ThaiPublica > สู่อาเซียน > สิงคโปร์อนุญาตเฉพาะคนฉีดวัคซีนครบกลับเข้าออฟฟิศ คนไม่ฉีดเสี่ยงตกงาน

สิงคโปร์อนุญาตเฉพาะคนฉีดวัคซีนครบกลับเข้าออฟฟิศ คนไม่ฉีดเสี่ยงตกงาน

16 มกราคม 2022


ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/jobs/about-52000-employees-remain-unvaccinated-against-covid-19-in-singapore

ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม เป็นต้นไป สิงคโปร์อนุญาตให้ เฉพาะพนักงานที่ได้รับวัคซีนครบ หรือ ได้รับการรับรองว่าไม่ได้เข้าเกณฑ์ทางการแพทย์ หรือหายจากโรคโควิด-19 แล้วภายใน 180 วัน เท่านั้นกลับไปทำงานในที่ทำงานได้ จาก ประกาศล่าสุดวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ของกระทรวงแรงงาน

ประกาศยังได้ยกเลิกข้อกำหนดการตรวจหาเชื้อก่อนเริ่มกิจกรรมหรือ Pre-Event Testing (PET) สำหรับพนักงานที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

พนักงานที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปทำงานในที่ทำงาน แม้ผ่านกระบวนการ PET และมีผลเป็นลบ พนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางส่วนแล้วจะยังคงได้รับอนุญาตให้ทำงานในที่ทำงาน โดยต้องมีผล PET เป็นลบจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 หลังจากนั้นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน

ช่วงวันที่ 1-14 มกราคม กระทรวงแรงงานยังผ่อนผันให้พนักงานที่ได้รับวัคซีนครบและได้รับการรับรองว่าไม่เข้าเกณฑ์ทางการแพทย์ หรือหายจากโรคโควิด-19 ภายใน 180 วัน สามารถกลับไปทำงานได้ ส่วนพนักงานที่ไม่ได้รับวัคซีนจะยังได้รับอนุญาตให้ทำงานในที่ทำงาน หากมีผลการตรวจ (PET) เป็นลบ และผล PET ที่เป็นลบนั้นจะใช้ได้เฉพาะช่วงที่พนักงานอยู่ในที่ทำงาน แต่พนักงานที่ไม่ได้รับวัคซีนต้องจ่ายค่าตรวจ PET เองและแสดงผล PET ต่อนายจ้างเมื่อเข้ามายังที่ทำงาน

ในประกาศของกระทรวงแรงงานระบุว่า มีพนักงานราว 52,000 คนในสิงคโปร์ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยประมาณ 6,700 คนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 และมีเพียงส่วนน้อยของพนักงานที่ไม่เข้าเกณฑ์ทางการแพทย์สำหรับการฉีดวัคซีน ขณะที่ 98% ของพนักงานทั้งหมด ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก

ณ วันที่ 19 ธันวาคม บริษัท 80% มีพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว

หลังจากนั้นมา ก็เกิดการแพร่กระจายของไวรัสกลายพันธุ์สายใหม่โอมิครอน ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าและมากกว่า ประกอบกับสายพันธุ์เดลตายังระบาด ก็จะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อโควิด -19 อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พนักงานที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก จะส่งผลให้ความสามารถด้านการรักษาพยาบาลของสิงคโปร์ตึงเครียดอย่างมากในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากคนกลุ่มนี้ติดเชื้อโควิด-19

คนไม่ฉีดวัคซีนเสี่ยงตกงาน

สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้รับวัคซีน นายจ้างอาจอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านได้ หากนายจ้างประเมินว่าการทำงานในรูปแบบนี้ตอบสนองความต้องการด้านการปฏิบัติงาน/ธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในที่สุดพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะกลับเข้าที่ทำงานถี่ขึ้น การที่พนักงานที่ไม่ได้รับวัคซีนอยู่ในที่ทำงานเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานส่วนบุคคล รวมทั้งส่งผลเสียต่อผลงานของทีมหรือองค์กร

ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พนักงานที่ต้องทำงานนอกสถานที่ตามที่นายจ้างกำหนดนั้น นายจ้างสามารถ ดำเนินการต่อไปนี้ได้

  • โยกย้ายพนักงานส่วนนี้ไปทำงานอื่นที่เหมาะสม และสามารถทำได้จากที่บ้านหากมีงานที่ทำจากบ้านได้รองรับ โดยที่จัดค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบของงานที่มอบหมายใหม่ หรือ
  • อนุญาตให้ลางานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน การไม่มาที่ทำงาน พนักงานที่ไม่ได้รับวัคซีนจะได้รับการปกป้องจากไวรัส หรือ
  • ทางเลือกสุดท้ายหลังจากสำรวจแนวทางข้างต้นแล้ว ให้ยุติการจ้างงาน (พร้อมแจ้งให้ทราบ) ตามสัญญาจ้าง หากการเลิกจ้างเกิดจากการที่พนักงานไม่สามารถทำงานตามสัญญาได้ในสถานที่ทำงาน การเลิกจ้างดังกล่าวจะไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยมิชอบ
  • คณะกรรมการไตรภาคีเรียกร้องให้นายจ้างที่เหลืออีก 20% พยายามผลักดันให้ลูกจ้างที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด

    รวมทั้งนายจ้างต้องตรวจสอบคุณสมบัติของลูกจ้างก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับไปทำงาน (เช่น หลักฐานการฉีดวัคซีน ใบรับรองว่าไม่เข้าเกณฑ์ทางการแพทย์ในการฉีดวัคซีน ผล PET หรือหลักฐานการหายป่วยภายใน 180 วัน) พนักงานที่ปฏิเสธที่จะแสดงหลักฐานจะถือว่าไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

    นายจ้างควรอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนโดยให้พนักงานลางานไปฉีดวัคซีนได้และยังคงได้รับค่าจ้าง (รวมถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้น) และการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างเพิ่มเติม (นอกเหนือไปจากข้อกำหนดของสัญญาหรือตามกฎหมาย) ในกรณีที่ลูกจ้างประสบกับอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

    สำหรับพนักงาน คณะกรรมการไตรภาคีเรียกร้องให้พนักงานอีก 2% ที่เหลืออยู่ซึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไปฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อสวัสดิภาพของตนเองและเลี่ยงผลกระทบใดๆ ต่องานและอาชีพ

    สำหรับพนักงานที่ไม่ได้รับวัคซีนซึ่งไม่สามารถรับวัคซีนได้ภายใต้โครงการ National Vaccination Program (NVP)นั้น แม้พนักงานได้รับการรับรองว่าไม่เข้าเกณฑ์ทางการแพทย์สำหรับวัคซีนภายใต้โครงการ NVP จะได้รับอนุญาตให้ทำงานในที่ทำงาน นายจ้างควรพิจารณามาตรการต่อไปนี้:

  • อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้หากสามารถทำได้ และการไม่ได้ทำงานในที่ทำงานไม่ควรส่งผลกระทบต่อการประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ
  • โยกย้ายพนักงานไปปฏิบัติงานที่เหมาะสมซึ่งสามารถทำได้จากที่บ้านหากมีงานรองรับ โดยให้ค่าตอบแทนเหมาะสมกับความรับผิดชอบของงานที่มอบหมายใหม่
  • การพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์

    พนักงานที่ตั้งครรภ์ควรได้รับการฉีดวัคซีนภายใต้ NVP โดยเร็วที่สุด สตรีมีครรภ์ที่เลื่อนการฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนมากขึ้น หากติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างตั้งครรภ์ สตรีมีครรภ์อาจต้องการปรึกษาสูติแพทย์เพื่อหารือเกี่ยวกับผลดีของวัคซีนและความเสี่ยง

    นายจ้างไม่ควรเลิกจ้างพนักงานที่ตั้งครรภ์ที่มีสิทธิ์ทางการแพทย์แต่ไม่ได้รับวัคซีน และกระทรวงสนับสนุนให้คำนึงถึงความต้องการและข้อกังวลของพนักงานกลุ่มนี้เป็นพิเศษ นายจ้างควรพิจารณาขยายมาตรการสนับสนุนที่คล้ายคลึงกันตามข้อกำหนด 7 หรือ ให้ลาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน (NPL) จนกว่าพนักงานจะคลอด และการลาโดยไม่จ่ายเงินนั้นไม่ควรกระทบต่อสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์การคลอดบุตรภายใต้กฎหมาย สัญญาจ้างงาน หรือข้อตกลงร่วม

    กระทรวงแรงงานย้ำว่า “การฉีดวัคซีนช่วยเสริมการป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมาก เมื่อเราเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ คณะกรรมการไตรภาคีขอให้นายจ้างและพนักงานทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 ลดแรงกดดันในสถาบันสุขภาพและอื้อในการเปิดสังคมและเศรษฐกิจของเราอีกครั้งอย่างปลอดภัย”