ThaiPublica > เกาะกระแส > ระดมพลังแก้ “หนี้ครัวเรือน” หยุดวิกฤติชาติ

ระดมพลังแก้ “หนี้ครัวเรือน” หยุดวิกฤติชาติ

20 กุมภาพันธ์ 2022


นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และแม้ว่าอัตราการเติบโตของเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เติบโต 5.1% เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการก่อหนี้ แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก และมีโอกาสที่จะสูงขึ้นไปถึง 90-92% ของจีดีพีในปี 2565 ท่ามกลางการแพร่รระบาดของโรคโควิดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้ความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยมีความหลากหลายมิติ และไม่มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียวในการแก้ปัญหา เพราะหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของไทย ที่นอกจากจะมีปัญหาความซับซ้อนในกลไกการปล่อยเงินกู้แล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะ ธปท. เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ธปท. ตั้งคลินิกแก้หนี้ขึ้นเมื่อปี 2560 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐเป็นเจ้าหนี้ภาคครัวเรือนจำนวนมาก แต่ไม่กล้าปรับโครงสร้างหนี้อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากกังวลเรื่องมาตรา 157 เพราะเคยมีกรณีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ที่ทำตามหน้าที่คือเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎหมาย ไม่มีเจตนายักยอกผลประโยชน์เข้าตัวเอง แต่มีคนมาบอกว่า พ.ร.บ.สถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่ได้เขียนให้ทำได้ ทำให้พนักงาน บสท. กังวล จนต้องแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากสถาบันการเงินของรัฐเข้ามามีบทบาทช่วยรีไฟแนนซ์ให้ลูกหนี้เสียกลับมาเป็นลูกหนี้ดีได้ จะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบ หรือกรณีที่ธนาคารออมสินออกโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถือเป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้ดอกเบี้ยทั้งระบบลดลง ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เป็นต้น

ทางออกจากกับดักหนี้ เปลี่ยนมุมมอง-ยึดลูกหนี้เป็นหลัก

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ให้ลูกหนี้พ้นจากกับดักหนี้ นายวิรไท กล่าวว่า ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อลูกหนี้ใหม่ จากเดิมก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 การแก้ปัญหามักจะมองข้ามหรือมองไม่เห็นสิทธิของลูกหนี้ ต้องหันมายึดลูกหนี้เป็นหลัก มองเห็นปัญหาของลูกหนี้เป็นตัวตั้ง เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ลูกหนี้ได้รับ เพื่อหาทางออกให้ลูกหนี้พ้นจากกับดักหนี้

หนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบันมีอยู่หลายผลิตภัณฑ์และหลายประเภท เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้รถ หนี้บ้าน หนี้ครู หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น ขณะที่บทบาทของ ธปท. จะดูแลเฉพาะหนี้สถาบันการเงินที่เป็นผู้กำกับดูแลอยู่เท่านั้น ทำให้หนี้ของประชาชนที่มาจากหลากหลายแหล่งไม่มีการกำกับดูแลที่เป็นระบบ และเกิดช่องโหว่อยู่ในกฎหมายจำนวนมาก เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่จำนวนมากที่ไม่มีการกำกับดูแล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์และมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันมาก ส่วนสินเชื่อสวัสดิการของข้าราชการ มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ส่วนหนี้ กยศ. ซึ่งเป็นหนี้อีกประเภทหนึ่งของประชาชนรายย่อยที่เพิ่งเรียนจบมาไม่นาน แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ค้ำประกัน เช่น พ่อแม่ และบุคคลอื่นๆ

นายวิรไท กล่าวว่า “หนี้หลากหลายประเภทมีการออกแบบโครงสร้างมาไม่ถูก ไม่เหมาะสม และไม่ได้คำนึงถึงลูกหนี้ เช่น หนี้ กยศ. เด็กที่จบใหม่ เงินชนเดือนต่อเดือน ไม่สามารถจะเก็บไว้ได้ถึงปีค่อยมาจ่ายหนี้ หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ฝากเงินกับผู้กู้ สหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งดึงดูดผู้ฝากเงินเข้ามาด้วยการให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์เยอะ โดยอาจจะลืมไปว่าผู้กู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แพงมาก จึงจะมีเงินปันผลให้สมาชิกและดอกเบี้ยเงินฝากที่จะมาจ่ายคืนผู้ฝากเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ได้

นอกจากการออกแบบหนี้ที่ไม่ค่อยเป็นธรรมแล้ว ยังมีปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ออกจากกับดักหนี้ได้ เช่น สถาบันการเงินของรัฐหรือเจ้าหนี้รัฐ เช่น กยศ. หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เมื่อมีการดำเนินการฟ้องร้องคดีแล้ว ถ้าคดีมีคำสั่งถึงที่สุด ก็ไม่มีใครไปลดหนี้ให้ จึงต้องสร้างทางออกให้ลูกหนี้ก่อนที่จะถูกฟ้องดำเนินคดี และทำให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ได้

สูตรสำเร็จแก้หนี้ 4 เสาหลัก สร้างความเป็นธรรมให้ลูกหนี้

นายวิรไทกล่าวต่อว่า ความซับซ้อนและเจ้าหนี้ที่หลากหลาย ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยต้องขึ้นกับความร่วมมือของ 4 เสาหลักที่เกี่ยวข้อง

เสาหลักแรก คือ ผู้กำกับดูแล เช่น ธปท. ต้องกำกับดูแลไม่ให้เจ้าหนี้ส่งเสริมให้เกิดการเป็นหนี้เร็วเกินควร หรือมีหนี้ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และไม่ให้มีโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อที่เอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม

เสาหลักต่อมา คือ การนำลูกหนี้ออกจากกับดักหนี้ ก่อนหน้าที่โรคโควิด-19 จะระบาด คลินิกแก้หนี้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความสมัครใจของลูกหนี้ แต่พอเกิดโรคโควิด เริ่มมีการแก้ปัญหาเป็นกระจาดใหญ่ และเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศาล เพราะมีลูกหนี้อยู่ในกระบวนการทางศาลเยอะมาก ต้องมีการไกล่เกลี่ยหนี้ นายจ้างมีบทบาทสำคัญมากในการให้ประชาชนออกจากกับดักหนี้ได้ เพราะนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินเดือน โดยเฉพาะหนี้ที่เกี่ยวกับราชการ ที่เรียกว่า หนี้ตัดหน้าซอง หนี้สวัสดิการต่างๆ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ นายจ้างอาจจะมีบทบาทช่วยเอกชนในการเข้ามารีไฟแนนซ์ให้ลูกจ้างที่มีหนี้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้

เสาหลักที่สาม คือ ทำอย่างไรให้คนรู้ฐานะของตัวเอง สามารถบริหารจัดการได้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญ

เสาหลักที่สี่ คือนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องตระหนักเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ เพราะที่ผ่านมา มีบางช่วงเร่งให้คนไทยเป็นหนี้ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

“ถ้าจำกันได้เราเคยเห็นโฆษณาทางทีวี เงินกำลังจะหมุนไปๆ หวังว่าหนี้จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือโครงการรถคันแรกก็ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ หนี้เพิ่มขึ้นมาก หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยกระโดดขึ้นเยอะในช่วงนั้น บางคนบอกเป็นผลข้างเคียง ไม่ได้ตั้งใจ ทำให้คนอื่นเป็นหนี้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หนี้เช่าซื้อรถยนต์เยอะ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกิดผลมันต้องคิดอย่างน้อยใน 4 ขานี้” นายวิรไทกล่าว

นอกจากนี้ ประเภทของหนี้ที่มีความแตกต่างกัน ต้องอาศัยผู้กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น หนี้จำนำทะเบียนนรถ ที่ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ของคนไทย และไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ทั้งที่ความเสี่ยงต่ำ คนกู้หนี้ที่จำนำทะเบียนรถต้องผ่อนจนหมดแล้วจึงจะได้รับโอนเป็นชื่อคนกู้ หรือผู้ที่จำนำทะเบียนรถมีความต้องการเงินเร่งด่วนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และเมื่อได้เงินมาจะใช้หนี้คืน ก็ถูกล็อกว่า ต้องเสียดอกเบี้ยค้างจ่าย ดอกเบี้ยปรับในอัตราสูงมาก แล้วค่อยมาจ่ายเงินต้น และเป็นธุรกิจที่ไม่เกิดการแข่งขัน เพราะทุกคนอยากได้เงินเร่งด่วนหรือเฉพาะหน้า

“ธปท. จึงเข้าไปกำกับดูแล และปลดล็อกเรื่องดังกล่าวไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นการตอบปัญหาว่าการกำกับดูแลจะต้องมีผู้กำกับดูแลและมีกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เป็นธรรม เช่น อัตราดอกเบี้ยต้องไม่สูงจนเกินควร เป็นต้น”

ประสานพลังผู้กำกับดูแล เพิ่มบทบาทการแก้ไขหนี้

แนวทางการกำกับดูแลที่เป็นธรรมนั้น นายวิรไทเห็นว่าต้องมีการทบทวนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพดานอัตราดอกเบี้ย ที่เกี่ยวข้องกับหลายผลิตภัณฑ์ เช่น บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพราะ ธปท. มีเจตนาดี ไม่ต้องการให้คิดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงเกินควร แต่หากไม่มีการแข่งขันทุกแห่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงตามเพดานเหมือนกันหมด รวมทั้งการคิดดอกเบี้ยต้องมีการแยกลูกหนี้ดีกับไม่ดีเหมือนในต่างประเทศ เพื่อลงโทษลูกหนี้ไม่ดี และให้ลูกหนี้ดีได้รับสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

“ในต่างประเทศ ใครผ่อนชำระดี จะมีคนมาเสนอให้รีไฟแนนซ์หนี้ไปอยู่กับเขา เพื่อให้สินเชื่อเก่าและสินเชื่อใหม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทำให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละประเภท แทนที่จะถูกคิดในอัตราดอกเบี้ยเพดาน สำหรับประเทศไทยยังขาดเรื่องรีไฟแนนซ์ กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า หนี้บางอย่างมีปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ธปท. ก็ต้องออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสม แต่ที่ผ่านมา กฎเกณฑ์การกำกับดูแลหลายอย่างไม่ค่อยเอาผลประโยชน์ของลูกหนี้เป็นตัวตั้ง ไม่ได้มองมิติเรื่องความเป็นธรรมมากนัก” นายวิรไทกล่าว

ขณะเดียวกัน ยังมีหน่วยงานกำกับอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ อยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย เพราะคณะกรรมการค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงการคลังดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมทั้งสินเชื่อบางประเภท

ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาต่อเนื่องระยะยาว

นายวิรไทย้ำว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน หลายเรื่องที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะสั้นช่วงโควิด แต่เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศ โดยการเปลี่ยนโครงสร้าง วิธีการคิดค่าธรรมเนียม เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่ทำกันมาต่อเนื่องหลายสิบปี โดยมีตัวกลางที่สำคัญ คือ มีผู้กำกับดูแล (regulator) ออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสม เป็นธรรม ให้สิทธิลูกหนี้มากขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปในระยะยาว ส่วนเรื่องการออกจากกับดักหนี้จะมีทั้งส่วนที่เป็นระยะสั้น และระยะยาว

“คลินิกแก้หนี้ การแก้หนี้ ไม่ใช่ว่าจะทำปีเดียวแล้วเลิก ทำแล้วก็ต้องอยู่ต่อเนื่องไปเพื่อจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศต่อไป เป็นกลไกเพื่อที่จะให้อยู่ต่อเนื่องไปในระยะยาว แต่ถ้าในระยะสั้นอาจต้องมีแพกเกจอะไรบางอย่างมาช่วยสำหรับในช่วงโควิด เพื่อจะลดภาระหนี้ อาจจะเป็นแพกเกจช่วงสั้นๆ หรือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบเร่งด่วน” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทเชื่อว่า หากทุกฝ่ายสามารถผนึกกำลังกันไปในทิศทางเดียวกัน จะช่วยให้เกิดพลังในการแก้ไขหนี้ให้กับประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานอื่นๆ รวม 22 คน เชื่อว่าจะช่วยทำให้การทำงานทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้มากขึ้น เป็นการยกระดับขึ้นมาเป็นวาระที่สำคัญของชาติ

ติ่งหนี้-กยศ.-สหกรณ์ออมทรัพย์ ปัญหาหนี้ที่ต้องร่วมกันแก้

นายขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศ ไทย กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่มาภาพ : https://www.cpd.go.th

นายขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยด้วยนั้น กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้ตั้งคลินิกแก้หนี้ เพื่อผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ และในช่วงเกิดโรคโควิด ได้เปิดแพลตฟอร์มทางด่วนแก้หนี้เป็นช่องทางเสริมให้ประชาชนหรือธุรกิจแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้ โดย ธปท. จะส่งข้อมูลที่ได้รับให้เจ้าหนี้หาข้อตกลงร่วมกับลูกหนี้ โดยปีที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเพิ่มถึง 10 เท่า ช่วยให้สามารถแก้หนี้สำเร็จ 70%

ทั้งนี้ คลินิกแก้หนี้ที่แก้ปัญหาตั้งแต่ปี 2560 มีความยากเพราะเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานเดียว เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ ที่มีปัญหาตั้งแต่การกำกับดูแล เพราะมีกฎหมายเพียง 3 มาตราในการกำกับดูแลลีสซิง แต่มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่อง “ติ่งหนี้” หรือหนี้ส่วนขาดที่ผู้ให้เช่าซื้อจะเรียกร้องจากผู้เช่าซื้อ หลังจากที่ยึดรถและนำรถออกขายทอดตลาด โดยติ่งหนี้ไม่มีความชัดเจนทั้งเรื่องการคำนวณ ตลอดจนขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง สร้างปัญหาให้กับประชาชน เพราะไม่รู้ว่าคืนรถให้ผู้ให้เช่าซื้อไปแล้วแต่ยังมีภาระหนี้อยู่ และมีการนำ “ติ่งหนี้” มาขายต่อ บริษัทที่รับซื้อก็ขูดรีดผู้เช่าซื้อต่อเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ ธปท. ยังแก้ไม่ได้ จึงได้ไปหารือกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อหยุดติ่งหนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากศาล และสำนักงานคณะกรรการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่นำข้อมูลขึ้นเว็บของ สคบ.

ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่างคลินิกแก้หนี้กับหน่วยงานภาครัฐ 3-4 แห่ง เช่น สคบ. ในฐานะผู้กำกับดูแล ศาล และกระทรวงยุติธรรม ที่มีอยู่ 2 กรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้หนี้ คือ กรมคุ้มครองสิทธิ จะดูแลหนี้ของประชาชนโดยรวม และกรมบังคับคดี จะเกี่ยวข้องกับคลินิกแก้หนี้หลายอย่าง

สำหรับหนี้แต่ละประเภทนั้น ในส่วนหนี้ของข้าราชการ โดยเฉพาะการเข้าไปแก้ปัญหาหนี้ครู พบว่า ปัจจุบันครูมากกว่าครึ่งหนึ่งมีเงินเดือนเหลือหลังจากชำระหนี้แล้วไม่ถึง 30% ถ้าไม่แก้ปัญหาจะลำบากเหมือนกัน เพราะว่าไม่มีเงินใช้จ่าย ไม่มีกำลังซื้อ ยังมีเรื่องหนี้ กยศ. ที่เป็นนโยบายที่ดีมาก ให้โอกาสกับคนข้างล่างได้มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่มีปัญหาทางเทคนิคบางเรื่องทำให้เกิดปัญหา เช่น ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาไม่มีสินเชื่อหรือเงินกู้ไหนที่มีอัตราหนี้เสียสูงเท่ากับ กยศ. แม้กระทั่งในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 47% แต่ กยศ. ดอกเบี้ยอยู่ที่ 60% กว่า จึงมีการปรับปรุงเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้เด็กที่กู้ กยศ. สามารถชำระหนี้ได้

“เริ่มแรกข้างนอกมองว่า เด็กส่วนใหญ่กู้แล้วไม่จ่ายเงิน ไม่มีวินัย ทัศนคติแย่ แต่พอเข้าไปดูรายละเอียดก็พบว่า ข้อแรก กยศ. ให้จ่ายหนี้คืนปีละหนึ่งครั้ง รวม 15 ปี วงเงินที่จ่ายจะค่อยๆ เพิ่มจาก 1.5% แล้วไปพีคที่ 13% สมมุติว่ากู้ 1 แสนบาท เขาจะต้องจ่ายคืนประมาณ 5,000-6,000 บาท พอปีที่ 6 ก็ขึ้นไปถึงหมื่นกว่าบาท ทำให้ในปีที่ 5 และปีที่ 6 เราจะเห็นหนี้เสียเกิดขึ้นเยอะ ถ้ากู้ 3 แสนบาท จะต้องจ่าย 1.5 หมื่นบาท จึงเป็นเรื่องยากของคนระดับล่างที่ไม่มีเงินเก็บต่อปีมาจ่ายหนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง”

ปัญหาต่อมาคือ ดอกเบี้ยปรับ 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี ขณะที่ กยศ. ให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% พอเด็กที่กู้เงินค้าขายไม่ได้ หรือจ่ายได้ไม่ครบ ดอกเบี้ยก็จะถูกทบต้นวนไป ตอนที่ กยศ. ฟ้อง ดอกเบี้ยผิดนัดหนี้ขึ้นไปประมาณ 1 เท่า เช่น ถ้าเป็นหนี้ 1 แสนบาท ดอกเบี้ยก็ขึ้นไป 1 แสนบาท ถ้าจ่ายดอกเบี้ยไม่หมด ก็จะจ่ายไม่ถึงเงินต้น ทำให้ลูกหนี้เลิกจ่ายหนี้ ซึ่งภาครัฐน่าจะแก้ปัญหาไม่ยาก เพราะรัฐเป็นเจ้าหนี้รายเดียว เมื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจน กยศ. และกระทรวงการคลังจึงได้กำลังพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ปัจจุบันมีลูกหนี้ กยศ. ถูกบังคับคดีแล้วราว 1.2 ล้านคน

สำหรับหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จะเป็นหนี้อีกประเภทหนึ่งที่มีบทบาทเยอะมากในกลุ่มหนี้ข้าราชการ คือ ครูเป็นหนี้ถึง 1.4 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ถึง 9 แสนล้านบาท โดยหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ พบความผิดปกติที่สำคัญอยู่ 2-3 จุด จุดแรก คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางแห่งอยู่ที่ 4.5-5% ขณะที่ทั่วโลก บางแห่งดอกเบี้ยเงินฝากเขาติดลบ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนของไทยให้ดอกเบี้ยไม่เกิน 1 บาท การที่สหกรณ์ให้ดอกเบี้ย 4 ถึง 5 บาทกว่า ทำให้เกิดผลข้างเคียง เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ถ้ามีคนได้ดอกเบี้ยสูงก็ต้องมีคนรับผิดชอบ ถามว่าใครรับผิดชอบ ก็คือคนกู้ และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะสหกรณ์ตำรวจบางแห่งมีตำรวจที่ฝากเงินหลายร้อยล้านบาท ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ มีกำไร บางแห่งมีกำไรหลายร้อยล้าน บางแห่งรายได้ของสหกรณ์มาจากผู้กู้ 100%

“จากการพูดคุยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ 8 แห่ง พบว่า เขาทราบปัญหาดี จึงบอกทางสหกรณ์ไปว่า อยากให้เขาให้น้ำหนักกับผู้กู้มากขึ้น เพราะสุดท้าย ผู้กู้คือผู้ให้อุปการคุณสูงสุด และปัจจุบันเขามีความยากลำบากมากจากภาระหนี้ที่สูง ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ละเดือนสูงตาม คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแต่ละเดือนลดลง โดยลักษณะของสหกรณ์ คือ สมมติว่ากู้ 1 ล้านบาท แต่ผู้กู้ไม่มีหุ้นในสหกรณ์ สหกรณ์จะให้ซื้อหุ้น 20% หรือ 2 แสนบาทโดยหักจากเงินกู้ แต่ละปีสหกรณ์จะมีเงินปันผลให้ ก็ให้นำเงินปันผลมาลบจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่าย ช่วยให้ภาระลดลง” นายขจรกล่าว

ลดภาระหนี้ กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายขจรยอมรับว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายมากยิ่งขึ้นเนื่องจากรายได้ของประชาชนลดลงเป็นวงกว้าง ขณะที่ภาระหนี้ไม่ได้หายไป ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้เงิน คงมีเงินจำกัด แต่อีกวิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็คือ การแก้ปัญหาหนี้ เพราะถ้าสามารถทำให้แต่ละเดือนประชาชนมีภาระการจ่ายหนี้ลดลง ก็จะทำให้เงินในมือของประชาชนมีมากขึ้นเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ จึงอยากให้รัฐบาลสนใจเรื่องดังกล่าวด้วย