ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > กพย.แจงความคืบหน้า SDGs ไทยพบ 70% ไม่ผ่านเกณฑ์ อีก 5% เข้าขั้นวิกฤติ พร้อม 5 ข้อเสนอแนะ

กพย.แจงความคืบหน้า SDGs ไทยพบ 70% ไม่ผ่านเกณฑ์ อีก 5% เข้าขั้นวิกฤติ พร้อม 5 ข้อเสนอแนะ

2 มีนาคม 2022


18 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ จากสภาพัฒน์ฯ สรุปภาพรวมการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ เผย 6 วิธีการผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เนื้อหาการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีข้าราชการและผู้นำความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง
จัดงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ 

……….

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปี 2000 เป็นจุดเริ่มต้นที่สหประชาชาติฯ รวมทั้งประเทศสมาชิกทั่วโลก เริ่มตระหนักว่าการเปลี่ยนศตวรรษจะสามารถทำอะไรให้กับโลกได้บ้าง จึงมีการคิด MDG (Millennium Development Goals) หรือที่เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ประกอบด้วย 8 ด้าน กำหนดกรอบตั้งแต่ปี 2000 – 2015 หลังจากปี 2015 ประเทศสมาชิกมองถึงการมีเป้าหมายใหม่ให้โลกทำให้เกิด SDGs (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มบังคับใช้ในปี 2016 และใช้ต่อเนื่องอีก 15 ปี จนถึงปี 2030

ดร.ธัชไท อธิบายว่า SDGs ที่กรอบด้านความยั่งยืนซึ่งกำหนดกว้างๆ โดยครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ทุกประเทศมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้วางกลไกให้สอดรับกับ SDGs โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาทั่งยั่งยืน (กพย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

“นอกจากการวางแผน 5 ปีแรกที่วางระบบต่าง ๆ ขึ้นมา 10 ปีต่อจากนี้เราต้องลงมือทำจริงแล้ว เราจะลงไปทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ ได้มีการเชื่อมโยงแผนทุกระดับกับ SDGs เพราะจริง ๆ แล้ว SDGs กับยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายเดียวกันเพื่อปี 2037 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง”

“ระหว่างทางมีกรอบพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า SDGs เข้ามาช่วยเสริมพลังยุทธศาสตร์ชาติให้เข้มแข็งขึ้น ดังนั้นตอนนี้เราต้องไปให้ถึงปลายทางยุทธศาสตร์ชาติโดยเป็นที่ยอมรับของโลกและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เมื่อมีเป้าหมายแล้ว กพย. จึงกำหนดแผนขับเคลื่อน 6 มิติ ดังนี้

(1) การสร้างความตระหนักรู้ ดำเนินการให้ทุกภาคส่วนมีความรู้ ทำให้ทุกคนในประเทศรู้จักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ

(2) การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผน 3 ระดับของประเทศ เริ่มตั้งแผนระดับที่ 1 คือยุทธศาสตร์ชาติ ระดับที่ 2 คือแผนแม่บท แผนว่าด้วยความมั่นคงและแผนการปฏิรูปประเทศ ส่วนแผนระดับที่ 3 คือแผนปฏิบัติการหรือแผนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐทุกระดับ

(3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนระดับนโยบาย และบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ตลอดจนมีการตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง

(4) การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่าการจัดทำแผนงานโครงการต่าง ๆ รวมถึงการกระจายผลเชิงพื้นที่

(5) ภาคีการพัฒนา ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

(6) การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั้ง 17 ด้าน มี 10 เป้าหมายที่ได้รับระดับสีเหลือง คือยังทำได้ระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เล็กน้อย 

ดร.ธัชไท กล่าวต่อว่า จากการทำงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทย มีโครงการกว่า 30% อยู่ในระดับสีเขียว หรือได้รับการบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ส่วนใหญ่กว่า 43.8% ยังอยู่ในระดับสีเหลือง อีก 20% อยู่ในระดับสีส้ม คือมีความท้าทายอยู่มาก และอีก 5% อยู่ในระดับสีแดงคือการพัฒนาต่ำกว่าเป้าหมายในระดับวิกฤติ

“พอเราได้ลงพื้นที่ จึงรู้ว่า SDGs เชิงพื้นที่มีความท้าทายสูง เพราะคนในพื้นที่อาจไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมมาก เราเลยนำความร่วมมือจากพื้นที่นำร่องมาพัฒนาตัวชี้วัดกลุ่มจังหวัด เพื่อทำให้เกิดความมีส่วนร่วมมากขึ้น”

ดร.ธัชไท กล่าวถึงข้อเสนอสู่เป้าหมาย SDG โดยแบ่งเป็น 5 ข้อ ได้แก่

    (1) เร่งแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสถานการณ์ใน 9 เป้าหมายย่อยที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤติ (สีแดง) และ 34 เป้าหมายย่อยที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง (สีส้ม)
    (2) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
    (3) สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ให้เกิดในวงกว้าง
    (4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางและระบบการติดตามประเมินผลให้มีมาตรฐานสากล
    (5) เตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยใช้หลักการล้มแล้ว ลุกไว

  • ก้าว-ต่อ-9 : ก้าวต่อ กับ 9 ปี SDGs
  • “ก้าวต่อก้าว”: 9 เรื่องที่ต้องเร่ง กับ 9 ปี SDGs
  • “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ต่อจิ๊กซอว์ “ท้องถิ่น” ยกระดับพื้นที่ด้วย ‘เศรษฐกิจ BCG’ สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน