ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งทุกกระทรวงเตรียมพร้อมรับศึกซักฟอก – มติ ครม.เติมเงิน “บัตรคนจน” คนละ 600 บาท

นายกฯ สั่งทุกกระทรวงเตรียมพร้อมรับศึกซักฟอก – มติ ครม.เติมเงิน “บัตรคนจน” คนละ 600 บาท

24 มกราคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ สั่งทุกกระทรวงเตรียมพร้อมรับศึกซักฟอก–ยัน 3 ป. ไม่มีปมขัดแย้ง–เล็งขยายผลจับแก็งกว้านซื้อโตวตาหวยต่อ — มติ ครม. เติมเงิน “บัตรคนจน” เฟส 4 คนละ 600 บาท–“คนละครึ่ง 4” คนละ 1,200 บาท ยืนยันสิทธิ-เริ่มใช้ 1 ก.พ. นี้ — ผ่าน ร่าง กม.ป้องกันคนดีถูกฟ้องปิดปาก

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยการประชุมครั้งนี้เลื่อนจากวันที่ 25 มกราคม 2565 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการเยือนประเทศซาอุดิ อาระเบียวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแทน

เยือน “ซาอุฯ” เชื่อมสัมพันธ์ครั้งแรกในรอบ 30 ปี

ดร.ธนกร กล่าวว่า การเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ของนายกรัฐมนตรี นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งการเยือนครั้งนี้ อีกทั้งเป็นการเยือนระดับผู้นำสองประเทศครั้งแรกในรอบ 30 ปี เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

ทั้งนี้ นอกจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว ยังมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเดินทางไปด้วย

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ก่อนเดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบียจะมีการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง โดยกิจกรรมที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นสถานที่ปิดและไม่ได้มีการค้างคืน เมื่อเดินทางกลับประเทศ จึงใช้วิธีการในลักษณะเดียวกับ Test & Go กล่าวคือ เมื่อถึงประเทศไทยจะมีการตรวจ RT-PCR จากนั้นสังเกตอาการตนเอง รักษาระยะห่าง และตรวจ RT-PCR อีกครั้งใน 5 วันถัดมา ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขและศบค.

“การเยือนครั้งนี้ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น เพิ่มสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างรัฐและประชาชน เป็นที่น่ายินดี” ดร.ธนกร กล่าว

สั่งพาณิชย์แจงแก้ “ของแพง” เทียบราคาต่างประเทศ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการผลิตและการขนส่งให้มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบจากประชาชน ขณะเดียวกันมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจโดยเปรียบเทียบราคาสินค้ากับต่างประเทศ

“นายกฯ ให้ทุกหน่วยงานติดตามการทำงานทุกขั้นตอน ทั้งการผลิต แปรรูป และจำหน่าย” ดร.ธนกร กล่าว

มอบคลังศึกษาคริปโทฯ-หามาตรการป้องกันความเสียหาย

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาตลาด “คริปโทเคอร์เรนซี” หรือการซื้อขายเงินดิจิทัล เนื่องจากตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยให้เตรียมมาตรการดูแลเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

สั่งทุกกระทรวงเตรียมรับศึกซักฟอก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบวาระสภา โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยนายกฯ ขอให้สมาชิกรัฐสภาร่วมผลักดันกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจให้กฎหมายไทยเป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น

“นายกฯ ขอให้ทุกกระทรวงเตรียมความพร้อม ซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต้องช่วยชี้แจงเองด้วย นายกฯ ย้ำว่าการทำงานของรัฐบาลไม่มีคำว่าพรรคร่วม มีแต่คำว่า ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ เพียงอย่างเดียว” ดร.ธนกร กล่าว

กำชับ ตร. ทำคดีบิ๊กไบค์ชนหมอ “ตรงไปตรงมา”

ต่อคำถามที่ว่า “นายกฯ มีความคิดเห็นอย่างไรกรณีมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ชนคุณหมอเสียชีวิต” ดร.ธนกร ตอบว่า “กฎหมายมีอยู่แล้ว กำชับให้ทำคดีตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องกฎหมายและการกวดขันวินัยจราจรอยู่ที่คน ไม่ใช่กฎหมายไม่มีแนวปฏิบัติ”

ยัน 3 ป. ไม่มีปมขัดแย้ง

คำถามต่อมาคือ หลังจากที่นายกฯ รับประทานข้าวและคุยกับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณแล้ว สบายใจขึ้นบ้างหรือไม่ อยากให้นายกฯ ยืนว่าว่า 3 ป. ไม่แตก ไม่ขัดแย้งกัน ดร.ธนกรชี้แจงแทนพลเอก ประยุทธ์ว่า “ไม่ได้มีปัญหาใด อย่ายุยง แตกแยก บิดเบือนในสื่อหลายช่องทาง ต้องช่วยกันทำงานให้ได้”

เล็งขยายผลจับแก็งกว้านซื้อโควตาหวยต่อ

คำถามสุดท้ายคือ จากเมื่อสัปดาห์ก่อนสามารถจับกุมขบวนการกว้านซื้อโควตาสลากกินแบ่งรัฐฐบาลที่จังหวัดเลย จะขยายผลไปที่ผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ โดย ดร.ธนกร ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี โดยตอบสั้นๆ ว่า “ทำไมคิดว่าไม่ทำต่อ”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เติมเงิน “บัตรคนจน” เฟส 4 คนละ 600 บาท เริ่ม 1 ก.พ. นี้

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 กรอบวงเงิน 8,070.724 ล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 กรอบวงเงิน 1,351.981 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ต้องการ ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2565

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. ยังได้มีความเห็นให้พิจารณาปรับช่วงเวลาเริ่มต้นของโครงการให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ถือบัตรในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 13.45 ล้านคน (ณ วันที่ 25 มกราคม 2565) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 จำนวน 2.25 ล้านคน ให้สามารถซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า ร้านค้า หรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ

“ทั้งนี้ ได้มี พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการ ให้สอดคล้องกับการปรับช่วงเวลาเริ่มต้นของโครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในสถานการณ์ในปัจจุบันที่ค่าครองชีพ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการกำกับและติดตาม การดำเนินโครงการ เพื่อป้องกันการแสวงหา ประโยชน์จากการดำเนินโครงการโดยมิชอบได้ เช่น ร้านค้าที่รับสแกนสิทธิ์แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดอีกด้วย” ดร.ธนกรกล่าว

  • ครม. อนุมัติ “คนละครึ่ง” เฟส 4 คนละ 1,200 บาท ยืนยันสิทธิ-เริ่มใช้ 1 ก.พ. นี้
  • เคาะ “คนละครึ่ง 4” คนละ 1,200 บาท ยืนยันสิทธิ-เริ่มใช้ 1 ก.พ.นี้

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติ อนุมัติโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 กรอบวงเงิน 34,800 ล้านบาท โดยใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และเป็นการลดภาระ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์–เมษายน 2565 โดยรูปแบบการดำเนินโครงการฯ ยังเหมือนเดิม คือ ภาครัฐร่วมชำระค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าและบริการทั่วไปในอัตรา ร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาทต่อคน ต่อวัน และไม่เกิน 1,200 บาทต่อคนทั้งโครงการฯ

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีความเห็น พิจารณาปรับช่วงเวลาเริ่มต้นของโครงการให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จากเดิมที่กำหนดไว้ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 29 ล้านคน และร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว ประมาณ 28 ล้านคน สามารถยืนยันตัวตนและเริ่มใช้สิทธิตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ขณะเดียวก็เปิดสิทธิเพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิให้สำหรับผู้สนใจและยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ โดยเปิดลงทะเบียนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ จนกว่าจะครบ 1 ล้านสิทธิ โดยจะสามารถใช้สิทธิโครงการฯ ได้ตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์นี้

    ดร.ธนกรกล่าวว่า โครงการ คนสะครึ่ง เฟซ 4 มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งมีการขยับช่วงเวลา เริ่มต้นของโครงการฯ ด้วย ให้เร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บรรเทาค่าครองชีพในภาวะปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณ อย่างคุ้มค่าและเหมาสมด้วย

    เว้นภาษีเงินได้จากการรับเงินเยียวยา 12 โครงการ

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ ร่างกฎหมายการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน และประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากโครงการภาครัฐอันเนื่องมาจากการบรรเทา ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระภาษีและช่วยเหลือ ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับเงินเยียวยาจาก 12 โครงการ ที่ภาครัฐได้จ่ายเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน และประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชนและ ผู้ประกอบการ ในปี 2564 ที่ผ่านมา

    โดย สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ. และร่างกฎกระทรวง ทั้ง 2 ฉบับมีดังนี้

      1.ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐ ได้แก่ (1) เงินเยียวยาที่ได้รับตามโครงการเยียวยานายจ้างและ ผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในกิจการ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (2) เงินอุดหนุนที่ได้รับตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับ การจ้างงานในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดหางาน โดยบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องไม่นำรายจ่ายที่จ่ายจากเงินอุดหนุนตาม โครงการดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้มีการรับเงินตามโครงการ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว
      2.ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเป็นเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 64 ได้แก่

        (1) เงินได้ที่ได้รับเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว และค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
        (2 )เงินได้ที่อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัคร กทม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ได้รับเป็นค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยว ตามโครงการกำลังใจ
        (3) เงินได้ที่ได้ รับเป็นค่าเดินทางและค่าซื้อแพ็กเกจ ทัวร์ จากผู้ประกอบการนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ตามโครงการ ทัวร์เที่ยวไทย
        (4) เงินได้ที่ได้รับสำหรับค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและค่าซื้อ สินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3
        (5) เงินได้ที่ได้รับสำหรับค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและค่าซื้อสินค้า หรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เฉพาะผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษตามโครงการ เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
        (6) เงินได้ที่ได้รับเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้าอื่น ที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3
        (7) เงินได้ที่ได้รับในรูปของ e-Voucher เป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าสินค้าหรือบริการตามโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
        (8) เงินได้ที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่เป็น ผู้ประกันตนตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับเป็นค่าครองชีพตามโครงการเราชนะ
        (9) เงินได้ที่ผู้ประกันตนตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 33 ได้รับตามโครงการ ม.33 เรารักกัน

    อนึ่ง ทั้ง 12 โครงการของภาครัฐที่ได้จ่ายเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน และประโยชน์อื่นใด อันเนื่องมาจากการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี 2564 มีดังนี้ โครงการกำลังใจ, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ,โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้, โครงการ ม33 เรารักกันโครงการทัวร์เที่ยวไทยโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้,นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด,โครงการให้ความช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19 ของ กระทรวงศึกษาธิการ, โครงการส่งเสริม และรักษาระดับการจ้างงาน ในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

    “รายได้ภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาและรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโครงการดังกล่าวไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ แต่หากไม่ได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล จะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ประมาณ 31,979.35 ล้านบาท และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจะช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง” ดร.ธนกร กล่าว

    ผ่าน ร่าง กม.ป้องกันคนดีถูกฟ้องปิดปาก

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดี หรือฟ้องคดีปิดปาก และมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่แสดงความเห็น หรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นการกำหนดกลไกส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ และจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามกฎหมาย โดยกำหนดให้คุ้มครองแก่บุคคลที่ได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแส หรือข้อมูล หรือมีการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำของพนักงานของรัฐ หรือบุคคลใดอันเป็นที่มาของการสอบสวน การตรวจสอบ หรือการไต่สวนในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ และบุคคลดังกล่าวตกเป็นเหยื่อจากการถูกนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ หรือกลั่นแกล้ง ด้วยวิธีการฟ้องคดีปิดปากไม่ว่าจะเป็นการถูกฟ้องคดีในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง รวมถึงการดำเนินการทางวินัย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติมีสาระสำคัญ อาทิ

      1. กำหนดบทนิยาม “การฟ้องคดีปิดปาก” หมายความว่า การนำกระบวนการยุติธรรมด้วยวิธีการเสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครอง รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีเดิมที่ได้มีการเสนอข้อหาต่อศาลไว้ก่อนแล้ว ซึ่งกระทำในลักษณะการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบบุคคลใด มาใช้เป็นเครื่องมือ
      2.กำหนดลักษณะของการดำเนินคดี หรือการฟ้องคดีปิดปาก (1) การดำเนินคดี หรือการฟ้องคดี ซึ่งมีสาเหตุมาจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล จัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ (2) การดำเนินคดี หรือการฟ้องคดีอันมีลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อการแกล้งหรือเอาเปรียบผู้ถูกดำเนินคดี
      3.กรณีที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือผู้ถูกฟ้องคดี เห็นว่าการดำเนินคดีหรือฟ้องคดี อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะการฟ้องคดีปิดปากตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ มีอำนาจตรวจสอบ สอบสวน หรือทำความเห็นในคดีได้
      4.กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดีปิดปาก โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดมูลค่าความเสียหายจากการถูกฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในระดับสากล
      5.การกำหนดโทษ 1) กรณีที่มีการฟ้องคดีปิดปากตามพระราชบัญญัตินี้ โดยที่ผู้ฟ้องคดีมีสถานะเป็นพนักงานของรัฐและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางวินัย หรือเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ในกรณีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเหตุว่าการฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการฟ้องคดีปิดปาก และผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานของรัฐ ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางวินัย หรือเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย 2)ผู้ใดกระทำการไม่สุจริต ได้ยื่นฟ้องคดีปิดปาก ในลักษณะเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลให้ต้องรับโทษทางอาญา หรือได้นำความอันเป็นเท็จยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญา หรือเข้าลักษณะเป็นการฟ้องคดีเพื่อต่อรองหรือข่มขู่ ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนดไว้

    ทั้งนี้ ลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

    ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มมาตรการป้องกันการดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบในทุกวงการของสังคมไทย

    ไฟเขียวเซ็น MOU อาเซียน-OECD 36 สาขา

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติให้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยจะมีการลงนามได้ในช่วงการประชุม OECD Ministerial Meeting on Southeast Asia ณ กรุงโซล ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งการประชุม OECD Ministerial Meeting on Southeast Asia จัดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอาเซียนและ OECD ในการส่งเสริมนโยบายเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างยั่งยืนในประเด็นต่างๆ เช่น การจ้างงาน มาตรฐานการครองชีพ เสถียรภาพทางการคลัง เป็นต้น

    ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เป็นกรอบในการเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศโดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์พื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน และ OECD ในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่vประสิทธิภาพการประสานงาน และพัฒนาความร่วมมือในสาขาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคม รวม 36 สาขา เช่น 1)การตอบสนองต่อโควิด-19 2)ภาษีอากร 3)การจัดการการเงินภาครัฐ 4)แนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 5)การอำนวยความสะดวกทางการค้า 6)การลงทุน เป็นต้น โดยแต่ละประเทศจะร่วมมือกันผ่านวิธีต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสนับสนุนการวิจัยหรือการศึกษา ซึ่งจะร่วมกันจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรมที่จะดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี โดยจะมีการประชุมเพื่อประเมินความคืบหน้าและหารือแนวทางการทำงานเป็นระยะ และแต่ละประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจจะมีผลใช้บังคับนับจากวันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เมื่อมีผลบังคับใช้จะเป็นประโยชน์กับไทยและประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูล ประสบการณ์ ในการจัดทำนโยบายต่างๆ ของ OECD เพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ และสังคมของไทยได้

    เพิ่ม ‘เนื้อไก่’ เป็นสินค้าควบคุมปี’65

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 2565 จำนวน 5 รายการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยแบ่งเป็นรายการสินค้าควบคุมเดิมในปี 2564 จำนวน 4 รายการ คือ 1) หน้ากากอนามัย 2) ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย 3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ 4) เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก และเพิ่มเติมรายการสินค้าควบคุมใหม่ 1 รายการ คือ ไก่ เนื้อไก่ เนื่องจากปัจจุบันราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องกำกับดูแล ติดตามไก่ เนื้อไก่ ที่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการบริโภคของประชาชน ให้มีปริมาณเพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม ทำให้ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศรายการสินค้าและบริการควบคุมไปแล้ว รวมครั้งนี้จะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 56 รายการ (จากเดิม 51 รายการ) เช่น ไข่ไก่ หมูและเนื้อหมู แชมพู ผงซักฟอก ข้าวสาร กระเทียม อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องแบบนักเรียน ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

    ทั้งนี้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้า และฟาร์มเลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ดังนี้ 1.ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน ต้องแจ้งปริมาณ สต็อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน 2.โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 55 โรง ต้องแจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต็อก และ 3.การปรับราคาสินค้า จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน

    ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์สินค้าบางตัวที่มีการปรับราคาสูงขึ้น รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการในการรักษาระดับราคาในรูปแบบที่สร้างสมดุล ระหว่างการให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกร แต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบ เช่น การตรึงราคาสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ค้าและสมาคมต่างๆ ตรึงราคาในหลายหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม นอกจากนี้ ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศตรึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ กิโลกรัมละ 110 บาท ไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลตรุษจีน และทางสมาคมผู้เลี้ยงและส่งออกไข่ไก่ พร้อมให้ความร่วมมือตรึงราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ไว้ที่ฟองละ 2.90 บาท เป็นต้น ในขณะเดียวกันราคาเนื้อหมู ไข่ไก่ และผักชนิดต่างๆ อาทิ ผักคะน้า ผักบุ้งจีน กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ตามรายงานของสถานการณ์สินค้าเกษตรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (17 – 24 มกราคม 2565) อยู่ในระดับที่ทรงตัว

    “นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะดำเนินการในทุกทางที่จะเป็นการดูแลพี่น้องประชาชน บางมาตรการอาจะต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ตัวอย่างเช่น เรื่องหมูแพง ก็มีหลายมาตรการออกมา ประกอบด้วย 1) งดส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลาสามเดือน 2) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร 3) สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ 4) ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน 5) เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน 6) ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7) เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด 8) ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด และ 9) ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค” ดร.รัชดา กล่าว

    เว้นค่าปรับ “ต่ออายุเครื่องหมายการค้า-จดสิทธิบัตร” ล่าช้า

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ เพื่อเป็นการลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเจ้าของเครื่องหมายการค้า และผู้ถือสิทธิบัตรที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 โดยร่างกฎกระทรวงฉบับแรก คือ ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่ม (ค่าปรับ) ร้อยละ 20 ของค่าธรรมเนียมการต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม ซึ่งเจ้าของเครื่องหมายจะต้องชำระเพิ่มในกรณีที่ไม่ได้ต่ออายุการจดทะเบียนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนฉบับที่ 2 คือ ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่ม (ค่าปรับ) ร้อยละ 30 ของค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งเรียกเก็บจากผู้ถือสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่ไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

    ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่ม (ค่าปรับ) ตามร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนี้ ไม่มีผลเป็นการขยายระยะเวลาการยื่นคำขอและการชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุ เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ถือสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ยังคงต้องยื่นคำขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ตามเดิม

    จัดงบฯ 1,084 ล้าน จ้างบุคลากรการแพทย์เพิ่ม 2,402 คน

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019(โควิด-19) จำนวน 1,084 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 2,402 อัตรา สำหรับโครงการจ้างแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสายงานบริการทางการแพทย์อื่น เป็นการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมให้เพียงพอ สำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์

    สำหรับการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจจำนวน 2,402 อัตรามีรายละเอียดดังนี้ แพทย์จำนวน 55 อัตรา, พยาบาลวิชาชีพ 950 อัตรา,นักวิชาการสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน หรือเป็นผู้ช่วยพยาบาล 1,084 อัตรา, เภสัชกร 9 อัตรา, นักเทคนิคการแพทย์ 269 อัตรา,นักรังสีการแพทย์ 6 อัตราและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 29 อัตรา คุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องไม่เป็นพนักงานราชการ พนักงานสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนหรือรายวันและจ้างเหมาบริการของกระทรวงสาธารณสุข ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 9 เดือน ตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน 2565 สำหรับประโยชน์ที่ได้รับคือ บุคลากรที่อยู่นอกระบบการจ้างงานภาครัฐได้รับการจ้างงาน และประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนและได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

    ไฟเขียว ‘หนังสือพิมพ์-นิตยสาร-ตำราเรียน’ ออนไลน์จด VAT

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดให้กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้กิจการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพื่อให้เป็นไปในเกณฑ์เดียวกับกับกิจการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของกระดาษ

    ทั้งนี้ ในปัจจุบันกิจการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนทั้งในรูปแบบกระดาษและบริการในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่มีข้อแตกต่าง คือ ผู้ให้บริการในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ฯ ไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทำได้ ดังนั้น การให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ฯ จึงเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบธุรกิจเดียวกันแต่ช่องทางแตกต่างกัน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเป็นธุรกิจที่สามารถจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น ทั้งโอกาสในการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจมาขอคืนภาษีซื้อได้ ช่วยลดต้นทุนในการประกอบการลง ธุรกิจมีความน่าเชื่อมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจเนื่องจากสามารถออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อได้

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับแล้ว ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้ผู้ให้บริการซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วมีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ใช่อัตราการลดภาษีหรือยกเว้นภาษี จึงไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐแต่อย่างใด

    ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินกู้ กระทรวงเกษตรฯ 3 โครงการ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 ดังนี้ คือ อนุมัติให้กรมชลประทานขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานกรอบวงเงิน 4,224 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565 และอนุมัติให้กรมการข้าวขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรอบวงเงิน 1,601 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งอนุมัติให้กรมปศุสัตว์ ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ กรอบวงเงิน 75 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565

    ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้ทั้ง 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ เร่งรัดดำเนินโครงการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่เสนอครั้งนี้ รวมถึงเร่งแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงรายละเอียดของโครงการโดยเร็ว รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ให้เร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากครม.ไว้อย่างเคร่งครัด

    “อนุทิน” แจงปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติดประเภท 5

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้รายงานกับที่ประชุม ครม. วันที่ 24 มกราคม 2565 เกี่ยวกับการดำเนินการถอดพืชกัญชา และกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เพื่อขอแนวนโยบายจากนายกรัฐมนตรี สำหรับการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ซึ่งจะประชุมและพิจารณาในวันที่ 25 มกราคม 2565 นี้

    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้การสนับสนุนในหลักการเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ทั้งกัญชาและกัญชงเป็นพืชสมุนไพร ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ในรายละเอียดของมาตรการกำกับดูแลจะต้องดำเนินการให้มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องของการจดแจ้ง การกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาตในการปลูก วัตถุประสงค์ในการปลูก มีผู้รับผิดชอบในทุกเรื่องที่ชัดเจนต่อไป

    ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายของนายกรัฐมนตรี และระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่ายังต้องมีการควบคุมการใช้พืชกัญชงกัญชา เพื่อให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อสุขเท่านั้น ส่วนการเสพเพื่อสันทนาการไม่ได้อยู่ในเจตนารมณ์ของการผลักดันในครั้งนี้ โดยกัญชา กัญชงต้องอยู่ในการควบคุม เหมือนบุหรี่ สุรา ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีการควบคุมการจำหน่าย และการเสพ

    นายอนุทิน กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อถอดพืชกัญชาและกัญชงจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 นั้น จะต้องดำเนินการออกเป็นประกาศประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. …. ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแล้ว เหลือการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงจะลงนามและประกาศใช้ได้

    ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน รัฐบาลขอย้ำว่าการส่งเสริมพืชกัญชาและกัญชงจะเป็นไป เพื่อทางการแพทย์ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม สมุนไพร โดยอนุญาตเฉพาะส่วนที่มีการสลัด THC ไม่เกิน 0.2% ถ้ามากกว่านั้นยังคงเป็นยาเสพติด

    เคาะ “เราเที่ยวด้วยกัน” ให้ส่วนลดที่พัก 2 ล้านสิทธิ ตั๋วเครื่องบิน 6 แสนสิทธิ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กรอบวงเงิน 9,000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยให้มีระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2565 เป็นตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2565

    สำหรับการดำเนินโครงการนั้น รัฐจะสนับสนุนค่าโรงแรมที่พัก คนละไม่เกิน 10 ห้อง ร้อยละ 40 ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน จำนวน 2 ล้านสิทธิ แต่ครั้งนี้ ได้ปรับลดสิทธิสำหรับบัตรค่าโดยสารเครื่องบินลงเหลือ 6 แสนสิทธิ เนื่องจากการดำเนินโครงการในระยะที่ผ่านมาในส่วนของบัตรโดยสาร ปรากฎว่าผู้ร่วมโครงการไม่ได้มีการใช้สิทธิเต็มสิทธิที่ให้อยู่แล้ว

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการที่ได้รับอนุมัติครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้ประชาชนมีเกิดการใช้จ่าย เพื่อการท่องเที่ยวช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล

    พร้อมกันนี้ ครม. ยังมอบหมายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พิจารณากำหนด มาตรการเพิ่มเติมในการกำกับและติดตาม การดำเนินโครงการ เพื่อป้องกันการแสวงหา ประโยชน์จากการดำเนินโครงการโดยมิชอบ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการ เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถ ตรวจสอบได้ต่อไป

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้เห็นชอบให้ ททท. เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการทัวร์เที่ยวไทย โดยปรับลดจำนวนสิทธิโครงการ จากเดิม 1 ล้านสิทธิ เป็น 2 แสนสิทธิ ทำให้กรอบวงเงินดำเนินโครงการลดลงจาก 5,000 ล้านบาท เหลือ 1,000 ล้านบาท

    ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้มีการเดินทางเป็นหมู่คณะ และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2565 พร้อมกับมอบหมายให้ ททท. กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวภายใต้โครงการฯ โดยเคร่งครัดด้วย

    ตั้ง “รัชดา ธนาดิเรก” ขับเคลื่อนบทบาทสตรี จังหวัดชายแดนใต้

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ แต่งตั้ง ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ในด้านประสานการมีส่วนร่วม เพื่อจะมีส่วนช่วยสนับสนุนในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนบทบาทสตรีในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ เป็นการแต่งตั้งเพิ่มเติม จากที่ ครม. ได้เห็นชอบการแต่งคณะกรรมการผู้แทนพิเศษฯ เมื่อ 28 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ประธานกรรมการ 2. พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ กรรมการ (ด้านความมั่นคง) 3 นายปณิธาน วัฒนายากร กรรมการ (ด้านการต่างประเทศ) 4.นายการุณ สกุลประดิษฐ์ กรรมการ (ด้านการศึกษา) 5.นายเชื่อง ชาตอริยะกุล กรรมการ (ด้านเศรษฐกิจ) 6.นายดลเดช พัฒนรัฐ กรรมการ (ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม)

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

    สำหรับประวัติการทำงานของ ดร.รัชดา ก่อนหน้าที่จะเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 สมัย มีตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประชาชาติมุสลิม และยังได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ด้านสตรี เยาวชน ต่อต้านการค้ามนุษย์ และกับเครือข่ายต่างประเทศ อาทิ รองประธานกลุ่มการเมืองงานด้านสตรี สภาเสรีภาพและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (Council of Asian Liberals and Democrats) กรรมการสิทธิมนุษยชนองค์กรเสรีนิยมสากล (Liberal International Human Rights Committee) สมาชิกเครือข่าย International Panel of Parliamentarians for Freedom of Religion or Belief (IPPFoRB) ทำงานร่วมกับ DCAF Geneva Centre for Security Sector Governance และก่อนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

    โยก ‘โกวิท ผกามาศ’ นั่งผู้อำนวยการ สศร.

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ หรือเห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐดังนี้

    1.การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายถาวร สกุลพาณิชย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค [นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านวิจัย)] สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นางบุปผา พันธุ์เพ็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัชดา ธนาดิเรก เป็นกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ด้านประสานการมีส่วนร่วม) เพิ่มเติม

    4. แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย

      1. นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ
      2. นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน
      3. รองศาสตราจารย์ชโยดม สรรพศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา
      4. นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินผล
      5. นายนิกร เภรีกุล กรรมการและเลขานุการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

    5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และเพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายโกวิท ผกามาศ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม
      2. นายกฤษฎา คงคะจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม
      3. นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 24 มกราคม 2565 เพิ่มเติม