ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเหลื่อมล้ำ ภาค 2

ความเหลื่อมล้ำ ภาค 2

16 กรกฎาคม 2014


ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดิฉันได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำไปแล้วเมื่อปี 2553 แต่เนื่องจากความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นที่คุกรุ่นไม่คลายไปจากสังคมไทย จึงขอเขียนภาค 2 โดยจะขอกล่าวซ้ำถึงหลักคิดที่ได้เคยเขียนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นในการนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงในสังคมไทย และมีมานานแล้ว ในประเทศอื่นๆ ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่หลายประเทศก็ได้มีความพยายามใช้มาตรการต่างๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำ มาตรการที่มักใช้กันคือ มาตรการทางการคลังที่รวมทั้งด้านภาษีและด้านการใช้จ่ายของรัฐผ่านระบบสวัสดิการสังคม

ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจนเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อ 5 ปีที่แล้วพบว่า ร้อยละ 40 ของคนกรุงเทพฯ และร้อยละ 36 ของคนอีสาน มีความเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นสูงมากถึงขั้นยอมรับไม่ได้ และเกือบร้อยละ 80 ของคนไทยทั้งประเทศยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทย

ความเหลื่อมล้ำอาจเกิดจากการขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดทรัพยากร หรือธรรมชาติไม่เข้าข้าง โดยคนไทยร้อยละ 42 บอกว่า คนจนนั้นจนเพราะเกิดมาจน ร้อยละ 57 บอกว่าคนรวยนั้นรวยเพราะเกิดมารวย นั่นคือ เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่เข้าข้าง หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงเรื่องบุญกรรมแต่ชาติปางก่อน ประมาณครึ่งหนึ่งของคนไทยมองไม่ออกหรือไม่เคยคิดเลยว่าคนที่เกิดมาจนก็ควรที่จะหายจนได้ถ้ารัฐเข้ามาแทรกแซง ถ้าธรรมชาติไม่เป็นธรรมกับเรา รัฐก็มีหน้าที่แทรกแซงเพื่อให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น

ขอยกตัวอย่างเดิมที่เคยยกไปแล้ว ลองดูที่สังคมเล็กใกล้ตัวคือ ครอบครัว ถ้าพ่อแม่ครอบครัวหนึ่งมีลูก 10 คน สมมติว่าด้วยเหตุทางธรรมชาติทำให้ลูก 5 คนแรกที่เป็นหญิงมีความเก่งกาจน้อยกว่าลูก 5 คนหลังที่เป็นชายหมด ที่แย่กว่านั้นคือลูกคนแรกก็พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่มีความเป็นธรรม รักลูกที่เป็นชายเพราะเก่งและช่วยเชิดชูหน้าตาให้แก่ตน ความสุขสงบและความกลมเกลียวในครอบครัวย่อมไม่เกิดขึ้น พ่อแม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนในครอบครัวเพื่อลบล้างความเหลื่อมล้ำที่มาจากธรรมชาติได้ด้วยการให้โอกาสทางการศึกษาและดูแลลูกอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ความใส่ใจกับลูกที่พิการมากกว่าคนอื่นๆ เป็นต้น ที่สำคัญพ่อแม่ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น ความสงบสุขในครอบครัวก็จะเกิดขึ้นได้

รัฐก็เหมือนกับพ่อแม่ที่ดูแลครอบครัวขนาดใหญ่ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อป้องกันปัญหาสังคม มาตรการทางการคลังที่ลดความเหลื่อมล้ำทำได้ด้วยการเก็บภาษีจากคนที่ “มี” คนมีมากก็ควรเสียภาษีมาก คนมีน้อยก็ควรเสียภาษีน้อย ไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้แบบก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นมาตรการด้านภาษีที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ และรัฐควรจัดสวัสดิการสังคมเพื่อให้คนทุกคนไม่ว่าจะ “มี” หรือ “ไม่มี” ได้รับความมั่นใจในการอยู่ในสังคมโดยปราศจากความกลัวว่าจะอดตาย จะไม่ได้เรียนหนังสือ จะตกงาน จะเจ็บตายโดยไม่มีโอกาสรับการรักษาพยาบาล จะแก่อย่างอดๆ อยากๆ จะตายอย่างโดดเดี่ยว หรือจะถูกคนดูถูกรังเกียจเหยียดหยาม

การให้สวัสดิการสังคมแบบที่ไร้ความประณีตก็เป็นปัญหาสร้างความเหลื่อมล้ำได้ เช่น การให้สวัสดิการรักษาพยาบาลแบบหลายมาตรฐาน โดยให้สวัสดิการรักษาพยาบาลกับคนกลุ่มหนึ่งอย่างแพง แต่ให้สวัสดิการรักษาพยาบาลกับคนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างอัตคัดขัดสน ทำให้คุณค่าของชีวิตคนถูกประเมินว่าเป็นแบบแพงกับแบบถูก สร้างความรู้สึกด้อยคุณค่าให้คนที่ได้รับสวัสดิการแบบถูก ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมได้

ลองดูตัวอย่างแบบง่ายของการให้สวัสดิการอย่างเป็นธรรมแก่ประชาชน สมมติให้รัฐเก็บภาษีรายได้ร้อยละ 40 แล้วนำรายได้โอนกลับให้ประชาชนในรูปของการสมทบการออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณอายุ จากตารางด้านล่างเราแบ่งคนเป็น 5 กลุ่มโดยกลุ่มแรก A เป็นกลุ่มที่รวยที่สุด 20% ของประเทศ และสมมติว่ามีรายได้เฉลี่ย 1,000 บาทต่อเดือน กลุ่มที่สอง B เป็นกลุ่มที่รวยอันดับรองลงมาและมีรายได้เฉลี่ย 800 บาทต่อเดือน กลุ่มอื่นๆ ต่อมามีรายได้ลดลงเรื่อยๆ และกลุ่มที่จนที่สุดคือกลุ่ม E มีรายได้เฉลี่ย 200 บาทต่อเดือน ช่องว่างของรายได้ของคนรวยและจนดูง่ายๆ จากสัดส่วนของรายได้คนรวยสุดต่อจนสุดเท่ากับ 5 ต่อ 1

การเก็บภาษีรายได้ 40% ทำให้กลุ่มคนรวยสุดเสียภาษีเดือนละ 400 บาท และกลุ่มจนที่สุดเสียภาษีเดือนละ 80 บาท รายได้รวมจากภาษีเท่ากับ 1,200 บาท จากนั้นให้รัฐจัดสวัสดิการโดยโอนเป็นเงินสมทบการออม (เช่น เข้ากองทุนการออมแห่งชาติ) ให้ทุกกลุ่ม 240 บาทต่อเดือน รายได้รวมหลังหักภาษีและรับเงินสมทบออมจากรัฐของคนรวยที่สุดเท่ากับ 840 บาทต่อเดือน และของคนจนที่สุดเท่ากับ 360 บาทต่อเดือน ช่องว่างของรายได้ที่วัดจากสัดส่วนรายได้คนรวยและคนจนเท่ากับ 2.3 ต่อ 1 ภาษีและการให้สวัสดิการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ คนรวยอาจจะไม่ชอบใจ แต่ถ้าคิดให้ดีว่าตนได้อยู่ในสังคมที่เป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน น่าจะทำให้ตนรู้สึกมีคุณค่าที่ช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้นด้วย

ความเหลื่อมล้ำทีดีอาร์ไอ

ทีนี้ก็มาถึงทางเลือกของภาษีและสวัสดิการสังคมว่าควรที่จะเป็นเช่นไรจึงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาของไทยมีจุดอ่อนในเรื่องของการลดหย่อนหลายประเภทที่ทำให้มาตรการภาษีรายได้อ่อนแอลง ไม่สามารถทำงานในการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเต็มที่ ภาษีรายได้นิติบุคคลก็บิดเบือนจนคนรวยได้รับประโยชน์มหาศาล ภาษีมรดกและภาษีที่ดินก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดเพราะกระทบคนร่ำรวย

ด้านสวัสดิการสังคมก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เช่นเดียวกัน สวัสดิการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบถ้วนหน้า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือกองทุนสวัสดิการชุมชน ล้วนแล้วแต่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร

การให้สวัสดิการสังคมถูกมองว่าเป็นภาระเงินงบประมาณ และเป็นประชานิยม เรามักมีข้อสรุปที่ไม่เป็นกลางเสมอ เช่น คนไทยส่วนหนึ่งมองว่าการให้สวัสดิการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทุกคนเป็นประชานิยม แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าการให้สวัสดิการรักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการเป็นสวัสดิการ เรากำลังพยายามให้สิทธิแก่ข้าราชการที่ตัดสินใจเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ (กบข.) ไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วได้ตัดสินใจใหม่เพราะพบว่าตัวเองคิดไม่รอบคอบ เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่อยากอยู่กับ กบข. แล้ว เราเรียกสิทธิแบบนี้ว่าเป็นสวัสดิการ แต่พอจะให้รัฐช่วยสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน เรากลับเรียกว่าประชานิยม ทั้งๆ ที่ประชาชนในชุมชนกำลังพยายามที่จะช่วยกันดูแลตนเองเพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับสังคมในระยะยาว

แล้วเราจะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร