ThaiPublica > เกาะกระแส > “กพร.” ผนึก UNIDO – 7 หน่วยงานพันธมิตร พัฒนา “อุตฯ รีไซเคิลเศษโลหะ” ตั้งเป้าลดมลพิษอากาศร้อยละ 20 ใน 5 ปี

“กพร.” ผนึก UNIDO – 7 หน่วยงานพันธมิตร พัฒนา “อุตฯ รีไซเคิลเศษโลหะ” ตั้งเป้าลดมลพิษอากาศร้อยละ 20 ใน 5 ปี

28 ธันวาคม 2018


เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เปิดตัวโครงการลดมลภาวะทางอากาศจากโรงงานรีไซเคิลเศษโลหะ พร้อมกับลงนามความร่วมมือกับ 7 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน พัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มาภาพ: https://th-th.facebook.com/2dpim/

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เปิดตัวโครงการลดมลภาวะทางอากาศจากโรงงานรีไซเคิลเศษโลหะ โดยเฉพาะมลพิษที่ตกค้างยาวนานซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่จงใจ หรือ U-POPs (unintended persistent organic pollutants) เช่น สารไดออกซินและฟิวแรน พร้อมกับลงนามความร่วมมือกับ 7 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน พัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระยะเวลาดำเนินโครงการเบื้องต้น 5 ปี  ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก 1,250 ล้านบาท

สำหรับ 7 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมลงนามความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะครั้งนี้ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด, บริษัท เอ็น.ที.เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ไดกิ อลูมิเนียม อินดัสทรี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม จำกัด

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า การผนึกกำลังของหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน และองค์การระหว่างประเทศครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อประเทศ เป็นฐานการผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล นอกจากนี้ยังเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยการนำเศษโลหะจากวัสดุที่ใช้งานแล้วหรือของเสียต่างๆ กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนทรัพยากรธรรมชาติ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ “circular economy”

นายวิษณุระบุว่า โครงการส่งเสริมการใช้แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะครั้งนี้ มีความสอดคล้องเป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลและนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด

“เป้าหมายของโครงการต้องการลดปัญหาปริมาณสารมลพิษตกค้างยาวนานที่ปลดปล่อยโดยไม่ตั้งใจหรือ U-POPs จากอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะให้ได้มากกว่าร้อยละ 20 ตลอดระยะโครงการ 5 ปีในการดำเนินงาน เพราะทางกรมฯมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ”  นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีการกำหนดแนวทางพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะอย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ 1. การสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดของอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

2. สร้างสถานประกอบการต้นแบบ โดยการพัฒนาโรงงานรีไซเคิลเศษโลหะสาธิต 4 แห่ง ที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดตามมาตรฐานสากลและเหมาะกับอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการศึกษาแนวทางการลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งให้บริการคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ สามารถนำไปปรับใช้ในโรงงานได้จริง

3. การสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะโดยการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงของกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการสร้างความร่วมมือและช่วยเหลือกันในการจัดการสิ่งแวดล้อม เกิดการประกอบการอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานภาคเอกชนและประชาชนที่สนใจเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามประเมินผลมาตรการต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นๆ ที่มีการปล่อย  U-POPs ด้วย

ทั้งนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบการปล่อยสารไดออกซินและฟิวแรนจากอุตสาหกรรมหลอมโลหะของไทยแต่ละปีมีปริมาณมากกว่า 119 กรัม TEQ (toxic equivalent) คิดเป็นร้อยละ 11 ของการปล่อย U-POPs จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด

ขณะที่ข้อมูลศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า  ไดออกซินคือสารอันตรายที่ได้รับการพิจารณาเป็นสารอันตรายชั้นที่ 1 ซึ่งหมายถึงสารที่มีความเป็นพิษสูงที่สุดและเป็นสารก่อมะเร็ง มีผลต่อสุขภาพและพันธุกรรมมนุษย์ อีกทั้งเป็นสารที่สลายตัวยาก มีความคงทนยาวนานในสิ่งแวดล้อม สามารถปนเปื้อนสู่บรรยากาศได้ เคลื่อนย้ายไปได้ระยะทางไกลจากอากาศสู่ดิน จากดินสู่น้ำ หรือจากดินสู่พืช และเข้าสู่ร่างกายคนในที่สุด

โดยสารไดออกซินมักเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ เช่น การเผาไหม้ต่างๆ ที่มีขยะพลาสติกปนอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ, ไฟไหม้ป่า, เกิดจากโรงงานหลอมโลหะ เช่น ทองแดง ตะกั่ว, เกิดจากกระบวนการผลิตสารเคมีที่มีสารคลอรีน, รวมทั้งปลดปล่อยมาจากดิน ตะกอนดิน และพืชผักต่างๆ ที่ปนเปื้อนสารไดออกซิน

อย่างไรก็ดี นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกรมได้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล” ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยออกแบบให้เป็นโรงงานต้นแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระบบกำจัดของเสียที่เกิดจากรีไซเคิลครบวงจร ซึ่งผู้ที่มีความสนใจจะทดลองศึกษางานพัฒนาด้านรีไซเคิลสามารถมาร่วมใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีหรือทำงานวิจัยร่วมกันได้

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีต้นแบบสำหรับการรีไซเคิลที่กรมมีไม่น้อยกว่า 49 ชนิดให้กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจจะนำความรู้จากเทคโนโลยีต่างๆ ไปลงทุนพัฒนาต่อยอดสู่การประกอบการในเชิงธุรกิจ