ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เอดีบีหนุนเงินกู้ผลิตเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าวิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา – IFC ให้สินเชื่อเรือด่วนเจ้าพระยาซื้อเรือไฟฟ้า ลดคาร์บอน

เอดีบีหนุนเงินกู้ผลิตเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าวิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา – IFC ให้สินเชื่อเรือด่วนเจ้าพระยาซื้อเรือไฟฟ้า ลดคาร์บอน

27 เมษายน 2022


การขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า E-mobility ที่มีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของไทยได้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้องค์กรระหว่างประเทศสองราย ได้เผยแพร่ข่าวการสนับสนุนเรือโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยธนาคารพัฒนาเอเชียสนับสนุนเงินกู้การผลิตและเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (electric ferry) ส่วนบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศให้สินเชื่อเรือด่วนเจ้าพระยาจัดซื้อเรือไฟฟ้า 30 ลำเพื่อใช้สำหรับเป็นเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี และบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามสัญญาเงินกู้มูลค่า 160 ล้านบาท (หรือประมาณ 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อเป็นเงินทุนให้กับการผลิตและเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (electric ferry) ในกรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นเจ้าแรกที่เดินเรือโดยสารด้วยระบบขนส่งดังกล่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอดีบีเป็นผู้นำในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับโครงการดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่ารวม 600 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจำนวน 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุนเพื่อเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund) ซึ่งจะสนับสนุนการสาธิต การปรับใช้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว และเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

“โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความเป็นผู้นำของเอดีบีในด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน และยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนวัตกรรมการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้านอกเหนือจากยานพาหนะบนท้องถนน ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิก” นายอโศก ลาวาซา รองประธานเอดีบี ด้านการปฏิบัติการภาคเอกชนและการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนกล่าว

เงินกู้ดังกล่าวจะสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการ E Smart Bangkok Mass Rapid Transit Electric Ferries โดยบริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ จะเป็นผู้ดำเนินงานในการเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าจำนวน 27 ลำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 250 คน ต่อเที่ยว โครงการดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) ได้ราว 18,900 ตัน ต่อปี

“บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ ภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับเอดีบีอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางการเงินที่น่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดและการขนส่งอย่างยั่งยืนของเรา” นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ กล่าว “โครงการนี้สะท้อนให้เห็นความเป็นผู้นำของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ ในด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาค พร้อมศักยภาพการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วมาใช้ในภูมิภาคเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 และเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นผู้บุกเบิกการขนส่งอย่างยั่งยืนในประเทศด้วย เอดีบีได้สนับสนุนบริษัทในการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมเมื่อปี2562 และสนับสนุนเงินกู้สีเขียวเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นสินเชื่อว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านการรับรองโดยClimate Bond Initiative รายแรกของประเทศไทย

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

IFC หนุนเรือด่วนเจ้าพระยาใช้เรือไฟฟ้า

IFC สนับสนุนเรือด่วนเจ้าพระยาใช้เรือที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) บนแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานครกำลังจะมีเรือไฟฟ้าลำใหม่ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ IFC และ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด (เรือด่วนเจ้าพระยา) ในการเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้า (E-Mobility) บนเส้นทางสัญจรทางน้ำหลักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยให้ลดความแออัดของถนนและมลพิษทางอากาศ พร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศของประเทศ

ตามการประมาณการล่าสุดในปี2564 ผู้โดยสารสูญเสียเวลาจำนวน 114 ชั่วโมงเพื่ออยู่ในการจราจรที่ติดขัด ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อการดำเนินธุรกิจและคุณภาพอากาศของเมืองหลวงที่มีประชากร 10 ล้านคน ด้วยการสนับสนุนจาก IFC เรือด่วนเจ้าพระยาซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางน้ำชั้นนำในกรุงเทพฯ วางแผนที่จะทำให้การประกอบการเดินเรือของบริษัทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการจัดซื้อเรือไฟฟ้า 30 ลำเพื่อใช้สำหรับเป็นเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ละลำสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 250 คนโดยที่จะทยอยเลิกใช้เรือดีเซลไปพร้อมๆ กัน

ภายใน 12 เดือนข้างหน้า IFC และเรือด่วนเจ้าพระยา จะร่วมกันศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการเรือโดยสารไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีในการออกแบบและการเดินเรือโดยสารไฟฟ้าที่เหมาะสม และช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในการประกอบธุรกิจเรือโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยาให้เทียบเท่ามาตรฐานและแนวปฏิบัติระดับสากล

“ภารกิจของเราคือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด ในการที่จะบรรลุเป้าหมายของเราและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐนั้น เราได้ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำหลายแห่งเพื่อศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของเรือไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งมวลชน ซึ่งขณะนี้ ดิฉันคิดว่าเรามีความพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต” นางสุภาพรรณ พิชัยณรงค์สงคราม ประธานกรรมการบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และกลุ่มบริษัทสุภัทรากล่าว “การทำงานร่วมกับ IFC ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมากมายในการช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ แห่งรวมถึงประเทศไทยนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับเราในการบรรลุโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการเดินเรือและทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุมาตรฐานสากลได้”

การให้บริการเดินเรือโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยามีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) และสถานีขนส่งมวลชนกรุงเทพ (MRT) ทำให้บริการนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ เรือด่วนเจ้าพระยามีประสบการณ์มากกว่า 50 ปีในการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา รองรับผู้โดยสารเฉลี่ย11ล้านคนต่อปี

การสนับสนุนของ IFC ในการพัฒนาการต่อเรือไฟฟ้าครั้งแรกของประเทศข้างต้น สอดคล้องกับความคิดริเริ่มของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศและเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593

“ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการสนับสนุนผู้เล่นในตลาดที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้วIFC หวังที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดและสนับสนุนให้บริษัทต่างๆในประเทศไทยลงทุนอย่างยั่งยืนและสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เจน หยวน ซู (Jane Yuan Xu) ผู้จัดการประจำประเทศเมียนมาร์และประเทศไทยของ IFC กล่าว “การสนับสนุนผู้ประกอบการสตรีเป็นหนึ่งในความสำคัญของ IFC ในประเทศไทยและทั่วโลก ในทำนองเดียวกัน IFC ภูมิใจที่ได้สนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวซึ่งบริหารจัดการโดยผู้นำสตรีคนไทยยาวนานถึงสี่รุ่น”

IFC ผสมผสานการลงทุนและการให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภาคเอกชนของประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2564 IFC ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินทุนในประเทศไทยอยู่ที่ 875 ล้านเหรียญสหรัฐ
…………………….

เกี่ยวกับ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC)

บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) เป็นสมาชิกและหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กลุ่มธนาคารโลก เป็นสถาบันระดับโลกเพื่อการพัฒนาและมุ่งเน้นการทำงานกับภาคธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ มีการดำเนินการในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยนำเงินทุน ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพร่วมเสริมโอกาสและสร้างตลาดให้กับท้องที่ที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ในปีงบประมาณ 2564 บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศให้คำมั่นสัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือเงินทุนเป็นจำนวน 31,500 ล้านเหรียญสหรัฐแก่บริษัทเอกชนและสถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ โดยใช้ศักยภาพของภาคเอกชนเพื่อช่วยสร้างความเจริญและขจัดความยากจนในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวจะต้องต่อสู้กับผลกระทบของการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19

เกี่ยวกับบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด

บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด – ผู้ให้บริการขนส่งทางน้ำชั้นนำของกรุงเทพฯประเทศไทย – ก่อตั้งขึ้นในปี2514 โดยคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ หลังจากที่ได้ดำเนินธุรกิจเรือข้ามฟากมาระยะหนึ่ง ตลอดระยะเวลา50ปีที่ผ่านมา เรือด่วนเจ้าพระยามีบทบาทสำคัญในการขนส่งทางน้ำในกรุงเทพฯและปริมณฑลครอบคลุมเส้นทาง 32 กิโลเมตรจากปากเกร็ด (นนทบุรี) ถึงวัดราชสิงขรทางใต้ของกรุงเทพฯ โดยมีเรือให้บริการ 4 สาย ได้แก่ ธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียว และRiva Express ปรับอากาศ ธงแดง เรือด่วนเจ้าพระยามีผู้โดยสาร 11 ล้านคนต่อปี