ThaiPublica > Sustainability > Contributor > “ก้าวต่อก้าว”: 9 เรื่องที่ต้องเร่ง กับ 9 ปี SDGs

“ก้าวต่อก้าว”: 9 เรื่องที่ต้องเร่ง กับ 9 ปี SDGs

23 กุมภาพันธ์ 2022


ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์

ผลการประเมินเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของประเทศไทยในช่วง 5 ปีแรก หรือในช่วงปี 2559–2563 ซึ่งจัดทำโดยสภาพัฒน์ โดยใช้ค่าสีไฟจราจรบ่งบอกสถานะความสำเร็จ ระบุไว้ว่า ไทยบรรลุเป้าหมายย่อยของ SDGs แล้ว (ค่าสีสถานะเป็นสีเขียว) 52 เป้าหมายย่อย จากทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย (30.8%) ในขณะที่มีเป้าหมายย่อยที่ใกล้บรรลุ (ค่าสีสถานะเป็นสีเหลือง) 74 เป้าหมายย่อย (43.8%) และยังไม่บรรลุ (ค่าสีสถานะเป็นสีส้ม) 34 เป้าหมายย่อย (20.1%) ทั้งนี้ ยังพบว่ามี 9 เป้าหมายย่อย (5.3%) ที่ได้รับการประเมินค่าสีสถานะเป็นสีแดง หรือยังต่ำว่าค่าเป้าหมายในระดับวิกฤติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยต้องขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน (ดูรายละเอียดในบทความเรื่องก่อน “ก้าว-ต่อ-9 : ก้าวต่อ กับ 9 ปี SDGs”)

9 ปี ต่อจากนี้ มีอะไรที่ไทยต้องทำอีกหลายเรื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม 2030 Agenda for Sustainable Development โดยอะไรที่ดีอยู่แล้วก็ต้องเสริมให้เข้มแข็งขึ้น อะไรที่ยังขาดก็ต้องเติมให้เต็ม และอะไรที่ยังถูกทิ้งให้รั้งท้ายก็ต้องดึงให้ขึ้นมาให้ได้โดยเร็ว

ยุติความหิวโหย ยังคงเป็นประเด็นหลักที่ต้องเร่ง

การประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งใช้หลักการวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า ประเด็นท้าทายของไทยในการบรรลุ SDGs นั้น มีอยู่ 9 ประเด็น ตาม 9 เป้าหมายย่อยที่มีค่าสีสถานะเป็นสีแดง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการขจัดความหิวโหย (SDG 2) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 8) และทรัพยากรทางทะเล (SDG 14) โดยทั้ง 9 ประเด็นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เฉพาะแต่ภาครัฐ แต่รวมถึงภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม จะต้องร่วมมือกันพัฒนายกระดับให้ดีขึ้น โดยอาจใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางสังคมเข้าไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ โดย 9 ประเด็นท้าทาย ได้แก่

9 ประเด็นท้าทาย สู่การบรรลุ SDGs ที่มา: สศช. (2564) รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563

1. การยุติความหิวโหยและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ (SDG 2.1) ไทยมีแนวโน้มการขาดสารอาหารที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากความชุกของภาวะขาดสารอาหารในปี 2562 อยู่ในระดับที่ 8.2% เพิ่มขึ้นจาก 7.3% ในปี 2558 เช่นเดียวกับความชุกของความไม่มั่นคงทางอาหารของประชากรในระดับปานกลางหรือรุนแรง ซึ่งอยู่ที่ 29.8% ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 15.1% ในปี 2558 โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนยากจนมักขาดสารอาหารและมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

2. การยุติภาวะทุพโภชนาการ (SDG 2.2) ความชุกของภาวะทุพโภชนาการในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ทั้งที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ภาวะผอมแห้ง และภาวะอ้วน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และยังสูงกว่าค่าเป้าหมายโภชนาการระดับโลกปี 2568 (Global Nutrition Targets 2025) แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มยากจนและเปราะบาง ยังไม่สามารถเข้าถึงโครงการส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการที่รัฐจัดให้ได้ ในขณะที่สัดส่วนเด็กที่มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม

3. ระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน (SDG 2.4) พื้นที่เกษตรยั่งยืนของไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำว่าค่าเป้าหมายมาก โดยในปี 2563 ไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 1.15 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 1.08 ล้าน ไร่ ในปี 2560 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเป้าหมายของยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) ที่กำหนดให้มีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 7.5 ล้านไร่ ภายในปี 2568 และ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2573

การสูญเสียจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ยังคงฉุดรั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

4. การลดการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ (SDG 3.4) การเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการขับเคลื่อน SDGs ในมิติการพัฒนาคน โดยมีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ภาวะเครียด สิ่งแวดล้อมในเมืองที่เสื่อมโทรม และการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข

5. การลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (SDG 3.6) ถึงแม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2559–2563 แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้มีการลดจำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ได้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขับขี่ยานพาหนะโดยมีระดับแอลกอฮอล์เกินกว่าปริมาณที่กำหนด การขับขี่ยานพาหนะเกินความเร็วที่กฎหมายอนุญาต และการขาดความรู้และจิตสำนึกที่ดีในการใช้ท้องถนน

6. การลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตราย มลพิษ และการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน (SDG 3.9) การปล่อยและการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยในปี 2562 มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการตายที่เกิดจากการได้รับสารพิษโดยไม่ตั้งใจในปี 2562 อยู่ที่ 0.3% เพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในปี 2559

ค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่สูงมาก มลพิษทางทะเลที่ยังคงมีอยู่ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล

7. การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ (SDG 10.C) ไทยยังคงมีอัตราค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมของการดำเนินการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่นและการชำระเงินระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในสังคม เนื่องจากเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงและการกระจายทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ

โดยในปี 2561 มีอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐกลับต่างประเทศของแรงงานย้ายถิ่นเฉลี่ยสูงกว่า 10% และมีอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 8.9% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและยังสูงกว่าค่าเป้าหมาย SDGs ที่กำหนดให้ไม่เกิน 3% และ 5% ตามลำดับ

8. การลดมลพิษทางทะเล (SDG 14.1) ยังคงพบปัญหามลพิษทางทะเล ซึ่งรวมถึงขยะทะเล สารเคมีและมลพิษจากธาตุอาหาร อันเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมทั้งบนบกและในทะเล ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม การสะสมของสารเคมีจากภาคเกษตร การรั่วไหลของน้ำมัน และเศษซากขยะในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และความหลากหลายทางชีวภาพ

9. การอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง (SDG 14.5) ไทยประกาศพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งรวม 15,336 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 4.74% ของพื้นที่ทางทะเลทั้งหมดของประเทศ อย่างไรก็ดี พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งที่มีการประกาศไปแล้วยังคงห่างจากค่าเป้าหมายที่ 10% ค่อนข้างมาก และยังมีข้อจำกัดในการระบุพิกัดและขนาดพื้นที่โบราณคดีใต้น้ำ จึงยังไม่สามารถนำคำนวณรวมกับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งที่ประกาศไปแล้ว

แม้จะท้าทาย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปไม่ถึง

ประเด็นท้าทายทั้ง 9 ประเด็นข้างต้น มิได้มีความหมายว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยหรือเพิกเฉยการทำงาน แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ “ยาก” และ “ลึก” ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา เช่น การสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน (SDG 3.6) การสูญเสียจากสารเคมีอันตราย (SDG 3.9) และการเกิดมลพิษทางทะเล (SDG 14.1) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนโดยตรง

หากคนในสังคมยังคงใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ หรือกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชิงลบ ก็จะไม่สามารถทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวดีขึ้นได้เลย

รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ของสภาพัฒน์ ได้เสนอแนะแนวทางการบรรลุ SDGs ไว้ 5 ประการ ได้แก่

5 ข้อเสนอแนะ สู่การบรรลุ SDGs ที่มา: สศช. (2564) รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559–2563

1. เร่งแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสถานการณ์ใน 9 เป้าหมายย่อยที่มีค่าสีสถานะเป็นสีแดง และ 34 เป้าหมายย่อยที่มีค่าสีสถานะเป็นสีส้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขจัดความหิวโหย การขจัดความยากจน การเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี การค้ามนุษย์ การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการทุจริตคอร์รัปชัน

2. บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่เกื้อกูล (synergy) และเป็นแรงหนุนให้เป้าหมายย่อยอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนตาม SDG 1จะเกื้อหนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อขจัดความหิวโหยใน SDG 2 ลดความเหลื่อมล้ำใน SDG 10 0 ตลอดจนส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีใน SDG 3

3. สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อปลุกจิตสำนึกความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคม โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิชาการ องค์กรอิสระ องค์กรไม่แสวงหากำไร และองค์การระหว่างประเทศ จะต้องมีจิตสำนึกในการสร้างสังคมที่มีความยั่งยืน เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน

4. พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางและระบบการติดตามประเมินผลให้มีมาตรฐานสากล โดยนำเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลายมาใช้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้มีการออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

5. เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้หลักการ “ล้มแล้ว ลุกไว (resilience)”

นับจากนี้ มีเวลาอีก 9 ปี ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ บางเรื่องเร่งด่วนก็ควรทำก่อน ในขณะที่บางเรื่องดีอยู่แล้วก็ควรทำต่อ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยน “ความท้าทาย” ให้กลายเป็น “ความสำเร็จ” ก็คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อทำให้แต่ละประเด็นสำเร็จและบรรลุเป้าหมายไปได้ พร้อมกับต้องเดินหน้าปรับเปลี่ยนหลักคิดและทัศนคติของคนในสังคมให้เข้าใจและเข้าถึงหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง