ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนารักษ์ปรับราคาประเมินที่ดิน ทั่วประเทศขึ้น 10% มีผล 1 ม.ค.66

ธนารักษ์ปรับราคาประเมินที่ดิน ทั่วประเทศขึ้น 10% มีผล 1 ม.ค.66

24 พฤศจิกายน 2021


นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์

ธนารักษ์ ปรับราคาประเมินที่ดิน ทั่วประเทศขึ้น 10% เกรงหวั่นกระทบประชาชน-ผู้ประกอบการ เสียภาษีเพิ่ม ประกาศเลื่อนบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2566

หลังจากที่กรมธนารักษ์ได้ออกประกาศเลื่อนการบังคับใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2566 นั้น นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ชี้แจ้งว่า ตามประกาศคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ เรื่อง กำหนดวันเริ่มใช้บัญชีราคาประเมินที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการประจำจังหวัดประกาศบัญชีราคาประเมินที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้างที่จัดทำทุกรอบ 4 ปี ซึ่งต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันเริ่มใช้บัญชีดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน และบัญญัติให้บัญชีราคาประเมินที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง โดยให้เริ่มใช้ ณ วันที่ 1 มกราคมของปีที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ปัจจุบันยังคงส่งผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศ และการปรับปรุงราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครั้งนี้ ทำให้ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปรับราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 10% ของราคาประเมินเดิม หากให้ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที หรือ ให้มีผลในปีหน้า เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากการปรับราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งใช้เป็นในฐานในการคำนวณภาษี

“ดังนั้น คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จึงตัดสินใจออกออกประกาศราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดทุก 4 ปี แต่ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนในระหว่างที่ยังไม่ใช้ราคาประเมินฉบับใหม่ ให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ในรอบปี 2559 – 2562 เพื่อเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง , ค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองไปพรางก่อน”นายประภาศ กล่าว

อนึ่ง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิดฯ ที่ประชุม ครม.ได้ออกมาตรการภาษีเพื่อเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ 2 ครั้ง เป็นมาตรการปีต่อปี เริ่มจากปี 2563 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90%ของอัตราเดิม สำหรับการจัดเก็บภาษีในปี 2563 รวมทั้งปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จากอัตรา 2% ลดเหลือ 0.01% และค่าธรรมเนียมจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% ลดเหลือ 0.01%

หลังสิ้นสุดมาตรการ ยังไม่ทันได้เริ่มจัดเก็บภาษี ก็มีเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดฯ ระลอกใหม่ซ้ำอีก ที่ประชุม ครม.จึงมีมติเห็นชอบ ให้มีการต่อขยายมาตรการปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% สำหรับการจัดเก็บภาษีปี 2564 และมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองออกไปจนถึงสิ้นปี 2564

สำหรับ การปรับลดภาษีทั้ง 2 ครั้ง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดรายได้ที่จะนำมาใช้พัฒนาท้องถิ่นประมาณ 41,445 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 35,545 ล้านบาทต่อปี และค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองอีก 5,900 ล้านบาทต่อปี โดยอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์แยกตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์จะแบ่งออกเป็น 3-4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก ใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตามกฎหมายกำหนดให้จัดเก็บได้ไม่เกิน 0.15% ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เพดานของอัตราภาษี) โดยผู้ที่ถือครองที่ดินมูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท เสียภาษี 0.01% แต่ถ้ามีมูลค่า 75 – 100 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% , มูลค่า 100-500 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% , มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.07% และมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 0.1% เฉพาะบุคคลธรรมที่ถือครองที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เท่านั้นที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

กลุ่มที่ 2 ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เพดานของอัตราภาษีอยู่ที่ 0.3% ของราคาประเมิน กรณีนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ บ้านหลังหลัก ที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี , มูลค่า 10- 50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.02% , มูลค่า 50-75 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% , มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% และมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% แต่ถ้าเป็นผู้ถือครองบ้านพร้อมที่ดินมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี

ส่วนกรณีที่มีบ้านหลายหลัง ตั้งแต่บ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป หากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% , มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% และมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท ขึ้นไปเสียภาษี 0.1 %

กลุ่มที่ 3 ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ,อุตสาหกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานของอัตราภาษีอยู่ที่ 1.2% หากมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% , มูลค่า 50-200 ล้านบาท เสียภาษี 0.4% , มูลค่า 200 – 1,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.5% , มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.6% และมูลค่า 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป เสียภาษี 0.7% ของราคาประเมิน เฉพาะกรณี “ที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า” จะถูกเก็บเพิ่ม 0.3% ทุกๆ 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 3%

ภายหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศไปแล้ว รัฐบาลจะพิจารณาขยายมาตรการปรับลดอัตราภาษีชุดนี้หรือไม่ ปีหน้าคงต้องลุ้นกันต่อไป….