ThaiPublica > เกาะกระแส > 5 อันดับโรคจิตเวชของไทย

5 อันดับโรคจิตเวชของไทย

1 ธันวาคม 2021


“โรคจิตเวช” ที่ใครหลายคนมักมองข้าม ยอดของผู้รับบริการแต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะโรคสมาธิสั้นที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นในทุกปี อีกทั้งในต่างจังหวัดมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูง สาเหตุหลักมาจากสังคมที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตต้องปรับเปลี่ยน ภาวะความเครียดที่มาพร้อมวิกฤติอย่างคาดไม่ถึง โรคจิตเวชจึงไม่ใช่โรคที่อยู่ไกลตัวอีกต่อไป

โรคจิตเวช เป็นกลุ่มอาการทางจิตใจ หรือพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน หรือมีความบกพร่องในการทำกิจวัตรต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้อีกหลายประเภท ผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวช จากรายงานกรมสุขภาพจิต ที่ใช้ข้อมูลจากระบบศูนย์กลางการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย มีทั้งหมด 18 ประเภทได้แก่ โรคสมองเสื่อม ,ติดแอลกอฮอล์ ,ติดยาบ้า (Amphetamine) ,ติดสารเสพติดอื่นๆ ,โรคจิตเภท ,โรคจิตอื่นๆ ,โรคอารมณ์สองขั้ว ,โรคซึมเศร้า ,โรควิตกกังวล ,ความบกพร่องทางสติปัญญา ,ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ,โรคออทิสติก ,โรคสมาธิสั้น ,พยามฆ่าตัวตาย (การตั้งใจทำร้ายตนเอง) ,ผู้ป่วยติดเกมส์ในผู้ใหญ่ (15 ปีขึ้นไป) ,ผู้ป่วยติดเกมส์ในเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ,โรคทางจิตเวชอื่นๆ และโรคลมชัก

นอกจากนี้ 5 อันดับสูงสุดของโรคจิตเวช จากผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวช ในแต่ละปีมีประเภทของโรคจิตเวชที่ติดอันดับแตกต่างกัน มีเพียง 4 ประเภทจากทั้งหมด 18 ประเภทที่ติดอันดับเหมือนกันในทุกปีคือ โรคจิตเภท ,โรคซึมเศร้า ,โรควิตกกังวล และโรคทางจิตเวชอื่นๆ จำนวนตัวเลขของแต่ละโรคอาจมีเพิ่มขึ้นลดลงบ้างในแต่ละปี แต่ไม่เคยหลุดจาก 5 อันดับโรคจิตเวชที่คนไทยเป็นส่วนใหญ่

ในแต่ละปีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคลดลงเรื่อยๆ แต่โรคสมาธิสั้นกลับมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2561 มีผู้ป่วยเพียง 4,604 แต่ในปี 2562 และ ปี 2563 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2563 มีจำนวนถึง 19,278 คน

โรคสมาธิสั้นพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในกลุ่มเด็กอาจเป็นโรคที่ส่งผลมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น และได้มีการรักษามาตั้งแต่วัยเด็กแต่อาการยังไม่หายขาด ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่พบว่า มีผู้ปกครองของผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นก็เป็นโรคสมาธิสั้นส่วนหนึ่ง จากการสังเกตของแพทย์ ซึ่งแนะนำให้รับการรักษาร่วมกันไปกับเด็ก และยังพบในผู้ใหญ่ตอนต้น (20-39 ปี) ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องการใช้สมาธิสูงในหลายช่วงเวลาเช่น การเรียนในระดับปริญญา เป็นต้น

อาการของโรคสมาธิสั้นที่แพทย์เห็นอย่างเด่นชัดคือ อาการขาดสมาธิ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าได้เริ่มเข้ามารับการรักษา อีกทั้งยังพบว่าผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักมีอาการโรคจิตเวชร่วมด้วยอย่างน้อย 1 โรค จาก งานวิจัยจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องลักษณะทางคลินิกของโรคสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่ โดย นิดา ลิ้มสุวรรณ และภัทรพร วิสาจันทร์ ได้รวบรวมข้อมูลจากแพทย์หลายคนเชื่อว่าโรคร่วมที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นไม่สามารถปรับตัวกับความผิดหวัง ความล้มเหลว และความวิตกกังวลในชีวิตจนทำให้เกิดโรคร่วมเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นต้องมีการพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือข้อมูลของผู้ป่วยโรคจิตเวชที่แยกออกเป็นรายจังหวัด จะพบว่าในช่วงปี 2559 จนถึงปี 2562 ผู้ป่วยที่เข้ารักษาโรคจิตเวชส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อาศัยตามเมืองหลักอย่าง กรุงเทพมหานคร, อุบลราชธานี และนครราชสีมา ที่มีตัวเลขค่อนข้างใกล้เคียงกันในแต่ละปี แต่ในช่วงปี 2563 จำนวนผู้ป่วยของเมืองรองเพิ่มมากขึ้น อย่างโรคจิตเภทที่ปกติแล้วเมืองใหญ่จะติด 5 อันดับแรกมาโดยตลอด ในปี 2563 มีจังหวัดที่เพิ่มขึ้นมาใหม่คือ ศรีสะเกษ และมหาสารคาม แม้ตัวเลขอาจไม่สูงมากนัก แต่ก็ต้องติดตามเพื่อดูแนวโน้มต่อในอนาคต

ประเภทของโรคจิตเวชที่พบในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพมหานครคือ ติดแอลกอฮอล์ และติดสารเสพติดอื่นๆ ซึ่งในปี 2562 มีผู้เข้ารับรักษาโรคติดสารเสพติดๆอื่นจำนวนสูงเป็นอันดับ 1 และมี 5 จังหวัดที่มียอดผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ สงขลา, ปัตตานี,อุบลราชธานี, สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จาก รายงาน ยาเสพติด : ปัญหาภัยแทรกซ้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดย ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวยาเสพติดที่นิยมใช้กันของกลุ่มวัยรุ่นในภาคใต้มากที่สุดคือ ใบกระท่อม รองลงมาคือ ยาบ้า สาเหตุที่ใบกระท่อมเป็นยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดสูงมาก เนื่องจากมีการลักลอบนําเข้าจํานวนมากตามความต้องการของกลุ่มผู้เสพ และจากราคาของใบกระท่อมที่มีการจําหน่ายในราคาค่อนข้างสูง มองกันว่าจะสามารถสร้างความร่ํารวยให้กับกลุ่มผู้ค้าเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถหาซื้อ และเสพได้ง่าย จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาคใต้มีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ

สำหรับจังหวัดที่มีโรคติดแอลกอฮอล์สูงสุด5 อันดับแรก ได้แก่ อุบลราชธานี ,เลย ,สุราษฎร์ธานี และสงขลา จากงานวิจัยเรื่อง รุ่น ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยโดย ซิ่วฮวย แซ่ลิ้ม, กนกพร หมู่พยัคฆ์, และนันทวัน สุวรรณรูป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลจากตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น ที่มีการต่อต้านในสิ่งที่ผู้ปกครองบอก ส่วนใหญ่เชื่อเพื่อน ตามเพื่อน ให้เวลากับเพื่อนมากกว่า และพยายามทำ ตัวให้เข้ากับกลุ่ม การลองแอลกอฮอล์จึงเรื่องที่ถูกชักจูงได้ง่าย อีกทั้งการเข้าถึงการซื้อขายแอลกอฮอล์ยังเป็นไปได้ง่าย ทำให้อัตราการทำให้อยากดื่มมีเพื่มมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การสนับสนุนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อความอยาก หากมีเพื่อนที่ดี ครอบครัวที่ดี ทำให้การมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะลดน้อยลง

อย่างไรก็ตามแม้จำนวนผู้เข้ารับรักษาโรคจิตเวชมีจำนวนลดลงทุกปี แต่หลายโรคมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างคาดไม่ถึง เพราะสาเหตุที่ทำให้การเกิดโรคจิตเวชมีหลายด้าน อาจจะทำให้เป็นโรคจิตเวชโดยไม่รู้ตัว จากภาวะความเครียดภายใต้สภาพการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป