ThaiPublica > เกาะกระแส > “สี จิ้นผิง” เรียกร้องชาติตะวันตกอย่าขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป

“สี จิ้นผิง” เรียกร้องชาติตะวันตกอย่าขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป

18 มกราคม 2022


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่มาภาพ: https://english.news.cn/20220118/8bae95106018425d93c703338b820de2/c.html

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลกกระตุ้นการเติบโตด้วยการประสานนโยบาย ในขณะที่โลกยังคงฟื้นตัวจากผลกระทบรุนแรงที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา

จีนกำลังเรียกร้องให้ธนาคารกลางในประเทศตะวันตกไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ทิศทางของจีนไปในอีกด้านหนึ่งเพื่อรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง

“ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงสูงขึ้น อุปทานพลังงานยังคงตึงตัว ความเสี่ยงเหล่านี้ผสมผสานกันและเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ปี 2022 ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ออนไลน์

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เตือนถึงผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป โดยกล่าวว่ามาตรการดังกล่าวอาจคุกคามเสถียรภาพทางการเงินทั่วโลก

“หากประเทศเศรษฐกิจใหญ่เหยียบเบรกหรือกลับทิศทางนโยบายการเงิน ก็จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องรุนแรง” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าว “และจะเป็นความท้าทายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินโลก และประเทศกำลังพัฒนาจะต้องแบกรับผล
กระทบที่หนักหน่วง”

ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกจำนวนมากกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเริ่มยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ใช้ในช่วงการระบาดใหญ่

ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2022 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศว่าจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรที่ใช้ช่วงวิกฤติในเดือนมีนาคม ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนที่แล้ว และเป็นธนาคารกลางประเทศใหญ่แห่งแรกที่ขึ้นดอกเบี้ยนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ธนาคารกลางในยุโรปตะวันออกและละตินอเมริกาได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

แต่จีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักเพียงประเทศเดียวที่เติบโตในปี 2020 กำลังใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวและเผชิญกับความท้าทายในการรักษาแรงส่ง(momentum) ขณะที่ยังคงยึดกลยุทธ์ควบคุมการระบาดของโควิดให้เป็นศูนย์ ซึ่งเป็นนโยบายที่เข้มงวดมีการล็อกดาวน์พื้นที่เพื่อสกัดการแพร่ระบาด ส่งผลให้จีนแยกตัวออกจากหลายส่วนของโลก

ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อให้สภาวะในประเทศเดินหน้าอย่างราบรื่น

ในวันจันทร์(17 ม.ค.) ธนาคารกลางของจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วได้ลดทั้งอัตราเงินสำรอง(reserve requirement ratio ) ซึ่งกำหนดปริมาณเงินสดที่ธนาคารต้องสำรอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ซึ่งเป็นอัตรา ที่ธนาคารพาณิชย์ให้กู้แก่ลูกค้าชั้นดีและใช้เป็นอัตราอ้างอิงสำหรับเงินกู้ประเภทอื่นๆ

มาตรการล่าสุดของจีนมาพร้อมกับการรายงาน เศรษฐกิจขยายตัว 8.1% ในปี 2021 แม้ว่าสูงกว่าประมาณการของรัฐบาล แต่การเติบโตชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปี และคาดว่าจะจีนอาจจะประสบปัญหามากขึ้นเพราะการระบาดของโควิดและ วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลในจีนได้เตือนถึงผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)

จู เป่าเหลียง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐของจีน (State Information Center ) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนโยบายของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กับ Financial News ของธนาคารกลางจีนว่า จีนต้องติดตามและป้องกันวิกฤติการณ์ทางการเงินใดๆ ที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

“ในอดีต การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ก่อให้เกิดวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ หลายครั้ง” จูกล่าวและว่า ความไม่สมดุลอาจทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออกจากจีน

การลงทุนทั่วโลกได้หลั่งไหลเข้ามาในพันธบัตรจีนในปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่ค่อนข้างสดใสในตลาดของจีน กระแสเงินทุนไหลเข้าที่แข็งแกร่งส่งผลให้เงินหยวนเป็นเป้าหมายการลงทุน และเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุด(the best performing currencies )ในปี 2021

จูยังชี้ไปที่ ตลาดหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สำหรับบริษัทจีน ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลายบริษัทในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจประสบปัญหาในการไถ่ถอนหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์ เพราะต้นทุนการไถ่ถอนอาจจะแพงขึ้น

ด้านหยาง จุ้ยชิง นักวิจัยจาก Chinese Academy of Social Sciences หน่วยงานด้านมันสองชั้นนำของรัฐบาล ยังได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์ข่าวของสื่อรัฐว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้อุปสงค์ในสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่งออกของจีน คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอเมริกา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้เตือนว่า การปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นอย่างกะทันหันในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปอาจทำให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา

“ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรเตรียมพร้อมสำหรับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น” อันเป็นผลจากการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดเร็วขึ้นโดยเฟด IMF ระบุไว้ในบล็อกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

IMF ระบุว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อได้เปลี่ยนแปลงไปในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากระดับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ยังไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร และยังเผชิญกับ “หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอย่างมาก”

“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วขึ้นของเฟดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อาจทำให้ตลาดการเงินสั่นสะเทือนและทำให้สภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลก” IMF ระบุ พร้อมเตือนเกี่ยวกับอุปสงค์และการค้าที่ชะลอตัวจากสหรัฐฯ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจกำลังพัฒนาซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังผู้บริโภคสหรัฐฯ

นักเศรษฐศาสตร์ของเฟดเขียนบทความเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วว่า ความเสี่ยงของผลต่อเนื่องต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยบางประการ ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขภายในภูมิภาคเหล่านั้น และความเสี่ยงและความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ