ThaiPublica > เกาะกระแส > มธ. ดึง UN คุ้มครองสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

มธ. ดึง UN คุ้มครองสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

27 พฤศจิกายน 2019


ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ธรรมศาสตร์’ เอาจริง! ดึง UN ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ร่วมป้องกันและขจัดปัญหาคุกคามทางเพศ นับเป็นมหาวิทยาลัยแรกในภูมิภาคเอเชีย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และภาคีในประเทศ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ และสุขภาพ จัดงานเปิดตัวโครงการยุติการคุกคามทางเพศในสถาบันการศึกษา และส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศ ภายใต้แนวคิด “TU Say No To Sexual Harassment on Campus. We are ‘Generation Equality’.” ขึ้น เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งมิติหญิงชายและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการสร้างโครงข่ายทางสังคมเพื่อให้เกิดกลไกการเฝ้าระวัง การตรวจสอบ เยียวยาและให้ความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคกับทุกคน ตลอดจนสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย โดย มธ. นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียที่ได้ทำงานร่วมกับ UN อย่างจริงจัง

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์และสภาพปัญหาเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยและความไม่เข้าใจทางเพศที่เกิดขึ้นในทุกสถานบันการศึกษา ทำให้ มธ. ได้เรียนรู้และถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อให้เกิดมาตรการการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศขึ้น ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการคุ้มครองนักศึกษา และบุคลากรที่ใช้ชีวิตในประชาคมธรรมศาสตร์ทุกคน

สำหรับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะมีรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาเป็นประธาน และมีกรรมการจากผู้บริหาร มธ. คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผู้แทนสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งผู้แทนจากเครือข่ายภาคประสังคมด้านสิทธิทางเพศ และผู้แทนจาก UN รวมทั้งสิ้น 15 ราย

“คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นกลไกหลักในการรับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษา และจะให้การดูแล อำนวยความยุติธรรม และเยียวยาครอบคลุมทั้งในและนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยทำให้การคุ้มครองสิทธิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้นักศึกษามั่นใจ และมีที่ทางในการร้องทุกข์เมื่อเกิดปัญหาขึ้น” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว

ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากการรับเรื่องร้องเรียนแล้ว คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงทางเพศ ภายใต้หลักการ “ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายใคร ไม่ว่ารูปแบบหรือสถานที่ใด เวลาใดก็ตาม”

ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ในฐานะคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้วาจา สายตา ไปจนถึงการแตะเนื้อต้องตัว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีนักศึกษาถึง 21% หรือราว 1 ใน 5 เคยประสบกับภาวะคุกคามดังกล่าว ฉะนั้นกลไกที่ มธ. สร้างขึ้นจะเท่าทันความซับซ้อนของปัญหา เนื่องจากคณะกรรมการฯ มีความหลากหลายของเพศ อายุ ความเชี่ยวชาญ ที่สำคัญก็คือมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย

ทั้งนี้ ภายใต้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะมีคณะอนุกรรมการฯ ที่ทำหน้าที่สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง รวมถึงการดำเนินการเสนอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉินผู้ถูกกระทำ มาตรการเยียวยา และส่งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำไปพัฒนาศักยภาพให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้

“การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสังคมปลอดภัยบนหลักการการให้ความเคารพซึ่งกันและกันนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกระดับ ดังนั้นการทำงานในครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยการมีส่วนร่วมเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศอย่างแท้จริง” ผศ.รณภูมิ กล่าว

ด้าน นายสุณัชธวิทย์ วัฒนผล ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีแต่คณะอาจารย์ แต่ยังมีนักศึกษาร่วมด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในฐานะผู้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่ถูกสะท้อนผ่านกลุ่มเพื่อนฝูงและสื่อสังคมต่างๆ และนำเรื่องราวเหล่านั้นมาสะท้อนเพื่อหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

นายสุณัชธวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้เผชิญปัญหามักไม่มีโอกาสสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการฟังเสียงนักศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด ผ่านการสะท้อนจากตัวแทนนักศึกษาที่จะขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจ และช่วยเหลือเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ก่อนที่จุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ นี้จะขยายใหญ่สู่ระดับประเทศชาติต่อไป

“สำหรับเพื่อนทุกคนที่เคยประสบปัญหา หรือมีเพื่อนประสบปัญหา สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือการไม่เก็บเรื่องเหล่านั้นไว้กับตัวเองหรือเฉพาะคนรอบข้าง แต่ต้องเริ่มจากการแชร์ประสบการณ์เหล่านั้นออกมา เพื่อร่วมกันหามาตรการทางออก ซึ่งจะช่วยเยียวยาทั้งตัวผู้ประสบเอง กระทั่งป้องกันไม่ให้เกิดกับเพื่อนคนอื่นๆ ต่อไป” นายสุณัชธวิทย์ กล่าว