที่จะทำนโยบายแบบ “ตัดเสื้อไซส์เดียว ใส่ทุกคน” ได้ แต่ควรจะต้องทำให้เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละแห่ง ดังนั้น ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ จึงมีความสำคัญในการสร้างและบ่มเพาะหลักคิดความยั่งยืน หรือ SDG Mindset ให้กับคนในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่เข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะสร้างสังคมให้ยั่งยืนมากขึ้น

เพราะความยั่งยืนสร้างได้ แต่ต้องสร้างด้วยกัน