ThaiPublica > เกาะกระแส > นโยบายส่งเสริม Open Banking: สิ่งที่เป็น สิ่งที่คาด และสิ่งที่หวัง( ตอนจบ) ไทยจะเดินแนวทางไหน เพื่ออนาคตภาคการเงินของประเทศ

นโยบายส่งเสริม Open Banking: สิ่งที่เป็น สิ่งที่คาด และสิ่งที่หวัง( ตอนจบ) ไทยจะเดินแนวทางไหน เพื่ออนาคตภาคการเงินของประเทศ

16 กันยายน 2020


รายงานโดย ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล, ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ

วิจัยกรุงศรีได้ทำการศึกษาแนวทาง Open Banking กระแสการพัฒนาในภาคการเงินโลกที่อาจพลิกโฉมธุรกิจธนาคาร จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้บริการระหว่างกันทันทีโดยอัตโนมัติด้วยวิธีการที่ปลอดภัย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและธุรกิจได้อย่างมหาศาล พร้อมเผยแพร่ใน Research Intelligence ฉบับเดือนกันยายนในหัวข้อ นโยบายส่งเสริม Open Banking: สิ่งที่เป็น สิ่งที่คาด และสิ่งที่หวัง

ต่อจากตอนที่ 1

  • นโยบายส่งเสริม Open Banking: สิ่งที่เป็น สิ่งที่คาด และสิ่งที่หวัง( ตอน 1) เพื่อปฏิวัติภาคการเงิน พลิกโฉมธุรกิจธนาคาร
  • “WHAT WILL BE”: ก้าวต่อไปของ Open Banking

    แล้วประเทศไทยมีแนวโน้มจะเลือกใช้แนวทางใด วิจัยกรุงศรีมองว่าการตัดสินใจของทางการไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเมื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของต่างประเทศแล้วพบว่าปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้แนวทางการส่งเสริมที่ต่างกันของแต่ละประเทศ (ภาพที่ 7 ) ได้แก่

  • ศักยภาพของธุรกิจและการแข่งขันในระบบนิเวศการเงิน โดยหากประเทศนั้น ๆ มีระบบนิเวศการเงินที่มีความพร้อม หรือมีบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (FintechFintech) และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ (Bigtech) ที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน ภาคธุรกิจอาจแข่งขันกันขับเคลื่อนนวัตกรรมได้เองโดยไม่ต้องอาศัยภาครัฐ บทบาทของภาครัฐจึงเหลือเพียงการเป็นคนกลางในการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือเท่านั้น ตัวอย่างเช่นสหรัฐฯ และจีน ในทางกลับกัน ในสหราชอาณาจักร4 ประชาชนรู้สึกว่าการแข่งขันในภาคการเงินยังไม่มากพอทำให้ผู้บริโภคยังต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลการแข่งขันของตลาด (Competition and Markets Authority: CMA) จึงต้องใช้มาตรการออกเกณฑ์บังคับให้ธนาคารหลักเปิดเผยข้อมูล เพื่อเป็นกลไกเร่งให้เกิดการแข่งขันในภาคการเงินมากขึ้น
  • ความกังวลของภาครัฐต่อปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ โดยหากทางการมีความกังวลต่อการขยายอำนาจผูกขาดสู่ระบบการเงินของ Bigtech จากต่างประเทศ10หน่วยงานกำกับภาคการเงินจะยังไม่ออกกฎบังคับการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากกฎดังกล่าวไม่อาจเลือกปฏิบัติโดยกีดกันเฉพาะ Bigtech ได้ และหาก Bigtech สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของลูกค้าในประเทศได้โดยง่ายอาจนำไปสู่การผูกขาดธุรกรรมทางการเงินบนแพลตฟอร์มของ Bigtech นอกจากนี้ การที่ Bigtech ซึ่งมักทำธุรกิจหลากหลายประเภทเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการเงิน อาจนำพาความเสี่ยงทางการเงินจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาสู่ระบบการเงินด้วย
  • ความตื่นตัวของประชาชนในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เช่น ความไม่ไว้วางใจต่อบริษัทเทคโนโลยีที่อาจนำข้อมูลของประชาชนบนโลกออนไลน์ไปใช้ในทางมิชอบ เป็นต้น ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมที่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก จึงเป็นที่มาของกฎ GDPR ที่นิยามไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าของข้อมูล คือ ผู้ใช้บริการทางการเงิน ไม่ใช่สถาบันการเงิน ประกอบกับกฎ GDPR ให้สิทธิแก่ประชาชนในการจัดการข้อมูลของตน ซึ่งเอื้อให้มีการออกกฎเกณฑ์ PSD2 ที่ส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงินและส่งเสริมให้เกิด Open API เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างปลอดภัย
  • ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะทางการเงิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญว่าประเทศนั้น ๆ จะสามารถพัฒนา Open API ที่ปลอดภัยได้หรือไม่ เนื่องจากการพัฒนา Open API ต้องอาศัยความพร้อมทางด้านการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็ก ทรอนิกส์ (e-Identification) และการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Authentication) ตัวอย่างเช่นอินเดียซึ่งพัฒนาและวางระบบ e-Authentication ระบบการเก็บเอกสารข้อมูลออนไลน์ (Repository) ตลอดจนระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพไว้แต่เนิ่น ๆ เอื้อให้สามารถพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลการเงินได้โดยสะดวก12
  • ลักษณะโครงสร้างการทำงานของสถาบัน เนื่องจากสถาบันของแต่ละประเทศมีการจัดวาง (Institutional arrangement) ที่แตกต่างกันซึ่งแนวทางการส่งเสริมภาคการเงินที่หน่วยงานกำกับฯ ในประเทศนั้น ๆ เคยปฏิบัติมาในอดีตมักจะมีอิทธิพลต่อการเลือกใช้แนวทางส่งเสริม Open banking ด้วย เช่น ประเทศที่วางตัวเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ เลือกที่จะใช้มาตรการที่สอดคล้องกับกลไกตลาดมากกว่าการแทรกแซงตลาดแบบสหภาพยุโรป โดยเน้นการส่งเสริมการให้ความรู้กับภาคเอกชน นอกจากนี้ หากประเทศใดมีภาครัฐที่ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด หรือเคยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินร่วมกัน ก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้แนวทางที่คล้ายคลึงกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ Open banking ในทางกลับกัน ในกรณีของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ประกอบด้วยประเทศหรือมลรัฐต่าง ๆ ซึ่งมีโครงสร้างอำนาจในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะของตน ภาครัฐอาจไม่สามารถใช้ Facilitative approach เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากสถาบันการเงินทั้งประเทศได้
  • ในบริบทของประเทศไทย คาดว่าทางการจะเลือกใช้แนวทาง Facilitative approach มากกว่าการแทรกแซงเพื่อบังคับธนาคารในลักษณะ Prescriptive approach (ตารางที่ 2) เนื่องจากความกังวลต่อความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชาชน โดยหากหน่วยงานกำกับฯ ออกกฎหมายบังคับให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าแก่บริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการโจรกรรมข้อมูลของประชาชนและการใช้ข้อมูลของลูกค้าในทางมิชอบได้ เนื่องจากหน่วยงานกำกับฯ อาจยังกังวลว่า 1) ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี การเงิน และสิทธิด้านข้อมูลของประชาชนยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมามีเหตุการณ์ร้องเรียนเกี่ยวกับการล่อลวงทรัพย์สินของประชาชนบ่อยครั้ง 2) ระบบการปฏิบัติการของบริษัทเอกชนอาจมีมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่มากพอ และ 3)ธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนที่อาจยังมีความเสี่ยง แม้ว่าไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act B.E. 2562 :PDPA) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2021 นี้ซึ่ง PDPA นี้ระบุสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลในการขอและส่งข้อมูลของตนคล้ายกับกฎหมาย GDPR ของสหภาพยุโรป13 ซึ่งควรจะเอื้อต่อการออกกฎเกณฑ์ด้านการเงินในลักษณะของ PSD2 แต่คาดว่าภาครัฐยังมีความกังวลต่อผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด (Unintended consequences) ที่อาจเกิดจากการครอบงำตลาดในระบบการเงินโดย Bigtech และการผูกขาดการแข่งขันในระบบนิเวศการเงินในระยะยาว

    นอกจากนี้ โครงสร้างด้านสถาบันเป็นอีกปัจจัยสาคัญต่อการเลือกใช้แนวทาง Facilitative approach ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดในการผลักดันโครงการริเริ่มด้านการชาระเงินต่างๆ14เช่น การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ และมาตรฐานคิวอาร์ (Standardized QR code)เป็นต้น จึงมีแนวโน้มว่าความร่วมมือ Open banking จะเกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ขณะที่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Open banking นั้น ประเทศไทยจัดว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่ง อาทิ การประกาศใช้ระบบดิจิทัลด้านอัตลักษณ์ (National Digital Identification: NDID) เมื่อปี 2019 และในปี 2020 ธปท. ได้ออกแนวทางการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) โดยเฉพาะการตรวจดูใบหน้า เพื่อเป็นมาตรฐานในการนาไปให้บริการทางการเงินที่ปลอดภัยและสอดคล้องกับกฎหมาย โดยธนาคารพาณิชย์เริ่มให้บริการเปิดบัญชีธนาคารทางช่องทางออนไลน์โดยใช้การยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer: e-KYC) แล้ว

    ดังนั้น คาดว่าหน่วยงานกำกับฯ ของไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือและจะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดในการสนับสนุนการดำเนินการพัฒนา Open API ขณะเดียวกันจะกำกับดูแลระบบการเงินรวมถึงการให้ใบอนุญาตบริษัทเทคโนโลยีในการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวกับ Open banking เพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบระเบียบ และจะมีการควบคุมความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช้กฎเกณฑ์บังคับซึ่งโมเดลการพัฒนานี้เปรียบได้กับการดัดลวดตามลำต้นตะโกซึ่งภาครัฐจะช่วยประคับประคองการเติบโตของภาคบริการทางการเงิน

    หากการพัฒนาเป็นไปอย่างช้าๆ และระมัดระวังเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อธนาคารพาณิชย์ในไทยคือธนาคารทุกรายจะสามารถปรับตัวได้เนื่องจากการพัฒนาอย่างช้าๆ นี้จะช่วยกันไม่ให้ Bigtech จากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามาแข่งกันให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจอื่นซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศทางการเงินเปลี่ยนแปลงเร็วจนธนาคารบางรายไม่สามารถตามได้ทัน ด้วยเงื่อนไขนี้ จึงเป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็น Fintech และ Bigtech ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในลักษณะหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) เพื่อให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรมากกว่าจะเข้ามาแข่งขันกับธนาคารโดยตรง

    ในด้านขอบเขตของข้อมูล คาดว่าประเทศไทยจะมีการขยายขอบเขตของข้อมูลที่จะมีการทำ Open API เป็นระยะๆ โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการเฉพาะข้อมูลผลิตภัณฑ์การเงินของธนาคารและบัญชีกระแสรายวัน และ ธปท. จะวางมาตรฐานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับ Interoperability ของ Open API และโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ ในอนาคต เมื่อการพัฒนาสำเร็จคาดว่าจะมีการทดลองใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุม (Sandbox) และเปิดให้ใช้ทั่วไปในระยะต่อไป และคาดว่าหน่วยงานกำกับฯ จะผลักดันการทำ Open API เพื่อครอบคลุมข้อมูลการเงินประเภทอื่นต่อไป สาหรับการพัฒนาความร่วมมือในภาคบริการอื่นเพื่อให้เกิด Open data ต่อข้อมูลของประชาชนทุกประเภทนั้นอาจยังเป็นเรื่องห่างไกล จากทั้งปัจจัยเชิงสถาบันและปัจจัยด้านภาคธุรกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากนโยบายส่งเสริมในภาคการเงินซึ่งถือว่าเป็นโครงการนำร่อง (Pilot project)นี้ประสบผลสำเร็จด้วยดีโดยสามารถสรุปแนวโน้มของแนวทางการส่งเสริม Open banking ของไทยเทียบกับประเทศอื่นตามภาพที่ 8

    “WHAT WE HOPE FOR”: ความหวังของ Open Banking ในไทย

    ทุกวันนี้แนวทางการส่งเสริม Open banking ในหลาย ๆ ประเทศยังไม่หยุดนิ่ง แต่จุดร่วมที่แทบทุกประเทศให้ความสาคัญคือการวางมาตรฐานความปลอดภัยด้านข้อมูล โดยประเทศที่ยึดถือแนวทาง Market driven approach เริ่มให้ความสำคัญต่อการวางมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูล ขณะที่สหภาพยุโรปที่ใช้แนวทาง Prescriptive approach เริ่มประสบปัญหาในการปฏิบัติจริงเนื่องจาก Open API ที่แต่ละธนาคารต่างพัฒนาขึ้นมานั้นไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาต่อยอดและการใช้งานจริง จนทางการต้องพยายามเข้ามาวางมาตรฐานด้านเทคนิคเพิ่มเติมในภายหลัง ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปกลับกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยไว้อย่างละเอียดและเข้มงวด ซึ่งสร้างความยากลำบากต่อการใช้บริการบางขั้นตอนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว

    ประสบการณ์ในต่างประเทศสะท้อนบทเรียนว่า Open banking ควรมีการวางมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องความปลอดภัย และมาตรฐานทางด้านเทคนิคไว้ตั้งแต่แรก เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกันได้โดยง่าย ขณะเดียวกันการกำหนดมาตรฐานจำเป็นต้องคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานของประชาชน เพื่อให้นวัตกรรมการเงิน Open banking ที่เกิดใหม่สามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลาย

    ประเทศไทยมีทางเลือกอะไรบ้าง รูปแบบ “Open Banking”ของสหราชอาณาจักร และรูปแบบ “India Stack”ของอินเดียเป็นรูปแบบที่น่าสนใจต่อการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เนื่องจากทั้งสองรูปแบบนี้เป็นปัจจัยสาคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ในสหราชอาณาจักรและอินเดีย และเกิดผลสำเร็จขึ้นจริงในทางปฏิบัติ แม้ว่าทั้งสองรูปแบบจะแตกต่างกันก็ตาม โดยสหราชอาณาจักรใช้แนวทาง Prescriptive approach ที่เน้นกฎเกณฑ์บังคับ ขณะที่อินเดียใช้แนวทาง Facilitative approach ที่ภาครัฐมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินพัฒนาต่อยอดได้

    มุมมองวิจัยกรุงศรี: นโยบายส่งเสริม Open Banking ที่เหมาะสมสำหรับไทย

    จากการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีเกม ความร่วมมือระหว่างธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการทำ Open banking ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่แต่ละธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดที่ต่างกัน หรือมีการลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจไปมากแล้ว นอกจากนี้ บทบาทของภาครัฐที่เป็นเพียงแค่ในฐานตัวกลางที่คอยช่วยส่งสัญญาณจะไม่เพียงพอที่จะย้ายดุลยภาพจากจุดปัจจุบันไปสู่ดุลยภาพของความร่วมมือที่นำมาซึ่งประโยชน์โดยรวมที่สูงขึ้น ดังนั้น “ตัวกลาง” จำเป็นต้องแทรกแซง โดยมีสองทางเลือกคือ (1) เพิ่มผลตอบแทนให้ธนาคารขนาดใหญ่หากร่วมมือเปิดข้อมูล หรือ (2) ลดผลตอบแทนหรือมีบทลงโทษธนาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ให้ความร่วมมือ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมาตรการดังกล่าวอาจทำได้ยากเนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่ความสำเร็จของมาตรการนี้ คือ จำนวนผลตอบแทนหรือบทลงโทษที่มากพอจะเปลี่ยนดุลยภาพได้ ซึ่งด้วยโลกแห่งความเป็นจริงที่ข้อมูลไม่สมบูรณ์ตัวกลางจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าควรให้รางวัลหรือมีบทลงโทษเป็นมูลค่าจึงจะเพียงพอให้ธนาคารขนาดใหญ่เปลี่ยนใจ ดังนั้น วิธีการที่มีประสิทธิผลในสถานการณ์แบบนี้ คือ ใช้อำนาจของตัวกลางในการประกาศบังคับให้ทุกธนาคารต้องร่วมมือ ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดต่อระบบการเงิน

    นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมการเงินโลกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งกระแสเทคโนโลยีและความเสี่ยงจากเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเลือกได้ นอกจากนี้การปิดกั้นความเสี่ยงจากเทคโนโลยีจะต้องแลกมาด้วยการสูญเสียโอกาสจากนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ซึ่งท้ายที่สุดอาจกลับกลายเป็นความเสี่ยงที่ภาคการเงินไทยจะเดินหน้าอย่างเชื่องช้าจนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จนทำให้แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ดังนั้น โมเดลการพัฒนานวัตกรรมในแบบ Facilitative ที่เปรียบเหมือนกับการขึ้นโครงลวดดัดนาลาต้นตะโกอาจจะทำให้ต้นไม้ที่จะถูกครอบด้วยโครงลวดนี้แคระแกร็น เติบโตไม่ทันต้นไม้อื่นในป่าใหญ่ และมีโอกาสที่จะล้มตายด้วยแรงต้านจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในที่สุด

    ทั้งนี้ การเลือกเดินไปในแนวทาง Prescriptive approach ไทยควรเรียนรู้ประสบการณ์ในหลายประเทศเพื่อนำมาปรับสูตรในการวางรากฐานและสร้างความร่วมมือที่เหมาะสมกับบริบทของไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้างในระยะยาว ตัวอย่างจากสหภาพยุโรปที่เลือกใช้แนวทางเด็ดขาดนี้ให้บทเรียนแก่เราว่า แม้ว่ากฎเกณฑ์จากทางการจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้สามารถพัฒนา Open API ได้เร็วแต่หากกฎกติกา “ตึง” และ “ตายตัว” ในทุกรายละเอียดและมองข้ามแง่มุมของการใช้งานจริง (Practicality) ไป อาจทำให้การดำเนินการยุ่งยากจนกฎกลับกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนา Open banking เสียเอง ดังนั้น การวางโครงสร้างที่ดีจึงเป็นอีกบทบาทจำเป็นของตัวกลาง นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาปัจจัยที่สร้างความสาเร็จให้แก่ Open banking ในประเทศอย่างสหราชอาณาจักรและอินเดียควบคู่ไปด้วย

    วิจัยกรุงศรีมีข้อเสนอสำหรับแนวทางการพัฒนา Open banking ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ดังนี้

    1)ภาครัฐจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์บังคับให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินในลักษณะ Prescriptive approach เนื่องจากตลาดต้องการตัวกลางที่จะป้องกัน Coordination failure หรือการติดอยู่ใน Sub-optimal equilibrium ในทฤษฎีเกม

    2)ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเรียนรู้จากความสำเร็จของกรณีสหราชอาณาจักร ที่เน้นให้ระบบ (1) เชื่อมต่อได้ง่าย (Interoperability) เช่น กำหนด API มาตรฐาน (Standardized API) และเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว คล้ายคลึงกับกรณีของอินเดีย (2) มี UX (User experience) ที่ดี และ (3) สนับสนุนการพัฒนาของบริษัทเอกชน (Functionality support) โดยอาจพิจารณาจัดตั้งสถาบันคล้ายกับ OBIE ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการสถาบันการเงิน สนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานกากับอื่นๆ ในภาคการเงิน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการเปิด Open API ของข้อมูลการเงินทั้งระบบ

    3)ในด้านขอบเขตข้อมูลภาครัฐควรวาง Roadmap เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา Open API ของข้อมูลประเภทต่าง ๆ ที่ชัดเจน โดยในระยะแรกอาจทำ Open API เฉพาะข้อมูลพื้นฐาน เช่น รายละเอียดของผลิตภัณฑ์การเงินและค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคาร ก่อนขยายขอบเขตไปยังข้อมูลบัญชีกระแสรายวันและข้อมูลธุรกรรมการชำระเงิน จากนั้นควรสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้เกิด Open API ข้อมูลด้านการเงินอื่น ๆ ตลอดจนข้อมูลในภาคบริการอื่น ๆ นอกภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบนิเวศการเงินอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสามารถผลักดันนวัตกรรมทางการเงิน เช่น การนำปัจจัยอื่นที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้อย่างน่าเชื่อถือมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อ (Information based lending )ได้อีกด้วย เนื่องจากข้อมูลนั้นคล้ายกับตัวต่อเลโก้ ยิ่งมีตัวต่อหลากหลายประเภท นักประดิษฐ์ก็จะยิ่งสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้เป็นทวีคูณ

    4) การพัฒนาควรเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเดิมของไทย กอปรกับควรวางกรอบกติกาเพื่อป้องกันการเข้ามาฉวยโอกาสและเอารัดเอาเปรียบด้านข้อมูล เพื่อให้ความร่วมมือของสถาบันการเงินสามารถเกิดได้ง่ายขึ้น โดยประยุกต์ใช้แนวคิดของอินเดีย เช่น ระบบ UPI ที่เอื้อให้แพลตฟอร์มโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารสามารถทำธุรกรรมของต่างธนาคารได้ด้วย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาการบริการต่อยอดจากแพลตฟอร์มของธนาคารที่ต่างคนต่างลงทุนพัฒนาเองไปมากแล้ว มากกว่าการเน้นส่งเสริมให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่แข่งกับแพลตฟอร์มโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยลดแรงต้านต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างธนาคารทั้งรายใหญ่และรายเล็ก นอกจากนี้ ควรออกแบบกรอบกติกาที่ป้องกันปัญหาการขัดประโยชน์ (Conflict of interest) ให้แก่บริษัท Account Aggregator (AA)ที่ทาหน้าที่เป็นตัวกลางจากการครอบครองข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลของประชาชนถูกเรียกใช้งานเพียงเท่าที่จำเป็นและไม่ถูกครอบครองโดย AA ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม แต่ให้ข้อมูลไหลตรงจากธนาคารที่ถือข้อมูลไปยังธนาคารผู้ให้บริการอีกแห่งโดยตรง และควรวางกติกาที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาการเอาเปรียบใช้ข้อมูลแต่ฝ่ายเดียว (Free rider) โดยควรเน้นย้ำบทบาทในการเป็นทั้งผู้ให้และผู้ใช้ข้อมูลของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารได้ประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วย

    5)ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาศักยภาพในการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงิน16 โดยจำเป็นต้องผสานการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เช่น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่อาจคุกคามระบบ Open banking ได้ เช่น การโจรกรรมข้อมูลของประชาชน ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีระบบการปฏิบัติการที่ทนทานและยืดหยุ่น (Operational resilience) ที่สามารถฟื้นคืนสภาพจากปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในด้านความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลภาครัฐจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจต่อสิทธิและอำนาจทางกฎหมายของตนในการใช้ข้อมูล (Data protection right literacy) รวมถึงสร้างความเข้าใจต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (Digital literacy) เช่น การหลอกลวงประชาชนให้ยินยอมนาข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ เป็นต้น

    โดยสรุป Open banking เป็นกระแสที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “The Next Best Thing” ในภาคการเงิน เพราะจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ธนาคารและบริษัทเทคโนโลยีสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินได้อีกมากมาย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและธุรกิจได้อย่างมหาศาล หากไทยมีระบบ Open API ในภาคการเงินที่ดี จะสามารถเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้รวดเร็วในระยะยาวโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังไร้เรี่ยวแรง แต่ปัจจัยสำคัญที่จะชี้ชะตาความสำเร็จของ Open banking ในไทยนั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคการเงินที่อาจจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์แทรกแซงตลาดที่มีผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive externality) เพื่อสร้างกลไกให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนสาเร็จ นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับฯ ควรทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาระบบการเงินที่ง่ายต่อการใช้งานจริงและเกิดประโยชน์ในวงกว้างในระยะยาว ดังนั้น ถ้าหาก Open banking คือ อนาคตของภาคการเงินไทยที่เปรียบเสมือนเปลวไฟลุกโชติช่วง การริเริ่มที่ดีของทางการก็เปรียบได้กับไม้ขีดไฟที่ช่วยจุดประกายความหวังของเรา

    อ้างอิง
    4/ หรือทั้ง 2 ธนาคารมีโอกาสที่มากกว่า 0 ในการเปิดข้อมูล
    10/ Hong Kong Monetary Authority. 2018
    12/ อ้างอิงจากBIS Annual Economic Report 2019
    13/ อ้างอิงจาก Jirakitpaibool , C. 2019
    14/ อ้างอิงจาก Payment systems roadmap no. 4 2019 2021 ) ของ ธปท.
    15/ ได้แก่ AIB Group UK, Bank of Ireland (UK), Barclays Bank, HSBC Group (including First Direct
    and M&S), Lloyds Banking Group (including Bank of Scotland and Halifax), Nationwide Building
    Society, NatWest Group (including NatWest, Royal Bank of Scotland and Ulster Bank), Northern
    Bank Limited (trading as Danske Bank), และ Santander UK
    16/ อ้างอิงจากNixon, K., Wood, T., & Katsufuji , S. 2018 ). Deloitte Asia Pacific Services Limited

    ที่มา:
    ABS & MAS. (2018 ). Finance-as-a Service: API playbook. ABS-MAS Financial World.Allchin, C., Austen, M., Fine, A., & Moynihan,T.2016). Modular financial services:the new shape of the industry. Oliver Wyman.
    McKinsey & Company.(2019). The last pit stop? Time for bold late cycle moves. McKinsey Global Banking Annual Review.
    Bank of International Settlements. (2019). Report on open banking and application programming interfaces. Basel Committee on Banking Supervision.
    Bank of International Settlements. (2019 ). Big tech in finance: opportunities and risks. BIS Annual Economic Report
    Bank of Thailand. (2019. Payment systems roadmap 4 2019-2021 ).
    D Silva, D., Filkova ,Z., Packer F., & Tiwari, S. (2019) The design of digital financial Infrastructure: lessons from India.
    Bank of International Settlements. BIS Papers (106)
    Hong Kong Monetary Authority. (2018). Open API framework for the Hong Kong Banking Sector
    Jirakitpaibool, C. (2019). GDPR vs Personal Data Protection Act. Medium Blog
    Nixon, K., Wood, T., & Katsufuji , S. 2018 ). Asia Pacific financial services regulatory outlook 2019 : trust, technology and transformations.Deloitte Asia Pacific Services Limited.
    Rothwell, G. 2018 ). The brave new world of open banking in APAC.
    Sahamati.(2020). Sahamati collective of the account aggregator ecosystem. Retrieved Mar 4 , 2020 from
    http://sahamati.or.in/
    Tomlinson, N., Robinson, M., & Doyle, M. (2017) How to flourish in an uncertain future: Open banking and PSD 2. Deloitte LLP
    The ODI & Fingleton. (2019). Open Banking, preparing for lift off. A joint work between The ODI and Fingleton. Tracxn. (2019). Open banking aggregation APIs. Tracxn Business Model Report.
    Tracxn.(2019). Open banking aggregation APIs. Tracxn Business Model Report.
    ข้อมูลการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ Retrieved Aug, 5 2020 from Wikipedia website
    ข้อมูลประวัติธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วง 50-100 ปี จากพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย Retrieved Aug, 5 2020 from https://www.thaibankmuseum.or.th/exhibitionpermanent/detail?id= 979