ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > Krungsri Research > วิจัยกรุงศรีมองแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-2567(ตอนจบ):โอกาสและความท้าทาย

วิจัยกรุงศรีมองแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-2567(ตอนจบ):โอกาสและความท้าทาย

15 มกราคม 2022


วิจัยกรุงศรีประเมินภาพรวม แนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาครอบคลุมทั้งปัจจัยด้านความท้าทายและโอกาสที่สะท้อนความน่าสนใจ (Attractiveness) ในการทำธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยภายในเฉพาะด้านของอุตสาหกรรมนั้น

ต่อจากตอนที่ 1 ปัจจัยแวดล้อมและกฎระเบียบ

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจมหภาคและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ดังนั้น การเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก รวมถึงกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นการวางรากฐานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนในระยะยาว

อุตสาหกรรมเกษตร

ข้าว

  • ผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี อยู่ที่ 30.3-31.3 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือ 19.7-20.3 ล้านตันข้าวสาร ผลจากปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย (ปี 2565-2566 คาดว่ายังได้อานิสงส์จากภาวะ La Niña) ต่อการเพาะปลูกและการกักเก็บน้ำไว้ใช้ นอกจากนี้ ชาวนามีแรงจูงใจจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวจากภาครัฐ อาทิ การประกันรายได้ การประกันภัยพืชผล การวางแผนการผลิตข้าว สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก แผนรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมข้าว และแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับภาคเกษตร

  • ความต้องการบริโภคในประเทศคาดว่าจะกลับสู่ระดับ 10.7-11.1 ล้านตันข้าวสารต่อปี แรงหนุนจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยว หนุนอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องปรับตัวดีขึ้น

  • การส่งออกข้าวมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 7-8 ล้านตันต่อปี ตามความต้องการในต่างประเทศโดยเฉพาะจากแอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน เบนิน และญี่ปุ่น

  • ราคาส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำใกล้เคียงปี 2564 สาเหตุหลักจากผลผลิตข้าวในประเทศที่เพิ่มขึ้น และสต็อกข้าวโลกที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง

    ยางพารา

  • ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) การขยายพื้นที่ปลูกในช่วงหลายปีก่อนหน้า และ (2) แรงจูงใจจากราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ
  • อุปสงค์คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 3.0-4.0% ต่อปี จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนความต้องการยางในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน ถุงมือยางและอุปกรณ์ยางทางการแพทย์ และการใช้ยางพาราเพื่อสุขอนามัยของสังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มการส่งออกจำแนกรายผลิตภัณฑ์ สรุปได้ดังนี้
      1)ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง: คาดปริมาณส่งออกยางแผ่นฯ จะขยายตัว 1.0-2.0% และยางแท่งเติบโต 2.0-3.0% แรงหนุนจาก (1) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ทยอยฟื้นตัว และ (2) การสั่งซื้อยางพาราเพื่อเป็นสต็อก
      2)น้ำยางข้น: คาดปริมาณส่งออกจะขยายตัว 1.0-2.0% อัตราการขยายตัวไม่เร่งมากนักจากฐานที่สูงในปี 2564 ประกอบกับผลผลิตยางพาราจากประเทศคู่แข่ง (อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) เริ่มฟื้นตัว
      3)ยางคอมพาวด์และยางผสม: คาดว่าจะขยายตัว 1.5-3.0% ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง การขนส่ง ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์

  • มันสำปะหลัง

  • ผลผลิตหัวมันสดมีแนวโน้มขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูก และปริมาณฝนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ผนวกกับเกษตรกรมีแรงจูงใจด้านราคา จากตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและมาตรการสนับสนุนภาครัฐ โดยตลาดในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มขยายตัวหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย (2) ความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล และ (3) การให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยจึงต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์มากขึ้น ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี ดังนี้
      1)มันเส้น: คาดว่าปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ 6.1-6.7 ล้านตัน เติบโต 6.0-7.0% ต่อปี โดยจีนซึ่งเป็นตลาดหลักมีแนวโน้มต้องการมันเส้นเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ผลิตเอทานอลใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงาน รวมถึงผลิตอาหารสัตว์
      2)มันสำปะหลังอัดเม็ด: คาดว่าปริมาณส่งออกจะอยู่ในระดับ1.0-1.5 หมื่นตัน จากการนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์
      3)แป้งมันสำปะหลังดิบ: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 3.5-3.7 ล้านตัน ขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่มในจีน
      4)แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านตัน เติบโต 1.5-2.5% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางและยาของประเทศญี่ปุ่นและจีนเป็นสำคัญ
  • น้ำตาลและกากน้ำตาล

  • ผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ภาวะ La_Nina ทำให้มีปริมาณน้ำฝนและน้ำกักเก็บเพื่อการเกษตรมากขึ้นประกอบกับมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อาทิ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (70:30) เงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต และแรงจูงใจจากการประกันราคาอ้อยขั้นต้นของสมาคมโรงงานน้ำตาล โดยคาดว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ 86-99 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาล 9.5-11.5 ล้านตันต่อปี (เติบโตเฉลี่ย 10.0-15.0% ต่อปี)
  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลจะอยู่ที่ 7-11 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 25.0-30.0% ต่อปี โดยมีแรงหนุนจาก (1) ปริมาณการผลิตน้ำตาลในประเทศที่คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดภัยแล้งปี 2562-2563 และ (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย สำหรับการบริโภคน้ำตาลในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-2.7 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี จาก (1) การทยอยเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม เอทานอล และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และ (2) มาตรการสนับสนุนการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์จากภาครัฐ
  • ปาล์มน้ำมัน

  • ผลผลิตปาล์มสดมีแนวโน้มขยายตัว 4.0-5.0% ต่อปี ผลจาก (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงก่อนหน้า ทำให้มีผลปาล์มอยู่ในเกณฑ์อายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และ (2) เกษตรกรมีแรงจูงใจจากราคาปาล์มที่คาดว่าจะสูงและโครงการประกันรายได้ภาครัฐ ด้านความต้องการ CPO ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ตามอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคขนส่ง และการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเป็น B10 (ไบโอดีเซล10% ผสมในน้ำมันดีเซล ) ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าอัตราการเติบโตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% ต่อปี จากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อินเดีย และมาเลเซีย รวมถึงมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มภาครัฐ
      1)รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มทรงตัวและไม่แน่นอน จากราคาผลปาล์มสดที่อาจปรับลดลงตามผลผลิตปาล์มที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและประเทศคู่แข่ง (ผลผลิตต่อไร่ของมาเลเซียและอินโดนีเซียมีแนวโน้มสูงขึ้น) ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มอาจผันผวนเป็นระยะ
      2)โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ คาดว่าผลประกอบการจะทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีมาตรการกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม อาทิ การนำ CPO ไปผลิตกระแสไฟฟ้า การสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซลและการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่กำลังการผลิตรวมของโรงสกัดยังคงสูงกว่าปริมาณผลปาล์มสดที่ออกสู่ตลาด ทำให้มีอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินในธุรกิจ รวมถึงการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบจะผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น
  • ไก่แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป

  • คาดว่าอุตสาหกรรมไก่เนื้อจะปรับดีขึ้นทั้งการผลิตและจำหน่าย โดยแรงหนุนมาจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยผลผลิตไก่เนื้อในประเทศจะอยู่ที่ 2.58-2.79 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.0-6.0% ต่อปี ตามความต้องการบริโภคไก่ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัว 7.0-8.0% ต่อปี จากภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ส่วนปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่จะเติบโตเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี จากความต้องการบริโภคไก่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ และจีน
  • ผู้ประกอบการอาจเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และต้นทุนจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกนำมาใช้มากขึ้น อาทิ การตรวจสอบวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ต้องไม่มาจากการบุกรุกป่า การเลี้ยงสัตว์ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มให้ความสำคัญและยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถแข่งขันในตลาดโลก
  • ปลากระป๋อง

  • อุตสาหกรรมปลากระป๋องมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการผลิตจะขยายตัว 5.0%-6.0% ต่อปี เนื่องจาก (1) ความต้องการจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก (2) อุตสาหกรรมปลากระป๋องไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง-ใหญ่มีความได้เปรียบ ด้านมาตรฐานชีวอนามัยสูง และ (3) ผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง สินค้าจึงมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดว่าปริมาณและมูลค่าส่งออกจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 4.0%-7.0% และ 3.5%-6.5% ตามลำดับ
  • ปัจจัยท้าทาย ได้แก่ สภาพอากาศแปรปรวนจะมีผลต่อการจับปลา การขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น (ปลา เหล็ก และพลังงาน) การขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ การกีดกันการค้าที่เข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) เช่น ปัญหาการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีกระแสนิยมบริโภคอาหารสดใหม่เพื่อสุขภาพ ลดการบริโภคอาหารบรรจุกระป๋องหรือแปรรูปจากโรงงาน ปัจจัยท้าทายข้างต้นอาจกระทบความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs
  • อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

    ผลิตไฟฟ้า

  • ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาครัฐตามแผน PDP เอื้อให้เกิดการขยายกำลังการผลิตและการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 3 ส่วน ดังนี้
      1)IPP คาดจะมีการเปิดประมูลหลายแห่ง โดยภาครัฐมีแผนเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ต่อปีในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศช่วงปี 2564-2565 เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ทยอยหมดอายุสัญญาในช่วงปี 2568-2570 จำนวน 8,300 เมกะวัตต์
      2)SPP มีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตและลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติระบบ Cogeneration ที่ทยอยสิ้นสุดอายุสัญญา (ในช่วงปี 2562-2568) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP hybrid firm ซึ่งมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำกว่าราคาขายปลีกค่าไฟฟ้า[2] รวมถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในเขต EEC เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
      3)VSPP คาดว่าการลงทุนจะกลับมาเร่งขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐจะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าในปี 2565-2567 อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและแหล่งวัตถุดิบ
  • โรงกลั่นน้ำมัน

  • ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงปี 2564 โดยปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับเป็นปัจจัยจำกัดการขยับขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 73.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในปี 2565 และขยับลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 70.0 และ 67.5 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลในปี 2566 และ 2567 โดยความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่ฟื้นตัว (แม้น้ำมัน Jet จะยังได้รับแรงกดดันจากข้อจำกัดการบิน) จะหนุนให้ GRM ในตลาดสิงคโปร์ขยับขึ้นสู่ระดับเฉลี่ย 3.0-4.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล/ปี
  • ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้นที่ระดับเฉลี่ย 36.3 บาท/ลิตรในปี 2565 ก่อนลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 35.1 และ 34.3 บาท/ลิตรในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลจะเฉลี่ยอยู่ที่ 27.3 26.1 และ 25.3 บาท/ลิตร ตามลำดับ จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • ผลประกอบการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และ GRM โดยปริมาณรถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น (เฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี) จะช่วยหนุนการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปเติบโต 2.5-3.5% ต่อปี ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 80-85% เนื่องจากยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มในช่วง 3 ปีข้างหน้า

  • เอทานอล

  • ความต้องการใช้เอทานอลมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 4.2-4.6 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปี ในทิศทางเดียวกับการเติบโตของการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 (95) และ E20 (ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ของปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ทั้งหมด) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
      1)แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในปี 2566 (อยู่ระหว่างจัดทำโครงสร้างราคาอ้างอิงเอทานอลใหม่) แทน E10 เพื่อกระตุ้นการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงเตรียมยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E10 (91) ภายในปี 2565 ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 ล้านลิตร/วัน จาก 4-5 ล้านลิตร/วันปี 2564
      2)การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline) จะขยายตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้น หลังมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศ และมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
      3)จำนวนรถยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 30-32 ล้านคัน จาก 29.8 ล้านคัน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 โดยเฉพาะจำนวนรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8-9 แสนคันต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ได้ทั้งหมด
  • ไบโอดีเซล

  • อุตสาหกรรมไบโอดีเซลช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการใช้จะอยู่ที่ 5.3-5.5 ล้านลิตร/วัน หรือเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก
      1)ความต้องการใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก (1) เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว (2) การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce จะหนุนความต้องการรถขนส่งเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพ (3) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี และ (4) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ช่วยกระตุ้นความต้องการใช้รถเชิงพาณิชย์
      2)มาตรการสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มจากภาครัฐ อาทิ การผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน มาตรการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลโดยเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และอุดหนุนราคาขายผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงมาตรการบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศ
      3)ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อรองรับ การใช้น้ำมันดีเซลซึ่งมีสัดส่วนไบโอดีเซลที่สูงขึ้น ทั้งรถขนาดใหญ่ รถปิกอัพ รถอเนกประสงค์และรถบรรทุก
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

    ปิโตรเคมี

  • ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ (เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง การประกอบรถยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์) และความกังวลด้านสาธารณสุขหนุนความต้องการผลิตภัณฑ์ อาทิ PE PP และ PET เพื่อผลิตพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เพิ่มขึ้น ด้านราคาน้ำมันดิบโลกคาดว่าจะขยับขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล/ปี ส่งผลให้ spread ปิโตรเคมีภัณฑ์แคบลงบ้าง ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5-4.0% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.0% ต่อปี
  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับสายการผลิตสู่เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ อาทิ ABS ซึ่งใช้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าสูง (Specialty products) เพื่อตอบความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายมีแนวโน้มขยายการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Biodegradable plastics) และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled plastics) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
  • การแข่งขันสูงขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในเอเชีย อาทิ โรงงานปิโตรเคมีใหม่ในจีน (ตามนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าปิโตรเคมี) และมาเลเซีย (โครงการ PrefChem ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Petronas และ Saudi Aramco)
  • อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

    ยาแผนปัจจุบัน

  • มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.5-4.5% ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก (1) การเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่จำเป็นต้องพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง (2) การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน ทำให้ความต้องการบริโภคยาชื่อสามัญจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และ (3) กระแสใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหลังเผชิญโรค COVID-19 ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะขยายการลงทุนเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น
  • การแข่งขันในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก (1) ผลิตภัณฑ์ยานำเข้าราคาถูกจากอินเดียและจีน (2) การเพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายใหม่จากต่างชาติ ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตยาชื่อสามัญเพื่อรองรับตลาดในประเทศและตลาดส่งออก (3) การเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากธุรกิจอื่น และ (4) ต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S[2] รวมถึงราคายา/วัตถุดิบนำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามความต้องการวัตถุดิบสารตั้งต้น
  • ปุ๋ยเคมี

  • ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.5% ต่อปี อยู่ที่ 5.6-5.8 ล้านตัน ตามความต้องการใช้ของพืชเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง โดยพืชที่ใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ได้แก่ ข้าว (คาดเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง (คาดเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี) พืชทั้ง 3 ประเภทใช้ปุ๋ยเคมีรวมกันราว 60% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด
  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายช่องทางการตลาดใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ (เช่น ปุ๋ยสั่งตัด) และการขยายตลาดส่งออกในประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับปัจจัยท้าทายของธุรกิจมาจากการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์และการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสรักสุขภาพ จึงอาจลดทอนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในอนาคต
  • อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

    รถยนต์
    1.ผู้ผลิตรถยนต์

  • การผลิตรถยนต์ของไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี โดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้นหลังการฉีดวัคซีนครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานบรรเทาลง และปัญหาขาดแคลนชิปน่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
      1)ยอดขายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-5.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น โดยความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะขยายตัวดี อานิสงส์จากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน
      2)ปริมาณส่งออกรถยนต์จะเติบโต 5.0-7.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับผลตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนจะช่วยลดขั้นตอนการถูกตรวจสอบซ้ำ นอกจากนี้ คาดว่าโอกาสส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้น (ตลาดส่งออกอันดับสาม สัดส่วน 7.1% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ปี 2563) เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง
  • 2.ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่

  • รายได้ของธุรกิจช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัว โดยการจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะเติบโตตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ระดับ 3.0-5.0% ในปี 2565 และ 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ส่วนปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนฯสำคัญสำหรับการผลิตรถคาดว่าจะคลี่คลายช่วงครึ่งหลังปี 2565 ด้านรายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่มีแนวโน้มหดตัวตามการลดลงของจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุน้อยกว่า 5 ปี แม้จะมีความต้องการซ่อมบำรุงรถยนต์ตามอายุ/ระยะทาง แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ใช้รถบางส่วนอาจเปลี่ยนไปใช้บริการจากอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายของค่ายรถยนต์ เช่น ให้ตัวแทนจำหน่ายลงทุนปรับปรุงโชว์รูมและศูนย์บริการให้ได้มาตรฐานจึงเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ​
  • 3.ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสอง

  • ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยคาดว่าราคารถยนต์มือสองอาจปรับขึ้นได้บ้าง เนื่องจากอุปทานรถยนต์เก่าเข้าสู่ตลาดน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ใช้รถบางส่วนยืดอายุการใช้งานในภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นตามการขยายธุรกิจของบริษัทข้ามชาติและบริษัทในเครือของค่ายรถ ส่งผลให้ภาวะการแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรง และอาจกดดันผลประกอบการของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME
  • 4.รถจักรยานยนต์

  • ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 2.0-4.0% และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น หนุนแรงงานรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักมีกำลังซื้อเพิ่ม ด้านตลาดส่งออกคาดว่าปริมาณจะเติบโต 4.0-6.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับผู้ผลิตแบรนด์ “ดูคาติ” ทยอยขยายกำลังการผลิตในไทยภายในปี 2567 เป็น 1.8 หมื่นคันต่อปี จากเดิม 1.2 หมื่นคันต่อปี เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง (ปัจจุบันดูคาติผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 90% ของปริมาณการผลิตในไทย) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์จะเติบโต 2.0-4.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567
  • 5.ชิ้นส่วนยานยนต์

  • การผลิตและความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศจะเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาด OEM ที่คาดว่าจะขยายตัวตามปริมาณการผลิตยานยนต์ ขณะที่ตลาด REM จะเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณยานยนต์สะสม โดยเฉพาะยานยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีที่มีอยู่มากกว่า 26 ล้านคัน ซึ่งมีความต้องการซ่อมแซม/เปลี่ยนชิ้นส่วนฯ ตามอายุการใช้งาน โดยเฉพาะความต้องการชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง เช่น ระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน เป็นต้น ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนฯ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลงตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่ง Euromonitor คาดว่าจะเติบโต 14% ในปี 2565 (หดตัว 16% ปี 2564) 8% ปี 2566 และ 2% ปี 2567 เนื่องจากราคารถยนต์มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ และกระแสความนิยมใช้รถยนต์ร่วมกัน ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์น้อยลง โดย Euromonitor คาดว่าธุรกิจบริการรถยนต์ Shared mobility หรือ Mobility as a service จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ในช่วงปี 2565-2567 ผู้ให้บริการรายสำคัญ อาทิ Uber Lyft และ Grab
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

    อิเล็กทรอนิกส์
    1.ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD)

  • คาดว่ามูลค่าส่งออก HDD ของไทยช่วง 3 ปีข้างหน้า จะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ตามความต้องการ HDD ที่มีความจุสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน Cloud computing และ Data center รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ หันมาสนใจลงทุนโครงการ Data center แบบ on-premises [1] มากขึ้นในการจัดการกับ Big data รวมทั้งความต้องการ HDD เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลสำหรับ blockchain กล้องวงจรปิด และ cryptocurrencies ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดย IDC (August 2021) คาดยอดจำหน่าย HDD ความจุสูงระดับ Petabyte จะเติบโตเฉลี่ย 31.0% ต่อปีในช่วงปี 2563-2568 อย่างไรก็ตาม การส่งออก HDD ยังเติบโตได้อย่างจำกัด เนื่องจากมีแนวโน้มถูกทดแทนด้วย Solid State Drives (SSD) มากขึ้นโดยเฉพาะในคอมพิวเตอร์ Notebooks
  • แผงวงจรรวม (IC)

  • มูลค่าส่งออก IC มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี ตามยอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์โลกที่คาดว่าจะเติบโต 10.1% ในปี 2565 (WSTS, August 2021) นอกจากนี้ การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเครือค่าย 5G ในปี 2563-2564 ทำให้เทคโนโลยี 5G มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว [พิจารณาจากคาดการณ์รายได้ของผู้ให้บริการ 5G ทั่วโลกปี 2564 และปี 2565 จะเติบโต 38.9% และ 21.6% ตามลำดับ (Gartner, August 2021)] ซึ่งจะรองรับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มากยิ่งขึ้น ประกอบกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้น [รถยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกช่วงปี 2563-2573 จะเติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี (IEA, April 2021)] ส่งผลให้ความต้องการใช้ IC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (วัตถุดิบผลิต IC) คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังผู้ผลิตชั้นนำหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ต่างเร่งลงทุน/ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า​

  • ปริมาณความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 3.0-4.0% ขณะที่ปี 2566 และปี 2567 จะขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ผลจาก (1) ตลาดที่อยู่อาศัยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ (2) การทำตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาความสามารถควบคุมการทำงานผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (3) สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนช่วยหนุนความต้องการเครื่องปรับอากาศ และ (4) การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการทำตลาดสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจซื้อได้สะดวกมากขึ้น
  • มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 3.0-4.0% ขณะที่ปี 2566 และปี 2567 คาดจะเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี โดยการส่งออกเครื่องซักผ้าไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564 หลังสิ้นสุดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ขณะที่ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดเอเชียยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหลายประเทศมีอัตราถือครองต่ำกว่า 20% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา และลาว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและกลุ่มคนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชีย
  • อุตสาหกรรมอื่นๆ

    เครื่องมือแพทย์

  • ตลาดเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและส่งออก< จึงคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 7.0% ต่อปี ด้านมูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเหลือ 8.5% ต่อปี หลังมีอัตราการขยายตัวสูงมากในปี 2563-2564 โดยได้อานิสงส์จาก (1) อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น (2) ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด/เข็มฉีดยา (3) จำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้นในปี 2565-2567 หลังจากหดตัวถึง 97% ในปี 2564 (4) กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก และ (5) นโยบายสนับสนุนภาครัฐในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) สำหรับปัจจัยท้าทายทางธุรกิจที่สำคัญ คือ การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการไทยมีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย
  • ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง

    รับเหมาก่อสร้าง

  • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวม 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัว 4.5-6.5% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
      1)การลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.0% ต่อปี จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ซึ่งจะเริ่มทยอยดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ทั้งระบบรางและถนน อาทิ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเฟสแรกจะเริ่มในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และ (2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญอื่นๆ ของภาครัฐ ได้แก่ โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal 2) โครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)
      2)การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวระดับต่ำในปี 2565 และทยอยปรับดีขึ้นในปี 2566 และ 2567 หนุนโดย (1) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม (2) การลงทุนใน EEC หนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และ (3) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย หนุนความต้องการซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น
      3)ผู้รับเหมารายใหญ่จะมีความได้เปรียบรายกลางและเล็ก เนื่องจากมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างสูงกว่า และมีโอกาสได้งานประมูลมากกว่า ทั้งยังสามารถขยายการก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ด้านผู้รับเหมารายกลางและรายเล็กยังต้องพึ่งพาการรับเหมาช่วง (Sub contract) จากผู้รับเหมารายใหญ่ รายได้จึงไม่แน่นอน อีกทั้งมีโอกาสเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลนจาก COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก
  • วัสดุก่อสร้าง

  • ตลาดในประเทศ: ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนดังนี้
      1)มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.0% ต่อปี จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยคาดว่าการก่อสร้างจะหนาแน่นยิ่งขึ้นในช่วงปี 2565-2567
      2)มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว หนุนโดย (1) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม (2) โครงการ EEC จะหนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และ (3) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย หนุนความต้องการซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดี ปัจจัยหนุนจากการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย หนุนความต้องการปูนซีเมนต์และเหล็กก่อสร้าง ด้านกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ แรงหนุนหลักจากนักลงทุนจีนที่ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน
  • ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อย ตาม (1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาคก่อสร้าง (2) มาตรการภาครัฐกำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศ[1] (3) การปรับราคาเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบนำเข้า อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) เหล็กแท่งเล็ก (Billet) ตามทิศทางราคาในตลาดโลก และ (4) การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงาน
  • กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง:
      1)ร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว หนุนโดยพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกครบวงจร ผู้ประกอบการจึงปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ อาทิ (1) ปรับขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อขยายจำนวนสาขาเข้าไปในแหล่งชุมชนมากขึ้น (2) การเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อรองรับความต้องการที่เจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (3) การเพิ่มสัดส่วนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้ตราสินค้าของตนเองมากขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุนและเพิ่มมาร์จิ้น (4) การพัฒนาช่องทางจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า อาทิ Online channel และ Mobile application และ (5) การลงทุนขยายสาขาในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
      2)ร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิมมีแนวโน้มซบเซาถึงทรงตัว แบ่งเป็น (1) ร้านค้าส่ง ธุรกิจมีแนวโน้มทรงตัวถึงเติบโตเล็กน้อย แม้จะเผชิญการแข่งขันจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ (2) ร้านค้าปลีก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและมีจำนวนมาก มักมีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้มีสินค้าไม่หลากหลาย อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันสูงจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ รวมทั้งพึ่งพาลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงที่ผ่านมา เช่น การถูกเลิกจ้าง และปรับลดเงินเดือน/ค่าจ้าง เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง
  • เหล็ก
    1.เหล็กแผ่นรีดร้อน

  • ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การที่ไทยไม่มีการผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง การแข่งขันในประเทศจึงเสียเปรียบเหล็กนำเข้าโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งปรับกระบวนการผลิตเหล็กราคาถูกให้มีคุณภาพสูงขึ้น
  • ​ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2564 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 7.5 ล้านตันต่อปี คำสั่งซื้อหลักมาจากภาคการผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก
  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ตามความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลจากจีนมีแนวโน้มลดการผลิตเหล็กโดยทยอยปิดโรงงานเหล็กที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดการส่งออกด้วยการยกเลิกการคืนภาษีส่งออก (Rebate tax) สินค้าเหล็กหลายประเภท ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของปัญหาอุปทานส่วนเกินของโลก ทำให้ราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
  • เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ

  • ความต้องการใช้เหล็กมีแนวโน้มกลับมาเติบโต 4.0-5.0% ต่อปี อยู่ที่ 4.0-4.4 ล้านตันต่อปี อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะงานก่อสร้างระยะแรก เช่น งานวางฐานรากและเสาของทางยกระดับโครงการรถไฟฟ้า ขณะที่งานก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากอุปทานคงค้างสะสมยังมีจำนวนมาก
  • ปริมาณการผลิตเหล็กมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี หนุนโดยงานก่อสร้างภาครัฐที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการ Made in Thailand และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะหนุนให้เกิดการสร้างโรงงานและคลังสินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเหล็กไทยยังคงเผชิญการแข่งขันสูงจากผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าจากจีน
  • ราคาเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ตามราคาวัตถุดิบหลักที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ขณะที่ปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกคาดว่าจะคลี่คลายลง จากการลดกำลังการผลิตเหล็กของจีน
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์​

    ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล​

  • ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว การเร่งเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ อาทิ การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV การแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้[4] ตลอดจนการเข้ามาลงทุน/ทำงานในไทยของชาวต่างชาติ (Expatriates) อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยอยู่ที่ 7.4 หมื่นยูนิตในปี 2567 (เทียบกับค่าเฉลี่ย 9.9 หมื่นยูนิตช่วงปี 2557-2562) เนื่องจากตลาดระดับกลางลงมายังฟื้นตัวได้จำกัดและสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
  • การเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14-15% ต่อปี ตามแผนลงทุนของผู้ประกอบการ โดยสัดส่วนการเปิดขายโครงการใหม่ของบ้านแนวราบจะใกล้เคียงกับคอนโดมิเนียมเพื่อรองรับความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะอยู่ที่ 8 หมื่นยูนิตในปี 2567 ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1 แสนยูนิตช่วงปี 2557-2562 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยรายใหญ่ยังประคับประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ขณะที่รายกลาง-เล็กจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงทั้งด้านยอดขายและราคาที่ดินซึ่งหายากขึ้นและมีราคาแพง
      1)บ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์): อุปสงค์มาจากผู้ซื้อหันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอย/ ฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น โดยบ้านแนวราบในทำเลชานเมืองจะได้รับความนิยมสูงขึ้น เนื่องจาก (1) ราคาที่ดินยังไม่สูงเท่าย่านใจกลางเมืองและสามารถแบ่งเฟสในการพัฒนาโครงการได้ ต่างจากคอนโดมิเนียมที่ต้องสร้างเสร็จทั้งโครงการจึงจะโอนกรรมสิทธ์ได้ และ (2) การขยายเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น
      2)คอนโดมิเนียม: คาดว่าจะปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองและแนวรถไฟฟ้าบางเส้นทาง ซึ่งคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งด้านการบริหารโครงการ การตลาดและแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ แม้อุปทานคอนโดมิเนียมใหม่จะชะลอลงมากในปี 2564 แต่ในบางพื้นที่ยังมีอุปทานคงค้างอยู่ในระดับสูง เช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางนา-สมุทรปราการ) ซึ่งเป็นพื้นที่รอบนอกและมีศักยภาพเชิงทำเลต่ำกว่าพื้นที่อื่นโดยเปรียบเทียบ
      3)สำหรับทิศทางในระยะต่อไป คาดว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มพัฒนาโครงการเพื่อตอบสนองลูกค้าในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น อาทิ การพัฒนาโครงการรูปแบบผสมผสาน (Mixed-use) การพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับกระแสรักสุขภาพ/ คุณภาพชีวิตที่ดี (Wellness residence) และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aged society) การพัฒนาบ้านอัจฉริยะ (Smart home) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการขายที่อยู่อาศัยแบบสิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold)
  • ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยอาจเปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เช่น การทำงานที่บ้านอาจทำให้มีความต้องการบ้านแนวราบนอกเมืองที่มีพื้นที่ และ (2) การแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินในไทยได้
  • ที่อยู่อาศัย (6 จังหวัดหลักภูมิภาค)
    ความต้องการที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักมีแนวโน้มปรับดีขึ้นโดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) เศรษฐกิจในภูมิภาคที่ทยอยฟื้นตัว (2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีความคืบหน้าโดยเฉพาะพื้นที่ EEC ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในชลบุรีและระยองฟื้นตัวได้เร็วกว่าจังหวัดอื่น และ (3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวหลังมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น โดยแนวโน้มการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อให้ต่างชาติสามารถครอบครองที่อยู่อาศัยในไทยได้มากขึ้น[2] จะช่วยหนุนดีมานด์ของที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองอุตสาหกรรม เช่น EEC

  • ที่อยู่อาศัยแนวราบ: คาดว่าการเปิดโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% ต่อปี โดยความต้องการมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อในตลาดระดับกลางถึงบน โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากราคาที่ยังไม่สูงมากนัก อีกทั้งพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัยอาจเปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อาทิ การทำงานที่บ้าน (Work from home) ทำให้มีความต้องการบ้านแนวราบมากกว่าคอนโดมิเนียม
  • ที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม): การฟื้นตัวจะช้ากว่าแนวราบ โดยคาดว่าการเปิดโครงการใหม่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5% ต่อปี จากที่หดตัวแรงในปี 2564 โดยอุปทานคอนโดมิเนียมใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในพื้นที่แถบ EEC เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามามากขึ้นและในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากแรงหนุนของกฎระเบียบการครอบครองอสังหาฯ ของต่างชาติที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง
  • อาคารเชิงพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
    1.อาคารสำนักงาน

  • ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเติบโตในอัตราเฉลี่ย 1.5% ต่อปีตามปัจจัยหนุนด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ผนวกกับการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ จะช่วยหนุนให้ผู้ประกอบการลงทุน/ ปรับปรุงอาคารสำนักงานให้เช่าในพื้นที่ CBD และ Non-CBD เพิ่มขึ้น โดยความต้องการเช่าพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากกลุ่มธุรกิจภาคบริการ การค้าและกลุ่มเทคโนโลยี ด้านอุปทานอาคารสำนักงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะพื้นที่สำนักงานในโครงการ Mixed-use หลายโครงการ อาทิ สยามสเคป เดอะ ยูนิคอร์น พาร์ค สีลม เอ็มสเฟียร์วันแบงค็อก (เฟส 1) อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางโครงการที่ต้องเลื่อนกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จออกไปจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คาดว่าปี 2565-2567 พื้นที่สำนักงานที่มีกำหนดแล้วเสร็จจะอยู่ที่ 8 แสนตารางเมตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% ต่อปี เมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่มีทิศทางปรับลดสู่ระดับเฉลี่ย 86% แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลต่อค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง เนื่องจากผู้เช่ามีอำนาจต่อรองมากขึ้นจากตัวเลือกพื้นที่อาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้น
  • สำนักงานให้เช่าใน CBD มีโอกาสทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะอาคารสำนักงานให้เช่า Grade A เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ทำให้อัตราการเช่าและราคาค่าเช่าสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ส่วนอาคารสำนักงานในพื้นที่ Non-CBD และพื้นที่ปริมณฑล รายได้อยู่ในระดับทรงตัวหรือชะลอลง โดยการลงทุนจะมีตั้งแต่อาคารสำนักงานขนาดเล็กเพื่อเป็นที่ตั้งกิจการของตนเองแต่มีการแบ่งพื้นที่ให้เช่า อุปทานค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่เป็นอาคาร Grade B ทำให้การแข่งขันสูง ซึ่งเจ้าของอาคารพยายามต้องการรักษาผู้เช่าเดิมไว้และดึงดูดผู้เช่ารายใหม่ จึงไม่สามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้มากนัก
  • การแข่งขันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังวิกฤตแพร่ระบาดของ COVID-19 บรรเทาลง พนักงานบางส่วนมีโอกาสทำงานที่บ้านต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี อาจลดทอนความต้องการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานบางส่วน และการแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากแผนการลงทุนโครงการอาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในช่วงปี 2565-2567 ท่ามกลางอุปสงค์การเช่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การปรับขึ้นค่าเช่าทำได้จำกัด​
  • 2.พื้นที่ค้าปลีก

  • ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจค้าปลีก โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้า ความต้องการเช่ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยที่ 3.0% ต่อปี ด้านผู้ประกอบการยังมีแผนเปิดโครงการพื้นที่ค้าปลีกใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยรวมกว่า 800,000 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.7% ต่อปี อัตราการขยายตัวของอุปทานที่สูงกว่าความต้องการ ส่งผลให้อัตราการเช่าลดลงสู่ระดับ 90% และค่าเช่าอาจปรับลดลงในบางพื้นที่
      1)ศูนย์การค้าแบบปิด รายได้มีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อยจากอุปสงค์ที่ยังฟื้นตัวได้ช้า สำหรับทำเลย่านใจกลางเมืองมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ใหม่ ผู้ประกอบการจึงหันมาเน้นลงทุนปรับปรุงรูปแบบพื้นที่ค้าปลีกให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของลูกค้า ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย
      2)คอมมูนิตี้มอลล์ รายได้มีแนวโน้มทรงตัว โดยอุปทานน่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ค้าปลีกขนาดเล็กใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก และหาทำเลเพื่อพัฒนาโครงการได้ง่าย ขณะที่อุปสงค์ขยายตัวในระดับต่ำ จากกำลังซื้อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายได้ระดับกลาง-ล่างยังต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว จึงกระทบยอดขายของผู้เช่า ทำให้ค่าเช่าพื้นที่อาจปรับขึ้นได้ยาก
      3)พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน รายได้โดยรวมอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าอุปทานจะขยายตัวเร่งขึ้นมากโดยเฉพาะปี 2565-2566 อัตราการเช่าพื้นที่จึงมีแนวโน้มปรับลดลงส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มชะลอลง
  • ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ายังเผชิญการแข่งขันจากธุรกิจร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) ที่มีบทบาทมากขึ้น อาจลดทอนความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกลงบางส่วน อย่างไรก็ตาม ยอดขายผ่านออนไลน์ยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขายผ่านหน้าร้าน (3-4% ของยอดขายทั้งหมด) แต่มีศักยภาพการเติบโตสูงในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว
  • นิคมอุตสาหกรรม
    ยอดขายและให้เช่าที่ดินฯ ช่วง 3 ปีข้างหน้าจะกลับมาขยายตัวดีเฉลี่ย 35.0-37.0% ต่อปี อยู่ที่ 1,700 ไร่ 2,300 ไร่ และ 2,800 ไร่ ตามลำดับ ปัจจัยหนุนจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะหนุนการส่งออกของไทย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ (2) ความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC_ด้านผู้ประกอบการนิคมฯ มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนรายได้จากภาคบริการและสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อทดแทนรายได้จากการขายและเช่าที่ดินซึ่งมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งมีการจะพัฒนานิคมฯ ในรูปแบบ Smart park ที่มีความทันสมัยทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน ตลอดจนพัฒนานิคมฯ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพื่อสนับสนุนพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม พื้นที่นิคมฯ ใหม่ (พื้นที่จัดตั้งใหม่และการขยายพื้นที่ของนิคมฯ เดิม) มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด จากราคาที่ดินที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง และทำเลที่มีศักยภาพหายากมากขึ้น
  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่จะยังเติบโตจากความได้เปรียบเชิงกายภาพด้านการคมนาคมขนส่ง หนุนให้รายได้ยังคงเติบโตดี โดยเฉพาะรายได้จากค่าบริการสาธารณูปโภค และค่าเช่า
  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่ยังอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากต้องรอแรงผลักดันจากภาครัฐในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน SEZ และพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้รายได้ของนิคมฯ ในพื้นที่นี้มีแนวโน้มเติบโตช้า
  • ธุรกิจให้บริการ

    1.โรงแรม

  • ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ที่คลี่คลายหลังการกระจายวัคซีนทั่วถึงมากขึ้น หนุนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวน 7.5 ล้านคนในปี 2565 21 ล้านคนปี 2566 และ 35 ล้านคนปี 2567 โดยจะกลับมาเท่าช่วงก่อน COVID-19 (ปี 2562) ที่ 39-40 ล้านคนในปี 2568 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวเร็วกว่าจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยกลับสู่ระดับเทียบเท่าก่อนเกิด COVID-19 ในปี 2567 ที่ 170 ล้านทริป ด้านอัตราเข้าพักเฉลี่ยจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยอยู่ที่ 35% ในปี 2565 45% ในปี 2566 และ 60% ในปี 2567
      1)โรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต): คาดรายได้ทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2565 โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยมีโอกาสสูงถึง 60% ในปี 2567
      2)โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญและจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค: รายได้ทยอยปรับดีขึ้นในปี 2566-2567 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
      3)โรงแรมในจังหวัดอื่นๆ: รายได้ยังฟื้นตัวช้า อัตราการเข้าพักมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเพื่อไปจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs จึงมีโอกาสปิดกิจการสูง
  • 2.โรงพยาบาลเอกชน
    รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ขณะที่จำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,000 เตียง จากประมาณ 3.6 หมื่นเตียงในปี 2564

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลจาก
      1)ประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องการบริการการแพทย์ที่ต่อเนื่องและซับซ้อน โดยภาครัฐคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 2.3 แสนล้านบาทในปี 2565 จาก 6.3 หมื่นล้านบาทปี 2553
      2)จำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกลับมาใช้บริการการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น ผลจาก (1) การทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่อเนื่องในจังหวัดที่ฉีดวัคซีนแล้ว 70% ของประชากร และ (2) ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) อันดับต้นๆ ของโลก
      3)กระแสการใส่ใจสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้น หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร
  • ผู้ประกอบการขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งด้านการให้บริการ การขยายสาขา และลงทุนผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมจุดแข็งและสร้างห่วงโซ่อุปทานครบวงจร รวมถึงการหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และกำหนดให้ “การแพทย์ครบวงจร” เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ช่วยดึงดูดให้มีการขยายฐานธุรกิจโรงพยาบาลมากขึ้นในเฉพาะในเขต EEC
      1)โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่: ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ดีจากความพร้อมรองรับผู้ป่วยและการให้บริการในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสูง นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายสาขาและพันธมิตรทางธุรกิจ จึงสามารถขยายขอบเขตให้บริการเจาะจงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทำให้ฐานรายได้กว้างขึ้น
      2)โรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง-เล็ก: ผลประกอบการเติบโตได้ต่อเนื่อง โรงพยาบาลหลายแห่งมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ประกอบกับมีฐานลูกค้าประกันสังคมจึงช่วยลดความผันผวนของรายได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงทำให้โรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายจะถูกกดดันมากกว่าจากการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด
  • ธุรกิจค้าปลีก

    ร้านค้าปลีกสมัยใหม่
    รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก

  • กำลังซื้อในประเทศทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ จาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของภาครัฐ (2) การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 7.5 ล้านคนในปี 2565 และเพิ่มเป็น 21 และ 35 ล้านคนในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ และ (3) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ CLMV หนุนร้านค้าปลีกตามแนวชายแดน
  • ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว เพื่อขยายฐานรายได้และกลุ่มลูกค้าในระยะยาว โดย (1) ขายออนไลน์เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการขายหน้าร้าน (2) การเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจอื่น เช่น โลจิสติกส์ และ (3) ขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดรอง รวมถึงพื้นที่ EEC และแนวชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่มีแนวโน้มขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโต
  • แนวโน้มการเติบโตของรายได้ร้านค้าปลีกแต่ละประเภท มีดังนี้
      1)ห้างสรรพสินค้า คาดขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.5% ต่อปี จากที่หดตัว 7.5% ในปี 2564 ปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในประเทศที่กระเตื้องขึ้นตามเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการเน้นลงทุนในจังหวัดที่มีศักยภาพ รวมถึงในต่างประเทศ
      2)ดิสเคาท์สโตร์ คาดเติบโตเฉลี่ย 1.5-2.8% ต่อปี จากที่หดตัว 6.0% ในปี 2564 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้ปานกลางหรือต่ำ ซึ่งเน้นสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาภายในธุรกิจยังคงรุนแรง และยังต้องแข่งขันกับร้านค้าปลีกอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ
      3)ซูเปอร์มาร์เก็ต คาดเติบโตเฉลี่ย 2.8-4.7% ต่อปี จากที่หดตัว 6.0% ในปี 2564 หนุนโดยการจับจ่ายของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง
      4)ร้านสะดวกซื้อ คาดเติบโตเฉลี่ย 1.7-3.5% ต่อปี จากที่หดตัว 6.6% ในปี 2564 จากการขยายสาขาครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก
  • ธุรกิจบริการทางการเงิน

    บัตรเครดิต

  • ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.0-7.0% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจ E-commerce มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
  • ผู้ประกอบการจะขยายฐานลูกค้ารายใหม่อย่างระมัดระวัง โดยเน้นขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาระหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้เสีย
  • การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินและ Non-banks การขยายตลาดบัตรเครดิตผ่านการชำระเงินออนไลน์ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเข้าถึงฐานลูกค้าในอนาคต
  • ธุรกิจบริการอื่นๆ

    1.บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่
    ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโต คาดรายได้ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุนดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
      1)เศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคทยอยฟื้นตัว ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการทยอยเปิดประเทศ จะหนุนฐานลูกค้าระบบเติมเงินขยายตัว ประกอบกับผู้ให้บริการมีแนวโน้มออกแคมเปญกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการย้ายมาเป็นระบบรายเดือนเพื่อเพิ่มรายได้
      2)ความนิยมใช้งานด้านข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ เช่น การใช้งานอินเตอร์เน็ต บริการคอนเทนต์ด้านบันเทิง การใช้งานโซเชียลมีเดีย การทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น เพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและรายได้
      3)การเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมสู่ระบบดิจิทัล (เช่น กลุ่มค้าปลีก การผลิต ขนส่ง และกระจายสินค้า) จะทำให้มีความต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น
      นโยบายภาครัฐ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงการสมาร์ทซิตี้ และการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ทำให้มีการขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน4)ด้านโทรคมนาคมกระจายไปทั่วประเทศ (ปัจจุบันเครือข่ายเทคโนโลยี 5G ครบ 77 จังหวัด) กระตุ้นความต้องการใช้งานจากผู้บริโภคในพื้นที่ใหม่ๆ
  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มลงทุนขยายโครงข่ายต่อเนื่องและพัฒนารูปแบบบริการเสริมเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการและสร้างรายได้ในระยะยาว เช่น ลงทุนในแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจดิจิทัล ขยายฐานสู่ลูกค้าองค์กร และให้บริการด้านโครงข่ายเฉพาะกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจอื่น เช่น สถาบันการเงิน ค้าปลีกและสาธารณสุข ท่ามกลางการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายโครงข่ายและการประมูลคลื่นความถี่
  • 2.โลจิสติกส์
    คลังสินค้าทั่วไป

  • ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 3.5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ปัจจัยสนับสนุนจาก (1) กิจกรรมการผลิตและการค้าทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจหนุนการส่งออกและการบริโภค (2) การเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐหนุนความต้องการพื้นที่จัดเก็บและกระจายสินค้าในพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และ (3) การจับจ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์เร่งให้มีความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพื่อรับส่งและกระจายสินค้ามากขึ้น
  • อุปทานในระยะ 3 ปีข้างหน้า คาดว่าพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 แสนตารางเมตรต่อปี (ขยายตัวเฉลี่ย 3.0% ต่อปี) โดยมีแรงหนุนจากความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม เขตปลอดอากร และ Warehouse farm ต่างๆ ของผู้ประกอบการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ ทำให้เกิดรูปแบบคลังสินค้าสมัยใหม่ครบวงจรที่พร้อมรองรับนวัตกรรมการผลิต การค้าและการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนใหญ่อยู่ในทำเล BMR EEC ศูนย์กลางในภูมิภาคและจังหวัดชายแดนที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวกและสามารถเชื่อมต่อไปในเมือง (Downtown) ต่างๆ ในภูมิภาค ตลอดจนประตูการค้าในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบางแห่งลงทุนสร้างคลังสินค้าใช้เองแทนการเช่า จึงส่งผลให้แนวโน้มการขยายพื้นที่เป็นไปอย่างระมัดระวังในช่วงที่ยังมีอุปทานคลังสินค้าที่เหลือว่างสูง ทั้งนี้ อุปสงค์พื้นที่เช่าที่เติบโตสูงกว่าอุปทาน ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85-86%
  • บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

  • จำนวนผู้โดยสาร (Trips per day) มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็น 6.0-6.5 แสนครั้งต่อวัน หลังการกระจายวัคซีนทั่วถึงและรัฐทยอยผ่อนคลายการเปิดประเทศ ปัจจัยสนับสนุนจาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว (2) จำนวนผู้พักอาศัยในโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า บริเวณใกล้เคียงสถานีหรือจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานี และ (3) การเปิดเดินรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ที่มีจุดเชื่อมต่อกับสายเดิม และการเพิ่มจุดจอดรถ (Park and ride) ช่วยเพิ่มความสะดวกและเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการทั้งขาเข้า-ขาออกระหว่างเมืองชั้นนอกและตัวเมืองชั้นใน
  • ช่วง 3 ปีข้างหน้า จะมีรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่แถบชานเมืองเปิดบริการอีก 3 เส้นทางรวมระยะทาง 84.4 ก.ม. ได้แก่ (1) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (เปิดกลางปี 2565 และส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช –เมืองทองธานี จะเปิดช่วงปลายปี 2567 (2) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดเดือนกรกฎาคม 2565 และ (3) สายสีส้มตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) กำหนดเปิดปลายปี 2567 จะส่งผลให้ผลประกอบการของผู้ให้บริการมีแนวโน้มเติบโตตามรายได้ค่าโดยสาร และการบริหารจัดการพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบริการดูแลระบบรถไฟฟ้าและบริการระบบการสื่อสาร ตลอดจนรายได้จากการรับจ้างเดินรถให้กับภาครัฐ (กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.) ก็เพิ่มสูงขึ้น

    บริการขนส่งสินค้าทางทะเล

  • ปี 2565-2567 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลมีแนวโน้มเติบโตดีตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยอุปสงค์สินค้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลบวกต่อความต้องการใช้เรือขนส่ง ตู้สินค้า หนุนให้ค่าระวางเรือยังทรงตัวสูงในปี 2565 ก่อนจะทยอยปรับลดลงในปี 2566-2567 ปัจจัยบวกจาก (1) IMF คาดเศรษฐกิจโลกปี 2565 2566 และ 2567 จะเติบโต 4.9% 3.6% และ 3.4% ตามลำดับ ขณะที่ UNCTAD คาดปริมาณการค้าทางทะเลโลกจะเติบโต 3.2% 2.4% และ 2.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามลำดับ (2) ความเข้มงวดในการควบคุมโรค COVID-19 ส่งผลให้เรือส่งมอบใหม่เข้าตลาดล่าช้า โดย BIMCO คาดว่าอุปทานเรือตู้คอนเทนเนอร์จะเติบโตเฉลี่ย 3.2% ต่อปี ขณะที่อุปทานเรือเทกองเติบโตเฉลี่ย 2.9% ต่อปี โดยกองเรือใหม่จะทยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และ (3) การบริหารจัดการท่าเรือทั่วโลกที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นระยะ อาจส่งผลให้การเคลียร์ของออกและเข้าท่าเรือล่าช้า ขณะที่ความต้องการสินค้ายังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะทยอยปรับลดลงในปี 2566-2567
  • สำหรับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง โดยราคาน้ำมันเตาชนิดกำมะถันต่ำมีแนวโน้มปรับขึ้นตามอุปสงค์การใช้ที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากค่าระวางเรือที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงคาดว่าจะกระทบรายได้ของธุรกิจไม่มากนัก
  • 2.บริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์

  • ธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตดี โดยคาดว่ารายได้รวมจะขยายตัวในช่วง 9.0-10.0% เนื่องจากภาคธุรกิจเร่งปรับโครงสร้างองค์กรที่เน้นขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
      1)บริการดิจิทัล: คาดว่ารายได้จะขยายตัวในอัตรา 11.0-12.0% โดยมีปัจจัยหนุนหลักจาก (1) การพัฒนาโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่จะเชื่อมโยงสัญญาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในปี 2565 และ (2) รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานที่มีแนวโน้มจะยังคงพึ่งพาบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าและข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ส่วน Fintech ยังเติบโตตามความนิยมของ e-Wallets แต่การแข่งขันยังสูงจากผู้เล่นที่มีจำนวนมาก
      2)ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์: คาดว่ารายได้จะขยายตัวในอัตรา 7.0-8.0% จาก (1) แนวโน้มการลงทุนด้านซอฟต์แวร์และระบบ Cloud IT ของภาคเอกชนที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงของการฟื้นฟูธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยอุปสงค์จากธุรกิจ SMEs มีแนวโน้มขยายตัว จากมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการฯ ในปี 2564-2565 เพื่อสนับสนุน Digital transformation ให้ SMEs แข่งขันได้ และ (2) ภาคหน่วยงานราชการมีแนวโน้มปฏิรูปโครงสร้างภายในที่ต้องพัฒนารูปแบบการให้บริการผ่านออนไลน์และแอปพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้น
      3)ดิจิทัลคอนเทนต์: คาดว่ารายได้จะขยายตัวในอัตรา 7.0-8.0% โดยได้แรงหนุนการเติบโตจากธุรกิจเกมส์ผ่านอุปกรณ์ Smart technology ซึ่งจะมีการพัฒนาสู่เกมส์รูปแบบใหม่บนระบบ Cloud ที่รวดเร็วบนเครือข่าย 5G ที่ดึงดูดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มรายได้จากธุรกิจ Animation และ Characters มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นแต่ในอัตราไม่สูงนักตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ว่าจ้างผลิตโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว