ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ชล บุนนาค” ประเมินความท้าทายการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ “ความสำเร็จไม่ได้อยู่แค่อันดับดีขึ้น”

“ชล บุนนาค” ประเมินความท้าทายการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ “ความสำเร็จไม่ได้อยู่แค่อันดับดีขึ้น”

6 สิงหาคม 2019


 

ที่มาภาพ: https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2019/2019_sustainable_development_report.pdf

จากรายงานอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ปี 2019 ที่ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ที่ 40 ของโลก และเป็นที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นอีกผลงานความภาคภูมิใจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนงาน SDGs สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หลังรัฐบาล คสช. สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ หลายภาคส่วนทั้งในไทยและต่างชาติที่ทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่างเฝ้าจับตาดูท่าทีรัฐบาลใหม่แต่ภายใต้ผู้นำคนเดิมคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะสานต่อ “พันธกิจระดับโลก” นี้อย่างไรต่อไป เพราะนายกฯ ประยุทธ์คือผู้นำไทยที่ร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี 2558 ณ องค์การสหประชาชาติ

จับตานโยบายรัฐบาลใหม่กับการขับเคลื่อน SDGs

นายชล บุนนาค หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายชล บุนนาค หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) และการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย – สกว. เดิม) นักวิชาการที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่อง SDGs มาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า นับตั้งแต่มีการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน หลายภาคส่วนในประเทศไทยได้ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สื่อมวลชน รวมถึงภาควิชาการ

ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐ รัฐบาล คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ กพย. ขึ้นมาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมทั้งตั้งอนุกรรมการย่อยอีก 4 คณะ ขึ้นมาทำงานบูรณาการร่วมกัน ประกอบด้วย 1. อนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2. อนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3. อนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 4. อนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA)

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเดิมเป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในสี่คณะทำงานที่สำคัญ ได้ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองเมื่อเดือนมกราคม 2562 การขับเคลื่อนงาน SDGs ในส่วนของ กพย. ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นสุญญากาศไปโดยปริยายจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น การขับเคลื่อน SDGs ในช่วงระยะหลังมานี้ จึงเป็นการดำเนินงานในระดับของหน่วยงาน เช่น การทำงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต่างขับเคลื่อนงานในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ

แต่หากมีประเด็นที่ต้องการการรับรองจาก กพย. ซึ่งยังมีหลายเรื่องที่ต้องทำ เช่น การรับเรื่อง National Indicators ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงสุญญากาศ แต่ทั้งนี้คิดว่าหากรัฐบาลใหม่ลงตัว และมาสานต่องานที่ค้างไว้ต่อไป ก็จะน่าทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

“ต้องดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าจะกระตือรือร้นมากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงาน SDGs ในประเทศไทย หากรัฐบาลใหม่ลงตัว แล้วมาขับเคลื่อนงานต่อในสิ่งที่ให้สัญญากับประชาคมโลกไว้ ประเด็นเรื่อง SDGs ก็น่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง” นายชลกล่าว

ชล บุนนาค กล่าวถึงสถานการณ์ SDGs ประเทศไทยในงาน SDGs Forum ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้โดย SDG Move เพื่อผนึกกำลังทางวิชาการในการขับเคลื่อน SDGs ในภาวะสูญญากาศ

ขณะที่ในภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ต่างดำเนินงานในส่วนของตนเองไปพร้อมๆ กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะภาคเอกชนที่กระตือรือร้นกับการผนวก SDGs เข้าไปในการทำงานหลักและงาน CSR รวมถึงการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนของบริษัท และภาคประชาสังคมที่มีการใช้ SDGs ในการขับเคลื่อนงานมากขึ้น ทำงานกับชุมชน ต่อรองกับภาครัฐในหลายประเด็น สำหรับภาควิชาการเองนั้น แม้ว่าจะมีการจัดกิจกรรมด้าน SDGs โดยบางมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังมิได้มีการเชื่อมประสานในภาพรวม SDG Move จึงได้จัดเวที SDGs Forum ขึ้นมาทั่วภูมิภาค เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการสนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนของภาคส่วนอื่นๆ

นั่นจึงทำให้อาจารย์ชลมองว่า การขับเคลื่อน SDGs ที่สำคัญต่อจากนี้ แม้กลไกภาครัฐจะยังเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อน SDGs แต่ภาคส่วนอื่นๆ จะต้องคอยกระตุ้นเตือนภาครัฐว่ากำลังเดินมาถูกทาง หรือกำลังไถลออกนอกทางในประเด็น SDGs เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนจริงๆ

“ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง … ต้องจับตาดูว่าแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลจะไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือไปกันคนละทิศละทาง ผมคิดว่าหลังจากนี้ ภาคส่วนอื่นๆ จะต้องตื่นตัวมากกว่านี้ ในการกระตุ้นเตือนให้ภาครัฐทำตามแนวทางที่ให้ไว้กับประชาคมโลก” นายชลกล่าว

4 ปี SDG Index ประเด็นที่ไทยมีทั้งดีขึ้นและแย่ลง

ความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค

จากคะแนนและอันดับดัชนีความยั่งยืน หรือ SDG Index ของไทยที่ดีขึ้น อาจารย์ชลเห็นว่า นับเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายไม่น้อย แต่เมื่อได้ศึกษาในรายละเอียดแล้วพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีความยั่งยืนขึ้นจริงในบางประเด็น แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดที่ใช้ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ และความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลตัวชี้วัดของประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างสิงค์โปร์

นอกจากนี้ จากการศึกษายังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ SDG Index ด้วยว่า 1. ตัวชี้วัดหลายตัวไม่ใช่ตัวชี้วัดทางการของ SDGs แต่เป็นค่าที่รวบรวมและคำนวณจากหลายแหล่งโดยทีมงานของ SDSN และ Bertelsmann Stiftung ของเยอรมนี 2. ตัวชี้วัดใน SDG Index ไม่ได้สะท้อนทุกเป้าประสงของ SDGs 3. ตัวชี้วัดในแต่ละปีอาจแตกต่างกันบ้าง ค่าที่ใช้อาจไม่ใช่ค่าที่ใช้ในประเทศ ต้องดูคำอธิบายของตัวชี้วัดประกอบด้วย 4. SDG Index จัดทำขึ้นเพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมของแต่ละประเทศเพื่อการเปรียบเทียบในระดับโลก จึงอาจมีบางสถานการณ์ที่มีความจำเพาะในแต่ละประเทศ และ 5. SDG Index ไม่ได้มีการจำแนกข้อมูล (disaggregation) เพื่อให้เห็นสถานะของคนเปราะบางกลุ่มต่างๆ

อย่างไรก็ดี จากผลดังกล่าว อาจารย์ชลกล่าวว่า “สามารถนำมาเป็นกำลังใจได้ แต่ไม่ควรจะวางใจว่าประเทศไทยมีความยั่งยืนแล้ว” เพราะจากการศึกษา 4 ปี (2016-2019) ของ SDG Index พบว่าประเทศไทยมีทั้งประเด็นที่ดีขึ้นและประเด็นที่แย่ลง ควรปรับปรุง ยกตัวอย่างประเด็นที่ดีขึ้น เช่น ความชุกของภาวะแคระแกร็นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลง, อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลง, อายุค่าเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีเพิ่มขึ้น, ดัชนีด้านความหลากกหลายทางชีวภาพดีขึ้น เป็นต้น

ส่วนประเด็นที่แย่ลงและควรระวัง ทั้งที่เป็นประเด็นที่ไม่ควรจะแย่ในไทย เช่น ภาวะการขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น, นอกจากนี้ยังพบอัตราการตายจากมลพิษทางอากาศในครัวเรือนและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น, การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มขึ้น, อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น, ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นประจำปีของฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมืองเพิ่มขึ้น, จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น, จำนวนประชากรในคุกเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ความท้าทายของไทยในการขับเคลื่อน SDGs

ด้วยเหตุและปัจจัยเหล่านี้ อาจารย์ชลชี้ว่า ความท้าทายของประเทศไทยในการขับเคลื่อนงานเรื่อง SDGs หลังจากนี้ จะต้องทำเรื่อง SDGs ให้ออกมาเป็น “บทสนทนาของสาธารณะ” ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเริ่มโดยภาครัฐฝ่ายเดียว

ยกตัวอย่างการจัดเวที SDGs Forum ของภาควิชาการ จัดขึ้นมาเพื่ออยากจะดึงเรื่อง SDGs ออกมาคุยนอกวงภาครัฐ โดยที่สังคมเป็นคนกำหนดวาทกรรมนี้เอง อย่างน้อยก็เพื่อให้เกิดการคานอำนาจในเชิงการตีความ การประเมิน ระหว่างภาครัฐที่เป็นหลัก กับภาคอื่นๆ ที่ขับเคลื่อน SDGs

“ความท้าทายหลักในการขับเคลื่อน SDGs หลังจากนี้คือเรื่องของ “การผสานภาคส่วน” (partnership) ให้เกิดพลังในการผลักดัน เพื่อให้เกิดความท้าทายที่จะตามมาหลังจากนั้นก็คือ “การระดมทรัพยากร” (resource) อย่างไรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป”

“อย่างกลุ่ม SDG Move ขณะนี้กำลังทำงานร่วมกับทางเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานกับอียูเรื่อง SDGs แล้วคิดว่าจะผสานพลังกัน ถ้าเชื่อมกับภาคประชาสังคมให้เข้มแข็งได้ ก็จะเกิดพลังมากขึ้น ในการผลักดันสังคมทั้งในระดับพื้นที่ หรือระดับนโยบาย”

นอกจากความท้าทายเรื่องพาร์ทเนอร์ชิพและทรัพยากรแล้ว ความท้าทายอีกประการหนึ่งในการขับเคลื่อน SDGs ของไทยในมุมมองอาจารย์ชลก็คือ การนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ (localizing)

“การนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่คือกลไกที่สำคัญที่สุด เพราะเมืองกับชนบทคือส่วนที่อยู่ใกล้ประชาชนจริงๆ แต่ปัจจุบันมีการตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการที่รัฐมองเรื่อง localizing เหมือนจะผิดฝาผิดตัวจากที่ระดับโลกเขาทำกันอยู่หรือเปล่า คือแทนจะกระตุ้นให้เกิดการวางแผนจากข้างล่างขึ้นมา แต่กลายเป็นว่าจะนำนโยบายจากส่วนกลางไปทำในท้องถิ่นยังไง”

อีกประการหนึ่งก็คือ หากจะให้ท้องถิ่นเคลื่อนงาน SDGs ได้ จะต้องสามารถระดมทรัพยากรในพื้นที่ได้ แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการระดมทุนท้องถิ่นอยู่พอสมควร รวมถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

“ตอนนี้กลไกที่ควรจะเป็นกลไกหลักในการผลักดันเรื่องนี้มันถูกจำกัด ถ้าอุปสรรคตรงนี้ยังไม่ถูกทำให้คลายตัวลงอย่างเหมาะสม ก็อาจจะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ยาก ซึ่งน่าสนใจว่า รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายขับเคลื่อนงาน SDGs อย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในกลไกระดับพื้นที่”

“ซึ่งหากสามารถพัฒนาตัวชี้วัดบางอย่างที่เป็นดัชนีของเมืองไทยได้จริงๆ ทำโดยนักวิชาการ ทำโดยภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ก็น่าจะสามารถสะท้อนภาพความยั่งยืนจริงๆ ของประเทศไทยได้ และยังช่วยเป็นตัวคานการทำงานของภาครัฐในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ เพื่อจะได้เห็นว่าปัญหาจริงๆ มันคืออะไร และแก้ไขไปด้วยกัน” อาจารย์ชลวิเคราะห์ทิ้งท้าย