ThaiPublica > คอลัมน์ > สแกนเศรษฐกิจโลก…ปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

สแกนเศรษฐกิจโลก…ปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

14 สิงหาคม 2013


ดร.วิรไท สันติประภพ

นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ว่า ในปี 2556 เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะขยายตัวประมาณร้อยละสองปลายๆ สามต้นๆ ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2557 ประเด็นสำคัญที่เราอาจจะมองข้ามกัน คือ โครงสร้างการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้จะต่างไปจากสามสี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets: DM) จะมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่บทบาทของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) จะลดลง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกนี้มีนัยต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ คงหนีไม่พ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแม้ว่าจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ดูจะทนทานและกระจายตัวมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งราคาบ้านและการสร้างบ้านใหม่ กำไรของบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดเงินตลาดทุนคาด จนเกรงกันว่าธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจะหยุดมาตรการ Quantitative Easing (QE) เร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกผันผวนรุนแรง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีความหวังใหม่กับอุตสาหกรรมพลังงานซึ่งค้นพบวิธีเอาก๊าซธรรมชาติใต้ดิน (shale gas) ขึ้นมาใช้ประโยชน์ ถ้าทำได้สำเร็จอย่างที่คาด สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่มีปริมาณก๊าซสำรองสูงที่สุดในโลก ใช้ไปได้อีกกว่าร้อยปี และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากลับมาเกินดุลการค้า เพราะไม่ต้องนำเข้าพลังงานมากเหมือนกับในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ตื่นก๊าซธรรมชาตินี้ทำให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย

นโยบาย Abenomics (อาเบะโนมิกส์) ที่มาภาพ : http://img.clubic.com
นโยบาย Abenomics (อาเบะโนมิกส์) ที่มาภาพ : http://img.clubic.com

สำหรับญี่ปุ่นนั้น นโยบาย Abenomics (อาเบะโนมิกส์) ที่มุ่งมั่นอัดฉีดเงินสร้างเงินเฟ้อ ได้สร้างความมั่นใจให้แก่คนญี่ปุ่นและธุรกิจญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก เงินเยนอ่อนค่าลง การส่งออกดีขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว และเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเข้ามาทดแทนเงินฝืดได้สำเร็จ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนในนโยบาย Abenomics ทำให้พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุมเสียงเบ็ดเสร็จทั้งสองสภา จึงคาดว่าจะผลักดันกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจสำคัญหลายเรื่องให้ออกมาได้ในปีนี้ แต่ถ้ากฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจเหล่านี้เงียบหายไป การลงทุนใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็อาจจะหายไปด้วย ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพิงเฉพาะการพิมพ์เงินของธนาคารกลางและการสร้างหนี้ของรัฐบาลจะกลายเป็นจุดเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน

เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอีกกลุ่มหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้คือ กลุ่มประเทศยุโรป แม้ว่าจะยังไม่มีข่าวดี แต่ก็ไม่มีข่าวร้ายที่ทำให้กระเทือนกันไปทั้งโลกเหมือนช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา วันนี้เราไม่ได้ยินความกังวลว่าเงินยูโรจะแตก หรือสถาบันการเงินในยุโรปจะล้มลง ปัญหาหนี้สาธารณะไม่ได้ลามไปสู่ประเทศอื่นเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจหลักๆ ของยุโรปบางประเทศจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมจะยังคงทรงๆ ต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญเกือบทุกเรื่องเกิดขึ้นช้ามาก

ทีนี้เราลองหันกลับมาดูกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ถูกลดบทบาทจากพระเอกคุณชายในระบบเศรษฐกิจโลกลงมาเป็นพระรอง (และถ้าตีบทไม่แตกอาจจะตกไปเหลือแค่ตัวประกอบก็ได้) เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นชายใหญ่ในประเทศกลุ่มนี้กำลังเข้าสู่ช่วงของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ รัฐบาลจีนชุดใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งในช่วงต้นปีปฏิเสธที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแรงๆ ตามที่ตลาดเงินตลาดทุนต้องการ แต่เลือกที่จะเพิ่มวินัยในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะวินัยในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ระดับประเทศและระดับมณฑล ยอมให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นกระโดดขึ้นจากร้อยละ 3-4 ต่อปีเป็นร้อยละ 20 ต่อปี (ก่อนที่ธนาคารกลางของจีนจะเข้าแทรกแซง) เพื่อชะลอธุรกรรมการเงินนอกระบบธนาคารพาณิชย์ (shadow banking) ที่เป็นช่องทางจัดหาสภาพคล่องสำคัญของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนลดการใช้จ่ายอย่างหรูหราฟู่ฟ่าของข้าราชการ ชะลอการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งประกาศลดกำลังการผลิตส่วนเกินในเกือบยี่สิบอุตสาหกรรม ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปอีกระยะหนึ่ง

การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนมีวัตถุประสงค์ให้เศรษฐกิจจีนพึ่งพิงการส่งออกน้อยลง และลดการลงทุนที่สร้างผลิตภาพต่ำ (เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เก็งกำไร หรือในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง) รัฐบาลจีนมองเห็นว่าจีนจะเริ่มขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น การลงทุนของจีนจะต้องไปสู่ธุรกิจที่มีผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น จึงจะยกระดับความเป็นอยู่ของคนจีนโดยรวมได้ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนเพิ่งจะเริ่มต้น และจะต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าที่จะบรรลุผลตามที่รัฐบาลจีนต้องการ ในระหว่างทางเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลที่เกิดขึ้นกับแต่ละธุรกิจจะมากน้อยต่างกัน นอกจากนี้จะเกิดความไม่แน่นอนและความผันผวนขึ้นได้เป็นระยะๆ เพราะไม่มีใครเดาถูกว่ารัฐบาลจีนจะใช้ยาแรงมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญไม่มีใครเดาถูกว่ายาเหล่านี้จะเกิดผลรุนแรงแค่ไหน เพราะกลไกตลาดมีบทบาทในเศรษฐกิจจีนเพิ่มมากขึ้น แต่เครื่องมือบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนยังอิงกับการสั่งการด้วยกฎเกณฑ์ กติกา และกำกับดูแลด้วยกระบอง มากกว่าการแทรกแซงด้วยกลไกตลาด

ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีกหลายประเทศก็ดูไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่ อัตราการขยายตัวชะลอลงกว่าในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมามาก ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี แต่อาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องด้วยนโยบายการคลังและได้รับอานิสงส์จากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก ปล่อยให้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างสะสมไปเรื่อยๆ ประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่หลายประเทศมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล หรือแอฟริกาใต้ ทำให้ต้องพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศ เมื่อตลาดเงินตลาดทุนกังวลว่ามาตรการ QE จะหยุดลงและเงินทุนเริ่มไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อัตราดอกเบี้ยในประเทศเหล่านี้ (ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล) จึงกระโดดขึ้นเร็วมาก ส่งผลให้เงินตึงตัว จำกัดความสามารถในการกู้เงินของรัฐบาล เพิ่มภาระหนี้สาธารณะ ทางการไม่สามารถใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายได้อีกต่อไป เงินทุนที่ไหลออกได้ทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนลงเร็ว เกิดปัญหาเงินเฟ้อ กระทบต่อรายได้ที่แท้จริงและกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ

นอกจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่ยังได้รับผลกระทบจากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขาลง ทั้งราคาสินค้าเกษตร ราคาพลังงาน และราคาแร่ธาตุวัตถุดิบ และยังมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นตลาดสำคัญได้ชะลอความต้องการลง แนวโน้มที่จะหยุดมาตรการ QE ทำให้การลงทุนเพื่อเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงมาก และที่สำคัญคือมีผลผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ออกมามาก (เพราะราคาสูงมาหลายปี) สำหรับสินค้าเกษตรบางชนิดยังมีสินค้าคงค้างในสต็อกอีกมาก (เพราะรัฐบาลหลายประเทศแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงนี้ จะทำให้รายได้ของประชาชนในชนบทลดลง และเป็นข้อจำกัดไม่ให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทำนโยบายพยุงราคาสินค้าเกษตรแบบกล้าตายเหมือนเดิม เพราะกลัวว่าจะขาดทุนมากกว่าเดิมมาก

เมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มชะลอลง ผนวกกับสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น เงินทุนต่างประเทศจะสนใจตลาดเกิดใหม่น้อยลงมาก เงินที่เคยไหลมาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของประเทศเหล่านี้จะเหือดแห้งลง ซึ่งหมายถึงต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลและของธุรกิจจะสูงขึ้น ตลาดหุ้นที่เคยเฟื่องฟูจะแฟบลง ความเชื่อมั่นของคนในประเทศและการบริโภคในประเทศจะถูกกระทบไปด้วย

ทางออกของประเทศตลาดเกิดใหม่หนีไม่พ้นว่าจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างที่รัฐบาลจีนกำลังทำอยู่ ยอมที่จะให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง และจัดการปัญหาโครงสร้างเพื่อที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งถ้าเริ่มทำวันนี้ ก็ต้องต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งจึงจะกลับมาเป็นพระเอกคุณชายได้ใหม่ แต่ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นคุณชายที่เท่และมั่นคงกว่าเดิม

แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะไม่เปลี่ยนแปลงมากและมีแนวโน้มดีขึ้น แต่การเปลี่ยนพระเอกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้น จะเปิดความเสี่ยงให้แก่เศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในภาคการส่งออก เพราะว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวขึ้นจากหลุมที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก เวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวไม่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากเหมือนกับเมื่อตอนที่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ จะมีกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรมในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ชะลอลง จะเกิดการแข่งขันตัดราคาสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้ ถ้าดูโครงสร้างตลาดสินค้าออกของไทย เราเคยสบายใจในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเกิดวิกฤติว่าจะไม่กระทบเศรษฐกิจไทยเท่าไหร่นัก เพราะการส่งออกของไทยไปประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 35 ของการส่งออกทั้งหมด เราพึ่งตลาดเกิดใหม่ถึงประมาณร้อยละ 65 แต่ในช่วงสองสามปีข้างหน้านี้ โครงสร้างการส่งออกที่ทำให้เราเคยสบายใจจะสร้างปัญหาให้เราอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาติดลบไปแล้วถึงร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น และจะใช้เวลาอีกเป็นปี

ในด้านตลาดเงินตลาดทุนก็เช่นกัน โอกาสที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้ามาในประเทศไทยมากเหมือนช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคงเกิดขึ้นยาก ทั้งรัฐบาลและเอกชนจะต้องใช้เงินอย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใครที่หวังว่าจะมีรายได้เสริมอย่างเป็นกอบเป็นกำจากการเล่นหุ้น คงต้องเรียนรู้วิธีใช้ชีวิตติดยอดดอยแบบพอเพียงและไม่ทุกข์ใจ

เราจะปิดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลกนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรายอมรับความจริง และเริ่มที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง การปฏิรูปเศรษฐกิจจะยากขึ้นไปอีกถ้าทั้งรัฐบาลและเอกชนเหลือเงินจำกัด หรือถ้าสภาวะเศรษฐกิจโลกตึงตัวมากขึ้น

หยุดนิรโทษกรรม หันมาทำเรื่องปฏิรูปเศรษฐกิจ ปิดความเสี่ยงให้คนไทยดีกว่าครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2556