ThaiPublica > เกาะกระแส > Krungsri Business Forum 2022 : เทคโนโลยี-ธุรกิจสีเขียว คือ Next Oppotunities

Krungsri Business Forum 2022 : เทคโนโลยี-ธุรกิจสีเขียว คือ Next Oppotunities

11 กุมภาพันธ์ 2022


10 กุมภาพันธ์ 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาออนไลน์ “Krungsri Business Forum 2022 : What’s Next for Thailand?” หัวข้อ ‘อนาคตธุรกิจไทยกับโอกาสใหม่ในภูมิภาคอาเซียนยุคดิจิทัล‘ เจาะลึกแนวคิดธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรม และอัพเดทเมกะเทรนด์ในโลกอนาคต และกลยุทธ์ของธุรกิจไทยในการขยายตลาดสู่อาเซียน

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานว่า “การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้หลายเทรนด์ในโลกธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุนระดับภูมิภาค การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของดิจิทัล และการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

“การประกาศพันธกิจในการเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน เราได้ประสานความร่วมมือกับ MUFG และทำงานร่วมกับธนาคารพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรุงศรีมีเครือข่ายธนาคารพันธมิตรครอบคลุมบริการและพื้นที่มากที่สุดในภูมิภาค”

นายเซอิจิโระ กล่าวต่อว่า บริษัทเดินหน้าลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินเพื่อทำให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศสะดวกสบาย รวดเร็ว และทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain และ API ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับประสบการณ์ด้านบริการของผู้ใช้งาน แต่ยังตอกย้ำความเป็นผู้นำของกรุงศรีด้านเทคโนโลยีการเงินการธนาคารในอาเซียน ซึ่งทำให้กรุงศรีมีความพร้อมในการช่วยผลักดันการเติบโตของลูกค้าธุรกิจในอนาคต ด้านการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เป็นอีกความแข็งแกร่งที่กรุงศรีสามารถครองความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดด้วยส่วนแบ่ง 29% และเรายังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการดำเนินธุรกิจด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการสัมมนาเพื่อลูกค้าธุรกิจ มีผู้ร่วมบรรยายพิเศษ ได้แก่ นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ
ไทย 
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และ ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 

5 เทรนด์พลิกโฉมวงการการธนาคารและภาคธุรกิจ

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ The NEXT Wave of FinTech โดยเริ่มจากเทคโนโลยี 5 เทรนด์แห่งอนาคตที่ส่งผลต่อวงการธนาคารและการดำเนินธุรกิจ ได้แก่

(1) Bio-Metric Authentication เทคโนโลยีการยืนยันตัวตน โดยธนาคารกรุงศรีฯ ได้ยกระดับการนำเทคโนโลยีมายืนยันตัวตน ไม่ว่าจะเป็น การใช้เสียง ม่านตา หรือพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การถนัดแขนซ้าย-ขวา

(2) Artificial Intelligence และ Machine Learning สำหรับการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า โดยศึกษาพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและตัดสินใจได้ดีขึ้น  โดยธนาคารกรุงศรีฯ ได้นำเทคโนโลยี AI มาทำ Hyper Personalization หรือทำให้สมาร์ทบอท (Smart Bot) ฉลาดขึ้น หรือการบันทึกข้อมูลเงินสดในตู้เอทีเอ็ม

(3) Open API ช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารกระจายได้มากขึ้น เกิดเป็นคำว่า Banking as a Service เนื่องจากในอดีตธนาคารนำเสนอสินค้าและบริการผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ออนไลน์ เอทีเอ็มและสาขา และการเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มออนไลน์และมั่นใจกับการทำธุรกรรมทางการเงินบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย 

“ผู้บริโภคเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมต้องเดินไปที่เอทีเอ็มหรือสาขา จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารว่าเราต้องยึดผลิตภัณฑ์ไปสู่แพลตฟอร์มของพาร์ทเนอร์ที่ผู้บริโภคใช้ชีวิตและคุ้นเคยกับมันอย่างสะดวกใจและสะดวกสบาย”

(4) Blockchain ได้สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น คริปโตเคอเรนซี่ Defi (Decentralize Finance) และ NFT (Non-Fungible Token) โดยธนาคารกรุงศรี ได้เริ่มสร้างผลิตภัณฑ์ Supply Chain on Blockchain หรือการโอนเงินข้ามประเทศ และในอนาคตคาดว่าจะพัฒนา ICO (Initial Coin Offering) Defi และ NFT ในอนาคต

(5) VR/AR เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิด Metaverse และจากเทคโนโลยีและภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกเสมือนจริงเช่น The Matrix Avatar หรือเกม Pokemon Go ทำให้คนเริ่มคุ้นเคยกับโลกเสมือน ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ยิ่งทำให้การเกิดขึ้นของ Metaverse ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น

ถัดมาคือ Central Bank Digital Currency (CBDC) คือเหรียญดิจิทัลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพัฒนา

“CBDC เป็นประเภท Stable Coin ที่รองรับด้วยเงินบาท มูลค่าหนึ่งเหรียญเท่ากับหนึ่งบาท และไม่มีการให้ดอกเบี้ยบน CBDC”

นายสยาม กล่าวถึงข้อแตกต่างระหว่าง CBDC และการโอนเงินโดยทั่วไปคือเรื่องเงื่อนไข โดยธุรกรรมของ CBDC เป็นรูปแบบ Programable Money ที่คนโอนสามารถใส่เงื่อนไขให้ผู้รับ CBDC ได้ แต่ผู้รับยังไม่สามารถนำ CBDC เปลี่ยนเป็นเงินบาทถ้าเงื่อนไขที่ตกลงกันไม่สำเร็จ 

ถัดมาเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาครัฐ เอกชน และภาคธนาคาร เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันธุรกิจของประเทศ เพื่อปฏิรูปการชำระเงินภาคธุรกิจให้ไปสู่ดิจิทัลโดยสมบูรณ์ (ขณะที่พร้อมเพย์ (Promptpay) คือการเปลี่ยนการชำระเงินภาคประชาชนไปสู่การชำระเงินแบบดิจิทัล) 

โดยโครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์คือ เพื่อให้เกิดการค้าและชำระเงินของผู้ซื้อและผู้ขายโดยสมบูรณ์ และด้านการให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำกับเอสเอ็มอีที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ทำให้เอสเอ็มอีมีต้นทุนที่ต่ำลงได้

ส่วนของกรุงศรีฯ เอง ได้มีการพัฒนา SME Debt Crowdfunding โดยให้เอสเอ็มอีที่ต้องการกู้เงินมาพบกับเจ้าของทุน ทำให้สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ขณะเดียวกันนักลงทุนก็ได้ผลตอบแทนที่สูงตามความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวได้เข้ามาแทนที่ธนาคารพาณิชย์

นายสยาม กล่าวถึงข้อดีของการเข้ามาของแพลตฟอร์มให้กู้เงินโดยนักลงทุนคือ ผลตอบแทนที่สูงขึ้นและทางเลือกในการระดมทุนใหม่ และสร้างพอร์ตโฟลิโอในการลงทุนได้ 24 ชั่วโมงตามที่ต้องการ ส่วนเอสเอ็มอีก็สามารถระดมทุนกับนักลงทุนได้ ในแง่หนึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นการสร้างโอกาสให้พันธมิตรด้วย 

อนาคตการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยายหัวข้อ The FUTURE Landscape of Digital Tourism ว่า ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นพระเอกในระบบเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้เกือบ 20% ของจีดีพีประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยปี 2563 จากนักท่องเที่ยว 3 ล้านล้านราย ลดลงเหลือ 8 แสนล้านราย และในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 4 แสนคน คิดเป็นรายได้เพียง 4 แสนล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

“ปัญหาเดิมๆที่เกิดขึ้น เช่น การขาดสภาพคล่อง ผู้ประกอบการไม่มีเงิน หรือ Mass Tourism เป็นปัญหาการเยียวยา แต่เราต้องพลิกโฉมการท่องเที่ยวของประเทศรัฐบาลตั้งเป้าให้ปี 2565 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อยให้ได้ 50% ของปี 2562 ถ้าปี 2562 ทำได้ 3 ล้านล้านปีนี้ต้องได้ 1.5 ล้านล้านและในปีหน้าตั้งเป้าให้ได้ 2.4 ล้านล้านหมายความว่าเราจะกลับเข้ามาแบบปี 2562 คือปี 2567”

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อว่า การกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด-19 จะเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆกล่าวคือต้องลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ทดแทนโดยนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพรายได้สูง โดยสิ่งที่รัฐบาลตั้งเป้าในปี 2565 คือ ความต้องการด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ และทำการตลาดแสวงหาข้อมูลเน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ดังนั้นภาคธุรกิจจะไม่สามารถนำคนเข้ามาจำนวนมากได้เหมือนในอดีตเนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ

“การเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวจะต้องอยู่บนฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourlistism) และการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลและรัฐบอลต้องการเห็น Inclusive Tourism คือ ทุกคนได้ประโยชน์ทั้งคนตัวเล็กตัวน้อย…เราควรจะเดินไปข้างหน้าไม่เฉพาะเยียวยาเป็นฟื้นฟูไม่เฉพาะวิกฤติเป็นโอกาสแต่ต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นการบุกด้วย”

โดยบทบาทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะใช้แนวคิด 3I ดังนี้

  1. Digital Industry สนับสนุนผู้ประกอบการให้นำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจตัวอย่างเช่น E-Service
  2. Digital Innovation  สนับสนุนนวัตกรรมและร่วมพัฒนากับเอกชน
  3. Digital Investment ร่วมพัฒนาการลงทุนโดยมีททท.เป็นผู้รับความเสี่ยงต่างๆ

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ททท.จะสร้าง Metaverse เชื่อมสภาพแวดลล้อมทางโลกเสมือนและโลกจริง โดยททท.จะเปิดสวนทุเรียนบนเมต้าเวิร์สในเดือนพฤษภาคมนี้

“เราคิดถึงเรื่องการออก token และการใช้ NFT กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศตัวอย่างเช่นใช้ NFT การท่องเที่ยวในเมืองรองและเก็บเหรียญในวันธรรมดาที่ไม่ใช่วันหยุด”

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อว่าททท.ไม่ต้องการเป็น K Shape ขาลงแต่ต้องการเป็น V Shape ขาขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดความยั่งยืนด้วยแนวคิด Digital is Green จากมุมมองว่าทุกคนต้องได้รับรับประโยชน์และกระจายรายได้ทุกภาคส่วนโดยมีองค์ประกอบคือ ASAP ได้แก่

  • A Accessible ความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี
  • S Safety ความปลอดภัย
  • A Accountability ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี
  • P Protection การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“โลกมันเปลี่ยนเราพยายามทำให้การท่องเที่ยวกลับมาเราพยายามเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าสร้างการเปลี่ยนแปลงและใช้การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลคำถามคือผู้ประกอบการต้องทำอย่างไรบ้างหนึ่งคือรีสกิล (Reskill) พัฒนาคนให้ตอบโจทย์การแข่งขันดิจิทัลและเมื่อรู้แล้วจะนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ได้อย่างไรขณะเดียวกันก็ต้องระวังภัยทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ”

นายยุทธศักดิ์ทิ้งท้ายว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่สามารถทำคนเดียไวด้แต่ต้องดึงทุกส่วนมามีส่วนร่วมดังนั้นผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ทำอะไรแบบเดิมแต่ต้องทำสิ่งที่เกิดความสมดุลในมิติสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

เอสซีจี-กลุ่มบีเจซีมุ่งธุรกิจสีเขียวบนเทรนด์โลก

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าวในเสวนาหัวข้อ The NEXT Stage of Sustainability Growth ว่าปัจจุบันโลกมี 4 เทรนด์หลักซึ่งเป็น New Normal ในปัจจุบันและอนาคต คือ (1) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) (2) ESG (Environment Social and Governance) (3) สุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellness) และ (4) เทรนด์ Digital Transformation จาก 4 เทรนด์ข้างต้นนำไปสู่การให้ความสำคัญกับ ‘ธุรกิจสีเขียว’

นายรุ่งโรจน์ขยายความว่า เอสซีจีเป็นธุรกิจสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันบริษัทก็เป็นผู้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน บริษัทจึงต้องมีเป้าหมายเส้นทางเดิน (Pathway) คือ Net Zero โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 บริษัทจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาสินค้าสีเขียวที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้ ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต (Process) ที่ลดของเสียส่วนเกินจากการผลิต (Waste) และให้ความสำคัญกับความโปร่งใสให้มีตัวชี้วัดที่สามารถเปิดเผยได้   

นายรุ่งโรจน์เล่าถึงแนวทางความยั่งยืนของบริษัทว่า จุดเริ่มต้นคือประมาณ 3-4 ปีก่อนที่บริษัทได้เริ่มทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเริ่มจากให้ความรู้กับคนในองค์กร จากนั้นและขยายไปยังนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ จนกลายเป็นเครือข่ายเอสซีจี และสุดท้ายหมู่บ้านหลายแห่งสามารถลดของเสียที่ออกจากหมู่บ้านได้ จนหลายแห่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านความยั่งยืนและมีคนมาศึกษาดูงานจากแนวคิดของเอสซีจี

นายรุ่งโรจน์ยังกล่าวถึงแผนการลงทุนของบริษัทว่า เอสซีจีปรับตัวไปลงทุนในประเทศแถบอาเซียนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเวียดนามเนื่องจากมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน โดยที่ผ่านมาเอสซีจีลงทุนด้านปิโตรเคมีในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม และเอสซีจีก็ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทด้านปิโตรเคมีในประเทศอินโดนีเซีย 30% เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อาหาร แพคเกจจิ้ง รองเท้า รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) เป็นต้น

“การเข้าไปร่วมกิจการไม่จำเป็นต้องเข้าไปซื้อทั้งหมด แต่เราสามารถร่วมทุนได้เพราะสามารถร่วมกิจการได้เลย เพราะโลกยุคใหม่แข่งขันด้วยคนและความรู้ ไม่ใช่แค่ต้นทุน ต้นทุนถูกหมายความว่าเราต้องขายของไม่แพงด้วย คนค้าขายรู้ว่าถ้าขายของได้ราคามันดี แต่จะขายให้ได้ราคาต้องมี ‘องค์ความรู้’ และ ‘คน’ ‘สินค้า-บริการ’ ต้องมีองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดี และต้องไม่ต้องเสี่ยงมากนัก หรือเสี่ยงแต่สามารถรับความเสี่ยงได้”

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี

ด้าน นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวในเสวนาหัวข้อเดียวกันว่า เทรนด์เทคโนโลยีที่มีบทบาทมากขึ้นทำให้ลูกค้าและคู่ค้ามีทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูล-เทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประสบการณ์ให้ลูกค้า ประกอบกับลูกค้าและคู่ค้านำเรื่อง ‘ธุรกิจสีเขียว’ มาประกอบการตัดสินใจ

นายอัศวิน กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีของกลุ่มบีเจซี ได้ทำกิจกรรมและดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เพียงแต่สิ่งที่บริษัททำก่อนหน้านี้ไม่ได้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งโลกมีเทรนด์ ESG จึงนำคำดังกล่าวมาใช้

นายอัศวินกล่าวต่อว่า บริษัทได้ทำงานร่วมกับคู่ค้าในการนำสินค้าสีเขียวและความยั่งยืน เพื่อให้ลูกค้ามีความต้องการซื้อ (Deamand) ตัวอย่างเช่น กลุ่มบีเจซี พัฒนากระดาษทิชชูที่ทำจากเยื่อกระดาษที่สามารถรีไซเคิลได้จนตอบโจทย์ผู้บริโภค

นายอัศวินกล่าวถึงความท้าทายในการดำเนินธุรกิจปี 2565 ว่า โจทย์หลักคือสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันสินค้าก็ขึ้นราคา และปัจจัยเงินเฟ้อ ดังนั้นการบริหารจัดการสภาพคล่องเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ

โควิด-19 : The Great Reset แห่งโลกยุคใหม่

เวทีสุดท้ายของ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ บรรยายหัวข้อ Thailand Tomorrow: Finding NEXT Opportunities โดยเริ่มจากชี้ให้เห็นว่า ทุกครั้งที่โลกและประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติดอทคอม กระทั่งวิกฤติล่าสุดอย่างโควิด-19 และเมื่อโลกเผชิญกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่ยุคแท่นพิมพ์ ยุคคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ล่าสุดอย่างการเข้าสู่โลกดิจิทัล ผลที่ตามมาคือ มีผู้ใหม่และผู้เล่นเก่าล้มหายตายจากไป

ดร. สมประวิณ กล่าวต่อว่า วิกฤติโควิด-19 คือ The Great Reset ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ทำให้ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและบริการให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตและสอดรับกับเมกะเทรนด์ (Megatrend)

“เรากำลังเผชิญกับ The Great Reset จะทำให้มีการเกิดและการดับ เทรนด์ของบริษัทจะมีอายุขัยสั้นลงเรื่อยๆ และวัฏจักรการเกิดภาคธุรกิจจะยาวประมาณ 15-20 ปี ผมกำลังจะบอกว่าวันนี้อาจเป็นโอกาสเดียวของธุรกิจเราที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราไปต่อ หรือทำให้เราดับได้”

ดร.สมประวิณ ชี้ให้เห็นว่า โควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกต้องปรับพฤติกรรมใหม่ พร้อมๆ กับเมกะเทรนด์ 6 ประการที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและบริการ ดังนี้

  1. การเกิดขึ้นของประเทศใหม่กำลังซื้อมาก เช่น อินเดีย จีน และประเทศแถบอาเซียน 
  2. โลกเข้าสู่สังคมสูงวัย ความต้องการสินค้าและบริการจะเกิดขึ้นจากคนหลายเจนเนอเรชั่นมากขึ้น
  3. ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม 
  4. ภัยพิบัติและโรคระบาด นำมาสู่ความไม่แน่นอนในการผลิตและบริโภค
  5. เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังแย่งชิงกัน การค้าโลกจะแตกเป็นการค้าย่อยๆ
  6. Technology Disruption มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนในอนาคต

ดร.สมประวิณ กล่าวต่อว่า โอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่เริ่มน้อยลง เนื่องจากคนเริ่มคุ้นชินกับการปรับตัว และคนเริ่มจับจองธุรกิจบนโลกหลังโควิด-19 แล้ว หมายความว่าพื้นที่ของการทำธุรกิจจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ดร.สมประวิณ เล่าแนวคิดการ Reimagine ว่าหากย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน โลกเข้าสู่การค้าเสรี (Global Value Chain) ต่างคนต่างมีบทบาทเพียงด้านเดียว แต่ปัจจุบันมีเศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้น เช่น จีน อินเดียและอาเซียน ฯลฯ คนกลุ่มนี้มีพลังในการซื้อและผลิต ดังนั้นเหล่านี้สามารถสร้างวง-เครือข่ายของตัวเองได้ (World Value Chain) หรือเป็นการกระจายการผลิตในแต่ละภูมิภาค 

ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเกื้อหนุนในโลกดิจิทัลหลังโควิด-19 คือข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการผลิต ทำให้การผลิตสามารถทำได้ในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน และการใช้คนมาบริการคัดสรรสินค้าที่เหมาะกับภูมิภาค

“ในอนาคตกระบวนการผลิตหรือการทำธุรกิจจะมีลักษณะ 4 ประการ (1) Diversify มันจะกระจายมากขึ้น (2) Shorten แต่ละคนมีส่วนร่วมในการผลิตมากขึ้น สายพานการผลิตสั้นลง (3) Demand Focus เทคโนโลยีเอื้อให้ผลิตตอบโจทย์ผู้บริโภคในท้องถิ่น และสุดท้าย (4) Technology” 

ดร.สมประวิณ กล่าวต่อว่า วิจัยกรุงศรีฯ ได้ศึกษาข้อมูลว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากขนาดไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยใช้ตัวชี้วัด 3 ด้าน คือ (1) ผลิตได้ต้นทุนที่ถูก-มีประสิทธิภาพและขายได้ราคาดีไหม (2) ผลิตได้ตอบโจทย์ มีคุณภาพไหม และ (3) การผลิตนั้นทำให้เกิดกำไรไหม โดยผลที่ได้เทียบกับข้อมูลจาก OECD พบว่าจาก 64 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 35 และประเทศไทยเป็นลำดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ ด้านอุตสาหกรรมการผลิต ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่ติดอันดับโลก ได้แก่ ยาง อาหาร ฯลฯ แต่ก็มีอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะมีผู้เล่นทั่วโลกมากขึ้น

จากภาคการผลิตกว่า 35 ภาคการผลิต แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ

  1. อุตสาหกรรมที่ทำได้ดีมากในโลก
  2. อุตสากรรมที่เก่งในภูมิภาค
  3. อุตสาหกรรมที่เก่งและถูกท้าทาย
  4. อุตสาหกรรมที่เก่งในประเทศ

“สิ่งที่ผมอยากบอกคือทุกอุตสาหกรรมมีที่ยืนของตัวเอง แต่ต้องหาที่ยืนให้เจอ อยู่ตลาดไหน พบกับใคร คือสิ่งสำคัญ คนไทยมีความยืดหยุ่นในการผลิตมาก แต่ปัญหาของธุรกิจไทยคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม สิ่งที่ทำให้ผ่านจุดนี้ได้ขึ้นกับรูปแบบและวิธีการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ”

ดร.สมประวิณ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่เคยมีศักยภาพในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถตอบสนองผู้บริโภคในอดีตได้ แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้โทรทัศน์ กับอีกอุตสาหกรรมคือยานยนต์ ซึ่งประเทศไทยเคยผลิตได้ปริมาณมากจากแรงงานที่ราคาถูก แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมยานยนต์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่

นอกจากนี้ ดร.สมประวิณ ยกตัวอย่างบริษัทเก่าแก่ 180 ปีที่สามารถรีเซ็ท (Reset) ตัวเองเพื่อสอดรับกับโลกใหม่ได้คือ P&G จากสหรัฐอเมริกา โดยใช้ ‘นวัตกรรม’ มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันพีเอนด์จีใช้งบประมาณกว่า 400 ล้านเหรียญเพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต วิธีการหนึ่งที่ใช้คือพีแอนด์จีเห็นว่าต่อให้พัฒนาน้ำยาถูบ้านและไม้ม็อบมีคุณภาพดีขนาดไหน คนก็ยังเผชิญกับความลำบากเพราะต้องเก็บถัง เก็บไม้และน้ำยา บริษัทจึงไปพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดอยู่ในชิ้นเดียวกัน

บทเรียนถัดมาที่ต้องเรียนรู้จากพีแอนด์จีคือ การปรับตัวต่อความชอบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และบทเรียนสุดท้ายคือ การคิดหรือการมีนวัตกรรมอย่างเดียวไม่พออย่างคำที่ว่า ‘คิดได้ ขายไม่ออก’ ดังนั้นต้องตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมนอกองค์กร โดยการหาเพื่อนหรือจับมือกับคู่แข่งที่มีเป้าหมายเดียวกัน 

ดร.สมประวิณ ถอดบทเรียนของการพัฒนาองค์กรว่าหัวใจสำคัญคือการพัฒนาภายในองค์กร คือ คน เครื่องมือ และองค์ความรู้ ต่อมาคือหาเพื่อนร่วมเดินทางที่ถูกต้อง เพื่อเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลาดใหม่และองค์ความรู้ใหม่

“ทั้งหมดมันคือส่วนผสมที่สำคัญในการต่อยอดธุรกิจในอนาคต ต้องผสมทั้งการพัฒนาตนเองและหาเพื่อนร่วมเดินทาง ถ้าเราเป็นบริษัทที่เก่งมาก หาใครไม่ได้แล้ว เราต้องพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเก่งในระดับภูมิภาค พื้นที่หรือประเทศ ให้หาพันธมิตร และถามต่อว่าต้องการเข้าไปหาตลาด เทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ใหม่”