ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > น้ำมันพืชไทย : พัฒนาคุณภาพสินค้าควบคู่พัฒนา “ESG”

น้ำมันพืชไทย : พัฒนาคุณภาพสินค้าควบคู่พัฒนา “ESG”

3 กุมภาพันธ์ 2022


    ซี่รี่ส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน : สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม(Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

ไร่ถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/AmericanSoybeanAssociation/photos

น้ำมันพืชเป็นสินค้าที่ครัวเรือนส่วนใหญ่บริโภค ผู้ผลิตจึงต้องผลิตสินค้าคุณภาพและปลอดภัย แต่ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนไม่เพียงตระหนักถึงการกินดีอยู่ดีเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการบริโภคที่ยั่งยืน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คุณภาพและความปลอดภัยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ธุรกิจน้ำมันพืชจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุน เนื่องจากธุรกิจน้ำมันพืชมีการแข่งขันสูงด้านราคา ผู้บริโภคสามารถเลือกแบรนด์ที่มีราคาถูกกว่า ผลิตภัณฑ์มีหลากหลายกว่าทดแทนได้

มองไปข้างหน้า ธุรกิจน้ำมันพืช ยังคงเจอกับความท้าทายที่มากขึ้น ตั้งแต่การสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ว่ามีการบริหารจัดการกระบวนการการผลิต ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูกต้นทาง เข้าสู่โรงงาน จนถึงการจำหน่าย ที่ต้องตระหนักในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด(มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2533 เป็นผู้ผลิตในประเทศรายหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม Environment ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม Social และการกำกับดูแลกิจการที่ดี Governance หรือที่เรียกกันว่าการทำธุรกิจในกรอบ ESG

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทอยู่ในใจของผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาตั้งแต่เริ่มแรก รุ่นต่อรุ่นมาแล้ว ว่าเราจะไม่เอาเปรียบสังคม” นายพาชัย จันทร์พิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด(มหาชน) ย้ำถึงแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท

บริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าน้ำมันบริโภค ตรา “องุ่น” และวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายใต้ชื่อ “ทีวีโอ” ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ได้แก่ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา ตราองุ่น น้ำมันมะกอก ตราโมนินี่ (MONINI)และเลซิติน โดยจำหน่ายสินค้าครอบคลุมทั่วประเทศไทย และสินค้าน้ำมันถั่วเหลือง ตรา Healthy Chef และ Queen จำหน่ายในต่างประเทศกลุ่ม CLMV

“ESG” แรงผลักภายใน-ภายนอกที่ต้องทำ

นายพาชัย จันทร์พิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด(มหาชน)

นายพาชัยยอมรับว่าแรงผลักดันจากภายนอกที่มาจากความต้องการของนักลงทุน คู่ค้า ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จากยุโรปที่มุ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรียกร้องให้ผู้ผลิตปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานและเกณฑ์ขั้นสูง เช่น การไม่ใช้แรงงานเด็ก รวมทั้งกฏเกณฑ์ของภาครัฐและ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้บริษัทผู้ผลิตต้องพัฒนามาตรฐานให้ดีขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผู้คนทั่วโลกต่างประสบและเห็นแล้ว ทั้งน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง ทำการเกษตรไม่ได้ ยิ่งเป็นการเตือนว่าต้องร่วมมือและช่วยกัน หากไม่ร่วมกันแก้ไข สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลง ดังนั้น ESG คือแนวทางที่ต้องทำ

“ถ้าไม่ตระหนักด้วยตัวเอง ไม่ตระหนักว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง สักวันหนึ่งสังคมจะกดดันให้อยู่ไม่ได้ เพราะมาตรฐานการดำเนินชีวิตของคนสูงขึ้น ผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้น สุดท้ายก็จะถูกบีบให้ทำ และตามมาด้วยมาตรการการกีดกันทางการค้า สังคมอาจจะเอาคุณไม่อยู่ แต่เรื่องเงินเอาคุณอยู่ เพราะคุณขายของไม่ได้” นายพาชัยกล่าว

ดังนั้นการเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ดีกว่าไปเริ่มในวันหน้า การดำเนินการในวันนี้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และสิ่งที่ทำส่งผลประโยชน์ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

“ทุกวันนี้นักลงทุนต่างชาติถามคำถามเกี่ยวกับธุรกิจน้อย แต่ถามเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และเขาจะใช้ประเด็นเหล่านี้ในการคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน บางรายใช้เวลาเก็บข้อมูลและคัดกรองบริษัทต่าง ๆ เป็นปี เพราะให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง แน่นอนว่าการดำเนินการเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะบริษัทที่เริ่มลงมือทำและไม่มีโครงสร้างด้านนี้มาก่อน และการทำเพื่อให้ได้มาตรฐานสูงขึ้นไปนั้น นอกจากมีค่าใช้จ่ายสูงแล้วก็มีความยากในการปฏิบัติอีกด้วย” นายพาชัยกล่าว

พร้อมให้มุมมองว่า “แม้ค่าใช้จ่ายสูงและยากในการปฏิบัติ แต่หากได้มีการทำธุรกิจในแนวทางยั่งยืน ก็ถือว่าคุ้มค่า ยิ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลดีแน่นอน การระดมทุนง่ายขึ้น ทุกวันนี้เวลากองทุนมาเยี่ยมชมบริษัทจะถามคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนเป็นหลัก โดยเฉพาะนักลงทุนจากยุโรปที่มีการลงทุนในกรอบ ESG ” นายพาชัยกล่าว

พร้อมให้ข้อมูลว่าทีวีโอมีทีมงานเฉพาะที่รับผิดชอบติดตามมาตรฐานระดับโลก ได้รับใบรับรองมาตรฐานหลายด้าน เช่น Carbon Footprint of Products (การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์), ISO 22000 Food Safety Management System (ระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร),TIS 18001 Occupational health and safety management system: specification (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย)

ทำเรื่อง “ยั่งยืน” เพื่อ “องค์กรยั่งยืน”

ขณะเดียวกันการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนของทีวีโอ มาจากแรงขับเคลื่อนภายในขององค์กร ที่ต้องการให้ “ธุรกิจอยู่ได้ยาว ๆ ”

“เราอยู่มา 50 กว่าปีแล้ว เราอยากจะอยู่เป็นร้อยปี ดังนั้นต้องปรับปรุงตัวเองในทันสถานการณ์อยู่เสมอ และการปรับปรุงตัวเองให้ทันสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือแนงทาง ESG” นายพาชัยกล่าว

นายพาชัยเล่าว่า ทีวีโอได้ดำเนินการในหลายด้านของความยั่งยืน ตั้งแต่เริ่มกิจการ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานความยั่งยืนมากนัก ต่อมามาตรฐานการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ต้องทำทั้งห่วงโซ่มูลค่า ลูกค้า คู่ค้า รวมทั้งมีข้อเรียกร้อง(requirement) มากขึ้น ทีวีโอจึงได้ทำความเข้าใจเรื่องมาตรฐานและหลักเกณฑ์ และต่อยอดการพัฒนายั่งยืนให้เป็นระบบมากขึ้น

“จากเดิมเราทำอยู่แล้ว แต่ทำให้เป็นระบบมากขึ้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเราเริ่มเป็นระบบในปี 2556 และได้พัฒนาต่อยอดจากนั้นขึ้นมาเรื่อยๆ” นายพาชัยกล่าว

“ผู้นำต้องรุก”…ออกแบบโครงสร้างยั่งยืนที่ชัดเจน

แน่นอนว่าการพัฒนายั่งยืนขององค์กร การบรรลุเป้าหมายและเดินหน้าได้อย่างจริงจังและยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ผู้นำ” ต้อง “เข้าใจและเห็นความสำคัญ”

นายพาชัยกล่าวว่า โครงสร้างการทำเรื่องความยั่งยืนนี้มี 3 ระดับ ระดับนโยบาย ระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ ระดับนโยบาย มีคณะกรรมการบริษัทเป็นระดับนโยบายสูงสุด และได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม สังคม บริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลการปฏิบัติ หรือ ESRC ย่อจาก Environment Social,Risk,Compliance ขึ้น และจัดให้อยู่ในลำดับรองจากคณะกรรมการบริษัท

“คณะกรรมการ ESRC ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแผนการบริหารความเสี่่ยง นโยบายสำคัญ ด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติตามกฎหมาย และกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุุมทั้งองค์กร และให้ความคิดเห็น เป็นคณะกรรมการที่จริงจังอย่างมากกับเรื่องความยั่งยืนและมีการประชุมบ่อยครั้งมาก” นายพาชัยกล่าว

ระดับบริหาร รับผิดชอบโดยคณะจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม บริหารความเสี่ยงและการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์(Evironmental, Social, Risk Management and Compliance Committee – Enterprise:ESRC-E) ที่คณะกรรมการ ESRC แต่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จากคณะกรรมการ ESRC นำไปสู่ การปฏิบัติในระดับการจัดการ กำหนดกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ กำหนดกระบวนการและมาตรการในการบริหารความเสี่ยง ติดตาม ทบทวน และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทและผู้ที่เกี่่ยวข้องทราบ

ระดับปฏิบัติการ ซึ่งรับผิดชอบการสำรวจความต้องการ/ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ข้อมููลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานในด้านต่างๆ และรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงนั้น ประกอบด้วย 3 คณะทำงาน 3 ทีม ได้แก่ คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม คณะทำงานด้านบริหารความเสี่ยง คณะทำงานด้านการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ทีมงานส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทีมงานชุมชนสัมพันธ์และทีมงานการจัดการพลังงาน

นายพาชัยเล่ากระบวนการทำงานว่า นโยบายความยั่งยืนของทีวีโอครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย( stakeholder) ทุกกลุ่มตั้งแต่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ชุมชนและสังคม และนำกรอบ ESG มาใช้ในแนวทางในการทำงานอย่างจริงจัง โดยแยกการดำเนินการด้านความยั่งยืนออกเป็น 3 ด้านหลักคือ

หนึ่ง ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ ประเด็นหลักในด้านนี้ ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการ การต่อต้านคอร์รัปชัน การบริหารความเสี่ยงองค์กร การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า การจัดหาอย่างยั่งยืน และผลิตภัณฑ์คุณภาพและบริการด้วยใจ

สอง ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นหลักคือ การบริหารจัดการน้ำ การใช้ทรัพยากรและอนุรักษ์พลังงาน การลดของเสียจากกระบวนการผลิต การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการผลกระทบ

สาม ความยั่งยืนด้านสังคม มีประเด็นหลักในการดำเนินการคือ การเคารพสิทธิ การดูแลพนักงาน ความปลอดภัยและชีวอนามัย การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม พร้อมมีตัวชี้วัด

การดำเนินงานใน 3 ด้านหลักนี้ ยึดกรอบ 4 ด้านได้แก่

    1) สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ยึดหลักบรรษัทภิบาล
    2)การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและแข็งขัน
    3)การมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญกับชุมชน
    4)การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับกระบวนการภายในโรงงาน ครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน การบริหารจัดการ น้ำ ของเสีย สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของกระบวนการจัดการ กระบวนผลิตในโรงานอย่างจริงจัง

ทีวีโอยังเตรียมการพัฒนาด้านการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไปอีก โดยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินการในช่วง 2 ปีข้างหน้า

เข้มความเสี่ยง ทุก “ห่วงโซ่คุณค่า” – พัฒนาคุณภาพสินค้าควบคู่พัฒนา ESG

การทำธุรกิจอย่างใส่ใจที่ลงลึกในรายละเอียดทุกขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปลายทางได้คุณภาพตามสเปคที่วางไว้ ซึ่งต้องการบริหารกระบวนการทำงานทั้งห่วงโซ่อุปทาน ไม่ให้มีผลกระทบต่อธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยดูแลตั้งแต่การจัดหาเกษตรกรผู้ผลิต เทรดเดอร์ผู้ส่งมอบวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิตในโรงงาน การจำหน่าย การตลาด ไปจนถึงผู้บริโภค

“เราดูตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูก แหล่งวัตถุดิบไหนที่ผลผลิตออกมาดี เพราะแต่ละปีสภาพอากาศแตกต่างกัน การมีฝนน้อยฝนมาก ผลผลิตจะแตกต่างกัน เกษตรกรเหล่านี้เป็นแลนด์ลอร์ดมีพื้นที่หลายล้านไร่ แหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองต้องไม่บุกรุกทำลายป่า โดยมีผู้ตรวจสอบจากภายนอกเป็นระยะ ๆ ว่าเขาได้ดำเนินงานตามนี้ไหม เช่น มาตรฐาน RTRS (Round Table on Responsible Soy Association) เป็นใบรับรองที่มีเกณฑ์การพิจารณาเข้มงวดที่สุดในตลาดและมีค่าบริการสูง แต่เราลงทุนเพื่อสนับสนุนคู่ค้าด้วย นอกจากนี้ยังมีเทรดเดอร์ ทำหน้าที่รวบรวมถั่วเหลืองให้ และมี surveyor ต้นทางทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าวัตถุดิบเป็นระยะ ๆ ” นายพาชัยกล่าว

จากแหล่งวัตถุดิบ ถัดมาคือท่าเรือที่ใช้ขนถั่วเหลือง ที่ต้องประเมินว่า ท่าเรือนั้นมีคุณภาพไหม มีการขนส่งสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ เพื่อไม่ให้สินค้าอื่นปะปนมากับถั่วเหลืองที่จะเข้าโรงงาน

“มีการสุ่มตรวจคุณภาพเรือขนส่งเป็นระยะ เมื่อมาถึงปลายทาง มี surveyor ตรจสอบอีกครั้ง ว่า ในระหว่างการขนส่ง เรือมีการดูแลสินค้าอย่างดีหรือไม่ เช่น จัดให้การระบายอากาศ เพื่อให้วัตถุดิบมีสภาพดี รวมทั้งมีการแยกสินค้าของบริษัทออกจากสินค้าของลูกค้ารายอื่นที่จัดส่งในเรือลำเดียวกัน เพื่อไม่ไห้ปะปน เมื่อถึงเมืองไทย ก็ต้องใช้เรือโป๊ะออกไปถ่ายจากเรือบรรทุกสินค้าลำใหญ่ ซึ่งการขนของเรือโป๊ะต้องมีผ้าใบคุมเพื่อกันฝนกันแดด รวมทั้งต้องมีการระบายอากาศที่ดี” นายพาชัยกล่าว

ขณะที่กระบวนการควบคุมการผลิตในโรงงานเพื่อไม่ให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม นายพาชัยเล่าว่า ทีวีโอได้ติดตั้งระบบ Nano Neutralization และ Ice Condensing ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของโรงกลั่นได้

“ผลจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาเรื่อยๆ อันนี้จะเชื่อมโยงกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมไปด้วย เราใช้ระบบ Nano Neutralization และ Ice Condensing เป็นบริษัทแรกๆในภูมิภาคนี้ สองระบบนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและช่วยลดของเสียออกจากระบบ โดยระบบ ice condensing ช่วยลดกลิ่นในผลิตภัณฑ์และลดการใช้พลังงานไอน้ำลง 40% ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 30% ลดปริมาณน้ำเสียจากระบบการกลั่นได้ 20% ส่วนระบบ nano neatualiztion ช่วยลดของเสียออกจากระบบได้ เช่น น้ำเสียได้ถึง 40%” นายพาชัยกล่าว

ทีวีโอยังมุ่งลดการปล่อยของเสียจากกระบวนการผลิต จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการขนย้ายขวดพลาสติกและรููปแบบการรับเข้าของขวดบรรจุภัณฑ์ จากเดิมที่รับขวดบรรจุภัณฑ์เข้ามาเพื่อบรรจุโดยตรง ซึ่งมีของเสียเป็นถุงพลาสติกที่ใช้ใส่ขวดบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก มาเป็นการรับขวดในรูปแบบ Preform แทน ทำให้ลดปริมาณถุงพลาสติกลงได้จำนวนมาก รวมทั้งลดการใช้ผงฟอกสีจากกระบวนผลิตน้ำมันบริสุทธิ์โดยใช้เทคโนโลยีและปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถนำผงฟอกสีที่ผ่านการใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำในขั้นตอน Pre Bleaching ซึ่งการติดตั้งจะแล้วเสร็จในปี 2565 ก็จะลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิตที่สามารถรีไซเคิลได้ 8% ภายในปี 2568 เทียบกับปี 2563

ด้านพลังงาน บริษัทได้หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดแผงโซลาร์ในโรงงาน ระยะแรกที่มีการติดตั้งเริ่มในปี 2563 และใช้งานจริงในปี 2564 ซึ่งช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ลง 255 ตันคาร์บอน

การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในระดับผลิตภัณฑ์ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วจนได้รับฉลากลดโลกร้อน หรือฉลากสีฟ้า เครื่องหมายลดคาร์บอนฟุุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ทั้ง 46 ผลิตภัณฑ์ และมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ฉลากสีทอง คือ ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ให้ได้ไม่น้อยกว่า 2% ภายในปี 2567

“การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ปัจุบันทำได้ในระดับผลิตภัณฑ์ แต่เรามีเป้าหมายที่ทำให้ได้ในระดับองค์กร โดยได้เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หากเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน ก็จะเริ่มวางกรอบเวลาในการดำเนินการว่าจะเข้าสู่ net zero carbon ได้ในเมื่อไร ” นายพาชัยกล่าว

การให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิต นอกจากไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน และสังคม แล้วยังต้องได้สินค้าที่มีคุณภาพ ด้วยระบบ Biosecurity หรือชีวอนามัยเพื่อไม่ให้โรงงานปลอดภัย ไม่เป็นแหล่งเพาะโรค กระจายโรค มีการควบคุมการผลิต ผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยทุกขั้นตอน เช่น รถบรรทุกที่จะเข้ามาโรงงานต้องมีการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกคัน พนักงานเข้าออกโรงงานต้องทำความสะอาดทุกครั้งก่อนเข้าโรงงาน ขณะที่การเข้าสายพานการผลิตจำกัดเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง โดยทีวีโอได้รับมาตรฐาน OHSAS 18001 Occupational Health & Safety Management System (ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย)

นอกจากนี้ มีการจัดแบ่งออกเป็นทีม เพื่อไม่ไห้ปะปนกัน และสามารถควบคุมได้จำกัดวงของผลกระทบได้ในกรณีที่เกิดปัญหากับแต่ละทีม อีกทั้งช่วยให้สามารถจัดทีมใหม่ลงไปปฏิบัติงานแทนได้ทันที การผลิตไม่สะดุด

หลักปฏิบัติของระบบชีวอนามัยนี้ยังกำหนดให้ พนักงานต้องรับประทานอาหารในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้เท่านั้น ระบบกำจัดอาหารต้องถูกสุขลักษณะ รวมทั้งมีระบบการสุ่มตรวจคุณภาพผลิตภัณฑ์สม่ำเสมอ และสุ่มตรวจรถบรรทุกคันทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และน้ำมันปรุงอาหารก่อนส่งมอบ

“เรามีการสุ่มตรวจคุณภาพที่เข้มงวดกว่าที่อื่น ยกตัวอย่างเช่น การสุ่มตรวจเรือบรรทุกสินค้า การตรวจรถทุกคันที่ขนส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งรถแต่ละคันมีน้ำหนัก 20-30 ตัน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่นโปรตีน น้ำมัน ไฟเบอร์ สิ่งเจือปน ต้องอยู่ในเกณฑ์ทั้งหมด” นายพาชัย

“รวมทั้งเรื่องสีของน้ำมันพืช จริง ๆ เรื่องสีของน้ำมันพืช มาตรฐานโลกจะไม่มีค่อยให้ความสำคัญ แต่ของทีวีโอมีเกณฑ์มาตรฐานที่ยึดปฏิบัติ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการผลิตน้ำมันพืชให้มีสีเหลืองนวล การที่เราลงรายละเอียดในเรื่องสี แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับการใช้งานของผู้บริโภค แต่การผลิตสินค้าให้ได้สีเหลืองนวลนี้ สะท้อนถึงกระบวนการผลิต ต้องคุมคุณภาพ ตั้งแต่วัตถุดิบที่จะนำเข้ามาผลิตต้องเป็นวัตถุดิบที่ดี และในการผลิตต้องผ่านความร้อนที่เหมาะสม จึงมีการดูแลควบคุมคุณภาพสินค้าส่งผลให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันของทีวีโอได้รับรางวัลที่สองในการประกวดระดับโลก คุณภาพสินค้าจึงสม่ำเสมอ”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/AmericanSoybeanAssociation/photos

นายพาชัยยอมรับว่า การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพแม้มีต้นทุนสูง แต่มีผลดีในระยะปานกลางและระยะยาวในการดำเนินธุรกิจ เห็นได้ชัดจากการใช้ระบบ Nano Neutralization และ Ice Condensing ที่ช่วยใช้ทรัพยากรน้อยลง และช่วยรองรับผลกระทบจากราคาสินค้า เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ และส่วนใหญ่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งราคาถูกบางครั้งราคาแพง การที่ใช้สินค้าบางประเภทในปริมาณมาก มีโอกาสที่ขยับตัวยาก เพราะมีราคาสินค้าที่เป็นต้นทุน ดังนั้นการพัฒนาระบบการผลิตช่วยให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงและลดต้นทุน

“การใช้ทรัพยากรน้อยลงเป็นการลดความเสี่ยงในอนาคต การใช้ไฟฟ้า ใช้พลังงานลดลงเป็นการลดความเสี่ยงลง แม้เราต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ความเสี่ยงลดลงในระดับองค์กร” นายพาชัยกล่าว

ทีวีโอยังได้นำแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่่งแวดล้อมโดยการออกแบบปรับปรุงกล่องกระดาษลูกฟูก ให้มีน้ำหนักเบาและบางแต่ยังคงความแข็งแรงทนทาน เพื่อลดน้ำหนักต่อหน่วยลง และพัฒนาขวดพลาสติกใส (PET) สำหรับบรรจุน้ำมันถั่วเหลือง ตราองุ่น ขนาด 1 ลิตรแบบ Classic มีการออกแบบให้มีรูปทรงที่เหมาะกับการถือจับ เทน้ำมันได้สะดวกไม่เหลือน้ำมันทิ้งก้นขวด ทำให้ขวดมีน้ำหนักเบา ซึ่งจะสามารถลดน้ำหนักของกล่องกระดาษและขวดพลาสติกลง ทำให้ลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์โดยรวมได้ 1,086 ตันคาร์บอน

“เราลงรายเอียดและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ลดในสิ่งที่ลดลงได้ ระยะต่อไปจะใช้พลังานหมุนเวียน ปรับปรุงภายใน คลังสินค้าที่จะสร้างใหม่ก็จะออกแบบให้ติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าได้” นายพาชัยกล่าว

สร้างคน สร้างความยั่งยืน

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว “คน” ที่บริหาร “คน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองไกลไปพร้อม ๆ กับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อสร้างคน พัฒนาคนให้สอดรับกับเป้าหมายและแผนงาน กับก้าวที่ยั่งยืนขององค์กร

“การที่จะเราจะรู้ว่าเราจะทำอะไรในข้างหน้า อันดับแรกเอาคนไปอยู่ในจุดสำคัญนั้นก่อน คนกลุ่มหลักนี้ เป็นคนจัดส่งข้อมูลเข้ามาในส่วนกลางว่าควรไปอย่างไรต่อ อนาคตจะเป็นอย่างไร ก็จะส่งข้อมูลกลับมาว่าต้องการบุคลากรแบบไหน” นายพาชัยกล่าว

นายพาชัยยกตัวอย่างว่า “บริษัทซึ่งมีการค้ากับต่างประเทศต้องติดต่อกับต่างประเทศที่มีความแตกต่างด้านเวลา ช่วงกลางคืนของไทยก็ตรงกับกลางวันในอีกซีกโลกหนึ่ง ก็ต้องมีคนมารับผิดชอบให้ต่อเนื่อง และต้องใช้คนอายุน้อย เพราะคนอายุน้อยที่มียังสุขภาพดี สามารถทำงานในช่วงกลางคืนได้ ดังนั้นธุรกิจปัจจุบันต้องมีความสามารถในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่น เพราะโลกมีพลวัตรสูง การทำงานยุคนี้เชื่อมต่อกับโลก ไม่มีเวลาหยุด เราซึ่งทำการค้ากับต่างประเทศก็ต้องมีคนมารับผิดชอบ ที่เหมาะทำงานด้านนี้”

พร้อมเล่าอีกว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ทีวีโอได้ปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง โดยเน้นการปรับหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ และส่งเสริมบุคลากรที่มีความสามารถให้ก้าวหน้าในหน้าที่ โดยไม่ต้องผ่านลำดับอาวุโสหรืออายุงาน เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างเต็มความสามารถและยกระดับความผูกพันกับองค์กร นอกจากนี้ยังเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกช่องทาง

ขณะที่การดูแลพนักงานในการทำงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ไม่ได้ปรับลดเงินเดือนพนักงาน แต่มีการปรับเงินเดือนขึ้นตามปกติ และไม่มีการหยุดดำเนินการ รวมทั้งมีมาตรการเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้ต่อเนื่องและปลอดภัย

“ช่วงโควิดทีวีโอมีตรวจ ATK พนักงานทุกอาทิตย์ รวมทั้งกำหนดให้มีการทำงานแบบ Work From Home แบ่งเป็นทีม สลับการเข้ามาทำงานเป็นรายสัปดาห์ และจัดเตรียมอุปกรณ์และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้ทำงาน WFH ได้สะดวก ช่วงนั้นเราทำงาน WFH ถึง 100% แต่ตอนนี้สลับกันเข้ามา ซึ่งภายในสำนักงานเองก็จัดพื้นที่ใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรการเว้น ระยะห่างทางสังคม” นายพาชัยกล่าว

ต้องฟังและได้ยิน “stakeholders”

ทีวีโอให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย การตอบสนองความคาดหวัง การสื่อสารและการรับฟังของผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม คือ พนักงาน ลูกค้าและผู้บริโภค คู่ค้าและผู้ส่งมอบวัตถุดิบ ผู้ถือหุ้น สังคมและชุมชน คู่แข่ง และหน่วยงานราชการ ซึ่งมีการดำเนินงานหลายรูปแบบ โดยการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมนั้น ทีมงานแผนกชุมชนสัมพันธ์ จะรับผิดชอบประสานงานอย่างใกล้ชิด มีการพบปะเยี่ยมเยียนชุมชน เพื่อรับฟังและจัดการกับข้อร้องเรียนหากมี

“โรงานของเราตั้งอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี ซึ่งมี 4 ตำบล ที่เป็นชุมชนรอบโรงงาน เราจึงดูแล 4 ตำบลนี้เป็นพิเศษ 4 ตำบล บางด้านไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากโรงงาน แต่เป็นความเดือดร้อนหรือความเป็นอยู่ของชุมชน ตัวอย่างเช่น เรากำจัดยุงให้ จัดการซ่อมระบบสาธารณูปโภคให้ แก้ไขท่อระบายน้ำมีปัญหา และทีวีโอได้รับคนในชุมชนเข้าเป็นพนักงานก่อนรับจากพื้นที่อื่น ส่งผลให้มีคนในพื้นที่เป็นพนักงานถึง 80% ” นายพาชัยกล่าว

สำหรับการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร ทีมงานแผนกชุมชนสัมพันธ์ของทีวีโอร่วมเป็นคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์ ที่ประกอบด้วยนายอำเภอนครชัยศรี ผู้นำชุมชนในอำเภอนครชัยศรี ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากภาคประชาสังคม โดยกำหนดประชุมหารือไตรมาสละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสสื่อสาร รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ ต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการดำเนินงานของทีวีโอ

“ทุกไตรมาสเราจะพบปะกับระดับอำเภอหน่วยราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น หรือรับฟังปัญหา สิ่งที่ต้องปรับปรุง รวมทั้งความช่วยเหลือที่ชุมชนต้องการ ข้อคิดเห็นเหล่านี้ จะนำมาใส่ไว้ในแผนปฏิบัติของไตรมาสถัดไป”

นายพาชัยกล่าวว่า ผู้นำชุมชนยังสามารถติดต่อสื่อสารกับตัวแทนของทีวีโอได้ทุกวัน ตลอดเวลาผ่านช่องทางต่างๆที่จัดไว้ เช่น แจ้งผ่านช่องทางไลน์ หากมีกลิ่นออกจากโรงงาน

“ในช่วงโควิด บริษัทได้จัดการให้มีการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่โรงานเราตั้งอยู่คือ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ทั้งพื้นที่รวมทั้งความสำคัญกับการศึกษา สุขอนามัย ในพื้นที่ด้วยการมอบทุนให้ชุมชม สนับสนุนเครื่องมือ เครื่องช่วยหายใจ ให้กับโรงพยาบาล และมีการจัดทำโรงพยาบาลสนามในชุมชน ในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด” นายพาชัยกล่าว

นอกจากนี้ “เราพยายามดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครอบคลุม และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งบางครั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้ถืออรายย่อยที่ช่วยตอบคำถามแทนในการประชุมผู้ถือหุ้น” นายพาชัยกล่าว

ไร่ถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/AmericanSoybeanAssociation/photos

ยึดความโปร่งใส “กำไร” ตรวจสอบได้

นายพาชัยกล่าวว่า นอกเหนือจากการดำเนินงานใน 3 ด้านแรก ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมและการปฏิบัติตามกฎหมายกฎเกณฑ์แล้ว ทีวีโอยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง

“ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับกิจการที่ดี และการบริหารความเสี่ยง นี้ทีวีโอให้น้ำหนักเท่ากัน ไม่มีตัวใดยิ่งหย่อนกว่ากัน และขาดตัวใด ตัวหนึ่งไม่ได้ การสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีโอกาสถูกปิดโรงงาน การทำผิดกฎหมายก็อาจจะถูกปิดโรงงาน การบริหารจัดการความเสี่ยงจึงต้องครอบคลุมทั้งองค์กร ” นายพาชัยกล่าว

การจัดการความเสี่ยงคณะทำงานด้านการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็น 1 ใน 3 คณะทำงานของระดับปฏิบัติการ จะทำหน้าที่จัดทำแผนจัดการความเสี่ยง(Risk Management Plan) วิเคราะห์ ประเมิน กำหนดวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator : KRI) รวมถึงกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยง (Mitigation Plan)ให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร กำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และความเสี่ยงที่ทนรับได้ขององค์กร (Risk Tolerance) รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ESRC-E

ทีวีโอยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการตรวจสอบภายใน ดังนั้นการตรวจสอบภายในของบริษัทนอกจากจะมีคณะกรรมการตรวจสอบที่มาจากการแต่งตั้งของบริษัทเองแล้ว ยังได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย ทีวีโอจึงมีการตรวจสอบในระดับที่เข้มข้นมากกว่าระดับปกติ

“เราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ อย่างแรกต้องมีกำไรก่อน แต่การมีกำไรของเราต้องคำนึงถึงความโปร่งใส ความเป็นธรรม และตรวจสอบได้ เรามีการตรวจสอบทั้งจากภายในและภายนอก มาช่วยในการกำกับดูแล” นายพาชัยกล่าว

การดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง ได้สร้างผลการดำเนินที่ดีในทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัลในหลายด้าน ในปี 2563 บริษัทได้รับการประเมินด้านกำกับกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ด้วยคะแนนในระดับดีเลิศ (5 ดาว) ได้รับรางวัล SET Awards ด้านผลการดำเนินงานดีเด่น Outstanding Company Performance Awards และรางวัลผู้บริหารสูงสุดดีเด่น Outstanding CEO Awards

ทีวีโอยังได้รับการคัดเลือกอยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) รวมถึงรางวัล Prime Minister’s Export Award ในกลุ่มรางวัลผู้ประกอบธุุรกิจส่งออกยอดเยี่ยม (Best Exporter Award) และ รางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) แสดงถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งคุณภาพและมาตรฐานการผลิตจนเป็นที่ยอมรับในสังคม