ThaiPublica > คนในข่าว > “วิรไท สันติประภพ” ชี้ “ภาครัฐ” ทำไทย “ก้าวไม่ทันโลก” ติง “Tipping Point” ระเบิดเวลาในอนาคต

“วิรไท สันติประภพ” ชี้ “ภาครัฐ” ทำไทย “ก้าวไม่ทันโลก” ติง “Tipping Point” ระเบิดเวลาในอนาคต

21 พฤศจิกายน 2021


ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.)

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงาน TDRI Annual Public Virtual Conference 2021 โดยหนึ่งในวิทยากรมี “ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับการบรรยายในหัวข้อ ‘จินตนาการใหม่สำหรับภาครัฐ’ เพื่อถอดบทเรียนภาครัฐไทยตั้งแต่ปัญหาในอดีต จนถึงแนวทางการปฏิรูปภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนางณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ดำเนินรายการ

4 ปัญหาสะสมของ ‘ภาครัฐไทย’

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของรัฐว่าเนื่องจากมีผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต เพราะภาครัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ และมีผลต่อต้นทุนการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณะ ความปลอดภัย ความมั่นคง และสวัสดิการต่างๆ จึงคิดว่าภาครัฐมีปัญหา 4 เรื่อง

ประเด็นแรกคือประสิทธิภาพการให้บริการ เพราะภาครัฐใช้ทรัพยากรทางสังคมและเศรษฐกิจสูง แต่ปัจจุบันยังเห็นปัญหาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลว่ารัฐสามารถพัฒนาขึ้นได้อีก ตัวอย่างเช่น คุณภาพระบบการศึกษาที่ใช้งบประมาณสูง แต่ไม่สามารถพัฒนาได้เท่าทันกับคุณภาพการศึกษาในหลายประเทศ รวมถึงการพัฒนาไม่เท่าทันความคาดหวังของสังคม

ประเด็นที่สอง ภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งงบเงินเดือน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และงบทำงานด้านต่างๆ ซึ่งเป็นภาระในระยะยาว ยิ่งรวมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะสวัสดิการผู้สูงอายุและค่ารักษาพยาบาลที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลเพิ่มขึ้น ทำให้ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นที่สามคือ ประเด็นเชิงโครงสร้างที่รัฐไม่สามารถจัดการกับภาวะวิกฤติได้ จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเรื่องเร่งด่วนว่าภาครัฐไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ยิ่งโลกข้างหน้าเป็น VUCA (V-Volatility, U-Uncertainty, C-Complexity, A-Ambiguity) ที่เผชิญกับความผันผวนสูง โดยเฉพาะสภาวะภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือ disruption

กระทั่งการทำงานในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีภาวะวิกฤติก็มีความท้าทายเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น จะมีกรอบสูงขึ้น หรือที่เรียกว่ามีไซโลสูง (Silo) การทำงานของหน่วยงานราชการที่แข็งตัวยังต้องติดต่อหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานดูเฉพาะหน้าที่ของตัวเอง การมองแยกเป็นกรอบ ไม่มีทางตอบโจทย์ให้เท่าทันความท้าทาย กลไกของภาครัฐออกแบบเพื่อตอบโจทย์ในอดีตมากกว่าอนาคต

ภาครัฐไทยมีลักษณะรวมศูนย์ ขณะที่เรามีประเด็นความซับซ้อนของบริบทท้องถิ่นที่แตกต่างกัน การที่ภาครัฐรวมศูนย์ที่ส่วนกลางก็ทำให้การแก้ปัญหาช้า และเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบบนลงล่าง ไม่ตอบโจทย์บริบทของพื้นที่

ประเด็นที่สี่คือ ปัญหาคอร์รัปชัน เวลาบอกว่า ‘คอร์รัปชันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามปกติ’ เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะการทำให้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด หากถูกนำไปใช้ในเรื่องไม่มีคุณค่าและเข้ากระเป๋าคนใดคนหนึ่ง มันทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำให้การแข่งขันไม่อยู่บนความสามารถ แต่ขึ้นกับว่าใครสามารถจ่ายผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า

ถ้าเราปล่อยให้ปัญหาของภาครัฐสะสมไปเรื่อยๆ แบบที่เรียกว่า Tipping Point ก็จะแก้ปัญหายากมาก

จากปัญหาสู่ระเบิดเวลาในอนาคต

คุณลักษณะของภาครัฐในอนาคต ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ

1) ภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสูง
2) ภาครัฐต้องมองไปข้างหน้าตลอดเวลา
3) ภาครัฐควรมีขนาดที่เล็กลงเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจ
4) ภาครัฐต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะไม่สร้างภาระกับสังคมในระยะยาว

กระทั่งบทบาทของภาครัฐเทียบกับรัฐวิสาหกิจเทียบกับภาคเอกชน ก็ควรเปิดโอกาสให้เอกชนให้บริการแทน หรือเรื่องอำนาจรัฐก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจและสะสมมานานหลายสิบฉบับที่ออกตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 2500

ยกตัวอย่าง ประเทศไทยมีพ.ร.บ.ค้าข้าว ที่ใช้กันตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะตอนนั้นเราไม่มีข้าวเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ แต่วันนี้พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังใช้อยู่แม้เราจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก

เนื่องจากเป็นความท้าทายที่หลากหลายและซับซ้อน คุณลักษณะในข้อ (4) ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกับภาคอื่นในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพในลักษณะพันธมิตรไม่ว่าสถาบันวิจัย ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม เพราะภาครัฐแบบเดิมที่มีลักษณะการทำงานเป็นนายคนอื่นไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนได้

ภาครัฐต้องมีความคล่องตัวสูง (agile) รับมือวิกฤติที่ประเทศต้องเผชิญกับความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งวิกฤติต่างๆ เป็นแรงกระแทกที่รุนแรง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้ต้องสร้างนโยบายเชิงรุกพร้อมกับการสร้างกันชนรับแรงกระแทก

ที่สำคัญภาครัฐต้องไม่เป็นระเบิดเวลา ไม่ทำให้ปัญหารุนแรงและสะสมมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาด้วยกลไกการทำงานของระบบราชการมักมีกระบวนการที่ยืดเวลาหรือเตะถ่วงออกไป

  • ตัวอย่างเรื่องธงแดง (ICAO) ที่สายการบินไทยไม่ผ่านมาตรฐาน มันเกิดขึ้นได้อย่างไรกับประเทศที่พึ่งพาการเดินทางทางอากาศสูงมากและสายการบินเราก็ได้รับการยอมรับ สรุปแล้วเป็นเรื่องกลไกภาครัฐที่ไม่สามารถตอบโจทย์จนเป็นระเบิดเวลา
  • หรือการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ไทยอาจเป็นเจ้าภาพไม่ได้ หรือไม่สามารถใช้ธงชาติไทยได้ เพราะกระบวนการบริหารเรื่องการโดปยาของนักกีฬาไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
  • ขณะที่โลกไปใช้มาตรฐานใหม่ แต่เรายังใช้มาตรฐานเก่า ซึ่งเห็นได้ชัดจากข้อตกลง CPTPP

ท้ายสุด คุณสมบัติของภาครัฐคือภาครัฐจะต้องมีความสามารถและความกล้าให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างสมดุลของการกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสม ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อย ธุรกิจขนาดเล็กและกลางได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม

เราจะเห็นตัวอย่างในหลายประเทศที่พูดกันว่า ทุนนิยมสามานย์ เมื่อภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีความใกล้ชิดกันจนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น มีผลต่อความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

เจตจำนงทางการเมืองกับการสร้างสมดุลใหม่

การออกแบบภาครัฐใหม่หรือการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาจะมีหลายกลไกที่เชื่อมโยงกัน ไม่มีทางออกที่ง่ายๆ ที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะภาครัฐไทยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องสะสมมานาน ดังนั้นผมคิดว่ามี 4 เสาที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้

เสาแรก Political Will การเมืองมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาของภาครัฐ การมีเจตจำนงทางการเมือง มีความตั้งใจ ความสนใจ ความใส่ใจที่จะปฏิรูประบบราชการหรือกลไกของภาครัฐอย่างจริงจังคือเรื่องสำคัญที่สุด

การจะขับเคลื่อนการปฏิรูปกลไกภาครัฐในระยะสั้นจะเจ็บ มีคนที่ไม่พอใจ มีคนเดือดร้อน แต่ต้องทำเพื่อหวังผลระยะยาว

เพราะถ้าการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องสั้นๆ จะมีการเมืองที่พยายามแทรกแซงระบบราชการ ตั้งข้าราชการที่ตอบโจทย์ตัวนักการเมืองมากกว่าเรื่องคุณสมบัติ ประชาชนต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้ให้ภาคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีคำมั่นสัญญา มีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบภาครัฐใหม่

เสาที่สอง โครงสร้างระบบการทำงานของภาครัฐ Governance Structure ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ ระบบรัฐวิสาหกิจ กลไกการกำกับดูแล กลไกธรรมาภิบาล ที่ผ่านมาเราเน้นไปที่กระบวนการ-วิธีการ มากกว่าผลลัพธ์

ด้วยความที่เป็นไซโลสูง ทำให้เกิดกลไกประสานงานในรูปแบบคณะกรรมการที่ใหญ่และมีจำนวนมาก ซึ่งไม่มีประโยชน์ที่จะเอาคน 20 – 30 คนมานั่งรวมกันและตัดสินเรื่องสำคัญ ผู้บริหารระดับสูงจะเป็นตัวแทนเยอะมาก แต่เวลาประชุมจริงก็ให้ลูกน้องไปแทน ลูกน้องทุกคนก็พูดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยงานของตัวเองหรือในกรอบอำนาจของตัวเอง และไปจบที่ ‘เรื่องนี้ กรอบกฎหมายปัจจุบันทำไม่ได้ หรือเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานของผม’

ที่เราต้องออกแบบกระบวนการทำงานใหม่เพราะต้องทำให้เกิดความโปร่งใส และเรื่องที่ซับซ้อนสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบราชการจะต้องโปร่งใส

เสาที่สาม ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจัง ข้าราชการที่อยากปรับหรืออยากทดลองวิธีการใหม่ๆ ก็จะติดเรื่องกฎหมาย

ไม่กี่เดือนก่อน มีการออกพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ เป็นครั้งแรกที่ข้าราชสามารถใช้อีเมลได้อย่างถูกต้อง ขณะที่เราใช้อีเมลกันมาหลายสิบปีแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่กรอบกฎหมายเป็นพันธนาการ ผู้บริหารและข้าราชการอยากเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้เท่าทันโลกก็จะติดกรอบกฎหมาย

เสาสุดท้ายคือแรงจูงใจหรือ incentive structure ดร.วิรไทระบุว่า “ผมให้ความสำคัญกับแรงจูงใจมาก เพราะมันมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของคน ในกรณีนี้คือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ”

หลายหน่วยงานพยายามยกระดับกลไกการทำงานของภาครัฐ เช่น พลังของอธิบดีหรือผู้อำนวยการของหน่วยงานนั้นๆ ที่ไปเผชิญกับกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย และไม่สามารถมีเครื่องมือสร้างแรงจูงใจ

เราต้องทำให้ภาครัฐมีแรงจูงใจที่เน้นการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น เพราะหน้าที่ผู้บริหารทุกคนคือการบริหารความเสี่ยง แต่ทุกคนพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

คนพูดกันเยอะว่าทำไมเราซื้อวัคซีนช้ากว่าหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะกลไกการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ทำให้เราขาดความคล่องตัว ไม่สามารถจองวัคซีน ทำให้จัดซื้อได้ช้า หรือผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐก็จะบอกว่าการจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีก็เป็นปัญหามาก เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใช้เวลานานทำให้ได้ของที่ตกรุ่น

ทั้งสี่เสายึดโยงกันตั้งแต่เรื่องการเมือง โครงสร้างการทำงานของภาครัฐ โครงสร้างระบบราชการ กฎหมายที่ล้าสมัย และการออกแบบแรงจูงใจที่เหมาะสม ไม่สามารถแก้จุดใดจุดหนึ่งได้ ถ้าจะทำต้องเขยื้อนทั้งสี่ด้าน สำคัญคือภาคการเมือง แต่ที่ผ่านมาที่เราทำได้ช้าเพราะภาคการเมืองไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

เข้าใจวิธีคิดโลกใหม่ก่อนการปฏิรูป

เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม มันจะมีคนชอบและไม่ชอบ มีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เลยต้องกลับมาเรื่อง ‘หลักคิด’ การสร้างจินตนาการใหม่สำหรับภาครัฐ

หลักคิดแรกคือขนาดของภาครัฐและบทบาทของภาครัฐ ที่เราคุยกันมาจะเห็นว่าภาครัฐมีบทบาทหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล ผู้ตรวจสอบ ผู้ให้การสนับสนุน และผู้ปฏิบัติหรือให้บริการ (Operator) เราต้องกำหนดบทบาทภาครัฐให้ชัดเจนว่าจะมีบทบาทสำคัญเรื่องการทำนโยบาย การกำกับดูแลอย่างเข้มแข็งและตรวจสอบสนับสนุนในบทบาทผู้ให้บริการ

บางเรื่องที่ภาครัฐลงไปแข่งขันเองจะกลับมาที่เรื่อง ‘ฉันต้องชนะ’ แต่ก็คงยาก ถ้าคู่แข่งเป็นเอกชน และเป็นตัววัดว่าภาครัฐสู้ไม่ได้ ทำให้เกิดผลข้างเคียง ‘การกีดกัน’ คนเก่งหรือภาคเอกชน ประชาสังคม สุดท้ายจะมีกฎเกณฑ์ให้แต้มต่อภาครัฐตามมา

เห็นได้ชัดจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ทุกวันนี้ไม่สามารถมีผลิตภาพกับผู้ให้บริการภาคเอกชน ขณะเดียวกันต้นทุนการใช้ชีวิตของคนก็สูงขึ้น

เราได้ยินเรื่องตั๋วร่วม การขึ้นบริการค่าขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดี ขณะเดียวกันถ้ามีระบบการชำระเงินที่เปิดกว้าง ไม่ว่าคนขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าก็สามารถใช้คิวอาร์โค้ดได้ ทำไมภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบของภาครัฐเอง กระทั่งระบบที่เก็บเงินดิจิทัล ภาครัฐต้องยอมรับว่าไม่มีความสามารถในการทำระบบที่เป็นดิจิทัล ช่วงโควิด-19 ก็จะเห็นว่าภาครัฐพยายามพัฒนาบริการหลายอย่าง แต่มันไม่ได้มีมาตรฐาน ไม่ได้มีมุมมองของผู้ใช้บริการ (user experience)

“สำหรับผมแล้ว บทบาทของภาครัฐคือการกำหนดนโยบายเชิงรุกไปข้างหน้า และเป็นผู้กำกับดูแลที่เข้มแข็ง แก้ปัญหาการปรับโครงสร้าง การเป็นผู้ตรวจสอบ และเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญ และต้องลดบทบาทการเป็นผู้ให้บริการเอง”

หลักคิดที่สอง เปลี่ยนกลไกการทำงานที่เกี่ยวกับภาครัฐ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าถูกกำหนดโดยอุปทาน supply driven เป็นกำหนดโดยอุปสงค์หรือ demand driven ให้มากขึ้น

การกำหนดโดยอุปทานแปลว่าทำโดยข้าราชการหรือหน่วยงานอยากทำ แต่อุปสงค์คือให้อำนาจไปที่ผู้ใช้บริการ เพื่อให้เขาเลือกได้และเกิดการแข่งขัน

  • บริการสาธารณสุข ‘ประกันสังคม’ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าภาครัฐไม่จำเป็นต้องตั้งโรงพยาบาลเพื่อมาดูแลผู้ป่วยประกันสังคม แต่ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนและให้สมาชิกประกันสังคมมีสิทธิเลือกเป็นลูกข่ายของโรงพยาบาล กลไกแบบนี้จะทำให้ภาครัฐคุมงบประมาณได้ชัดเจน ไม่ต้องไปลงทุนกับ Fixd Asset ผลที่ตามมาคือเกิดการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนให้ทำบริการที่ดีภายใต้ต้นทุนที่รัฐกำหนดมา
  • เรื่องการจัดการการศึกษาที่ภาครัฐใช้งบประมาณในแต่ละปีสูงมาก แต่วันนี้ก็เจอปัญหาจำนวนเด็กน้อยลง ครูน้อยและสอนเด็กหลายชั้น คุณภาพการศึกษาก็ไม่ดี โจทย์แบบนี้ถ้าเอาอุปสงค์เป็นตัวตั้ง ทำให้นึกถึงระบบ ‘คูปองโรงเรียน’ ที่หลายประเทศใช้ ผู้ปกครองที่ส่งลูกไปโรงเรียนอะไรก็ตามจะได้รับการสนับสนุนของภาครัฐ กระบวนการเหล่านี้ไปให้อำนาจผู้ใช้บริการ ทำให้เขาเลือกเด็กไปโรงเรียนที่คุณภาพดี สุดท้ายโรงเรียนที่คุณภาพไม่ดีจะค่อยๆ ฝ่อลง และเล็กลงโดยปริยาย

หลักคิดที่สาม การกระจายอำนาจ (Decentralized) ต้องลดการรวมศูนย์และส่งเสริมให้เกิดการบริหารระดับท้องถิ่น รวมไปถึงการที่ท้องถิ่นตัดสินใจกับทรัพยากรต่างๆ

หลักคิดที่สี่ กลไกการทำงานร่วมกับภาคอื่น ทำอย่างไรให้วิธีการทำงานของภาครัฐไม่ได้มองคนอื่นเป็นลูกจ้าง แค่เปิดประมูลแล้วมารับจ้างทำของ ภาครัฐต้องมีเป้าหมายความสำเร็จร่วมกันและรับความเสี่ยงร่วมกัน

เราต้องยอมรับว่าภาครัฐไม่สามารถสู้ภาคเอกชนในเรื่องเรื่องดิจิทัลได้ ถ้ามาคิดว่าจะทำงานร่วมกันโดยภาครัฐไม่ต้องวางโครงสร้างระบบเอง แต่ใช้กลไกอำนาจที่มีอยู่มารองรับ จะทำให้ประเทศไทยเป็น Digital Society ได้เร็วมาก

ระบบเป๋าตังที่ธนาคารเป็นผู้พัฒนาหลัก เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าวิธีคิด การพัฒนาของภาครัฐสามารถมาตอบสนองได้ แต่ต้องเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับภาคเอกชน

หลักคิดที่ห้า ภาครัฐต้องมีระบบแรงจูงใจให้ข้าราชการรับความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง

หลักคิดที่หก ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลและฝั่งการเมืองต้องร่วมกัน ควรมีรองนายกฯ สักคนรับผิดชอบการปฏิรูปกฎหมายโดยไม่ต้องทำเรื่องอื่น เพราะเราพูดถึงกฎหมายเป็นร้อยฉบับ กระบวนการออกกฎหมายและกลั่นกรองต้องรวดเร็ว และคำนึงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ที่ผ่านมากลไกของเราให้หน่วยงานที่เป็นคนออกกฎหมายเป็นผู้ประเมิน ในที่สุดก็ไม่ไปไหนเพราะมองแค่ว่ากฎหมายฉบับนี้ยังจำเป็น เพราะร่างขึ้นมาเอง ทั้งที่ต้องฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและมาคิดทางออกร่วมกัน ในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไกลมาก วิธีการแบบเดิมมันไม่เหมาะสม รวมทั้งการกลั่นกรองกฎหมายที่เสนอใหม่ไม่ควรซ้ำเติมปัญหาเดิม

หลักคิดที่เจ็ด ทุกอย่างที่ภาครัฐทำต้องดิจิทัลมาก่อน(Digital First) ทำให้เกิดการใช้ดิจิทัลใหม่ๆ เช่นบล็อกเชน ทำให้เกิดตัวกลางที่เป็นธรรม ลดปัญหาคอร์รัปชัน และต่อยอดเรื่องใหม่ๆ ได้อีกมาก ไม่ใช่ขึ้นเว็บได้แล้วจบ แต่กระบวนการหลังบ้านยังเป็นกระดาษ

หลักคิดที่แปด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้บริหารอายุ 35 – 45 ปี ต้องมีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ภาครัฐ

ประเทศที่สามารถปฏิรูประบบราชการ จะมีคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจวิธีคิดของโลกใหม่ และความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะวิกฤติสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งคนรุ่นใหม่ต้องอยู่ไปอีกนาน เขารับผลกระทบที่เกิดขึ้น ฉะนั้นความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะต่างจากคนรุ่นก่อน

สุดท้ายคือคอร์รัปชัน ต้นเหตุหลายอย่างก็ทำให้เกิดคอร์รัปชัน หรือทำงานไม่เป็นดิจิทัลก็เอื้อให้เกิดคอร์รัปชัน