ThaiPublica > คอลัมน์ > “Redesign Design Education” มุมมองใหม่ของการศึกษาด้านการออกแบบ

“Redesign Design Education” มุมมองใหม่ของการศึกษาด้านการออกแบบ

1 มกราคม 2022


ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ Twitter @NatapanuN

“Redesign Design Education” มุมมองใหม่ของการศึกษาด้านการออกแบบ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โลกาภิวัฒน์เชื่อมโยงทุกคนบนโลกอย่างรวดเร็ว เมื่อผนวกรวมกับการระบาดของ COVID-19 และโลกดิจิทัล (digitalization) ยิ่งทำให้สิ่งต่าง ๆ บนโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะการศึกษาในยุค 4.0 ที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

รายการ Spokesman Live!!! EP.50 คุยรอบโลกกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญ ผศ.ดร. อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วมพูดคุยถึงแนวคิดใหม่ของการออกแบบการศึกษากับผู้เขียน

ดร.อันธิกาฯ มองว่าความแตกต่างระหว่างการเรียนในยุค 3.0 กับยุค 4.0 คือ การเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือทำจริงของตัวผู้เรียนเอง ไม่ได้เป็นการสอนแบบเล่าให้ฟังอีกต่อไปแล้ว และช่วงเวลานี้มีความเหมาะสมต่อการสร้างมุมมองใหม่ของการศึกษาด้านการออกแบบ

“กระบวนการเรียนรู้การออกแบบ ทั้งด้านศิลปะหรือสถาปัตยกรรม ล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากความคิดสร้างสรรค์ ทุกวันนี้ใช้การฝึกทักษะด้วยการเล่าให้ฟังอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสมรรถนะซึ่งเกิดจากการลงมือทำจริงเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมฯ กล่าว

นอกจากนี้ ดร.อันธิกาฯ ยังชี้ให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้อุตสาหกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงจาก ยุค 3.0 ที่เครื่องจักรทุ่นแรงการผลิตแทนมนุษย์ มาเป็นยุค 4.0 ที่เครื่องจักรกลเหล่านั้นสามารถคิดคำนวณแทนมนุษย์ได้แล้วแบบปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่การศึกษาต้องมีการปรับตัวเพื่อให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่เครื่องจักรเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ คือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากการลงมือทำจริงของผู้เรียน ประกอบกับความท้าทายของสังคมยุคนี้ เช่น สังคมสูงวัย สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น ทำให้การเรียนการสอนเปลี่ยนไปจากเดิม ศูนย์กลางของการเรียนย้ายจากตัวอาจารย์ไปอยู่ที่สภาพแวดล้อมจริง และผู้เรียนเองก็สามารถหาความรู้ได้จากทุกที่ด้วย โดยเฉพาะโลกออนไลน์

ผมสนทนากับอาจารย์ และบอกว่า วงการทูตก็มีความท้าทายเช่นกัน จากความเปลี่ยนแปลงในสังคม และ digital diplomacy ที่เกิดขึ้น จนมีคำถามว่านักการทูตจะมีประโยชน์ต่อไปอีกหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีทำแทนไม่ได้คือ ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของคนที่เป็นนักการทูต

ดร.อันธิกาฯ ยังเห็นตรงกับผมว่าช่วงเวลาที่เกิด COVID-19 เป็นจังหวะที่ถูกบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนด้านการเรียนการสอนด้านการออกแบบมากที่สุด การเข้าถึงเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเรียนออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากที่ใดก็ได้ อีกทั้ง คนรุ่นใหม่ก็อยู่กับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กแล้ว จึงทำให้ต้องออกแบบการสอนในรูปแบบใหม่และปรับไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น เช่น ทำ virtual tour แทนการลงพื้นที่จริง เป็นต้น

“การศึกษาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก อีกทั้ง ปรับตัวเองและรู้จัก Redesign ให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็สามารถอยู่รอดและหางานได้” ดร.อันธิกาฯ กล่าวทิ้งท้าย

ทุกท่านสามารถติดตามชมรายการ Spokesman Live !!! ทุกตอนได้ทาง FB ของกระทรวงการต่างประเทศและทาง MFA Thailand Channel Youtube https://www.youtube.com/watch?v=9X_U6GzGCTg