ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันไม่มีล็อกดาวน์ วอน ปชช. อย่าตื่น “โอไมครอน” -มติ ครม. ปรับโครงสร้างภาษี หนุนผลิตรถ “ EV” ในไทย

นายกฯ ยันไม่มีล็อกดาวน์ วอน ปชช. อย่าตื่น “โอไมครอน” -มติ ครม. ปรับโครงสร้างภาษี หนุนผลิตรถ “ EV” ในไทย

7 ธันวาคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ วอน ปชช. อย่าตื่น “โอไมครอน” ยันไม่มีล็อกดาวน์ – แจงสลายม็อบ “จะนะ” เหตุจัดชุมนุมใกล้เขตหวงห้าม-มติ ครม. ปรับภาษีสรรพสามิต หนุนผลิต “รถ EV” ในไทย-คงภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างต่อ 2 ปี

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี มอบหมาย ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

ยันไม่มีล็อกดาวน์ วอน ปชช. อย่าตื่น “โอไมครอน”

ดร.ธนกรตอบคำถามถึงการปรับมาตรการด้านสาธารณสุขหลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายแรกในประเทศไทยว่า ประเด็นนี้ให้ฟังกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทย์เป็นผู้ชี้แจง โดยเบื้องต้นจะเร่งการฉีดวัคซีนต่อไป และเข้าสู่การตรวจเชื้อรักษาต่อไป แต่ยืนยันว่ายังไม่มีการล็อกดาวน์ ทุกอย่างขึ้นกับการแพร่ระบาดว่าจะรุนแรงแค่ไหนอย่างไร ประชาชนและรัฐบาลต้องช่วยกัน

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงประชาชนเรื่องไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จึงขอให้ประชาชนตระหนัก แต่อย่าตระหนก ขอให้มั่นใจประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในเรื่องสถานพยาบาล ระบบเฝ้าระวัง คัดกรอง ติดตามตรวจสอบ และวัคซีนสำหรับป้องกันอาการบาดเจ็บรุนแรง รวมทั้งการเสียชีวิต และได้ขอบคุณและมอบกำลังใจไปยังคณะแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพี่น้องคนไทย

มอบมหาดไทยหาพื้นที่ขายอาหารทะเล ช่วยชาวประมง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใยชาวประมงพื้นบ้าน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และทุกกระทรวงเข้าไปจัดการสถานที่ขายสินค้า และรับซื้อสินค้าทะเล มอบหมายการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยซื้อสินค้าทะเล โดยจัดให้เป็นรูปแบบตลาดประชาชนทุกพื้นที่ที่มีการทำประมง หรือพื้นที่ที่ชาวประมงอาศัย

สั่งทุกกระทรวงจัดของขวัญปีใหม่ ชง ครม. 21 ธ.ค. นี้

ดร.ธนกรกล่าวถึงของขวัญปีใหม่ 2565 ว่า นายกฯ มอบหมายให้ทุกกระทรวงจัดทำแผนงานโครงงานเสนอต่อที่ประชุม ครม. ภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 เพื่อให้มีผลปฏิบัติในช่วงปีใหม่

แจงสลายม็อบ “จะนะ” เหตุจัดชุมนุมใกล้เขตหวงห้าม

จากกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ดร.ธนกรชี้แจงเหตุผลการสลายการชุมนุมว่า “เป็นสถานที่หวงห้ามตามกฎหมาย และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อยู่ใกล้สถานที่ราชการที่สำคัญคือทำเนียบรัฐบาล และต้องไม่ให้หลายกลุ่มมาใช้สถานที่ชุมนุมเช่นนี้ เท่าที่ผมทราบไม่ได้มีการสลายการชุมนุมอะไร เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการอย่างอะลุ้มอล่วย ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีเด็กและผู้หญิง ได้มี ‘ตำรวจน้ำหวาน’ ซึ่งเป็นตำรวจผู้หญิงเข้าไปจัดการในพื้นที่” โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามกฎหมาย

ถามต่อว่า “รัฐบาลจะทำความเข้าใจอย่างไร เพราะวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ชุมนุม คือ มาทวงสัญญาหลังครบ 1 ปี” ดร.ธนกรตอบว่า สัญญาดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามว่าความล่าช้าในการแก้ปัญหาพื้นที่ “จะนะ” มีสาเหตุจากร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือไม่ และต้องหาใครมารับผิดชอบแก้ไขปัญหาแทนหรือไม่ ดร.ธนกรตอบว่า “ไม่ทราบ รัฐบาลจะติดตามเจรจาพูดคุย หาหนทางแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”

สั่งฝ่ายมั่นคงติดตามจำเลยคดีล่าเสือดำ กรณีไม่มาศาล

ถามว่า ศาลฎีกาจะตัดสินคดีล่าเสือดำในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 หากจำเลยหลบหนีไม่ฟังคำพิพากษา รัฐบาลกังวลหรือไม่ว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องคนรวยไม่ยอมติดคุก โดย ดร.ธนกรตอบแทนนายกรัฐมนตรีว่า “เป็นคนละเรื่อง หากไม่มาจะต้องติดตามจับกุมตามกฎหมาย โดยให้ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงต่างประเทศ ติดตามป้องกัน

จี้มหาดไทย-กทม.-คมนาคม เร่งสางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ดร.ธนกรตอบประเด็นการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแทนนายกรัฐมนตรีว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่วมกันของกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีหนี้สินที่เกิดจากการก่อสร้างตั้งแต่ในอดีต แต่จะต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว ซึ่งจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ปัดให้ความเห็นจำคุก “อองซานซูจี” ชี้เป็นเรื่องภายในเมียนมา

คำถามสุดท้ายคือ ขอความเห็นของนายกรัฐมนตรีกรณีนางอองซานซูจี อดีตผู้ปกครองประเทศเมียนมา ถูกตัดสินให้จำคุก 4 ปี โดยรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตอบว่า “เป็นเรื่องภายในของเมียนมา”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต หนุนผลิต “รถ EV” ในไทย

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเกิดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่มีรูปแบบใหม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าในประเทศ และเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับ เพื่อกำหนดให้รถกอล์ฟที่มี ลักษณะแบบต่างๆ (golf cart) รถบักกี้ (buggy) และรถ ATV ที่ขับเคลื่อน ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้ามากว่า 12 โวลต์ขึ้นไป หรือขับเคลื่อน ด้วยพลังงานเชื้อเพลิงและรถยนต์ 3 ล้อที่มีลักษณะการขับขี่เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต โดยแก้ไขเพิ่มเติมอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าดังกล่าว หรือ เก็บภาษีสรรพสามิต

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวง ทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราภาษี สรรพสามิต พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษี สรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับ สินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทต่างๆ ดังนี้

รถกอล์ฟที่มีลักษณะแบบต่างๆ รถบักกี้ และรถ ATV จากเดิมไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และปรับปรุงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์กระบะ 3 ล้อ และรถจักรยานยนต์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเกิดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต โดยใช้หลักเกณฑ์แรงดันไฟฟ้าเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าดังกล่าวจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือสูญเสียรายได้ อาทิ รถยนต์กระบะ 3 ล้อ ซึ่งเดิมจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 17 ถ้าปรับอัตราภาษีตามมูลค่าลง และจะส่งผลให้รายได้ภาษีลดลง การจัดเก็บสรรพสามิตรถกอล์ฟที่มีลักษณะแบบต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้รัฐมีรายได้จากจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นราว 400 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวตอนท้ายว่า การกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราภาษีสรรพสามิต ใช้แรงดันไฟฟ้าเป็นเกณฑ์อ้างอิงกับมาตรฐานสากล และยังสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายการสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย

กำหนดมาตรฐาน “ชิงช้า-กระดานลื่น-ม้าหมุน” ป้องกันเด็กบาดเจ็บ

ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ ร่างกฎกระทรวง รวม 4 ฉบับ ให้เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กในสนามเด็กเล่น

กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ร่างกฎกระทรวง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเล่นสนามสาธารณะ กระดานลื่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. 3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเล่นสนามสาธารณะ ม้าหมุน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. และ 4) ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเล่นสนามสาธารณะ อุปกรณ์โยก ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….

โดยร่างกฎกระทรวง ทั้ง 4 ฉบับเสนอ เป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก ให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยสอดคล้องกับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เพื่อให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเล่นสนามสาธารณะดังกล่าวอย่างชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของเด็กในสนามเด็กเล่น พร้อมทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการบริหารราชการแผ่นดินการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอีกด้วย

รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาระบบราชการ

ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 และ 2563 ซึ่งเสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้รายงานผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการที่สำคัญ และการดำเนินการของ ก.พ.ร. ในรอบปีงบประมาณ 2562 และ 2563 ใน 4 มิติที่สำคัญ ได้แก่ ด้านพัฒนาการให้บริการประชาชน ด้านการปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ด้านนโยบายการพัฒนาระบบราชการ ดังนี้

ด้านพัฒนาการให้บริการประชาชน ในปี 2562 ได้ผลักดันให้หน่วยงานราชการขับเคลื่อน การดำเนินงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เช่น หน่วยงานดำเนินการยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสาร บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียน และการปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน พัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่ออำนวย ความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมผ่าน bizportal.go.th รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลกแถลงผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ 2020 ไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก สูงขึ้น 6 อันดับ มีคะแนน (Ease of Doing Business Score) เท่ากับ 80.10 คะแนน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีด้านที่ติดอันดับ TOP 10 ของโลก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยอยู่ในอันดับที่ 3 และด้านการขอใช้ไฟฟ้าอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก มีการปฏิรูปการบริการภาครัฐที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้นมี 1 ด้าน คือ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง สำหรับปี 63 ได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการศูนย์กลาง การบริการประชาชนในการติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Citizen Portal) โดยประชาชน สามารถขอรับบริการจากภาครัฐได้ตลอดเวลาด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย และพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่อยกระดับ ให้เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางครบวงจรเต็มรูปแบบ (Fully Digital Services) (ประกอบด้วย e-Authentication e-Signature e-Payment e-Receipted-License และ e-mail Notification) รวมถึงการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ได้แบบเบ็ดเสร็จ และกำหนดแนวทางการทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ e-Service

ด้านการปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ในปี 62 ได้มีการกำหนดแนวทางการมอบอำนาจ การแบ่งส่วนราชการภายในกรม (rearrange) และการยับยั้งการเพิ่มหน่วยงานใหม่ ตามแผนการปฏิรูปประเทศเนื่องจากไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มีเป้าหมายให้ภาครัฐ มีขนาดที่เล็กลง รวมถึงการจัดตั้ง อว. เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ สำหรับปี 63 ได้มีการปรับปรุงบทบาทภารกิจ และโครงสร้างของส่วนราชการ เพื่อให้ส่วนราชการสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและสร้างความเข้มแข็งในการบริหารเชิงพื้นที่และพัฒนาระบบบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ

ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ในปี 62 ได้มีการผลักดันการพัฒนาระบบราชการ 4.0 โดยการขับเคลื่อนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (digital government) เช่น การบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกัน และการนำเทคโนโลยี และอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลและการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) สำหรับในปี 2563 ได้มีการปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการ เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และมุ่งแก้ไข ปัญหาวิกฤติดังกล่าวโดยกำหนดแนวทางการประเมินส่วนราชการประจำปีงบฯ พ.ศ. 2564 ให้สอดคล้องกับการทำงานในรูปแบบ new normal เพื่อประเมินศักยภาพในการดำเนินงานสู่การเป็นระบบราชการ 4.0

ด้านนโยบายการพัฒนาระบบราชการ ในปี 2562 ได้มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการขับเคลื่อนบริการภาครัฐ และพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐ (GovLab) ให้ครอบคลุมงานบริการสาธารณะในด้านต่างๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการช่วยเหลือ ผู้ด้อยโอกาส และด้านการศึกษา รวมถึงการเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐ สำหรับในปี 2563 ได้มีการกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤติเพื่อรองรับ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เช่น การให้ทุกหน่วยงานของรัฐทบทวนและปรับปรุง แผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ (usiness Continuity Plan — BCP) ให้เป็นปัจจุบัน การพัฒนาระบบบริการดิจิทัลสำหรับการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าให้แก่ภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน บริการภาครัฐที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

“การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเน้นการพัฒนาการทำงานของภาครัฐ ที่มีความสอดคล้องกับรูปแบบในฐานวิถีชีวิตใหม่เป็นสิ่งที่ภาครัฐปรับตัวและเตรียมการรองรับให้ทันต่อสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกมิติเพื่อส่งมอบบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพให้กับประชาชน และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับ นโยบายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบราชการ 4.0” ดร.ธนกรกล่าว

คงภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างต่อ 2 ปี

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิม ตามบทเฉพาะกาล ม.94 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565 และอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายหลังการใช้อัตราภาษีตามร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไปแล้ว 2 ปี ในปีภาษี 2567 เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้ 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2563-2564 ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีที่จะใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดระยะเวลาในปีภาษี 2564 ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรึจึงมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. เพื่อเป็นการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป โดยคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.01 – 0.1
2. ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.02 – 0.1

    2.1 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.03 – 0.1
    2.2 สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.02 – 0.1
    2.3 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย กรณีอื่นนอกเหนือจาก 2.1 และ 2.2 อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.02 – 0.1

3. การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.3 – 0.7
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.3-0.7

ทั้งนี้ การคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 ไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง

แจงผลมาตรการหนุนชาวไร่ ตัดอ้อยสด-ลด PM2.5

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563-2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โครงการนี้เป็นการส่งเสริมการให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานแทนการตัดอ้อยไฟไหม้ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่น PM2.5 โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 120 บาทต่อตัน ซึ่งโครงการได้จ่ายเงินช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 รวม 5,933 ล้านบาท (จากวงเงินโครงการทั้งสิ้น 6,065 ล้านบาท) มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ประโยชน์รวม 122,613 ราย มีปริมาณอ้อยสดส่งโรงงานรวม 49.4 ล้านตัน เมื่อเปรียบข้อมูลในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 พบว่า การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ส่งผลให้พื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยไฟไหม้ลดลงจาก 5.71 ล้านไร่ เหลือ 2.87 ล้านไร่ หรือลดลงร้อยละ 23.23 และปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงจาก 37.18 ล้านตัน เหลือ 17.61 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 23.23 นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการตัดอ้อยสดของชาวไร่อ้อยและจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วย

ผ่าน “ร่างคู่มือจัดทำงบฯ” คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – RGB: A Practical Handbook) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยมีแนวคิดเพื่อเป็นเครื่องมือในการบูรณาการ มุมมองเพศภาวะเข้าสู่กระบวนการจัดการงบประมาณ ทั้งรายรับและรายจ่าย สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่มีเป้าหมายมุ่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นทุกมิติ

สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างคู่มือฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณที่คำนึงมิติเพศภาวะ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณที่เป็นธรรมและเหมาะสม ตามความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรที่มีความแตกต่างของเพศ วัย และสภาพของบุคคล โดยยึดหลักการสำคัญที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ความต้องการ โอกาส ข้อจำกัด และการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของหญิง และชายที่จะต้องคำนึงถึงในกระบวนการงบประมาณ โดยนำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์ เช่น อายุ อัตลักษณ์ทางเพศ ระดับการศึกษา ชาติพันธุ์ ความพิการ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้นภายใต้ 3 องค์ประกอบสำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ คือ 1) การวิเคราะห์งบประมาณแบบมิติเพศภาวะ 2) การเปลี่ยนแปลงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และ 3) การบูรณาการแนวคิดงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะอย่างเป็นระบบ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดทำร่างคู่มือ คือ 1) ทำให้ทราบว่านโยบายของรัฐมีผลกระทบอย่างไรกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายแตกต่างกัน ทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้ใช้สาธารณูปโภค และผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในด้านต่างๆ 2) เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งจะสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า ที่ประชุมให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับข้อเสนอแนะของกระทรวงมหาดไทย และข้อสังเกตของสำนักงบประมาณไปดำเนินการ รวมถึงปรับปรุงร่างคู่มือและแบบรายการตรวจสอบการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะให้เรียบร้อย และเผยแพร่ข้อคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะให้เป็นที่รับรู้ทั่วไป

ตั้งอธิบดีกรมโรงงานฯ นั่งบอร์ดกองทุนอ้อยฯ

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

    1. นายอุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) โรงพยาบาลสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2564

    2. นางจินตนา พัฒนพงศ์ธร นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมสุขภาพ) กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านส่งเสริมสุขภาพ) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2564

    3. นายสุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง โรงพยาบาลกระบี่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลกระบี่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้ง ร้อยตำรวจโทหญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์ ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ. ให้ดำรงตำแหน่ง ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ แต่งตั้งผู้แทนส่วนราชการเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 2 คนดังนี้

    1. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์
    2. นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เพิ่มเติม