ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > 4 ข้อสังเกต 3 สิ่งที่ต้องทำ กับสิ่งที่อยากให้ประเทศไทยเป็น

4 ข้อสังเกต 3 สิ่งที่ต้องทำ กับสิ่งที่อยากให้ประเทศไทยเป็น

27 มกราคม 2022


“สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทําอย่างไร?”

คำตอบต่อไปนี้มาจากประสบการณ์ของคนอายุ 33 ที่เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ และผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินนโยบายสาธารณะ รวมถึงเป็นลูก เป็นพี่ และเป็นพ่อคนหนึ่งในสังคมไทยในวันที่ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังหลงทาง

ผมจะเริ่มจาก 1) สิ่งที่เห็น และ 2) สิ่งที่อยากให้เป็น และสิ่งที่ต้องทำ ไปตามลำดับ

4 ข้อสังเกตประเทศไทย

ประเทศไทยมีทั้งเสน่ห์และปัญหา บางครั้งเสน่ห์เป็นปัญหา และบางครั้งปัญหาก็เป็นเสน่ห์

ด้วยมุม “เสน่ห์-ปัญหา” นี้ ผมเลือก 4 ข้อสังเกตที่น่าคิดเกี่ยวกับประเทศไทยที่สำคัญต่อก้าวต่อไปของสังคม

  • หนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ ‘มีของ’ แต่กลับ ‘ปล่อยของ’ ได้ไม่เต็มที่

  • เรามีคนเก่ง มีเงินทุน มีทรัพยากรทางธรรมชาติ มีข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ มีศิลปวัฒนธรรมที่น่าค้นหา มีแบรนด์ของความเป็นไทย

    แต่ด้วยเหตุบางประการ ‘ทุน’ เหล่านี้กลับไม่สามารถถูกนำไปใช้ให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดต่อประเทศ

    แน่นอนว่าไม่มีสังคมใดสามารถบริหารทรัพยากรได้ถูกใจนักเศรษฐศาสตร์ แต่สำหรับประเทศไทย ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเพียง ‘จุดบกพร่องที่ต้องทำให้ดีขึ้น’ ประเด็นนี้เป็นรากเหง้าของทุกอย่าง เป็นต้นตอของแทบทุกปัญหา ตั้งแต่ในระดับธุรกิจไปจนถึงระดับสังคม

    ประเทศไทยมีอาการมักเอาคน เอาของ เอาเงิน ไปวางไว้ไม่ถูกที่ คนเก่ง ไม่ได้อยู่ในที่ที่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ เงินทุนไปเดิมพันและกองทับถมในธุรกิจเก่าๆ เงินภาษีอัดฉีดออกไปแล้วดูเหมือนละลายหายไป

    มันทำให้สงสัย ว่าทำไมเวลาเราเห็นคนไทยประสบความสำเร็จในระดับโลก ดูเหมือนว่าจะต้องย้ายออกไปอยู่นอกประเทศไทยก่อนจึงจะไปถึงระดับโลกได้?

    มีบางอย่างที่ปิดกั้นหรือหน่วงศักยภาพดั้งเดิมของทุนมนุษย์และทุนในประเทศไทยหรือไม่ เราอาจเป็นชาติที่ต้องให้โลกให้ค่ากับศักยภาพเหล่านี้ก่อน จึงจะเป็นที่ยอมรับว่าเรามีของดี มีเมล็ดพันธ์ุที่ดีพอจะยอมให้มันเติบโตและผลิบานได้ในดินแดนแห่งนี้

  • สอง ประเทศไทยไม่ซีเรียสเรื่องคน

  • บนท้องถนน สิบปีที่ผ่านมา มีคนไทยเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนไปอย่างน้อย 2 แสนคน ยังไม่รวมผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่พิการอีกหลายล้านคน แม้ว่ามีข้อมูลจุดเสี่ยงซ้ำซากและบางครั้งการแก้ไขง่าย เพียงแค่การทำให้ถนนสว่างขึ้นหรือปรับตำแหน่งและรูปแบบสัญญาณจราจร

    ในอากาศ มีฝุ่นละอองวายร้ายจิ๋วที่คร่าชีวิตและทำลายคุณภาพชีวิตเราอย่างช้าๆ มานานหลายสิบปี แต่เพราะเหตุใดเราบางจังหวัดมีทรัพยากรเพื่อวัดมลภาวะอากาศที่ได้มาตรฐานอยู่ไม่กี่สถานี เพราะเหตุใดประชาชนยังต้องล่ารายชื่อเพื่อให้มีคนใส่ใจและสนใจในการทำให้อากาศไม่ฆ่าเรา?

    ในคุก เพราะเหตุใดถึงมีคนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดร้ายแรงแต่คนที่ทำผิดร้ายแรงกลับยังลอยนวลอยู่ข้างนอก? ทำไมผู้กระทำผิดคดียาเสพติดจึงล้นคุก จนอัตราจำเลยต่อพื้นที่เรือนจำ ต่อพัศดี ต่อผู้พิพากษา ล้ำหน้าประเทศอื่น?

    ถ้าหากจะขังเยาวชนเพื่อ ‘correction’ แล้วแลกอิสรภาพกับวันแห่งการพัฒนาการกับสังคมที่ปลอดภัยกว่า เพราะเหตุใดอัตรากระทำผิดซ้ำหลังปล่อยตัว 3 ปีถึงยังอยู่ที่ราว 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 3?

    ในด้านมันสมอง งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการที่มีมากมายมหาศาล เด็กไทยใช้เวลาเรียนมากกว่าเพื่อนบ้าน แต่กลับดูเหมือนว่าการลงทุนในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้นไม่ค่อยเกิดผล

    กลับมาที่บนท้องถนนอีกครั้ง ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ระลอกสามและสี่ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตโดยไม่จำเป็นหลายพันคน บางคนไร้ทางออก จบลงที่ถนน จากความผิดพลาดในการบริการจัดการทรัพยากรทางสาธารณสุข

    ประเทศไทยไม่ซีเรียสเรื่องคน ทั้งที่คนคือส่วนประกอบสำคัญที่สุดของสังคมและอนาคตของเศรษฐกิจในยุคเทคโนโลยี

  • สาม ประเทศไทยซีเรียสเรื่องผลงานและหน้าตา มากกว่าผลลัพธ์

  • ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ใช้ชีวิตทำงานนอกประเทศหลายปีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาวะผู้นำในเอกชนและภาครัฐไทยไว้อยู่ข้อหนึ่ง ว่า ‘ผลงาน’ มักเหนือกว่า ‘ผลลัพธ์’ ในประเทศเรา

    ในช่วงที่รุนแรงที่สุดของวิกฤติโควิด-19 ผมมีโอกาสได้เข้าไปช่วยบริหารระบบจิตอาสาที่ประกอบไปด้วยประชาชน เอกชน ข้าราชการ และนายทหาร เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกทอดทิ้งไม่ให้เสียชีวิตบนถนนและในบ้าน

    มันเป็นช่วงที่ทำให้ผมเข้าใจคำพูดว่า “ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้” โดยที่ไม่เคยนึกว่าจะต้องมาเข้าใจด้วยบริบทอันแสนผิดเพี้ยน ที่ความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ความมีตำแหน่ง ความไม่อยากเสียหน้า และความไม่อยากถูกบดบัง บางครั้งมีความสำคัญกว่าความเร่งด่วนที่จะไปช่วยชีวิตคนได้

    ‘หน้าตา ชื่อเสียง และยศถาบรรดาศักดิ์’ เป็นเรื่องที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมไทย มันเป็นสิ่งที่นักวิชาการจัดเข้าไปไว้ในหมวดหมู่ ‘เทคโนโลยีทางสังคม’ ที่มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกและความราบรื่นของการปฏิบัติต่อกันตามขนบธรรมเนียมประเพณี

    เมื่อทราบว่าใครเป็นใคร ใครพี่ใครน้อง ใครพ่อใครแม่ ใครบ่าวใครไพร่ การตัดสินใจว่าจะปฏิบัติต่อกันและกันอย่างไรจะเข้าสู่เส้นทาง autopilot ที่ถูกกำหนดไว้แต่ก่อนกาล

    กลไกเหล่านี้มีประโยชน์ในบางบริบท แต่หากบริโภคเกินควรแล้วสามารถสร้างโทษได้มากมาย สำคัญที่สุดคือมันทำให้เรา ‘ลืม’

    ลืมไปว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควร ในบรรทัดฐานของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เศรษฐกิจ (economic man) หรือจะมนุษย์และพลเมืองที่ดีของอริสโตเติล (good man and upright citizen) เนื่องจากสมองและหัวใจอ่อนซ้อม ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานเพราะการตัดสินใจถูกไฮแจ็กโดยกรอบความคิดหนึ่ง

    ผลกระทบที่ตามมาที่มีต้นทุนต่อผู้อื่นสูงสุดคือการไม่ยอมรับผิด หรือแม้กระทั่งการไม่ยอมรับรู้ถึงปัญหา ทั้งปัญหาในสถาบันครอบครัว ในสถานที่ทำงาน และในสังคมโดยรวม

    จึงมีความเสี่ยงที่ค่านิยมนี้จะทำให้ประเทศไทยมีผลงานมากมาย แต่อาจไม่มีผลลัพธ์

  • สี่ ประเทศไทยมีความอนุรักษนิยมมากเกินไป

  • ‘อนุรักษนิยม’ มีนิยามที่หลากหลาย หนึ่งในความหมายที่ผมเข้าใจคือความไม่คล้อยตามต่อการเปลี่ยนแปลงและการเดินตามทางใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยถูกพิสูจน์ และไม่ได้เป็นอนุรักษนิยมแค่เพียงแต่ในเชิงการเมือง แต่ในเชิงของการทำงาน การทำมาหากินด้วย

    มันเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เราปลูกฝังวัฒนธรรมที่ต้องตำหนิเมื่อระบายสีออกนอกกรอบ ประนามเมื่อผิดพลาดล้มเหลว สังคมที่ห่อล้อมเด็กๆ ร่วมกันสร้างมลทินติดตัวให้พวกเขากลัวที่จะออกนอกกรอบเก่าๆ แม้กรอบอาจจะไม่ได้ดีหรือถูกต้องนัก

    เรื่องนี้ระบาดจากมุมเล็กๆ ในวัยเด็กไปสู่อีกหลายมิติ ตั้งแต่ความไม่กล้าสานฝันทำธุรกิจ ความกลัวเมื่อต้องเลือกสาขาอาชีพ ไปจนถึงเรื่อง taboo ของการหย่าร้าง ยอมทนกันไปแทน และความไม่กล้าตัดสินใจของผู้มีอำนาจเนื่องจากกลัวความเสี่ยง

    แน่นอน กฎเกณฑ์แห่งความเจริญนั้นไม่ได้สนับสนุนให้บุ่มบ่ามหรือตัดสินใจแบบสิ้นคิด แต่มันก็ไม่มอบรางวัลให้กับความช้าและความเดิมๆ เช่นกัน โดยเฉพาะในโลกอนาคตที่เทคโนโลยีไปเร็วกว่าที่มนุษย์จะซึมซับได้

    สิ่งที่อยากให้ประเทศไทยเป็นและสิ่งที่ต้องทำ

    ผมไม่ได้อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบประเทศใดเป็นพิเศษ เพียงอยากที่จะเห็นบทต่อไปของประเทศไทยที่ไม่ใช่ ‘lost decade’ และไม่ใช่เทปม้วนเดิม แต่เป็นสถานที่ที่ผู้คนมีสุขภาวะที่ดี มั่งคั่งได้ถ้วนหน้า และ resilient แม้จะมีความท้าทายเก่าใหม่ถาโถมเข้ามาทุกวัน รวมถึงมีเชื้อชาติใดก็ได้ ขอให้มีความสามารถและสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ควรเป็นถือสัญชาติไทยได้ไม่ยากเหมือนในปัจจุบัน

    การจะไปสู่จุดนั้นผมคิดว่ามีสิ่งที่ต้องทำอยู่ 3 ประการ

  • หนึ่ง เริ่มพัฒนาสังคมแบบนักลงทุนและนักวิทยาศาสตร์ (บ้าง)

  • ในอดีตที่ผ่านมา เราเน้นพัฒนาด้วยรูปแบบ ‘strong man’ และรูปแบบ ‘การไต่เต้าของข้าราชการ’ มากเกินไป

    ความท้าทายในปัจจุบันซับซ้อนเกินกว่าที่จะมี ‘strong man’ คนหนึ่งคนใดที่สามารถเข้ามากู้ชาติ แก้ไข และตีโจทย์แตกได้เอง

    ประเทศไทยต้องการผู้นำแข็งแกร่ง แต่ไม่ต้องการผู้นำที่ต้องแบกรับชาติอยู่เพียงคนเดียว

    ในขณะเดียวกัน ด้วยความเร็วที่โลกกำลังหมุนไปข้างหน้า ประเทศไทยต้องการผู้นำทุกระดับ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ที่มีความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ ทุกก้าวที่ล่าช้าหรือลังเลคือค่าเสียโอกาสที่ทบต้นด้วยอัตราดอกเบี้ยซึ่งทวีคูณมากกว่าในอดีต

    สองรูปแบบการพัฒนาที่ประเทศไทยควรเพิ่มเติมเข้าไปและยังขาดแคลนอยู่มาก คือ

      หนึ่ง การพัฒนาแบบนักลงทุนที่มีเป้าหมาย returns on investment ชัดเจน และ
      สอง การพัฒนาสังคมแบบนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงข้อมูล

    ทั้งสองรูปแบบจะช่วยให้การพัฒนา การกำกับดูแล และการประกอบกิจการ ออกมาในลักษณะแบบที่ผู้นำมองเป้าข้างหน้าแบบมี ‘upside’ มากขึ้น เนื่องจากมีความไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องการสิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้า แทนที่จะตั้งเป้าว่าเรายอมรับในสถานะปัจจุบันและจะ ‘พัฒนา’ ให้ประเทศไม่แย่ไปกว่าเดิม

  • สอง ผ่อนแรงภาครัฐ​+พึ่งพาเอกชนให้มากขึ้นในการพัฒนาประเทศ

  • จากมุมมองรัฐศาสตร์ ภาครัฐมีภารกิจและมีอัตลักษณ์ในรูปแบบที่หล่อหลอมชาติไทยขึ้นมาท่ามกลางความโกลาหลของการเมืองโลก

    จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ ภาครัฐมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม โดยการออกนโยบายและผลิตสินค้าสาธารณะที่มีคุณภาพ เกลี่ยผลกระทบทางนอกให้เข้าที่เข้าทาง กำกับดูแลไม่ให้ระบบตลาดเลยเถิดหรือเกิดภาวะล้มเหลว

    แต่ในเชิงปฎิบัติ ต้องตั้งคำถามว่า ที่จริงแล้วเราพึ่งพาบริการของภาครัฐในชีวิตประจำวันได้มากน้อยเพียงใด? การอยู่รอด ทำมาหากิน ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของครอบครัวเรา กี่เปอร์เซ็นต์คือผลลัพธ์ที่มาจากภาครัฐ? และที่จริงแล้วขอบเขตอำนาจภาครัฐมากเกินไปหรือไม่?

    ในขณะที่หลายประเทศตะวันตกกังวลกับภาวะการเอาเปรียบประชาชนโดยความกระหายกำไรของภาคเอกชน รวมถึงมีความพยายามกำกับดูแลไม่ให้เอกชนมีอำนาจมากจนเกินไป ประเทศไทยดูเหมือนจะมีปัญหาที่กลับหัวกลับหางในมิตินี้

    ภาครัฐมีภาระรับผิดชอบและมีอำนาจในสังคมมากเกินไป และอาจดีกว่าหากมอบอำนาจให้เอกชนพัฒนาสังคมแทนโดยอ้อม

    นี่เป็นประโยคที่ผมไตร่ตรองอยู่นาน เนื่องจากโดยเชิงทฤษฎีแล้ว การมอบบังเหียนในการพัฒนาสังคมให้กับภาคเอกชนนั้นไม่ใช่ความคิดที่ดีเลิศนัก แต่สิ่งที่สัมผัสได้ในประเทศไทย คือ ภาคเอกชนมีศักยภาพที่สูงกว่าในหลายมิติของการพัฒนา โดยเฉพาะในด้านบุคลากรที่เข้าใจการใช้เทคโนโลยี

    และถึงแม้ว่าแรงจูงใจในการผลิตสินค้าสาธารณะด้วยทุนของเอกชนเองจะเจือจาง ก็ยังคุ้มที่จะลองเสี่ยงกับผลกระทบที่เอกชนจะเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วดูว่าผู้บริโภคสามารถกดดันผ่านปัจจัยอุปสงค์กลับไป มากกว่าอยู่กับสิ่งเดิมๆ แล้วรับเคราะห์จากการที่ภาครัฐมีอำนาจหน้าที่เพียงผู้เดียวแล้วกลับไม่สามารถ deliver ได้แบบในตำรา

    แน่นอน ภาครัฐไม่ควรละทิ้งภารกิจและบทบาท แต่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่าง

    หากต้องการที่จะพึ่งพาเอกชนมากขึ้น แปลว่าก็ต้องมีการเปิดช่องว่างและการสนับสนุนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งในการกำกับดูแลและเชิงอำนาจ ที่ต้องเปิดพื้นที่และไม่เป็นคอขวดต่อการทำงานที่รวดเร็วกว่า มิใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

  • สาม โอบรับการพัฒนาผ่านการกระจายอำนาจและพลังของความเป็นเจ้าของ

  • หากโลกคริปโทเคอร์เรนซีและ Web3 จะให้บทเรียนอะไรกับภาครัฐและองค์กรกำกับดูแล หนีไม่พ้นเรื่องของพลังจากการกระจายอำนาจและความเป็นเจ้าของ ที่มีผลดีมากกว่าที่ทุกคนนึก

    เนื่องจากในโลกจริง สองสิ่งนี้กระจุก และไม่เคยถูกทดลองให้ออกมาแสดงพลังของมัน

    หากใครเป็นเจ้าของกิจการ จะเข้าใจว่าการออกแบบแรงจูงใจกับความเป็นเจ้าของเปลี่ยนแปลงได้แทบทุกอย่าง แม้กระทั่งอะไรที่เหลือเชื่อ… อย่างการพลิกชะตาประเทศไทยในวันที่ดูไม่ค่อยมีความหวังมากนัก

    คนที่ไม่เคยทำงานเต็มร้อย ทำงานเกินสามร้านได้เมื่อเขามีความเป็นเจ้าของ ปัญหาที่ผู้เชี่ยวชาญมองดูเหมือนว่าเป็นทางตัน เราอาจพบคำตอบจากผู้ที่ไม่เคยได้รับโอกาสมาลิขิตชะตากรรมขององค์กร

    เรื่องนี้ไปไกลกว่าการหาสมดุลระหว่างนวัตกรรมและเสถียรภาพในบริบทขององค์กรกำกับดูแล

    เรื่องนี้ไปถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ของบรรษัทภิบาล ว่าการตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะในองค์กรขนาดย่อมหรือในระดับประเทศ

    การกระจายอำนาจและความเป็นเจ้าของเป็นพลังที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ และเปลี่ยนประเทศไทยได้…

    …หากเรายอมเปิดใจให้กับทางเลือกใหม่นี้ แล้วทดลองเดินไปในเส้นทางใหม่ที่อย่างมากก็ไม่ได้ผล แต่อย่างน้อย ก็เป็นก้าวที่ไม่ซ้ำอยู่ที่เดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

    สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…